เฟเมน-เฟมินิสต์-มุสลิม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากกรณีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์และเรียกร้องสิทธิสตรี FEMEN (เฟเมน) 4 คน สวมชุดคลุมยาวสีดำนั่งอยู่ในที่ประชุมกับผู้เข้าร่วมงานอื่นๆ ลุกขึ้นประท้วงโดยเดินขึ้นไปบนเวที แล้วเปลือยกายท่อนบน เผยให้เห็นข้อความที่เขียนไว้บนหน้าอกพร้อมตะโกนว่า “พระเจ้าไม่ใช่นักการเมือง” (Allah is not politician.) ระหว่างที่ศาสตราจารย์ฏอริก รอมาฎอน (Tariq Ramadan) ผู้ซึ่งชุมชนมุสลิมเห็นว่าเป็นนักวิชาการสัญชาติสวิสหัวก้าวหน้ากำลังบรรยายในงานประชุมประจำปีครั้งที่ 33 ของมุสลิมในฝรั่งเศส จัดโดยสหพันธ์องค์การอิสลามแห่งฝรั่งเศส (l'UOIF) ที่ Le Bourget ฝรั่งเศส เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พ.ค. 2559[i] การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชนมุสลิมหลายแห่ง โดยเฉพาะในสื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่า FEMEN กระทำการรุนแรงและ “ผิดคน”  

การประท้วงของกลุ่ม FEMEN ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกและไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะต่อต้านนักการศาสนาอิสลาม แต่โดยรวมกลุ่มมีความมุ่งหมายเพื่อปกป้องสิทธิและคืนอำนาจบนเนื้อตัวร่างกายให้กับผู้หญิง คัดค้านและต่อต้านการครอบงำทางเพศและการเหยียดเพศ เครือข่ายของกลุ่มกระจัดกระจายอยู่ในหลายประเทศหลังจากการเริ่มประท้วงของสมาชิกหลักในยูเครนเพื่อต่อต้านอุตสาหกรรมทางเพศและการค้าหญิงในนามองค์กรจัดหาคู่ให้ชาวต่างชาติ ต่อต้านอำนาจของสถาบันศาสนา และระบบเผด็จการตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ส่วนใหญ่กลุ่ม FEMEN เคลื่อนขบวนไปในที่ชุมนุมสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศาสนา เช่น การประท้วงเปลือยอกในงานจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมเมือง Hannover เยอรมนี เมื่อปี 2556 จนเกิดเหตุชุลมุนต่อหน้าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี[ii]

กระแสวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดและยุทธศาสตร์ที่มีต่อการดำเนินงานของกลุ่ม FEMEN จากนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บางคนมองว่ากลุ่ม FEMEN มุ่งสร้างความตื่นตา ตรึงความสนใจจากสังคมเพียงชั่วครู่ราวการละเล่นเพื่อล้อเลียน บ้างเห็นว่าเป็นการดำเนินงานในนามของการปลดปล่อยร่างกายให้เป็นอิสระตามแนวทางของเสรีนิยมใหม่

Theresa O’Keefa[iii] เห็นว่าพื้นที่ร่วมในการเรียกร้องและปกป้องสิทธิสตรีถูกครอบครองโดยนักเคลื่อนไหวคลื่นลูกที่สาม-ยุคหลังสตรีนิยมขาดการวิพากษ์การครองอำนาจนำ ขาดการตั้งคำถามกับแนวคิดชายเป็นใหญ่ และรากเหง้าของปัญหาจากอุดมการณ์ทุนนิยม สำหรับการประท้วงเปลือยอกของ FEMEN ยังอาศัยการจับจ้องของผู้ชาย ร่างกายจึงกลายเป็นสินค้าและวัตถุที่ถูกจ้องมอง ไม่สามารถปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระได้

นักการศาสนาอิสลามและมุสลิมกระแสหลักมองว่าสมาชิกกลุ่ม FEMEN เป็นคนนอกรีตและเชื้อร้ายที่ทำลายสังคม โดยเฉพาะกรณีของอามีนา ไทเลอร์ (Amina Tyler) ถูกนักการศาสนาในตูนีเซียเรียกร้องให้รัฐบาลกักขังและลงโทษเธอตามหลักกฎหมายอิสลามเมื่อปี 2556 เนื่องจากเป็นผู้นำการชุมนุมหน้ามัสยิดและสถานทูตพร้อมกับปล่อยภาพเปลือยอกในสื่อเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความประท้วงต่อต้านศีลธรรมศาสนาและแสดงจุดยืนถึงการครองสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง รวมถึงการไม่ถูกครอบงำและกดขี่เป็นภาษาอาหรับและอังกฤษว่า

“Fuck your morals.”

“My body belongs to me and is not the source of anyone’s honor.”

มุสลิมเป็นจำนวนมากและนักสตรีนิยมบางกลุ่มเห็นว่าอามีนาถูกใช้เพื่อสร้างและขยายโครงการต่อต้านอิสลามในงานรณรงค์เพื่อเปลือยอกต่อสู้กับความอธรรมสากล (International Topless Jihad) จนเกิดขบวนผู้หญิงมุสลิมต่อต้านกลุ่ม FEMEN ตั้งชื่อว่า Muslimah Pride Day

สำหรับการประท้วงล่าสุดของกลุ่ม FEMEN ที่พุ่งเป้าไปยังฏอริก รอมาฎอน จนชุมชนมุสลิมออกมาคัดค้านนั้น เนื่องจากในมุมมองของมุสลิมและศาสนิกอื่นหลายส่วนเห็นว่าเขาเป็นนักการศาสนาและนักวิชาการที่ต่อต้านการก่อการร้าย วิพากษ์มุสลิมสายแข็งกร้าวและกลุ่มอนุรักษ์นิยม เขาพยายามทำโครงการสานเสวนาหลอมรวมความเป็นมุสลิมให้เข้ากับวัฒนธรรมยุโรปผ่านแนวคิด “European Islam”

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของ FEMEN ตลอดจนรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่า อิสลามคือเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมและเผด็จการอำนาจนิยม ส่วนฏอริก รอมาฎอนคือนักเทศน์สายรากฐานนิยมที่กระตุ้นความเป็นการเมืองในศาสนาให้กับสังคมฝรั่งเศสที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยม เขาถูกห้ามไม่ให้บรรยายในมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศส ในบทวิเคราะห์ของ Ali Saad แสดงถึงความไม่พอใจของรัฐบาลต่อหลานของผู้ก่อตั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (the Muslim Brotherhoods) ชาวอียิปต์ หรือฏอริก รอมาฎอน ในแง่ที่เขาเรียกร้องให้รัฐบาลขจัดความเหลือมล้ำทางสังคม ยกการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในฝรั่งเศส และนโยบายเชิงลัทธิเกลียดกลัวอิสลาม[iv]

การตื่นตัวของกระแสสตรีนิยมในแต่ละระลอกตั้งคำถามกับอำนาจการตีความของสถาบันศาสนา ยิ่งไปกว่านั้นประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยมเติบโตในฟากฝั่งยุโรปและอเมริกาแล้วขยายไปยังส่วนอื่นๆ ที่โลกทัศน์การมีอยู่ของชีวิตแตกต่างกัน ผู้หญิงในสังคมมุสลิมมักถูกฉายภาพของการถูกกดขี่ อยู่ในสถานะที่ตกต่ำ ในขณะที่การต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมของประเทศที่แนวคิดการตื่นตัวและฟื้นฟูอิสลามถูกใช้เพื่อเป็นพลังในการต่อต้านจากการถูกกดขี่มักจัดให้กระบวนการปลดแอกสตรีที่มีหลายเฉดและหลายระลอกอยู่ในเขตแดนที่ถูกเลือกรับ หรือพึงระวัง ตลอดจนสวนทางกัน  ปราการที่กั้นขวางการยอมรับเอาแนวคิดสตรีนิยมที่ถูกพัฒนาในโลกทัศน์อื่นจึงดูเหมือนไม่ได้รับการต้อนรับนักและผู้มีอำนาจในสถาบันศาสนามักชี้ชวนให้สมาชิกชุมชนมุสลิมระแวดระวังภัยของการกลายสภาพเป็นอื่นเนื่องจากสมาทานความเชื่อที่ตีความว่าส่งผลต่อการสูญสิ้นสถานภาพมุสลิมอีกด้วย

หากได้ย้อนมองผ่านกลุ่มนักคิดมุสลิม การอธิบายและก่อเกิดสตรีนิยมมุสลิมเป็นกระแสการฟื้นตัวที่ไม่ใหม่นัก ในอารเบียเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 เกิดขบวนการ “The Sister’s Movement” ขบวนการนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดแจงที่ทางของการอธิบายความอิสลาม กระทั่งในช่วงคริสทศวรรษ 1980-1990 แนวโน้มในการตีความหลักการศาสนาเพื่ออธิบายสิทธิสตรีในอิสลามโดยกลุ่มนักสตรีนิยมเริ่มขยายตัวมากยิ่งขึ้น เช่น ข้อถกเถียงและตำรับตำราของ Fatima Mernissi นักสตรีนิยมมุสลิมชาวโมรอคโค เกิดกระแสการแบ่งประเภทสตรีนิยมอิสลามออกจากสตรีนิยมมุสลิม เนื่องจากแนวโน้มที่นักสตรีนิยมในโลกอาหรับมีทั้งส่วนที่เป็นกลุ่มผู้ปฏิเสธศาสนา ผู้ที่แยกโลกของการนับถือศาสนาออกจากการใช้ชีวิตทางสังคมและการเมือง ตลอดจนผู้ให้ความสนใจการตรวจสอบตัวบทในคัมภีร์เพื่ออธิบายสิทธิ ความเท่าเทียมทางเพศ และการปลดปล่อยผู้หญิงจากมุมมองของศาสนา 

การศึกษาและความเข้าใจเรื่องสิทธิสตรีที่ปรากฏในสังคมมุสลิมดำรงอยู่ภายใต้ชุดคำอธิบายกระแสหลักที่ได้รับการถ่ายทอดโดยนักการศาสนา อาศัยการตีความตัวบทหลักฐานจากแหล่งความรู้ในคัมภีร์ วัจนะศาสดา และตำราประวัติศาสตร์ศาสนา ผ่านการบอกเล่า อบรมสั่งสอน และยึดถือปฏิบัติตามกันมา ในเอกสารประวัติศาสตร์ศาสนาและคัมภีร์อัลกุรอานพบการกล่าวถึงผู้หญิงในหลากสถานะ เช่น ราชินีบิลกีสในฐานะผู้นำทางการปกครองเมืองซะบาอ์แห่งเยเมน ได้รับการติดต่อให้รับเชื่อพระเจ้าจากสารของกษัตริย์โซโลมอน หรือที่มุสลิมนับว่าเป็นศาสดาท่านหนึ่งถูกเรียกขานด้วยภาษาอาหรับว่าสุไลมาน ปรากฏในอัลกุรอานบทที่ 27 โองการที่ 17-31  กรณีของมัรยัมหรือแมรี หญิงในฐานะมารดาของศาสดาอีซาหรือพระเยซูที่ต้องต่อสู้กับคำให้ร้ายจากสังคมเมื่อนางให้กำเนิดบุตรชายโดยปราศจากการมีเพศสัมพันธ์ ปรากฏเรื่องราวของมัรยัมที่ได้รับเกียรติให้ชื่อของนางเป็นชื่อบทหนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานลำดับที่ 9  และกรณีอาอีชะห์ในฐานะภรรยาของศาสดามุฮำมัด มีบทบาทสำคัญทั้งในช่วงที่ศาสดายังมีชีวิตและหลังจากนั้น อาอีชะห์มีความรู้กว้างขวางในวิชาการอิสลาม สามารถถ่ายทอดให้ความรู้ให้กับศิษย์ทั้งชายและหญิงรวมทั้งสหายของศาสดา นางเป็นผู้จดจำและรายงานฮาดิษ[v] 2210 ฉบับ[vi] นับเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเชิงตัวบทที่สัมพันธ์กับบริบทสังคมในยุคต้นอิสลาม

ความรู้เรื่องบทบาทและสถานะผู้หญิงดังกล่าวข้างต้นเป็นที่รับรู้ กล่าวยกย่องสรรเสริญกันในแวดวงมุสลิมในฐานะบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ควรทราบ เพื่อสร้างความประทับใจและชื่นชมถึงความยิ่งใหญ่ของผู้คนในยุคแห่งความเรืองรองของอิสลาม มีน้อยครั้งที่ประวัติศาสตร์ศาสนาว่าด้วยผู้หญิงได้รับเลือกสรรเพื่ออภิปรายและวินิจฉัยเพื่อใช้พิจารณานัยที่แฝงอยู่ในตัวบทประกอบการทำความเข้าใจสถานภาพผู้หญิงในสังคมมุสลิม การศึกษาเรื่องผู้หญิง-ผู้ชายในอิสลามกลายเป็นการผูกโยงระหว่างวินัยกับการลงโทษ เช่นการสอนของนักการศาสนาในชุมชนและตำราที่ใช้เผยแพร่เน้นการดำรงความเป็นภรรยาที่ดี เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทสามี หากละเมิดวินัยดังว่าจะถูกลงโทษตามระดับของความผิดที่แตกต่างออกไป เช่น ไม่ร่วมหลับนอน ตี หย่าร้าง เป็นต้น วิธีการเช่นนี้นับว่าเป็นการลดทอนสาระสำคัญของการอธิบายระบบความสัมพันธ์หญิง-ชายในอิสลามที่เต็มไปด้วยมิติที่หลากหลาย ตลอดจนแสดงถึงการกำกับอำนาจของเพศชายในฐานะผู้ปกป้องกฎแห่งพระเจ้าเหนือภรรยาของตน

การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดสตรีนิยมของสังคมมุสลิมในไทย ผู้เขียนพบในเบื้องต้นว่าสัมพันธ์กับความรู้ที่ถูกย่อย ตีความ และคัดสรรโดยผู้รู้และนักการศาสนาเป็นส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในโลกมุสลิม ขณะที่หลักฐานทางวิชาการศาสนาเช่นนี้ปฏิเสธแนวคิดกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรีสากล เห็นว่าข้อเสนอในกรอบดังกล่าวมีเบื้องหลังความคิดและชุดคำอธิบายตามโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากอิสลาม อาทิ โลกทัศน์แบบทุนนิยม คริสเตียน และสิทธิสตรีที่ปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้า การปฏิเสธแนวคิดกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรีสากลนี้หมายรวมไปถึงการไม่เรียกและไม่นับว่าตนเองอยู่ในกระแสของการเป็นนักสตรีนิยมหรือ feminist[vii] ในส่วนการเสนอแนวคิดอิสลามกับประเด็นเพศสภาพและเพศวิถีของนักสตรีนิยมมุสลิมที่ใช้วิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์ ความรู้ด้านสตรีศึกษา และเทววิทยากับการตีความใหม่ไม่เป็นที่นิยมนำมาศึกษาด้วยเกรงว่าอาจทำให้ละทิ้งศาสนา หรือเกิดความผิดพลาดต่อหลักอากีดะห์ (Aqida หรือ Islamic creed) อันเป็นข้อเชื่อสำคัญในการนับถือศาสนาอิสลาม

นักคิดและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่นักการศาสนามุสลิมในไทยและอีกหลายประเทศปิดประตูการเรียนรู้อรรถกถาใหม่เนื่องด้วยเหตุที่เธอเคยเป็นผู้นำละหมาดวันศุกร์ในนครนิวยอร์คเมื่อปี 2005[viii] คือ อามีนา วาดูด (Amina Wadud) อามีนาเป็นนักวิชาการอิสระชาวแอฟริกันอเมริกัน หลังจากเคยทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย อามีนามีผลงานวิชาการที่โดดเด่นคือ Inside the Gender Jihad: Women's Reform in Islam (2006) และ Qur’an and Woman Rereading the Sacred Text from a Woman's Perspective (1999) เป็นงานเขียนที่ว่าด้วยการตีความหลักการศาสนาใหม่จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้หญิง ตลอดจนการนำแนวคิด “ญิฮาด” หรือต่อสู้กับความอ่อนแออย่างเด็ดเดี่ยวในทางศาสนามาเป็นแกนกลางในการรื้อฟื้นอำนาจและสถานภาพผู้หญิงมุสลิม

นอกจากอามีนาแล้ว ยังมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในเครือข่ายของนักสตรีนิยมมุสลิมที่ทำงานกับนักการศาสนาหัวก้าวหน้าอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ฟาฏิมา เมอร์นิสซี (Fatima Mernissi) นักสตรีนิยม นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ฟาฏิมาเขียนตำราวิชาการในภาษาฝรั่งเศสและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น หนังสือเรื่อง Beyond the Veil: Male-Female Dynamics in a Muslim Society (1975, 1985, 1987), The Veil and the Male Elite: A Feminist Interpretation of Islam (1992) และ Women’s Rebellion and Islamic Memory (1993)  เธอเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2558 หากแต่ไม่ได้รับการกล่าวไว้อาลัยหรือพูดถึงคุณูปการของการทำงานของเธอเพื่อนำเอาความคิดเช่นนี้มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากชุมชนมุสลิมในไทยไม่เห็นว่าเป็นแหล่งการศึกษาที่สำคัญ หรือเป็นข้อมูลที่ไกลออกไปจากชุดข้อมูลความรู้ที่ควรแสวงหา หรือหากรับรู้ก็เต็มไปด้วยท่าทีที่ระมัดระวังอย่างยิ่งยวด

กลุ่มนักการศาสนาและนักวิชาการหญิงมุสลิมในไทยที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้รู้ สามารถอธิบายบทบาทความสัมพันธ์หญิงชายในมิติอิสลามมักเป็นผู้สอนในสถาบันการศึกษา เช่น ครูอาจารย์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีกระจายอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ  หนึ่งในนั้นคือมาเรียม สาเมาะ นักการศาสนาหญิงที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันศึกษาอิสลามชั้นสูงนิลัมปุรี (Yayasan Pengajian Tinggi Islam Nilam Puri) เมืองโกตาบาห์รู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย[ix] หลังจากที่มาเรียมไม่ประสบความสำเร็จในการชิงชัยเป็นตัวแทนทางการเมืองของพรรคกิจสังคมเมื่อปี 2519 เธอตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนเด็กกำพร้าหญิงและยากจนบ้านสุไหงปาแน จ.ปัตตานี ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว ครูอาจารย์ และกลุ่มผู้หญิงที่เคยเรียนที่มาเลเซียมาด้วยกัน มาเรียมเป็นที่ปรึกษาด้านศาสนาของเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรอบความคิดในประเด็นหญิงชายของมาเรียมที่เคยเสนอในที่ประชุม ‘ชีวิตผู้หญิงมลายูมุสลิม: มายาคติและความเป็นจริง’ เมื่อปี 2549[x] มีแนวโน้มในการให้ความสำคัญกับการบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ เน้นย้ำการดำรงสถานะของความเป็นภรรยา แม่ และแม่บ้านที่ดี โดยถือว่าบ้านเป็นพื้นที่ของผู้หญิงและเป็นสถานที่สำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสันติ

นอกจากนี้ อาจารย์ผู้สอนระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยฟาฏอนีซึ่งนับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนวิชาการศาสนาควบคู่ไปกับวิชาการแขนงอื่นๆ กำเนิดในนามวิทยาลัยอิสลามยะลาเมื่อปี  2541 หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยและใช้นามว่ามหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเมื่อปี 2550 มีการปรับเปลี่ยนนามอีกครั้งตามชื่อในปัจจุบันเมื่อปี 2556[xi]  ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี ในฐานะผู้รู้ที่มีบทบาทสำคัญในการอธิบายหลักการศาสนาอิสลามตามแนวทางปฏิรูป ท่านมักได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาในการแสดงความเห็นต่อข้อเสนอเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์หญิงชายในอิสลาม[xii]

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาในภาคใต้ก่อนมหาวิทยาลัยฟาฏอนีคือวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการที่คณาจารย์มีบทบาทในการอธิบายประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมมุสลิม บุคคลที่ยังคงมีบทบาทในสังคมมุสลิมคือ ดร.อิสมาแอล อาลี อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ และคณาจารย์คนอื่นๆ เช่น มะรอมนิง สาแลมิง ผู้เคยแสดงความเห็นต่อการอธิบายแนวคิดบทบาทหญิงชายในที่ประชุมหลายแห่ง รวมทั้งผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ คนปัจจุบันคือ ดร.ยูโซะ ตาเละ[xiii]  ในบทความ “ผู้หญิงในอิสลาม” ยูโซะได้ชี้ให้เห็นว่าทั้งชายและหญิงในอิสลามเท่าเทียมกันทั้งในด้านตัวตนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ทั้งด้านศาสนา สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา[xiv]

บทวิเคราะห์การอธิบายถึงตัวตนของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ตลอดจนความเป็นองค์ประธานของผู้หญิง ปรากฏในงานสำคัญหลายชิ้นของนักสังคมศาสตร์ที่ศึกษาชุมชนมุสลิม เช่น Politics of Piety, The Islamic Revival and the Feminist Subject  ผลงานของ Saba Mahmood[xv] เธอศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาของผู้หญิงในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อเรียนและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด Mahmood เสนอผ่านแนวคิดเสรีภาพในการเลือก อันเป็นแนวคิดหลักของสตรีนิยมว่าความเข้มงวดต่อการปฏิบัติภักดีของผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ได้ดำเนินภายใต้สภาวะกดดันหรือการขู่บังคับให้ทำตามโดยกลุ่มนักการศาสนาชายที่ถือครองอำนาจในการตีความศาสนาและมีบทบาทในกลไกการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เธอวิเคราะห์ว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ได้เลือกสร้างตัวตนบนพื้นที่ของความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่มองผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย 

ในขณะที่งานของยูโซะ ให้ความสำคัญกับบทวิเคราะห์ตัวตนของผู้หญิงในภาคเอกสาร ส่วนใหญ่เป็นการอ้างอิงงานของนักการศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความคิดในโลกมุสลิม เช่น แนวคิด one soul หรือนัฟซุนวาหิดะห์ อันเป็นที่มาของการบังเกิดมนุษย์และการกำหนดสถานภาพที่เท่าเทียมกัน ส่วนสาเหตุที่ผู้หญิงมุสลิมมีสถานะตกต่ำ ยูโซะอ้างอิงบทวิเคราะห์ของ Faruqi (Historical Atlas of the Religions of the World, 1974) กล่าวถึงปัจจัยทางการเมืองภายนอกและภายในสังคมมุสลิม โดยเฉพาะการปิดกั้นการอิจญ์ติฮาดหรือความพยายามในการวิเคราะห์และวินิจฉัยบทบัญญัติ การปล่อยให้อำนาจของระบบราชาธิปไตยเข้ามากำกับชีวิตของชาวมุสลิม ตลอดจนการยอมรับจริยธรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ เช่น ความฟุ้งเฟ้อ สะสมทรัพย์ ห่างไกลจากการขัดเกลาจิตวิญญาณ ตลอดจนการยึดถือแนวทางแบบจารีตอิสลาม

หากสังเกตกลุ่มนักคิดและนักวิชาการศาสนาที่มีบทบาทในสังคมมุสลิมของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลความคิดปฏิรูปอิสลาม ไม่ว่า อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา, อิสมาแอล อาลี, มาเรียม สาเมาะ ตลอดจนฮามีดะห์ อาแด หนึ่งในอดีตอาจารย์หญิงอาวุโสของวิทยาลัยอิสลามศึกษา สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกับมาเรียม สาเมาะ และเป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกจากประเทศไทยที่เข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาที่ ม.อัลอัซฮัร กรุงไคโร ในสาขานิติศาสตร์อิสลาม พื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมทางความรู้เรื่องผู้หญิงในอิสลามของฮามีดะห์คือถ่ายทอดความรู้ผ่านกลุ่มศึกษา (Halaqah หรือ study group) ร่วมกับคณาจารย์และบุคลากรหญิงในมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและเครือข่ายสตรีมุสลิมภาคใต้ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมสายปฏิรูป ฮามีดะห์เป็นนักวิชาการหญิงมุสลิมที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินกิจกรรมทางความรู้ ให้ความสนใจการตีความตัวบทหลักการอิสลามที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและเพศสภาพ เช่น วิพากษ์การใช้เหตุผลและข้ออ้างทางศาสนาในการตัดสินใจเลือกมีภรรยามากกว่าหนึ่งของชายมุสลิม หรือวิเคราะห์ศักยภาพผู้หญิงผ่านอำนาจในการดูแลและจัดการเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงเอง[xvi]

แม้ภาพเคลื่อนไหวของกลุ่ม FEMEN ห่างไกลจากประสบการณ์ชุดคำอธิบายความเท่าเทียมและสัมพันธ์ระหว่างเพศในสังคมไทยและชุมชนมุสลิมในประเทศไทย แต่การกล่าวถึงกระแสการอธิบายตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงที่ทบทวนอย่างคร่าวๆ ในเบื้องต้นอาจช่วยคลี่คลายและปะติดปะต่อความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกผู้หญิงในหลากข้อเสนอ กับอำนาจในการอธิบายและตีความความเชื่อทางศาสนาที่สัมพันธ์กับแนวคิดเพศสภาพในสังคม เห็นถึงอำนาจเชิงระบบที่อยู่ในรูปของสถาบันทางศาสนาและความคิดที่ได้รับการถ่ายทอดจากประเพณี เกิดการตั้งคำถามที่ท้าทายต่อการตีความศาสนาเพื่อยังประโยชน์ต่อความเข้าใจที่ยังคงลักลั่นในการอธิบายความยุติธรรม เช่นเดียวกับการเข้าถึงความรู้ของผู้หญิงในการตีความวิธีคิดอิสลามและความเปลี่ยนแปลงของกระแสสตรีนิยมอื่นๆ ในสังคมโลก

ความน่าสนใจที่ได้จากการเรียนรู้ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวอีกประการหนึ่งของกลุ่ม FEMEN ที่แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักสตรีนิยมบางค่ายถึงการไม่สามารถทะลวงแก่นแกนในการต่อสู้กับอำนาจของสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่หากพิจารณาความสามารถในการกำหนดเป้าหมายและปฏิบัติการให้บรรลุสิ่งที่ตนเลือกอันหมายรวมถึงความรู้สึกของปัจเจกในการเป็นผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวพันกับการตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติการในฐานะสมาชิกของกลุ่ม FEMEN จึงยังคงมีบทบาทในการต่อรอง ต่อต้าน และล้มล้างความไม่เป็นธรรมได้ในบางขั้นตอน 

ในระดับกลุ่มชนมุสลิมในประเทศไทยและสังคมไทยเอง ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างลุ่มลึกถึงอำนาจในการผลักดันนโยบายจากส่วนบนไม่ว่ารัฐและสถาบันศาสนา รวมทั้งแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ผูกแน่นอยู่กับสังคมท้องถิ่นและจารีต ตลอดจนการสร้างพื้นที่และตัวตนขององค์ประธาน เช่น หญิงผู้ประสบเหตุแห่งความรุนแรงในกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ มักถูกกำกับอยู่ภายใต้นโยบายรัฐ กลุ่มองค์กรต่างๆ หญิงผู้รู้ศาสนาที่มีศักยภาพในการทำความเข้าใจตัวบทคำสอนที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติของผู้คน และมีจุดยืนต่อการทำความเข้าใจสังคมอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจประเด็นเพศสภาพของชุมชนมุสลิมที่สามารถกระทำได้มากกว่าแค่บ่นและก่นด่าหรือรอคอยคำอธิบายจากสถาบันทางการต่างๆ เพียงอย่างเดียว

 

เชิงอรรถ

[i] Morocco World News. Topless FEMEN Activists Attack Muslim Scholar Tariq Ramadan. (16 พฤษภาคม 2559). สืบค้นจาก

 http://www.moroccoworldnews.com/2016/05/186634/topless-femen-activists-attack-muslim-scholar-tariq-ramadan/

[ii] Timm, Annette and Sanborn, Joshua. 2007. Gender, Sex, and the Shaping of Modern Europe: A History from the French Revolution to the Present Day. Oxford and New York: Berg.

[iii] Theresa O’Keefa. 2014. “My Body Is My Manifesto! SlutWalk, FEMEN and Femmenist Protest” in Feminist Review, 107: 1-19.

[iv] Saad, Ali. Why is Tariq Ramadan demonised in France? (16 พฤษภาคม 2559). สืบค้นจาก

 http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2016/04/tariq-ramadan-demonised-france-160406100710313.html

[v] หะดิษ หรือ บางตำราเขียนว่าฮะดิษ เป็นหลักฐานขั้นรองในการอธิบายศาสนบัญญัติในอิสลาม เพื่อใช้ในการสนับสนุนหลักการทางศาสนาในเชิงแนวคิดและปฏิบัติ หะดิษมาจากคำพูดของศาสดา ท่าทีหรือการยอมรับและการปฏิเสธของศาสดา และการกระทำหรือภาคปฏิบัติการของศาสดา

[vi] Grey, Sarah. 2010. Women’s Role as Teachers, Leaders, and Contributors to the Waqf in Damascus. Research Report for Julia Meltzer, 14.

[vii] Marddent, Amporn. Notions of Gender and Muslim Women in Thailand. Paper Presented at International Workshop on New Approaches to Gender and Islam: Translocal and Local Feminist Networking in South and Southeast Asia at Institute of Asian and African Studies Humboldt University Berlin, 29-30 April 2011._____. 2013. Religious Piety and Muslim Women in Thailand. In Susanne Schröter (ed.) Gender and Islam in Southeast Asia. Leiden, Boston: Brill: 241-265.

[viii] ชุมชนมุสลิมโดยทั่วไปอธิบายว่าอิสลามไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นผู้นำละหมาดวันศุกร์ และนำละหมาดที่กระทำร่วมกันระหว่างหญิงและชาย

[ix] พรรคพาส (PAS) หรือ the Pan-Malayan Islamic Party (Parti Islam SeMalaysia) เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมใช้ศาสนาอิสลามเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ก่อตั้ง Yayasan Pengajian Tinggi Islam Nilam Puri  เมื่อปี 1965 หลังจากชนะการเลือกตั้งในรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรค ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Stivens, Maila.Family values’ and Islamic revival: Gender, rights and state moral projects in Malaysia. Women's Studies International Forum, 29(2006): 356.

[x] มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. พื้นที่ของผู้หญิงในสามจังหวัดภาคใต้ วันนี้ของผู้หญิงมลายูมุสลิม ในสามจังหวัดชายแดนใต้. (20 ธันวาคม 2558). สืบค้นจากhttp://v1.midnightuniv.org/midnight2544/ 0009999918.html

[xi] ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี. (2558). บทบาทมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในการสร้างเครื่อข่ายสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาภาคใต้. เอกสารสำเนา, มปท.

[xii] วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ Aryud Yahprung (2014) หัวข้อ Islamic Reform and Revivalism in Southern Thailand: A Critical Study of the Salafi Reform Movement of Shaykh Dr. Ismail Lutfi Chapakia Al-Fatani (from 1986-2010) ศึกษาบทบาทของอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีในฐานะผู้รู้ศาสนาคนสำคัญในสายวิชาการที่มีความสัมพันธ์และได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มมุสลิมหลายประเทศในโลกอาหรับและมุสลิมสายปฏิรูปในสังคมไทย

[xiii] ยูโซะ ตาเละ เป็นตัวแทนนักวิชาการมุสลิมในไทยรุ่นแรกที่ได้รับเชิญจาก Center for Women Studies of the State Islamic University (IAN) Sunan Kalijaga, Yogyakarta อินโดนีเซีย เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Islam, Gender, Reproductive Rights โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟอร์ดและภาคีเครือข่ายเพศสภาพในอิสลาม เช่น SISTER IN ISLAM ในครั้งนี้ไลลา อาเก็บอุไร (บัวหลวง—ภรรยาของอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง  อัฮหมัดสมบูรณ์เป็นนักคิดและนักกิจกรรมด้านความรุนแรงและสันติภาพภาคใต้ที่มีชื่อเสียง เสียชีวิตเมื่อกันยายน 2557) ผู้บริหารโรงเรียนสตรีพัฒนศึกษา จ.ปัตตานี เข้าร่วมอบรมเมื่อปี 2002 ด้วย ในรุ่นที่สองปี 2004 เป็นปีสุดท้ายที่มูลนิธิฟอร์ดให้การสนับสนุนทุนในหัวข้อการอบรมเดียวกัน ผู้เข้าร่วมอบรมจากไทยรุ่นที่สองได้แก่ผู้เขียนพร้อมด้วยสุกรี หลังปูเต๊ะ  อาริน สะอีดี (เสียชีวิตแล้ว)  เฟาซัน เจ๊ะแว (อาจารย์มหาวิทยาลัยฟาฏอนี)  และวิริยา ขันธสิทธิ์ (นักกิจกรรมของสภายุวมุสลิมโลกหรือ WAMY: World Assembly of Muslim Youth)    

[xiv] ยูโซะ ตาเละ. (2555). ผู้หญิงในอิสลาม. ใน มูหัมมัดรอฟลี แวหามะ, มัสลัน มาหามะ และ รอมฎอน ปันจอร์, บรรณาธิการ. อิสลามกับความท้าทายในโลกสมัยใหม่ มุมมองจากนักวิชาการชายแดนใต้. กรุงเทพฯ: คณะทำงานวาระสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[xv] Mahmood, Saba. 2005. Politics of Piety, the Islamic Revival and the Feminist Subject. New Jersey: Princeton University Press.

[xvi] Marddent, Amporn. “The Three Tigers”: Malay Muslim Women Revivalists in Thailand. Paper Presented at International Workshop on Female Islamic Authority in Comparative Perspective: Exemplars, Institutions, Practices at the Royal Netherlands Institute of Southeast Asian and Caribbean Studies (Koninklijk Instituut voor Taal-, Land- en Volkenkunde, KITLV), Leiden, January 8-9, 2015.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท