Skip to main content
sharethis

ไช่ อิงเหวิน สาบานตนเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน - พร้อมแถลงว่าไต้หวันเผชิญความท้าทาย เศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น ระบบบำนาญต้องปฏิรูป เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัย คนรุ่นหนุ่มสาวยังมีชีวิตที่ยากลำบาก โดยรัฐบาลจะมุ่งส่งต่อประเทศที่ดีกว่าเดิมให้กับคนรุ่นหลัง - ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่จะรักษา "สถานะเดิม" โดยเลี่ยงไม่ใช้คำว่า "จีนเดียว"

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน สาบานตนเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน (ที่มาของภาพ, Office of the President Republic of China [1], [2])

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีน ร่วมกับนักเรียนชนพื้นเมือง (ที่มา: YouTube: Office of the President Republic of China)

พิธีฉลองรับตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน เมื่อ 20 พฤษภาคม 2559 (ที่มา: YouTube: Office of the President Republic of China)

20 พ.ค. 2559 ไช่อิงเหวิน สาบานตนและรับมอบตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน ในตอนเช้าวันนี้ เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของไต้หวัน โดยรับมอบตำแหน่งต่อจาก อดีตประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว โดยมี ซู เจียเฉวียน ประธานสภานิติบัญญัติไต้หวัน เป็นประธานในพิธีดังกล่าว เป็น ประธานาธิบดี ไต้หวัน สาธารณรัฐจีนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงคนที่ 4

รายงานของ สถานีวิทยุ RTI ภาคภาษาไทย ในพิธีปฏิญานตนเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ยกมือขวาขึ้น พร้อมกล่าวสาบานตนว่า "ข้าพเจ้าขอปฏิญานตนด้วยความสัตย์ซื่อต่อประชาชนทั่วประเทศว่า จะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ เสริมสร้างความผาสุกให้แก่พี่น้องประชาชน ปกป้องประเทศชาติ ไม่ทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง หากละเมิดคำปฏิญานตนข้างต้น ข้าพเจ้ายินดีรับโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ข้าพเจ้าผู้ปฏิญานตน ไช่ อิงเหวิน วันที่ 20 พ.ค. 2559"

หลังจากที่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน กล่าวปฏิญานตนแล้ว รองประธานาธิบดี เฉิน เจี้ยนเหริน ก็ได้กล่าวปฏิญานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเป็นลำดับต่อมา

พิธีปฏิญานตนดังกล่าว มี ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว รองประธานาธิบดี อู๋ตุนอี้ อดีตประธานาธิบดี ลีเติงฮุย และว่าที่ นายกรัฐมนตรี หลินเฉวียน ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยนั่งแถวหน้าสุด นอกจากนี้ หงซิ่วจู้ หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง เคอเหวินเจ๋อ ผู้ว่าการกรุงไทเป พร้อมด้วยผู้ว่าการนครและจังหวัดต่างๆ สังกัดพรรค DPP ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

อดีตประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว พรรคก๊กมินตั๋ง จับมือแสดงความยินดี ต่อมาหลังการส่งมอบตำแหน่ง ไช่อิงเหวิน ทำพิธีรับมอบตราสำคัญจากประธานสภานิติบัญญัติ นอกจากนี้ยังลงนามคำสั่งแต่งตั้ง หลินฉวน เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาไช่ อิงเหวิน เดินทางไปร่วมพิธีฉลองรับตำแหน่งประธานาธิบดี มีการร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีนร่วมกับนักเรียนชนเผ่าพื้นเมืองของไต้หวัน และกล่าวสุนทรพจน์ความยาว 25 นาที

โดยในกล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน ตอนหนึ่งกล่าวว่า ให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลของเธอจะดำเนินนโยบายสองฝั่งช่องแคบโดยยึดรัฐธรรมนูญของ 'สาธารณรัฐจีน' อันเป็นชื่อทางการของไต้หวัน

ไช่ อิงเหวิน กล่าวถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-จีนว่า เคารพใน "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" ที่ว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1992 เป็นเวลา 20 ปีแล้วของการปฏิสัมพันธ์และเจรจาระหว่างสองฝั่ง นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ทั้งสองฝ่ายควรชื่นชมและรักษา "บนพื้นฐานของความเป็นจริงและหลักทางการเมืองที่ดำรงอยู่ การพัฒนาที่มีเสถียรภาพและสันติภาพของความสัมพันธ์สองฟากฝั่งจะต้องได้รับการส่งเสริมต่อเนื่อง" ทั้งนี้ไม่มีการกล่าวคำว่า "จีนเดียว" ในสุนทรพจน์

อนึ่ง ไช่ อิงเหวิน ไม่เคยแสดงความสนับสนุนการรวมชาติจีน-ไต้หวัน ขณะที่การกล่าวถึงการหารือระหว่างจีนกับไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1992 หรือ "ฉันทามติ 92" หมายถึง ข้อตกลงระหว่างจีน-ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่ว่าทั้งไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่รับรองว่ามีเพียง “จีนเดียว” อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายต่างมีการแถลงคำจำกัดความ “จีนเดียว” ของตนเอง โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง แต่ไต้หวันซึ่งมีชื่อออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน ก็ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระมาหลายทศวรรษนับตั้งแต่จอมพล เจียง ไคเช็ค ล่าถอยไปตั้งหลักตั้งแต่ปี 2492

ก่อนหน้านี้ในรายงานของ สถานีวิทยุ RTI เมื่อ 27 เมษายน 2559 ไช่ อิงเหวิน กล่าวในระหว่างการประชุมเพื่อรับฟังรายงานสรุปของคณะกรรมการกิจการจีนแแผ่นดินใหญ่ว่า ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันต่อไป โดยไช่อิงเหวินย้ำคำพูดที่ว่า "รักษาสถานะเดิมต่อไป"

 

สุนทรพจน์ประธานาธิบดีหญิง ความท้าทายภายหน้า-และความมุ่งหวังทำให้ไต้หวันดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลัง

สำหรับเนื้อหาของสุนทรพจน์ ไช่ อิงเหวิน กล่าวว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลัง "เส้นทางข้างหน้าไม่ได้ราบรื่น ไต้หวันจำเป็นต้องมีรัฐบาลใหม่ที่พร้อมกับความท้าทายทุกประการ และนี่คือหน้าที่ของฉันที่จะขับเคลื่อนรัฐบาลเช่นว่านั้น"

ไช่ อิงเหวิน กล่าวถึงความท้าทายของรัฐบาลเช่น

"ระบบบำนาญของไต้หวันจะอยู่ในสภาพล้มละลายหากไม่มีการปฏิรูป
ระบบการศึกษาที่ไม่ยืดหยุ่นที่ไม่เชื่อมโยงกับสังคม
พลังงานและทรัพยากรมีจำกัด เศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น เนื่อจากระบบอุตสาหกรรมแบบเดิมเผชิญปัญหาคอขวด ดังนั้นไต้หวันต้องการ "แบบแผนใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ"
ประชากรไต้หวันเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบดูแลสุขภาพยังไม่เพียงพอ
อัตราการเกิดลดต่ำลง ในขณะที่ระบบดูแลเด็กเล็กยังไม่เป็นอย่างที่มุ่งหวัง
สิ่งแวดล้อมของไต้หวัน ยังคงได้รับผลกระทบจากมลภาวะหลายประการ
การคลังของประเทศยังห่างไกลที่จะมองว่าอยู่ในสถานะที่ดี
กระบวนการยุติธรรมของไต้หวันยังขาดความไว้ใจจากประชาชน
ครอบครัวของชาวไต้หวันยังตั้งวุ่นวายใจกับเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร
ความแตกต่างกันเรื่องรายได้ยังคงถี่ห่าง
ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมยังเต็มไปด้วยช่องว่าง"

ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน ย้ำว่า คนหนุ่มสาวของประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาได้รับค่าแรงน้อย ทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบาก พวกเขารู้สึกสิ้นหวังและสับสนกับอนาคต

"อนาคตของคนรุ่นหนุ่มสาวเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล หากโครงสร้างที่ไม่เป็นมิตรนี้ยังคงดำรงอยู่ สถานการณ์สำหรับคนรุ่นใหม่ก็จะไม่ได้รับการปรับปรุง ไม่ว่าเราจะมีชนชั้นนำมากความสามารถแค่ไหน โดยความคาดหวังของข้าพเจ้าก็คือ ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นประธานาธิบดี ข้าพเจ้าจะต่อสู้กับปัญหาของประเทศในทุกขั้นตอน โดยเริ่มที่โครงสร้างในระดับพื้นฐาน

นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการทำเพื่อคนรุ่นหนุ่มสาวของไต้หวัน แม้ว่าจะไม่สามารถยกระดับให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวได้ทันที  ข้าพเจ้าก็ขอให้สัญญาว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการเหล่านี้ทันที โปรดให้เวลากับพวกเรา และร่วมกับพวกเราในเส้นทางปฏิรูป

การเปลี่ยนแปลงสภาพที่ยุ่งยากใจสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาว ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ยุ่งยากใจของประเทศ เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่มีอนาคต แน่นอนประเทศก็ไม่มีอนาคต นี่เป็นหน้าที่จริงจังของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะช่วยเหลือคนรุ่นหนุ่มสาว เพื่อให้เอาชนะความยากลำบาก บรรลุถึงความยุติธรรม และส่งต่อประเทศที่ดีกว่าเดิมให้กับคนรุ่นหลัง

ทั้งนี้ 5 นโยบายหลักที่ไช่ อิงเหวิน แถลงประกอบไปด้วย ประการแรก การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการในการร่วมมือกัน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ให้หลักประกันต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน

ไช่ อิงเหวิน ประกาศด้วยว่า จะส่งเสริม "นโยบายมุ่งไปทางใต้ฉบับใหม่" เพื่อยกระดับการให้ความสำคัญและกระจายความหลากหลายของภาคเศรษฐกิจนอกประเทศ และเลิกนโยบายที่ต้องพึ่งพาตลาดเดียว

ประการที่สอง เสริมเครือข่ายความปลอดภัยในสังคม ผลักดันการปฏิรูประบบบำนาญประชาชน ผลักดันการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปกองทุนบำเหน็จบำนาญประชาชน ซึ่งรวมถึงสวัสดิการสังคม การดูแลผู้สูงวัยระยะยาว และการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวินย้ำว่าจะถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะวางแผนและปฏิบัติตมแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้พร้อมรับมือกับการมาถึงของภาวะ "สังคมผู้สูงวัยขั้นสูง"

ประการที่สาม สร้างความยุติธรรมในสังคม รวมถึงการผลักดันความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และปฏิรูปตุลาการ คืนความเป็นธรรมให้แก่ชนพื้นเมือง จัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและปรองดองขึ้นภายใต้โครงสร้างของทำเนียบประธานาธิบดี

ประการที่สี่ ความมั่นคงสันติภาพในภูมิภาคและความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ตอนหนึ่งไช่อิงเหวิน กล่าวถึงความพยายามในการสร้าง แบบแผนใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ" ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อกับประเทศในเอเชียอื่นๆ และประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกผ่านความร่วมมือ และยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคต โดยไม่เพียงแต่การช่วยเหลือด้านนวัตกรรม แต่ไต้หวันจะช่วยเหลือภูมิภาคในเรื่องการปรับปรุงในด้านโครงสร้างและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเสริมสร้างบรรยากาศของ "ประชาคมเศรษฐกิจ"

นอกจากนี้จะผลักดันให้ไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในความมั่นคงและปลอดภัยในภูมิภาค เสริมการทำความเข้าใจระหว่างกัน ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน จะขยายการทำความเข้าใจและเจรจากันบนพื้นฐานการเมืองที่มีมาตั้งแต่การประชุมเจรจา 1992 หรือ “ฉันทามติ 92” ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่

และประการสุดท้าย ด้านการต่างประเทศและทั่วโลก ย้ำความเป็นสมาชิกในสังคมโลกของไต้หวัน กระชับความร่วมมือกับประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน สร้างความร่วมมือกับประเทศประชาธิปไตยที่เป็นมิตรกับไต้หวันให้แน่นแฟ้น ตลอดจนให้ความร่วมมือในประเด็นใหม่ที่มีลักษณะครอบคลุมทั่วโลก สร้างความยุติธรรมในสังคม ความมั่นคงสันติภาพในภูมิภาคและระหว่างช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนด้านการต่างประเทศกับทั่วโลก

 

ประธานาธิบดีหญิงคนรักแมว ผู้เริ่มต้นจากเส้นทางวิชาการ มีนโยบายเปิดกว้างสนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน

ผู้เป็นประธานาธิบดีหญิงของไต้หวันคนแรกนี้ ปัจจุบันมีสถานะโสด เลี้ยงแมว 2 ตัว คือ "เซียงเซียง" หรือ "ถิงถิง" และ "อาไช่" พื้นเพของเธอเกิดที่กรุงไทเปเป็นลูกสาวคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องร่วมมารดาและต่างมารดา 11 คน ปู่ของเธอเป็นชาวจีนฮากกา ส่วนย่าเป็นชนพื้นเมืองไผหวัน บนเกาะไต้หวัน พ่อของเธอเริ่มต้นจากการเปิดร้านซ่อมรถยนต์ ก่อนที่จะสร้างฐานะจนเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จากรายงานชีวประวัติใน หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ของสิงคโปร์ และ สารานุกรมวิกิพีเดีย ระบุว่า พ่อแม่ของไช่ อิงเหวิน มีความคาดหวังสูงต่อลูก และเคยไม่พอใจที่ลูกสอบไม่ได้อันดับที่ 1 เหมือนพี่น้องคนอื่นๆ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของไช่ อิงเหวิน ผ่านรายการโทรทัศน์ไต้หวันเมื่อปีก่อน

เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัย ไช่ อิงเหวิน เคยคิดอยากเรียนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี แต่ถูกโน้มน้าวให้ไปเรียนนิติศาสตร์เนื่องจากพ่ออยากให้เธอมาช่วยทำงานด้านกฎหมายสำหรับกิจการของครอบครัว

ทั้งนี้ภายหลังจากจบปริญญาตรีด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) เมื่อปี 2521 ไช่ อิงเหวิน ไปเรียนต่อจบมหาบัณฑิตด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2523 และจบดุษฎีบัณฑิต จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2527 เมื่อศึกษาจบได้กลับมาเป็นอาจารย์กฎหมายที่มหาวิทยาลัยกฎหมายซูโจว และมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี ในไต้หวัน

ไช่ อิงเหวิน เริ่มมีความโดดเด่นในฐานะข้าราชการด้านนโยบาย ในยุคของประธานาธิบดี ลี เติงฮุย เชิญให้มาเป็นหัวหน้าคณะวิจัย เพื่อพิสูจน์ว่าไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” และเพื่อสร้างทฤษฎี “สองรัฐ” ขึ้น

ต่อมา ไช่ อิงเหวิน ยังขึ้นมาเป็นหัวหน้าของ สภากิจการแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับคณะรัฐมนตรีไต้หวัน รับผิดชอบนโยบายที่เกี่ยวข้องระหว่างสองฟากฝั่งไต้หวัน – จีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงรัฐบาล DPP ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน เข้าร่วมพรรค DPP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยของประธานาธิบดี เฉิน ซุยเปียน

ไช่ อิงเหวิน เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรค DPP ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 14 มกราคม 2555 แต่ก็แพ้ให้กับ หม่า อิงจิ่ว ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ขณะที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 16 มกราคม 2559 นอกจากจะทำให้ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันแล้ว ในรายงานของเดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษยังเปรียบเทียบว่าไช่ อิงเหวิน จะกลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกของผู้ใช้ภาษาจีน

ทั้งนี้ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน แสดงจุดยืนทางการเมืองที่เปิดกว้าง โดยในรายงานของ Quartz เมื่อ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ก่อนพาเหรดเกย์ไพรด์ของกรุงไทเป เมื่อปีที่แล้ว ไช่ อิงเหวิน ประกาศสนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน โดยกล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊คของเธอว่า "ต่อหน้าของความรัก คนทุกคนเท่ากัน ขอให้ทุกคนมีเสรีภาพในความรักและทำให้ความสุขของพวกเขาสมหวัง ฉันคือ ไช่ อิงเหวิน และฉันสนับสนุนการแต่งงานที่เสมอภาคกัน" ทั้งนี้ไช่ อิงเหวิน ยังเผยแพร่วิดีโอที่จัดทำโดยทีมงานหลายคลิป เพื่อสนับสนุนครอบครัวของเพศเดียวกัน

ขณะที่ท่าทีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ไช่ อิงเหวิน แม้จะไม่เคยสนับสนุนโดยเปิดเผยให้ไต้หวันเป็นเอกราช และดูเหมือนต้องการรักษา “สถานะปัจจุบัน” ไว้กับปักกิ่งและต่อสู้เพื่อความร่วมมือเพื่อให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มากกว่านี้

 

ประธานาธิบดีคนที่ 2 จากพรรค DPP ผู้กอบกู้สถานการณ์พรรคตกต่ำหลังยุคเฉิน ซุยเปียน

ในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ปกครองไต้หวันแทบจะตลอดมานับตั้งแต่ จอมพลเจียง ไค เช็ค (Chiang Kai-Shek) ล่าถอยมาจากแผ่นดินใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2492 ในช่วงขับเคี่ยวสงครามกลางเมืองกับ เหมา เจ๋อ ตุง จึงนับได้ว่า ไช่ อิงเหวิน เป็นนักการเมืองคนที่ 2 จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่สอดแทรกขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวัน ซึ่งมีประชากร 23 ล้านคน ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง แต่ไต้หวันก็ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระหลายทศวรรษ

สำหรับประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้จากพรรค DPP ก็คือ เฉิน ซุยเปียน (Chen Shui-bian) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2543 - 2551 และมีชื่อเสียงเสื่อมเสียด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน ขณะที่ไช่ อิงเหวิน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กู้สถานการณ์ของพรรค DPP กลับมา

โดยในห้วงที่ ไช่ อิงเหวิน นำพรรค DPP ชนะการเลือกตั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจของประชาชนต่อพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งปกครองไต้หวันในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ซึ่งปกครองไต้หวันระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2558 เศรษฐกิจของไต้หวันอยู่ภาวะชะลอตัว ขณะเดียวกันก็เข้าไปเกี่ยวข้องพึ่งพากับเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ความไม่พอใจต่อพรรคก๊กมินตั๋งมาถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2557 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติผ่านข้อตกลงทางการค้ากับจีน ทำให้เกิดการตอบโต้ของขบวนการนักศึกษาที่ชื่อว่า "ขบวนการดอกทานตะวัน" รวมไปถึงการประท้วงของกลุ่มรากหญ้าก็แพร่ขยายในไต้หวัน

 

แปลและเรียบเรียงช่วงคำกล่าวสุนทรพจน์จาก

‘I respect the historic fact’: Taiwan’s new President Tsai Ing-wen strikes balance on 1992 consensus in inauguration speech, South China Morning Post, 20 May 2016 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net