Skip to main content
sharethis
เมื่อคนเวียงแหงพร้อมใจกันจัดงาน‘มหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง’ สรุปบทเรียนความร่วมมือและทิศทางการจัดการทรัพยากรฯที่ยั่งยืน หลายองค์กรขานรับ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ของชุมชน ว่าลดความขัดแย้ง ไม่ต้องจับกุม ไม่มีบุกรุก แถมยังช่วยกันดูแลรักษาดิน น้ำ ป่า ได้ยั่งยืน
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 24 - 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ จึงได้มีการจัดงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง ณ บริเวณสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยภายในงาน จะมีการจัดกิจกรรมของเครือข่ายหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน อาทิ งานถอดองค์ความรู้ การจัดนิทรรศการกิจกรรมของเครือข่ายฯ และมี“วงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์“การเติมเต็มสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า” โดยมี เครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) และนักพัฒนาเอกชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แล้วยังมีนำเสนอวีดีทัศน์“เหลียวหลัง แลหน้า สร้างพลังข้อมูล ปฏิรูปฐานทรัพยากร” ให้ได้ชมภายในงานกันอีกด้วย
                                                                                   
นอกจากนั้น ยังมีความเห็นต่อบทเรียน ประสบการณ์ของเครือข่ายฯ รวมทั้งยังมีการจัดวงเสวนาเรื่อง “ข้อเสนอ สิ่งที่ท้าทายจากบทเรียนชาวบ้าน สู่การปฏิรูปทรัพยากร ฐานราก สู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย” โดยมีผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ ผู้แทนกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนท้องถิ่น 3 ตำบล อำเภอเวียงแหง ผู้แทนเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน และผู้แทนภาคีเครือข่าย ภาคเหนือ เข้าร่วมวงเสวนากันด้วย
 
ไพรัช ใหม่ชมพู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ประธานในการจัดการงานในครั้งนี้ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพี่น้องชาวบ้าน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน นี้สุดยอดมาก ทำได้ขนาดนี้ เพราะพี่น้องชาวบ้านเจ้าของพื้นที่นั้นจะรู้ปัญหาของตนเองดี โดยให้ทุกฝ่ายทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม
 
“บางทีเราต้องเข้าใจว่า รัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาแต่บางครั้งก็ไม่รู้จะใช้วิธีไหนมาแก้ แต่ถ้ารัฐมาเห็นกระบวนการทำงานการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ที่เป็นรูปธรรมเหมือนที่เครือข่ายกำลังทำอยู่นี้ ก็อาจนำไปสู่นโยบายของรัฐได้ ซึ่งก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของ อบจ. ก็กำลังศึกษารูปแบบในเรื่องนี้อยู่ว่าจะใช้พื้นที่อำเภอไหนที่มีความพร้อมและเป็นรูปธรรม เป็นพื้นที่นำร่องต่อไป ซึ่งจะต้องเชิญตัวแทนของอบต. เทศบาลที่มีความพร้อม มาคุยกัน โดยทาง อบจ.จะเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกันต่อไป”
 
ด้าน สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ป่าไม้ ต่างก็ใช้ตัวบทกฎหมาย 4 ตัวเหมือนกันหมดทั่วประเทศ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องมองบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ แต่อาจจะนำไปใช้กับพื้นที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว หรืออำเภอปาย อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าได้ แต่กรณีเวียงแหง นี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ เมื่อคนเวียงแหงได้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวของตัวเอง ร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่ากันเองได้ โดยใช้กฎกติกาของเครือข่าย ดังนั้น ในเรื่องตัวบทกฎหมาย รวมไปถึงแนวทางการทำงานของเครือข่ายฯ คงต้องฝากไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับกระทรวง ช่วยกันพิจารณาเป็นนโยบายกันต่อไป เพราะมาถึงตรงนี้ ถือว่าพี่น้องเวียงแหงได้ร่วมกันผลักดันกันมาได้ไกลแล้ว
 
เมื่อเราถามว่า พื้นที่อื่นสามารถนำรูปแบบการจัดการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินของเวียงแหง ไปปรับใช้ได้หรือไม่
 
ตัวแทนอุทยานแห่งชาติผาแดง บอกว่า อาจนำไปปรับใช้ได้ อย่างกรณีเวียงแหง จัดการกันแบบนี้ พื้นที่เชียงดาว พื้นที่ไชยปราการ ก็อาจทำในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ก็อาจมีบางอุทยานฯ ที่ยังไม่กล้าที่จะปรับกระบวนการทำงานแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ แต่เราก็พยายามจะเสนอให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติได้รับรู้ในสิ่งที่เครือข่ายฯ กำลังทำกันอยู่นี้ว่า มันช่วยลดความขัดแย้ง ลดการจับกุม และลดการบุกรุกป่าได้จริง
 
“ต้องขอขอบคุณคณะทำงานเครือข่ายฯ และนายกฯ ทั้ง 3 ตำบล ที่กล้าเข้ามาทำงานในจุดนี้ แม้กระทั่งตัวเองด้วย ยอมรับว่าเสี่ยงเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานฯ เคยเอาจำนวนคดีเป็นตัวตั้ง เป็นตัวชี้วัดของการทำงานของหัวหน้าอุทยานฯ แต่เป็นที่รู้กันว่ามันไม่ตอบสนองเลยว่า คดีเยอะ แล้วพื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้นตามคดีนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราต้องหันกลับมาดูกันใหม่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มพื้นที่ป่า แต่ลดคดีลง ซึ่งก็ได้เริ่มการทำงานในพื้นที่เวียงแหงนี่แหละ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลังจากที่เราได้วางกรอบ บล็อกพื้นที่ แล้วทำให้พื้นที่บุกรุกลดลง แทบจะไม่มีเลย ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกองค์กรเครือข่ายที่ช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าของเวียงแหงเอาไว้ เพราะลำพังจะให้เจ้าหน้าที่ 6 คน ดูแลพื้นที่ป่า 70,000 กว่าไร่ มันคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว” หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง กล่าวทิ้งท้าย
 
ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ยึดแนวทางการจัดการปัญหาที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จนนำไปสู่การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อจัดการดูแลทรัพยากรฯ ในพื้นที่ของตนเอง ก็ได้กล่าวว่า สิ่งที่เราทำนั้น ก็เพื่อป้องกันการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า ซึ่งมันเป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐและพี่น้องชาวบ้านกันอยู่แล้ว และที่ผ่านมา หลายพื้นที่ก็จะเจอปัญหาความขัดแย้งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบุกรุก การถูกจับดำเนินคดี กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้น เราจึงมีความพยายามจะหาจุดที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้มันยุติ โดยทำอย่างไรให้พื้นที่ทำกินของพี่น้องชาวบ้านมันชัดเจน และป่าที่เหลืออยู่นี้เราจะช่วยกันรักษากันอย่างไร
 
“ดังนั้น จะให้ฝ่ายรัฐแก้ปัญหากันเองก็คงไม่ไหวและไม่มีที่สิ้นสุดเสียที ดูได้จากการพิสูจน์สิทธิ ตามมติครม.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังทำกันไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น การที่พี่น้องชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการตนเองตรงนี้ การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในครั้งนี้ มันช่วยทำให้แบ่งเบา และเป็นการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ให้รัฐบาลต่อไป แล้วยังช่วยลดความขัดแย้ง การจับกุมชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งตนเห็นว่า การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อรองรับกระบวนการทำงานของพี่น้องเครือข่ายฯ ในพื้นที่ ทั้งยังช่วยในเรื่องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ซึ่งตนคิดว่า ตอนนี้ หลายพื้นที่ต่างกำลังเจอกับปัญหาข้อพิพาทกันไปทั่วอยู่แล้ว ซึ่งเข้ามาทำงานของเครือข่าย จะช่วยลดปัญหาการจับกุม ความขัดแย้งตรงนี้ได้”
 
ธนภณ เมืองเฉลิม รักษาการผู้จัดการภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเห็นความสำเร็จทั้งที่มาจากความรู้สึก และที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เห็นกระบวนการทำงานของพี่น้องชาวบ้าน ที่ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล หน้าดำหน้าแดง แล้วมาเห็นพี่น้องชาวบ้านในครั้งนี้ ที่มารุมดูแผนที่การจัดแนวเขตที่ดินทำกินของตนเองแบบนี้ ทำให้เราเห็นว่า ทุกคนมีส่วนร่วม และมีสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินตามขอบเขตของตนเอง ทำให้พี่น้องชาวบ้านมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ว่าที่เราอยู่ที่เราทำกิน
 
ผู้แทนของ พอช. ยังได้ให้ข้อเสนอแนะไว้อีกว่า ประเด็นที่หนึ่ง อยากเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะที่ผ่านมาในประเทศไทย หลายๆ ด้าน มักจะรวมศูนย์ทั้งในเรื่องของงบประมาณ แม้กระทั่งในเรื่องของการพัฒนา เพราะฉะนั้น เรื่องการกระจายอำนาจ จะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรณีเวียงแหง ครั้งนี้ เรากำลังเป็นตัวอย่างของการจัดการตนเอง ว่าเป็นจริง และให้ทางฝ่ายนโยบายได้รับทราบและมาเรียนรู้ ว่าเรากำลังพยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง แก้ไขปัญหากันเอง
 
ประเด็นที่สอง พวกเราเชื่อในศักยภาพของชุมชน ศักยภาพของประชาชน ศักยภาพของผู้ที่ประสบปัญหา ว่าทุกคนสามารถรวมกลุ่มกันจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ ซึ่งกรณีเวียงแหง ถ้าชุมชนพร้อม ในส่วนของ พอช.ก็พร้อมสนับสนุนในเรื่องงบประมาณอุดหนุนกิจกรรมได้
 
ประเด็นสุดท้าย จำเป็นที่เครือข่ายฯ หรือตำบล จะต้องมีแผนแม่บทหรือแผนของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แผนสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งการมีแผนแบบนี้ จะทำให้เรานำไปเชื่อมโยงกับองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
ผู้แทนกองทุนสิ่งแวดล้อม ชื่นชมคนเวียงแหง ย้ำลงมือทำในพื้นที่ แต่ตอบโจทย์แก้ปัญหาระดับโลกได้
 
วรศักดิ์ พ่วงเจริญ ผู้แทนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงเรื่องของนโยบายหรือแผน หรือที่เรียกว่าแพลนนิ่ง นั้นส่วนใหญ่ก็จะนิ่งจริงๆ คือมีแผนแล้วไม่ลงมือทำกัน แต่ครั้งนี้ได้มาเห็นความสำเร็จของคนเวียงแหง ซึ่งทำให้ตนเชื่อว่า ต่อไป นโยบาย แผน หรือรูปแบบการทำงานจากบนลงล่าง จะเหลือน้อยลงไป แต่การบริหารในอนาคต ตนมองว่า จะเป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน รวมทั้งเครือข่ายต่างๆ จะเข้ามาบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วมกันมากขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ นั้นเริ่มจากการรับรู้ปัญหาของคนในชุมชน ร่วมกันคิดที่แก้ไขปัญหานั้น ร่วมลงมือทำ สุดท้ายก็ร่วมรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น มีสิ่งที่ท้าทายทุกคนก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ต่อไปได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวยืนยันว่า ชุมชนสามารถบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งตนก็ขอให้ทุกคนได้ร่วมกันยืนหยัดรักษาฐานทรัพยากรของอำเภอเวียงแหงเอาไว้ต่อไป
 
“อยากจะบอกว่า สิ่งที่ท่านกำลังทำกันในครั้งนี้ว่า ที่ทุกคนได้ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่เวียงแหง มันไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะพื้นที่เวียงแหงอย่างเดียว แต่มันกำลังตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ในมิติของ อนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งเป้าหมายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่สหประชาชาติได้บรรจุเอาไว้ 17 เป้าหมาย ซึ่งพี่น้องเวียงแหงกำลังทำกันอยู่นี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ การบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด และเราสามารถบอกได้เลยว่า สิ่งที่เราทำนี้ มันไม่ได้สอดคล้องเพียงแค่กับนโยบายของประเทศ แต่มันสอดคล้องกับนโยบายระดับโลกทำในพื้นที่ แต่ตอบโจทย์ระดับโลกได้ด้วย”
 
ลงนามสร้างธรรมนูญระดับตำบลมอบหนังสือทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน                
 
 
 
ที่น่าสนใจอีกกิจกรรมหนึ่งในงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง ในครั้งนี้ก็คือ มีการจัดพิธีลงนามสนับสนุนสิทธิชุมชนกับการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรฯ เพื่อสร้างธรรมนูญระดับตำบล และมีพิธีมอบ หนังสือทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดินตำบลเปียงหลวง โดย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง พิธีมอบ บัตรประจำตัว ทสม. อำเภอเวียงแหง โดย ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่
 
“งานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตงในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานเปิดตัวเครือข่ายฯ เพราะที่เราได้ทำกันทุกวันนี้ บางครั้งพี่น้องในชุมชนเวียงแหงก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไร แต่คนที่ได้เข้ามาใกล้ๆ ก็รู้บ้าง ก็เลยอยากขยายองค์ความรู้ไปถึงพี่น้องประชาชน โดยไฮไลต์ของงาน นั่นคือการทำทะเบียนประวัติการใช้พื้นที่ และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเครือข่าย แล้วถัดไป หลังจากงานนี้ พี่น้องที่ได้ใบนี้ไปอวดพี่อวดน้องแล้ว ผมเชื่อว่าการทำงานของเครือข่ายก็จะง่ายขึ้นอีกครับ” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่า
 
และในตอนท้าย ยังมีการร่วมกันประกาศธรรมนูญตำบล ขับเคลื่อนสู่ข้อเสนอทางนโยบายและกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเวียงแหง ซึ่งถือเป็นสรุปบทเรียนการทำงานของเครือข่ายฯ ที่ชัดเจน ประสบผลสำเร็จ และสามารถมองเห็นทิศทางข้างหน้าของการดูแลฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของเวียงแหงได้เป็นอย่างดี
 
เวียงแหงโมเดล หรือ “พื้นที่เรียนรู้”กรณีศึกษา :เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือได้อย่างไร?
 
มีหลายคนมองว่า สามารถเอาปัญหาและการขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ เป็นกรณีศึกษา หรือเป็นเวียงแหงโมเดล ให้ท้องถิ่นอื่นนำไปปรับใช้ได้หรือไม่ และเครือข่ายฯ เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือได้อย่างไร?
 
นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกว่า “มีหลายคนพยายามจะให้มันเป็นโมเดลของเวียงแหง แต่ส่วนตัวคิดว่าคำว่าโมเดลมันใหญ่ไป บางทีอาจจะเป็นเรื่องของ ‘พื้นที่เรียนรู้’ ว่าด้วยเรื่องของการสร้างพลังข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรในอนาคตมากกว่า ว่าสิ่งที่เราทำนี้ เหมือนกับว่ามองย้อนไปข้างหลังว่าที่ผ่านมา ขบวนเครือข่ายกว่าจะมาถึง ณ วันนี้ มันเกิดอะไรขึ้นมามากมาย มีการต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างแรง บางคนบางบ้านแทบจะไม่เอาเครือข่าย แต่มา ณ ตอนนี้ พอเราใช้รูปแบบกระบวนการแบบนี้ ปรับเปลี่ยนการทำงานแบบใหม่ มันทำให้ได้ใจคน ได้ใจผู้นำและภาครัฐเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกันทำงานมากขึ้น อย่างที่ว่าอะไรที่มันใกล้ท้องใกล้ตัวชาวบ้านมันก็จะเป็นแรง แต่โจทย์ใหญ่ต่อไปก็คือว่า ที่ชาวบ้านสร้างกลไกขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน ตำบล อำเภอ หรือว่าสร้างกฎระเบียบของตัวเองขึ้นมาในการรับรองเรื่องการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า มันเป็นความท้าทายต่อจากนี้ไป ว่าชาวบ้านจะสามารถใช้ระเบียบตัวเองที่สร้างขึ้นมาได้เพียงแค่กระดาษ หรือว่านำไปสู่การปฏิบัติการได้จริง ภาครัฐอาจจะมองอยู่ว่าสร้างขึ้นมาแล้วมันจะต่อเนื่องไหม ทำงานได้จริงไหม”
 
และยังมีคำถามต่ออีกว่า กรณีเวียงแหง สามารถต่อยอด มีการผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและพื้นที่ปาไปสู่นโยบายระดับประเทศได้หรือไม่?    
                                                                      
มีการสรุปกันว่า การขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ มันมีพลัง และการสำรวจแนวเขต การจัดเป็นฐานข้อมูล รวมไปถึงการคืนข้อมูล ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ ถ้าเกิดต่างคนต่างยืนอยู่บนฐานข้อมูลของตัวเองแล้วไม่เอามาจูน ไม่พยายามปรับรูปแบบการทำงาน ที่เรียกว่า ‘การจัดการร่วม’ ก็ดี การใช้พลังข้อมูลเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางนโยบายก็ดี มันไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่า ถึงแม้เราจะบอกว่าเราทำกิน แต่ว่ามันแค่คำพูด มันไม่ได้มีอะไรมาเป็นเครื่องมือในการทำนโยบาย สิ่งที่จะนำไปสู่การเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้เกิดการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรด้วยฐานข้อมูลที่มีความชัดเจน เกิดการยอมรับ เกิดความเข้าใจ และเป็นพลังความร่วมมือของหลายฝ่ายที่มาร่วมที่เป็นทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน ก็จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนไปสู่การปรับเปลี่ยนทางนโยบายได้ อาจจะเป็นข้อเสนอในรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าด้วยเรื่องของสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องพวกนี้ ว่าด้วยเรื่องของการสนับสนุนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติว่าด้วยเรื่องนี้ ก็น่าจะทำได้
 
ย้ำแนวทางการขับเคลื่อนของคนเวียงแหง ช่วยลดความขัดแย้ง ไม่ต้องมีการจับกุม แล้วยังได้ทั้งป่า ได้ทั้งคน
 
เดโช ไชยทัพ จากมูลนิธิพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่าสรุปให้ฟังว่า เราได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เวียงแหง จึงได้ประสานงานขอทุนจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำเนินการหนุนเสริมพลังความร่วมมือจากพี่น้องชาวบ้านในท้องถิ่น โดยมีการคิดค้นการแก้ปัญหาในแนวทางใหม่ ที่จำเป็นและสำคัญต่อคนท้องถิ่น อาทิ การสำรวจแยกแยะที่ดิน-ป่าไม้ โดยไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากภาครัฐส่วนกลาง การจัดทำกติกาชุมชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ โดยไม่จำเป็นต้องรอเพื่อการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐ, การพลิกฟื้นคืนพื้นที่บุกรุกโดยขบวนชุมชนเป็นผู้สมัครใจ โดยไม่จำเป็นต้องถูกบังคับใช้กฎหมายหรือการดำเนินการโดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว
 
“ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เราพูดได้เลยว่า ชุมชน และผู้นำท้องถิ่นได้เรียนรู้ และค้นพบว่า พวกเราทำได้ และทำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการร่วมกันในลักษณะพหุภาคีในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับระเบียบกติกาของท้องถิ่นและกฎหมายรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากบทเรียนความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้สถานะทางกฎหมาย และนโยบายที่เหมาะสมยังไม่เกิดขึ้น ก็ตาม แต่การขับเคลื่อนของพี่น้องเครือข่ายในครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จ เพราะเราได้ทั้งป่า ได้ทั้งคน ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ โดยไม่มีความขัดแย้ง ไม่ต้องมีการจับกุม ซึ่งในระยะยาว เราคงทำเป็นข้อเสนอไปยังระดับนโยบายต่อไป”
 
 
ข้อมูลประกอบ
 
1.หนังสือ เสียงจากคนต้นน้ำแตง...บทเรียน ความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,จัดทำโดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ,สนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม,เมษายน 2559 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net