สุรพศ ทวีศักดิ์: มายาคติของ “ศาสนา ศีลธรรม” แบบไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในสังคมอารยะอย่างไทยนั้น เรามีสิ่งสูงส่งดีงามที่มีความละเอียดอ่อนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำให้เราต้องมีการใช้อำนาจพิเศษ มีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล นี่อาจเป็นเรื่องที่สังคมโลกไม่เข้าใจเรา เพราะเขาไม่มีอารยะ ไม่มีความละเอียดอ่อนเหมือนเรา เป็นหน้าที่ของเราคนไทยที่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ

ไม่ใช่เพียงผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช.เท่านั้นที่มองสังคมตัวเองและสังคมอื่นเช่นนั้น ปราชญ์พุทธศาสนาไทยก็เคยมองว่า “ศีลธรรมแบบฝรั่งเป็นศีลธรรมแบบเทวบัญชา มีลักษณะเป็นพันธะหรือ obligation ที่บังคับให้คนต้องทำตาม ศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของความจำใจ จำยอม ไม่มีเสรีภาพหรืออิสระที่จะเลือกแบบศีลธรรมพุทธศาสนา” นอกจากนี้ท่านยังมองว่า “ถ้ามนุษย์หมู่มากมีศีล 5 สิทธิมนุษยชนก็ไม่จำเป็น”

เป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับผมที่เกิด เติบโต และเรียนหนังสือในเมืองไทยมาตลอด แต่สามารถเข้าใจได้ว่า สังคมตะวันตกที่เขาอ้างว่า การมีเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องหมายของ “ความเป็นอารยะ” นั้น มันมีความหมายว่าสิ่งที่บ่งบอกความเป็นอารยะคือการมีระบบการปกครอง  ศีลธรรม กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่เคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชน

แต่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สังคมไทยที่มีความเป็นอารยะและละเอียดอ่อนมากกว่าเขานั้น ทำไมจึงปกป้องความเป็นอารยะนั้นด้วยการมีระบบการปกครอง มีระบบศีลธรรม กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ของประชาชน

มุมมองความเป็นอารยะของตัวเองเช่นนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนานได้อย่างไร? เมื่อพิจารณาทัศนะทางศีลธรรมของปราชญ์พุทธศาสนาข้างต้น ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า หรือว่ามูลเหตุอาจมาจากมายาคติเรื่องศาสนาและศีลธรรมแบบไทยที่ยึดถือกันมายาวนาน

เราถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า ศีลธรรมมาจากศาสนา และศาสนาที่สร้างรากฐานศีลธรรมสำหรับสังคมไทยก็คือพุทธศาสนา แต่ถ้ามองจากมุมมองอื่น เช่นมุมมองแบบค้านท์ (Immanuel Kant) ศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกับศาสนา การที่คุณทำตามกฎศาสนา หรือคำสั่งของพระเจ้า หรือทำตามอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา และประเพณีแบบใดๆ ย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีค่าเป็นความดีทางศีลธรรม เพราะนั่นเป็นการกระทำที่มีเงื่อนไขกำหนดให้คุณต้องทำ ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากเหตุผลและเสรีภาพของตนเอง

เมื่อคุณบริจาคมากเพื่อจะได้บุญมาก ทำความดีเพื่อจะไปสวรรค์ หรือหวังรางวัลตอบแทนใดๆ หรือกระทำเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายใดๆ หรือมีจุดหมายใดๆ เป็นตัวกำหนดหรือเป็นเงื่อนไขให้คุณต้องกระทำ การกระทำนั้นๆ ก็เป็นเพียง “พฤติกรรม” ปกติทั่วไปเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับการกินข้าวที่ความหิวเป็นเงื่อนไขกำหนดให้คุณต้องกิน หรือการทำความดีเพื่อหวังผลก็ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจ แน่นอน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันไม่ใช่สิ่งที่จะถือว่ามีค่าเป็น “ความดีทางศีลธรรม” ได้เลย

ฉะนั้น ค้านท์จึงเสนอให้เราแยกพฤติกรรมทั่วๆไป ที่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขต่างๆ กับ “การกระทำที่มีศีลธรรม” ให้ชัดเจน การกระทำที่จะมีศีลธรรมหรือมีค่าเป็นความดีทางศีลธรรมได้ ต้องเกิดจากเหตุผลของตนเองบอกว่าอะไรคือความถูกต้องและใช้เสรีภาพเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นด้วยตนเอง เพราะถือว่าสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่การกระทำ(หรือกฎ กติกา)อะไรก็ตามที่จะเป็นความถูกต้องได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของทุกคนอย่างเสมอภาค ความเป็นมนุษย์ก็คือความเป็นสัตที่มีเหตุผล อิสรภาพและมีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตัวเอง

แปลว่า เราจะมีศีลธรรมได้เราต้องมองตัวเองและคนอื่นๆ ผ่านเปลือกนอกต่างๆ เช่นชาติพันธุ์ เพศ ผิว ศาสนา วัฒนธรรมฯลฯ ทะลุไปถึงความเป็นมนุษย์ที่ “pure” ซึ่งเป็นความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเหมือนกันอย่างสากล คือความเป็นสัตที่มีเหตุผล เสรีภาพ มีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตัวเองอย่างเสมอภาค

แน่นอนว่าข้อเท็จจริงเรื่องชาติพันธุ์ เพศ ผิว เป็นต้น อาจจำเป็นต่อการทำความเข้าใจความแตกต่างส่วนบุคคล แต่มันไม่อาจใช้เป็นรากฐานของการกำหนดหลักการทางศีลธรรม เพราะหลักการทางศีลธรรมไม่ใช่สิ่งที่กำหนดขึ้นจาก “ข้อเท็จจริง” เช่นถ้าข้อเท็จจริงคือชนชั้นนำไทยไม่ชอบเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนสากล เราไม่สามารถกำหนดเป็นหลักการทางศีลธรรมได้ว่า การปฏิเสธเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนสากลคือการกระทำที่เป็นความถูกต้องหรือเป็นความดีทางศีลธรรม

เพราะอะไรที่จะเป็นหลักการทางศีลธรรมได้ ต้องอธิบายด้วยเหตุผลได้ว่ามันสามารถเป็นหลักการสากลได้ และสิ่งที่จะเป็นหลักการสากลได้มันต้อง “fair” กับทุกคน ด้วยเหตุนี้การกระทำใดๆ หรือหลักการ กติกาใดๆ ที่จะมีความหมายเป็นความดีทางศีลธรรมได้จึงต้องกำหนดขึ้นจากการเคารพ “ความเป็นมนุษย์” คือความเป็นสัตที่มีเหตุผล เสรีภาพ มีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตัวเองอย่างเสมอภาค

มันไม่เกี่ยวกับว่าความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์หรือไม่ เพราะตามข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มนุษย์อาจไม่มีเหตุผล ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาค แต่มีความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆมาก และในชีวิตประจำวันเราก็อาจไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเสมอภาคกัน แต่เพราะข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้แหละมันจึงเป็นรากฐานของศีลธรรมไม่ได้ เราจึงต้องมองทะลุข้อเท็จจริงไปถึง “ความเป็นมนุษย์บริสุทธิ์” คือมองว่าทุกคนเป็นสัตที่มีเหตุผล เสรีภาพเป็นต้นดังกล่าว เพื่อเป็นรากฐานในการกำหนดการกระทำหรือกติกาทางสังคมใดๆที่สามารถอธิบายได้ว่ามันแฟร์สำหรับทุกคน และนั่นมันจึงเป็นศีลธรรมได้

ศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนร่วมกันสร้างขึ้นจากเหตุผลและเสรีภาพของเราเอง และสร้างมันขึ้นบนการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้ศีลธรรมจึงไม่ผูกติดกับศาสนา ตรงกันข้ามศาสนาอาจไม่มีศีลธรรม หากเป็นศาสนาที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ 

ฉะนั้น การกระทำใดๆ ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เช่นการละเมิดเสรีภาพจึงเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม นักเสรีนิยมสายค้านท์ถือว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง ยืนยันกระทั่งว่า รัฐจะบังคับยัดเยียดคุณค่าหรือความเชื่อเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีใดๆ แก่ประชาชนไม่ได้ เช่นจะบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนไม่ได้ รัฐต้องเป็นกลางทางคุณค่า มีหน้าที่รักษาสิทธิเป็น “กติกากลาง” ให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิเท่าเทียมในความมีอิสระที่จะเลือกสิ่งที่ดี, คุณค่าหรืออุดมคติใดๆสำหรับตนเองก็ได้ ตราบที่เขายังเคารพสิทธิเดียวกันนี้ของคนอื่น

ที่ปราชญ์พุทธศาสนาบ้านเรากล่าวว่าศีลธรรมแบบฝรั่งเป็นศีลธรรมแบบบังคับ จำยอม ก็อาจจะถูกหากหมายเฉพาะศีลธรรมภายใต้อำนาจศาสนจักรยุคกลาง แต่ถ้าหมายถึงศีลธรรมตั้งแต่ยุคสว่างถึงยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา นักปรัชญาสมัยใหม่ล้วนคิดคล้ายกับค้านท์ คือศีลธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพ หรือพูดให้ตรงคือ ศีลธรรมเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและการปกป้องความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นค้านท์จึงต้อนรับเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนในฝรั่งเศสด้วยน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ

ว่าแต่ศาสนา ศีลธรรมที่เป็นรากฐานของการตัดสินเรื่องถูกผิดในสังคมไทยพ้นไปจากทัศนะทางศีลธรรมแบบยุคกลางแล้วหรือยัง? ทำไมเรายังต้องมีระบบการปกครองและกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพเพื่อปกป้องความเป็นอารยะแบบเรา ทำไมจึงต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญป้องกันการบ่อนทำลายศาสนา และอื่นๆ ที่ล้วนมีลักษณะขัดหลักเสรีภาพและลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท