Skip to main content
sharethis

ประธานเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ ANFREL เผย กกต.ไทย มีท่าทีตอบรับผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ANFREL เตรียมส่งผู้สังเกตการณ์ช่วงประชามติรัฐธรรมนูญ ชวนคนไทยหาร่างรัฐธรรมนูญมาอ่าน สงสัยให้หมั่นสอบถาม พร้อมแนะนำประสบการณ์ฟิลิปปินส์ยุค 1986 ส่งอาสาสมัครห้าแสนคนเฝ้าทุกคูหาจนถึงขั้นตอนส่งหีบบัตรนับคะแนน

ดามาโซ มักบูอัล ประธานาเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL)

19 พ.ค. 2559 ดามาโซ มักบูอัล ประธานเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) หรือ อันเฟรล เปิดเผยผลการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ว่า กกต. ให้สัญญาว่าจะให้อันเฟรลสังเกตการณ์การลงประชามติ โดยให้อันเฟรลแจ้งความจำนง แจ้งจำนวนผู้สังเกตการณ์ที่อันเฟรลจะส่งลงพื้นที่ และแจ้งสถานที่ซึ่งจะลงพื้นที่

สำหรับผู้สังเกตการณ์นานาชาตินั้น มักบูอัล กล่าวว่าจากการหารือ กกต. อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้ามาได้ แต่ กกต. ไม่มีนโยบายเชิญผู้สังเกตการณ์เหล่านั้นเข้ามาด้วยตัวเอง เพราะหาก กกต. เป็นฝ่ายเชิญ กกต. คิดว่าต้องเป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่าย ซึ่ง กกต. ไม่มีงบประมาณ ดังนั้น กกต. จึงเปลี่ยนเป็นยินดีต้อนรับผู้สังเกตการณ์นานาชาติแทนโดยให้องค์กรนั้นๆ แจ้งวันที่เข้ามาสังเกตการณ์

ต่อเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายของการรณรงค์หรือแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประธานอันเฟรลกล่าวว่าต่อกฎหมายดังกล่าวเข้าใจว่าอาจจะไม่ตรงกับที่สาธารณชนเข้าใจนัก โดยที่ประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติดังกล่าว เป็นการห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือการปลุกระดม โดยสิ่งที่อยากเสนอต่อสาธารณชนก็คือ ต้องหาข้อมูลในสิ่งที่เรายังสงสัย

"คำแนะนำผมคือเริ่มอ่านร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง หรือสอบถามคำแนะนำจากคนที่เราเชื่อใจ เราสามารถเอาชนะข้อจำกัดนี้ได้ ถ้าเราอ่านเอกสาร หาคำแนะนำจากคนอื่นๆ ที่คุณเชื่อถือ"

สำหรับข้อเสนอสำหรับการสังเกตการณ์ลงประชามตินั้น ประธานอันเฟรลกล่าวว่า ทั่วไปแล้วตัวประชาชนเองเป็นผู้มีความเอาใจใส่ระแวดระวัง พวกเขาสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้ โดยเขายกตัวอย่างกรณีที่เกิดในประเทศฟิลิปปินส์ปลายยุคเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสว่า

"ตัวอย่างที่ดีอาจจะเป็นฟิลิปปินส์ ในยุคที่พวกเราอยู่ภายใต้การปกครองของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในการเลือกตั้ง รัฐบาลแทบจะไร้อำนาจไปเลยในการยักย้ายถ่ายโอนผลคะแนนเลือกตั้ง เพราะว่าสาธารณชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยในปี ค.ศ. 1986 NAMFREL (ขบวนการพลเมืองแห่งชาติเพื่อการเลือกตั้งเสรี) ส่งอาสาสมัคร 5 แสนคน เพื่อสังเกตการณ์ถึงหน่วยเลือกตั้ง เราไปส่งหีบบัตรลงคะแนนถึงศาลาว่าการเมือง เราสังเกตการณ์การลงคะแนนทั้งวัน ซึ่งความเอาใจใส่ระแวดระวัง นับเป็นราคาของประชาธิปไตย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net