Skip to main content
sharethis

"การที่ถูกจำกัดอย่างย่ำแย่ที่สุด ไม่ใช่ทั้งการมีทหารอาวุธครบมือมาที่สถานีทุกวัน วันละอย่างน้อย 12 ชม. และไม่ใช่การที่ กสทช. เรียกเราไปบ่อยๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากว่า กสทช. เพราะเราก็รู้ว่าเขาถูกกดดันมาอีกทางหนึ่ง แต่มันคือการเซ็นเซอร์ตัวเองและเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากๆ" พรรณิการ์ วานิช หรือช่อ พิธีการแห่งวอยซ์ทีวี

17 พ.ค. 2559 พรรณิการ์ วานิช ผู้ดำเนินรายการช่อง Voice TV กล่าวในเวทีสนทนาหัวข้อ “สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) (3 พ.ค.) ซึ่งจัดโดย สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่โรงแรมแมนดาริน (สามย่าน) กรุงเทพฯ

พรรณิการ์ กล่าวว่า วอยซ์ทีวีตั้งแต่วันแรกของรัฐประหาร ยังมีทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธไปที่สถานีอยู่ ถึงห้องออกอากาศและในสูติโอ ในบรรยากาศแบบนี้ปัจจัยที่ชี้วัดเสรีภาพสื่อ คือ การไม่มี กสทช. ที่พูดแบบนี้เพราะ ในหลายประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา มีสมาคมสื่อและในประเทศที่เป็นนิติรัฐ มีกฎหมายบังคับใช้ได้อย่างถูกต้องจะไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษอะไรในการกำกับสื่อ หากสื่อใช้อำนาจเกินเขต สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้ตามปกติ การมีคณะกรรมการกำกับควบคุมกิจการสื่อ โดยจุดประสงค์การก่อตั้งแล้วอาจจะดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ "ไม่ปกติ" อย่างที่รัฐบาลชอบพูด จะเห็นว่า กสทช. ไม่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่าเครื่องมือของรัฐบาลในการควบคุมสื่อ ขณะเดียวกันแม้ในสถานการณ์ปกติก็จะยังคงพูดเหมือนเดิม เพราะอย่างดี กสทช. ก็คือ คุณพ่อรู้ดี ที่คิดว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการรับสื่อ และอย่างเลวก็คือกลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการในการปิดปากสื่อ ซึ่งสถานการณ์ไม่ปกตินี้จะเห็นว่าเป็นอย่างเลวมากกว่าอย่างดี

พรรณิการ์กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวอยซ์ทีวี มีความเกี่ยวข้องกับฝั่งคนเสื้อแดงซึ่งถูกโยงกับทักษิณ ชินวัตร เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่นามสกุลชินวัตร แต่ถามว่านายทุนในไทยมีกี่คนที่มีสื่อในมือ ไม่ใช่ชินวัตรตระกูลเดียว แต่วอยซ์ต้องรับสภาพนี้ ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนเห็นว่าทำงานใต้สถานการณ์นี้ได้ดีพอที่จะเรียกตัวเองว่าสื่อได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การทำงานใต้สถานการณ์แบบนี้ยากขึ้นอีก เพราะกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มาควบคุมสื่อ เห็นได้ชัดว่า ทำเพื่อปกป้องรัฐมากกว่าปกป้องประชาชน และมีหลายมาตรฐาน

พรรณิการ์เปิดเผยว่า ผู้บริหารช่องกำชับเสมอว่า ถ้าช่องไหนพูดขนาดไหน เราก็พูด เรื่องไหนเขายังไม่พูด เราอย่าพูด เรตติ้งเราอาจจะดี แต่เราไม่สามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ เพราะอาจถูกปิดช่องหรือริบเงินประกันหลักพันล้านได้ และขนาดว่าใต้ขีดจำกัดว่าอย่าพูดอะไรที่สื่ออื่นไม่ได้พูด ก็ยังไม่รอด บางครั้งเรื่องเดียวกันช่องอื่นพูดได้ แต่วอยซ์ทีวีพูดแล้วเป็นปัญหาและตั้งคำถามถึงสมาคมสื่อว่าดูแลตรงนี้อย่างไร

นอกจากนี้เธอกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำขวัญวันเสรีภาพสื่อโลกของสมาคมสื่อในปีนี้ที่ว่า "ถูกต้อง รอบด้าน คือหลักประกันเสรีภาพ" โดยชี้ว่า ที่ผ่านมา มีปัญหากับนิยามเหล่านี้มาก เพราะความถูกต้องและความรอบด้านนั้นแต่ละคนมีมาตรฐานต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเป็นหลักประกันเรื่องการมีเสรีภาพ เพราะต้องรอผู้มีอำนาจมาชี้ว่าเป็นสื่อที่ถูกต้องหรือไม่เสียก่อน

เธอกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า อันดับเสรีภาพสื่อของประเทศไทย ซึ่งเคยถูกยกย่องว่าเป็นประทีปของประชาธิปไตยในอาเซียนนั้น ขณะนี้อยู่อันดับ 8 ของอาเซียนซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ ต่ำกว่าเมียนมาซึ่งอยู่สูงกว่าไทย 7 อันดับ

"การที่ถูกจำกัดอย่างย่ำแย่ที่สุด ไม่ใช่ทั้งการมีทหารอาวุธครบมือมาที่สถานีทุกวัน วันละอย่างน้อย 12 ชม. และไม่ใช่การที่ กสทช. เรียกเราไปบ่อยๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากว่า กสทช. เพราะเราก็รู้ว่าเขาถูกกดดันมาอีกทางหนึ่ง แต่มันคือการเซ็นเซอร์ตัวเองและเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากๆ" พรรณิการ์กล่าวและชี้ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของสถานการณ์สื่อทุกวันนี้ไม่ใช่ทหารคุมหรือ กสทช.คุม เพราะตอนนี้ สถานการณ์คือสื่อไม่กล้าที่จะพูดเพราะว่าทุกคนอยู่บนความเสี่ยงที่ว่าจะโดนเรียก จะโดนปรับทัศนคติ จะโดนปิดช่องหรือไม่ และความคลุมเครือของการบังคับใช้กฎต่างๆ ไม่เท่ากัน

"สื่อทุกๆ ช่อง ทุกๆ ฉบับ น่าจะต้องเคยเห็นข้อกฎหมายต่างๆ ที่ กสทช. คสช. ใช้กับสื่ออยู่แล้ว แต่ความคลุมเครือที่เขาปล่อยไว้ก็คือไม่รู้ว่าเขาจะบังคับใช้เคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน เพราะข้อที่กำหนดไว้มันกว้างมาก และสามารถตีความครอบคลุมได้ทุกๆ อย่าง เมื่ออยู่บนเส้นประแบบนี้ มันก็หมายความว่าสื่อต้องคิดเอาเองว่าฉันทำขนาดไหนถึงจะล้ำเส้น และจุดนั้นคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งทำให้นรกขุมนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีจุดต่ำสุด มีแต่ new low ลงไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งสถานการณ์เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่สื่อจะยิ่งต้องนำเสนอข่าวที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อกลับเซ็นเซอร์ตัวเองหนักยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัวเองก็กดดัน ต้องยอมรับว่าสื่อคือธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทีวี ซึ่งมีเงินหมุนเวียนระดับหมื่นล้าน"

อย่างไรก็ตาม พรรณิการ์ย้ำว่า แม้สื่อหลายคนจะบอกว่าเสรีภาพสื่อนั้นขึ้นกับตัวสื่อเองและเธอเองก็พูดถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ต้องไม่มองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างว่า สิ่งที่พรากเสรีภาพสื่อไปจากเราคือรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net