ปัญหาการปล่อยสินเชื่อพ่วงประกันภัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สภาพปัญหา

สืบเนื่องจากภาครัฐต้องการสร้างความเจริญเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ให้กับประชาชน  โดยอาศัยกลไกลตลาดเป็นเครื่องมือเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและจัดทำบริการให้กับประชาชนภายในประเทศตนเอง เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรัฐถือหุ้น เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ ธุรกิจประกันภัยต่างๆ  ซึ่งธุรกิจทั้งสองอย่างนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจแต่โดยรูปแบบการบริหารจัดการในรูปของบริษัทจำกัด(มหาชน)นั้นคือ การแสวงหากำไรเพื่อความอยู่รอดขององค์กรนั่นคือ ธรรมชาติของการทำธุรกิจ  แต่เมื่อรัฐปล่อยให้เอกชนมีอิสระในการบริหารจัดการมากเกินไปโดยที่ไม่ได้เข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด  ก็อาจเกิดคำถามว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมจริงหรือไม่ ? แต่ในทางตรงกันข้ามหากภาครัฐเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดมากเกินไปก็อาจจะถูกมองว่าเข้ามาแทรกแซงระบบตลาดของเอกชนมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าคิด 

ดังนั้น รัฐจึงพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองโดยการ จัดตั้ง องค์กร ในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการเข้ามาควบคุมกำกับดูแลแก้ไขปัญหาแทนรัฐ เพื่อมิให้ธุรกิจภาคเอกชนมีการแข่งขันกันมากเกินไปจนส่งผลเสียและเป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคมากเกินไปซึ่งโดยปกติหน้าที่รัฐ คือ ต้องสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันในสังคม  เช่น จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(เดิมที่ คือ กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ )และธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ปัญหาไม่ได้จบอยู่เพียงแค่การที่รัฐจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขให้กับสังคมเท่านั้น

 ภาคเอกชนซึ่งมีกลยุทธ์เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวในการหาช่องว่าทางกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ เพื่อจะแสวงหากำไรให้ได้มากที่สุด โดยขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคซึ่งจะต้องแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อย่างเช่น กรณีปัญหาการปล่อยสินเชื่อพวงประกันภัย แน่นอนครับว่าการทำประกันภัยนั้นมีข้อดี  คือ ประการแรก ช่วยลดหนี้ NPL หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทางธนาคาร กระจายความเสี่ยง อันเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางภาครัฐกรณีที่ไม่ต้องใช้เงินมาช่วยอุดหนุนธนาคาร ประการที่สอง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชนในยามเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติต่างๆ  ประการที่สามเป็นสวัสดิการภาครัฐอีกช่องทางหนึ่ง

แต่เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมประชาชนกลับไม่เชื่อมั่นใน ระบบการประกันภัย ระบบการธนาคาร และยังมีการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งจากกรณี ขอสินเชื่อจากทางธนาคารแล้วบังคับให้ทำประกันเกินความจำเป็น โดยทางหน่วยงานของรัฐทั้งสองที่กำกับดูแลนั้นได้เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหา กรณี ปัญหาสินเชื่อพวงประกันภัย อย่างจริงจังหรือไม่ เพราะปัญหานี้ถือว่ากระทบกับภาพลักษณ์ของธนาคารและบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยตลอดจนบริษัทประกันภัยที่ใช้กุลยุทธ์ทางด้านตลาดหาวิธีการโดยใช้ธนาคารเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยที่ภาครัฐนิ่งเฉย ยังไม่มีการกำหนดมาตรการแก้ไข ป้องกันที่ชัดเจนจนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค ที่ไม่มีทางเลือกจำใจต้องกู้เงินและถูกบังคับให้ทำประกันภัยค่าเบี้ยสูงๆ โดยที่ต้องแบกรับภาระทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าเบี้ยประกันกันภัย แต่ในทางกลับกันธนาคารกลับได้ผลงาน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าคอมมิชชั่น  ส่วนบริษัทประกันภัยได้กำไรโดยที่ไม่ต้องออกแรงเพียงแค่ใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดต่างๆล่อใจทางธนาคารเพื่อกระตุ้นยอดขายสร้างผลประกอบการ สร้างกำไรให้ได้มากที่สุด เช่น โปรโมชั่นท่องเที่ยวต่างประเทศ งบส่งเสริมสนับสนุน กิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยอ้างแต่เพียงว่าเพื่อประโยชน์ของทางธนาคารและผู้กู้เงิน คือป้องกันความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย ดังนั้นผลเสียที่เกิดขึ้นจากกลไกตลาดที่รัฐปล่อยให้เอกชนมีการผูกขาดมากเกินไปก็จะส่งผลทำให้ประชาชนผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นใด

จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งต่อปัญหาสินเชื่อพวงประกันภัยดังกล่าวสรุปได้ว่า

1.ด้านธนาคารไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงาน คปภ.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการออก เสนอขาย กรมธรรม์ประกันภัยและการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายประกันชีวิตและธนาคาร พ.ศ.2551และเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการออก เสนอขาย กรมธรรม์ประกันภัยและการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายประกันวินาศภัยและธนาคาร พ.ศ.2552และไม่มีข้อมูลประวัติลูกค้าประกอบการเสนอขายเพื่อป้องกันการเสนอขายซ้ำซ้อน

2.ด้านบริษัทประกันภัยยังคงมีอิสระในการเดินหน้าขยายงานอย่างเต็มที่ผ่านช่องทางธนาคารโดยอาศัยกลไกการปล่อยสินเชื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญและกลยุทธ์ทางการตลาดนำส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

3.ด้านสำนักงาน คปภ.ซึ่งเป็นกลไกลหนึ่งของรัฐยังไม่มีมาตรการป้องกัน มาตรการลงโทษที่ชัดเจน หากเกิดกรณีมีการฝ่าฝืนระเบียบประกาศดังกล่าว

4.ด้านประชาชนยังไม่มีทางเลือกอื่นใดและยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนไม่มีข้อมูลระยะเวลาเพียงพอในการตัดสินใจเลือกซื้อกรมธรรม์ที่เหมาะสม

ข้อเสนอแนะ

ระยะสั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยควรจัดทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง จัดอบรบให้เพิ่มความรู้ ขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่กับกำดูแลโดยตรง และควรจะมีการจัดเก็บข้อมูลสถิติการร้องเรียนเพื่อสะท้อนปัญหาไปยังธนาคารต่างๆเพื่อให้เกิดการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา เพื่อให้มีส่วนรับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น การเสนอขายต้องแสดงโดยชัดแจ้งระหว่างการขายประกันภัยกับหน้าที่ของธนาคารตลอดจนความเสี่ยงภัยที่จะได้รับของคู่สัญญา ควรสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการเสนอขาย ผู้ขายต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ปฏิบัติตามกติกาโดยเคร่งครัดและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนร่วมมีการบันทึกเสียงทุกครั้งในการตกลงทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐาน

ระยะยาว ควรเสนอให้มีกำหนดมาตรการเชิงลงโทษ ทุกฝ่าย แก้ไขกฎหมายผ่านสภาผู้แทนฯ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนหากมีการฝ่าฝืน

สรุป

จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สังคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อการปล่อยสินเชื่อพ่วงประกันภัย เนื่องจากเกรงจะกระทบกับภาพลักษณ์ชื่อเสียงทางด้านธุรกิจภาคเอกชนจึงพยายามเร่งปรับเปลี่ยนคิดหากลยุทธ์ใหม่ๆเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมเรียกร้องเพื่อให้องค์กรของตนเองให้อยู่รอดและแซงหน้าคู่แข่ง

หากมองในแง่ดีก็คือเมื่อการแข่งขันด้านตลาดแสดงว่าประเทศกำลังเจริญเติบโตพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากมองอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดการแข่งขันและการผูกขาดไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่งก็มักมีผลกระทบต่อสังคมไม่ว่าทางตรงก็ทางอ้อมไปพร้อมๆกันอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาสร้างมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความชอบธรรมและเท่าเทียมกันในสังคมต่อไป

แต่หากรัฐยังปล่อยให้เอกชนมีอำนาจผูกขาดมากเกินไปก็จะส่งผลเสียกับประชาชนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐซึ่งมีหน้าที่กระจายรายได้ให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมต่อสังคมโดยรวม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท