Skip to main content
sharethis

17 พ.ค. 2559 ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียถึงท่าทีของรัฐบาลต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่แถลงข่าวแสดงความกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ขอให้ทุกคนก้าวข้ามกรณีดังกล่าว และควรที่จะเดินหน้ามองเรื่องอื่นๆ ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่มีการแถลงก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอีก และไม่คิดว่าคำพูดของเอกอัครราชทูตจะเป็นการโน้มน้าวให้ต่างชาติคิดเช่นเดียวกัน จึงขอไม่พูดในเรื่องนี้อีก ถือว่าเรื่องนี้จบแล้ว ส่วนกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายงานสิทธิมนุษยชน ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐหรือ tip report หรือไม่นั้น ไม่สามารถคาดหมายได้ แต่คาดหวังว่าจะไม่ส่งผลอะไรต่อการพิจารณาในเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ไทยได้ทำอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะให้ไทยคงอยู่ในระดับที่เทียร์ 3 ต่อไป เพราะไทยได้แก้ไขปัญหามากเกินกว่าปกติ

ดอนกล่าวว่า ส่วนกรณีการนำเสนอรายงานด้านสิทธิมนุษยชนตามกลไกของสหประชาชาติหรือคณะทำงาน UPR นั้นยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ทุกประเทศสามารถที่จะไปรับฟังคำซักถาม โดยไม่มีมาตรการใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ในส่วนของสหรัฐเอง ก็ถูกประเทศต่างๆ ตั้งคำถามถึง 377 ข้อ ในวงรอบที่สหรัฐต้องไปนำเสนอรายงาน ซึ่งสหรัฐก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของสิทธิเด็กได้ และในเวทีชี้แจง ประเทศแถบตะวันตก ก็ไม่สามารถแก้ไขในบางเรื่องได้เช่นกัน

“ขอทำความเข้าใจกับทุกคน ว่าเวทีคณะทำงาน UPR ไม่ใช่เวทีถล่มประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเวทีที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากนี้ไทยจะตั้งคณะทำงานสรุปแนวทางแก้ไข ภายหลังจากที่ไปรับข้อเสนอแนะมา ว่าจะสามารถถามและดำเนินการในเรื่องใดได้บ้าง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ คสช.เตรียมยกเลิกการเชิญบุคคลปรับทัศนคติ นั้นเป็นเพราะข้อเสนอแนะคณะทำงาน UPR ใช่หรือไม่ ดอน กล่าวว่า จะส่งผลต่อหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ขอให้รับรู้ว่ารัฐบาลนี้เอาใจใส่ประชาชน ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการหารือ เพราะเป็นเรื่องของ คสช. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการตลอดเวลาว่าจะทำอะไรให้คำนึงถึงประชาชน ทั้งนี้ที่ผ่านมาการเชิญบุคคลไปปรับทัศนคติของทางการไทยก็เป็นไปได้ด้วยดี ผิดกับต่างประเทศที่อาจจะเจ็บตัวกลับมาบ้าง อีกทั้งเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชิญนักวิชาการต่างประเทศมาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองไทย เพราะประเทศไทยขณะนี้ยังเป็นปกติและไม่ได้ทำงานแตกต่างไปจากต่างประเทศ

“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพอย่างมากประชาชนมีสิทธิในการพูดและกระทำมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคนไทยไม่ได้มีความรู้สึกอะไรในเรื่องนี้ แต่ต้องรับว่าสื่อนำเสนอน้อยเกินไป จึงอยากขอให้เข้าใจและช่วยกัน” ดอน กล่าว

‘วิษณุ’ ห่วงท่าทีทูตสหรัฐ

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศ ไทย แสดงความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างต่อเนื่องนั้นน่าเป็นห่วงหรือไม่ว่า ห่วง เพราะว่าปกติแล้วทูตพูดอะไรก็ตาม ตนก็เข้าใจหัวอกของท่าน เพราะตนก็เคยเจอมาแล้ว บางทีการที่เราพูดอะไรเป็นเรื่องของเรา แต่กลายเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือของประเทศไป ยิ่งหากเป็นทูตพูดก็จะกลายเป็นเรื่องของประเทศไป เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง
 
“ตอนที่ผมไปงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เกาะสมุย นักข่าวเป็นร้อย ส่วนคนที่มาฟังผมคือเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินประมาณ 20 คน แต่ผู้สื่อข่าวเป็นร้อย เต็มไปหมด ผมก็อธิบายด้วยความเข้าใจและย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นความคิดส่วนตัวของผมเท่านั้น เพราะผมไม่ได้โง่จนขนาดไม่คิดอะไร แต่ในการคิดของผมอาจจะผิด เพราะปฏิทินมันจะเดินแบบนี้ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าเป็นท่าทีของรัฐบาล แต่พอผมกลับมากรุงเทพฯ ยังมีรัฐมนตรีบางคนถามผมว่าตกลงจะเอาแบบนั้นหรือ ผมก็บอกว่าผมน่ะเอาแบบนั้น แต่คนอื่นไม่รู้” วิษณุ กล่าว
 
ที่มา มติชนออนไลน์ 1, 2 และ สำนักข่าวไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net