Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2559 เว็บไซต์นิตยสารนิวอินเตอร์เนชันแนลลิสต์รายงานเกี่ยวกับ แม็กซิมา อคุนยา หญิงชาวนาจากเปรูผู้ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนประจำปี 2559 จากการที่เธอต่อต้านกลุ่มบริษัทที่ทำเหมืองแร่ทองคำยานาโคชา ในภูมิภาคกาฮามาร์กา ประเทศเปรู อคุนยากล่าวในพิธีรับรางวัลเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า "เพราะฉันปกป้องทะเลสาบของตัวเองพวกเขาจึงพยายามเอาชีวิตฉัน"

เหมืองแร่ทองคำยานาโคชาเป็นเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกาและใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก เปิดทำการมาแล้วตั้งแต่ปี 2536 มีเจ้าของร่วมกันคือบรรษัทเหมืองแร่นิวมอนต์ของสหรัฐฯ บริษัทเหมืองแร่เปรู และบรรษัทการเงินนานาชาติของธนาคารโลก แต่เหมืองแร่ขนาดใหญ่นี้ก็สร้างปัญหามลพิษรั่วไหลจากกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำซึ่งต้องทำลายหินที่อยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานานทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เป็นพิษออกมาจากเหล็กและกรด รวมถึงในกระบวนการเหมืองแร่ยานาโคซายังมีการใช้น้ำที่มีสารพิษไซยาไนด์เพื่อแยกทองคำออกจากหินด้วย

คนในพื้นที่ร้องทุกข์ในเรื่องที่แหล่งน้ำของพวกเขาปนเปื้อนมลพิษและปลาในแหล่งน้ำสูญหายมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ไรน์ฮาร์ด ไซเฟิร์ต นักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่ใช้เวลาหลายปีในการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวเปิดเผยว่า เหมืองแร่ยานาโคชาส่งผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ซึ่งสามารถตรวจพบสารตะกั่ว สารหนู ไซยาไนด์ และสารปรอทได้ในแหล่งน้ำดื่ม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้ผู้อาศัยในกาฮามาร์กาเป็นมะเร็งทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น

เรื่องการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง

ในปี 2554 ยานาโคชากว้านซื้อที่ดินใหม่เพื่อทำโครงการใหม่ คือ เหมืองทองคองกา พวกเขาอ้างสิทธิเหนือที่ดินของอคุนยา ทั้งๆ ที่อคุนยาไม่เคยขายที่ดินให้กับบริษัทนี้เลยและโฉนดที่ดินก็เป็นชื่อของเธอ อคุนยาเคยกล่าวไว้ว่าถึงแม้เธอจะยากจนและไม่ได้เรียนหนังสือแต่เธอก็รู้ว่าแหล่งน้ำบนภูเขาคือสมบัติที่แท้จริง ทำให้เธอไม่ยอมให้กลุ่มเหมืองแร่ยานาโคชามาทำให้แหล่งน้ำของพวกเธอเป็นพิษแล้วโกยทองกลับประเทศตัวเอง

แผนการเหมืองคองกาจะทำให้ทะเลสาบ 5 แห่งแห้งเหือดรวมถึงในแถบที่ดินของอคุนยา ความขัดแย้งของโครงการเหมืองนี้กลายเป็นความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ดังที่สุดในเปรู มีผู้ปกป้องผืนดินของตนเองเสียชีวิตหลายคนจากน้ำมือของตำรวจ

ในปี 2555 บริษัทที่ทำเหมืองยานาโคชาฟ้องร้องอคุนยาและครอบครัวโดยอ้างว่าพวกเขายึดครองพื้นที่ที่เป็นที่ดินของพวกเขาเอง แต่ศาลก็ตัดสินเข้าข้างเหมือง โดยตัดสินให้สมาชิกครอบครัวของเธอ 4 คนมีโทษจำคุกแบบรอลงอาญา จนกระทั่งมีการพลิกคำตัดสินในเดือน ธ.ค. 2557 ให้อคุนยามีชัยชนะเหนือเหมืองยานาโคชาในด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน

อย่างไรก็ตามจากที่ครอบครัวอคุนยาต้องประสบกับความพยายามไล่ที่ซ้ำๆ และมีการใช้กำลังทำลายทรัพย์สินของพวกเขา หลังจากมีการตัดสินในปี 2557 ความรุนแรงเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้น โดยในเดือน ก.พ. 2558 หน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจเปรูร่วมมือกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของเอกชนเข้าทำลายสวนแห่งหนึ่งของบ้านอคุนยาที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และในปีต่อมาครอบครัวของเธอก็ยังคงถูกคุกคามโดยหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้ามาทำลายพืชผลมันฝรั่งของพวกเขา

แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก บริษัทก็แถลงว่าพวกเขาจะ "ไม่เข้าร่วมการพัฒนาเหมืองแร่คองกาในอนาคต" ซึ่งถือเป็นชัยชนะของอคุนยาและเหล่าผู้ที่ต่อสู้ต้านเหมืองคองกา

"ลัทธิขุดเจาะทรัพยากร"

ละตินอเมริกาเป็นทวีปที่มีบรรษัทแห่เข้าไปทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้าไปขุดเอาทรัพยากรจากเหมืองแร่และพลังงานฟอสซิลในหลายประเทศ เช่น เปรู โคลอมเบีย ทำให้ผู้คนเรียกว่าเป็น "ลัทธิขุดเจาะทรัพยากร" (extractivism) และในบางประเทศก็เรียกว่า "ลัทธิขุดเจาะทรัพยากรใหม่" (neo-extractivism) เมื่อรัฐบาลได้รับภาษีจากกิจกรรมการขุดเจาะทรัพยากรแล้วนำไปใช้ในโครงการสุขภาพหรือการศึกษา

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวการสกัดหรือขุดเจาะทรัพยากรเอง ปัญหาอยู่ที่สภาพการขุดเจาะทรัพยากรที่เกิดขึ้นว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่ ในละตินอเมริกาการขุดเจาะทรัพยากรมักจะเกิดขึ้นในเขตชนบทที่มักจะคาบเกี่ยวกับทั้งเรื่องปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องชุมชนคนพื้นเมือง ซึ่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาอาจจะโยงไปถึงปัญหาระดับโลกอย่างผลกระทบเรื่องโลกร้อนได้ด้วย

ทำไม "ลัทธิขุดเจาะทรัพยากร" ถึงกระทบผู้หญิงมากกว่า

ทั้งนี้นิตยสารนิวอินเตอร์เนชันแนลลิสต์ยังนำเสนอว่าลัทธิขุดเจาะทรัพยากรนี้ยังส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วยในแง่ที่บทบาทหน้าที่ดั้งเดิมของผู้หญิงในละตินอเมริกาคือการเป็นผู้ดูแลครอบครัวด้วยการเพาะปลูกและหาอาหาร เมื่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างทรัพยากรน้ำในชุมชนปนเปื้อนสารพิษหรือลดจำนวนลงผู้หญิงในชุมชนจะรู้สึกได้รับผลกระทบมากกว่า ในคำประกาศของกลุ่มสตรีต่อต้านลัทธิขุดเจาะทรัพยากรและโลกร้อนในเอกวาดอร์ระบุว่า ลัทธิขุดเจาะทรัพยากรส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระการฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้

ไม่เพียงแค่ผลกระทบด้านการสร้างภาระในการหาน้ำและอาหารให้กับผู้หญิงเท่านั้น แต่ลัทธิการขุดเจาะทรัพยากรยังส่งผลกระทบถึงระดับสายสัมพันธ์ในสังคม ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ความแตกแยกในชุมชน และการเผชิญหน้ากัน จากการที่ผู้ชายมักจะเป็นคนที่ต้องไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นต้องพึ่งพาแรงงานแบบที่มีความเป็นชาย (masculinized) อย่างแรงงานเหมืองแร่มากขึ้นและลดความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่คอยจุนเจือความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจของชุมชน ความแตกแยกทางเพศสภาพเช่นนี้ยังส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลทางอำนาจ ทำให้สิ่งที่ถูกมองเป็น "งานของผู้หญิง" ไม่ได้รับค่าจ้าง ในขณะที่งานเหมืองแร่ที่ผู้ชายทำได้รับค่าจ้างทำให้พวกเขามีอำนาจมีปากเสียงมากกว่าผู้หญิงในชุมชน ถึงแม้ว่าผู้ชายเองก็ต้องทุกข์ทนจากสภาพการจ้างงานที่กดขี่ ไม่ถูกสุขภาวะและมีอันตรายในอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรเช่นกัน

เอดดูอาร์โด กูดินาส นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมของอุรุกวัยกล่าวว่าลัทธิขุดเจาะทรัพยากรยังสร้างความรุนแรงต่อสังคมและชุมชนในแง่อื่นๆ ซึ่งผู้ที่ไดรับผลกระทบคือกลุ่มคนที่อ่อนแอที่สุดในชุมชนอย่างเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มชนพื้นเมือง ทางด้านเมลิสซา โอวิเอโด ตัวแทนจากกลุ่มสหพันธ์สตรีละตินอเมริกากล่าวว่าความรุนแรงทั้งทางจิตใจ ทางร่างกาย และทางสิ่งแวดล้อมยังส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในชุมชนด้วย การที่ผู้หญิงถูกริบกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการค้ามนุษย์ได้

ขณะที่ธุรกิจการขุดเจาะทรัพยากรในละตินอเมริกามีเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อชุมชนท้องถิ่น มันยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งด้านทรัพยากรเพิ่มขึ้นด้วยโดยทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการพยายามต่อต้านธุรกิจขุดเจาะเหล่านี้รวมแล้ว 114 ราย ในละตินอเมริกา ทั้งนี้ผู้หญิงยังมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านมากขึ้นด้วย โดยในรายงานเกี่ยวกับคดีความของสตรีผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริการะบุว่า ในทุกๆ คดี ผู้หญิงเหล่านี้จะถูกโจมตีทางเพศด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่าจะข่มขืน การใช้เรื่องเพศและเพศวิถีทำให้อับอายต่อหน้าสาธารณะ การคุกคามหลายรูปแบบ การเหยียดหยามศักดิ์ศรีของพวกเธอ การโจมตีเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงดำเนินกิจกรรมของพวกเธอในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน คุ้มครองพื้นที่ และคุ้มครองธรรมชาติต่อไป

ในกรณีการข่มขู่คุกคามอคุนยาอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่เธอเป็นผู้หญิง แต่เมื่อผู้หญิงเริ่มแสดงออกถึงการต่อต้านการขุดเจาะทรัพยากรแล้วพวกเธอมักจะตกเป็นเป้าหมายจากผู้มีอำนาจได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่นพวกเธอมักจะมีทรัพยากรที่นำมาใช้ในการสู้คดีในชั้นศาลน้อยกว่า อย่างในกรณีของอคุนยาเธอไม่ได้เรียนหนังสือ ในกรณีอื่นๆ เมื่อผู้หญิงไม่ได้มีเอกสารโฉนดที่ดินแบบอคุนยาพวกเธอก็จะถูกไล่ที่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงลักษณะในการข่มขู่คุกคามเช่นการทำลายบ้านเรือนหรือพืชผลก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับบทบาทในทางประเพณีของผู้หญิงมากกว่าและในกรณีของอคุนยามันเป็นแหล่งรายได้ของเธอด้วย

การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเกี่ยวข้องกับการใช้รีดเค้นทรัพยากรโลก

นิวอินเตอร์เนชันแนลลิสต์ระบุว่าการกดขี่ข่มเหงของกลุ่มบรรษัทที่รีดเค้นทรัพยากรโลกจึงกลายเป็นการหาผลประโยชน์จากผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากการปกปักษ์ทรัพยากรเหล่านี้เต็มไปด้วยน้ำพักน้ำแรงของผู้หญิง การต่อสู้นี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อที่ผู้หญิงจะปลดปล่อยตัวเองออกจากวงจรของการทำงานที่ไม่ได้ค่าแรงซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องโลกจากการถูกรีดเค้นทรัพยากรด้วย นอกจากนี้การที่ลัทธิขุดเจาะทรัพยากรทำลายความสัมพันธ์ในชุมชนยังก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้น เช่น ปัญหาการคุกคามทางเพศจากคนงานต่างถิ่นและเมื่อผู้หญิงแสดงการต่อต้านมากขึ้นพวกเธอก็ต้องเผชิญความรุนแรงรูปแบบเดิมที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

เรียบเรียงจาก

One woman’s victory against a mining giant in Peru, New Internationalist, 27-044-2016

https://www.newint.org/features/web-exclusive/2016/04/27/one-womans-victory-against-a-mining-giant-in-peru/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net