Skip to main content
sharethis

ถึงแม้เมียนมาร์จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลังจากการเลือกตั้งล่าสุดแต่กลุ่มชาตินิยมจัดและกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงก็ยังคงแสดงออกเหยียดเชื้อชาติกีดกันศาสนาอื่นอย่างต่อเนื่องจนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหมู่ชนกลุ่มน้อย บางกรณีก็กลายเป็นความรุนแรง แม้แต่คนที่เป็นชาวพุทธด้วยกันเองบางคนยังถูกกล่าวอ้างว่าเป็นคนศาสนาอื่นเพื่อหาเรื่องรังแกพวกเขา

24 พ.ค. 2559 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานสถานการณ์การเหยียดและกีดกันทางศาสนาที่ยังคงเลวร้ายแม้จะอยู่ภายใต้รัฐบาลของอองซานซูจี โดยระบุถึงกรณีที่หมู่บ้านเตาง์ตัน (Thaungtan) ที่ขึ้นป้ายสีเหลืองอร่ามเป็นข้อความว่า "ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมเข้ามาค้างคืน ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมเช่าที่อยู่อาศัย ไม่ให้มีการแต่งงานกับชาวมุสลิม" ป้ายนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือน มี.ค. โดยชาวพุทธฯ ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแถบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี พวกเขาลงนามร่วมกันในเอกสารให้แสดงออกว่าพวกเขาต้องการโดดเดี่ยวตัวเองซึ่งไม่แน่ใจว่าที่ผู้คนลงนามเพราะถูกบีบบังคับหรือไม่

แต่นับจากนั้นมาก็มีหลายหมู่บ้านทั่วเมียนมาร์ หรือประเทศพม่า เริ่มทำตาม รายงานเดอะการ์เดียนระบุว่าแนวคิดคับแคบแต่อันตรายอย่างการตั้งป้าย "เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น" เป็นเหมือนตัวอย่างเล็กๆ ที่กำลังแพร่กระจายความตึงเครียดทางศาสนาที่อาจจะเป็นภัยต่อประชาธิปไตยของเมียนมาร์ที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งต้นทดลองได้

เดอะการ์เดียนรายงานว่า หลังจากอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี ประเทศแห่งนี้ก็เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบที่ประชาธิปไตยแบบที่มีผู้แทนจากการเลือกตั้งแต่กองทัพก็ยังควบคุมสถาบันหลักๆ ในชาติอยู่ โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับมีการเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมเพิ่มมากขึ้น เช่น เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีกลุ่มคนประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในย่างกุ้งเรียกร้องให้ทูตเลิกใช้คำว่า "โรฮิงญา" เรียกชาวมุสลิมผู้อพยพหรือผู้พลัดถิ่นภายใน ขณะที่กลุ่มชาตินิยมแถบรัฐอาระกันยืนยันว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายมาจากบังกลาเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่ความคิดเห็นของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งล่าสุดก็ไม่ได้มีแนวทางในเชิงช่วยทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาดีขึ้นเลย โดยอองซานซูจีเองยังเคยกล่าวต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไม่ให้ใช้คำว่าโรฮิงญาและเมื่อไม่นานมานี้รัฐมนตรีศาสนาคนใหม่เป็นอดีตนายพล ตุระ อ่องโก ก็เรียกชาวมุสลิมและชาวฮินดูว่าเป็น "พลเมืองอาศัยร่วม" (associate citizens)

เดอะการ์เดียนรายงานต่อไปว่าโวหารของฝ่ายชาตินิยมในเมียนมาร์นั้นไม่มีการตอบโต้และในบางกรณีก็ถูกนำไปขยายเพิ่มเติมโดยรัฐบาลใหม่ทำให้บางคนสงสัยว่าชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์จะยังมีที่ยืนอยู่อีกหรือไม่ แม้แต่ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลความเจริญอย่างเตาง์ตันก็มีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายยุวชนชาตินิยมต่อต้านต่างชาติเมื่อไม่นานมานี้

ในวัดแห่งหนึ่งของหมู่บ้านเตาง์ตัน พระรูปหนึ่งชื่อ มะนิต๊ะ อธิบายเรื่องป้ายของหมู่บ้านว่าทางหมู่บ้านมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้แล้วมองว่าพรรคเอ็นแอลดีไม่ยอมทำอะไรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องศาสนาเลยทำให้ทางหมู่บ้านต้อง "ปกป้องศาสนา" ด้วยตนเอง

ในรายงานของเดอะการ์เดียนมีการยกตัวอย่างกรณีชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับถือศาสนาฮินดูเข้าไปในหมู่บ้านเตาง์ตันในช่วงต้นปี 2558 ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่าเขาเป็นมิตรกับคนในชุมชนดี จากนั้นเขาก็เริ่มซื้อที่ดินแถบนั้นทำให้ชาวบ้านด่วนตัดสินเขาทันทีว่าเขาเป็นชาวมุสลิมแน่ๆ มีชาวบ้านรายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับป้ายแบ่งแยกทางศาสนากล่าวว่าลักษณะการด่วนตัดสินของชาวบ้านเปรียบเสมือนความเชื่อเรื่องผี พวกเขาไม่เคยเห็นผีมาก่อนแต่พวกเขาก็กลัวผี

แต่กลุ่มเครือข่ายยุวชนชาตินิยมก็พบว่าผู้มาใหม่กับครอบครัวของเขาไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้มีการกล่าวหาว่าเขาเป็นคนบังกลาเทศที่แอบหลบเข้ามาในประเทศ มะนิต๊ะบอกว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้แต่จะมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการบริจาคและพิธีกรรมทางศาสนา

ผู้มาเยือนที่ถูกชาวบ้านสงสัยชื่อว่าจ่อซานวิน เป็นชายวัย 28 ปีที่ครอบครัวนับถือทั้งพุทธและฮินดู เขาเป็นคนย่างกุ้งผู้เข้าไปซื้อที่ดินในเตาง์ตัน เพื่อบูรณะบ้านไม้หลังเก่าให้เป็นที่อยู่สำหรับพ่อของเขาหลังเกษียณอายุ แต่หลังจากที่เขาซื้อที่ดินและบูรณะบ้าน พระกับชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่เป็นมิตรกับเขาทันที หลังจากที่เขาซื้อที่ดินอีกแห่งหนึ่งเพื่อวางแผนเปิดร้านน้ำชาพ่อของเขาก็ร้องทุกข์ต่อเขากับภรรยาว่าชาวบ้านและพระในหมู่บ้านไม่อยากให้พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่น มีการกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นชาวมุสลิมและมีสมาชิกเครือข่ายยุวชนชาตินิยมขู่ว่าจะเผาบ้านของพวกเขา มีกลุ่มวัยรุ่นคอยป้วนเปี้ยนอยู่รอบบ้านของพวกเขาตลอดเวลา จนกระทั่งผู้บริหารหมู่บ้านบอกกับจ่อซานวินว่าเขาไม่สามารถรับรองความปลอดภัยให้ได้ ครอบครัวของจ่อซานวินจึงตัดสินใจขายบ้านแล้วย้ายออกจากหมู่บ้านนี้

ซานเทย์ ญาติของจ่อซานวินกล่าวว่า ทุกศาสนาควรจะสามารถอยู่ได้ในทุกที่ของประเทศ ทุกๆ คนควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน พวกกลุ่มชาตินิยมพยายามจะทำตัวเป็นใหญ่ในหมู่บ้าน

หลังจากผิดหวังในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว กลุ่มชาตินิยมที่หนุนหลังพรรคการเมืองฝ่ายทหารก็ออกมาโวยวายอีกครั้งจนทำให้เมียนมาร์เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงทางศาสนาอีก แมทธิว สมิทธ์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรฟอติฟายไรท์กล่าวว่าถ้าหากไม่มีการเคลื่อนไหวแสดงออกต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาในเมียนมาร์หนักขึ้น การกีดกันทางศาสนาก็จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ จนยากที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์รุนแรง

นอกจากนี้ยังมีกรณีพระชื่อดังอย่างพระวีระตุ๊ ที่คอยโพสต์ข่าวลือใส่ความชาวมุสลิมลงในโซเชียลมีเดีย และหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ทำอะไรกับกรณีที่มีหมู่บ้านกีดกันทางศาสนาอิสลามโดยพวกเขาอ้างว่าไม่ได้รับรายงานร้องเรียนจากภูมิภาคในเรื่องนี้ พรรคเอ็นแอลดีเองก็อยู่ในภาวะต้องระแวดระวังความคิดเห็นเพราะมีความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในทุกภาคส่วนของสังคมพม่าเมื่อไม่นานมานี้แม้แต่สื่ออิระวดีในภาษาพม่ายังมีกรณีการ์ตูนเหยียดเชื้อชาติชาวโรฮิงญาจนนักกิจกรรมออกมาวิจารณ์ และเมื่อนักศึกษาจากวิทยาลัยรัฐศาสตร์ย่างกุ้งจัดเดินขบวนเพื่อสันติภาพโดยมีป้าย "ยอมรับความหลากหลาย ส่งเสริมความอดกลั้นต่อความต่าง" ก็มีตำรวจบอกว่าจะฟ้องร้องนักกิจกรรมเหล่านี้ในข้อหาประท้วงโดยไม่ได้รับอนุญาต

การเหยียดศาสนายังส่งต่อชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น กรณีคนขับรถแท็กซี่ผู้หาเช้ากินค่ำในย่างกุ้ง ถูกกลุ่มวัยรุ่นตะโกนด่าเหยียดและทุบตีเขาหน้าเจดีย์ชเวดากองเพียงเพราะเขาเป็นชาวมุสลิม จ่อซานวินรู้สึกถึงความเจ็บปวดแบบเดียวกันโดยที่ญาติของจ่อซานวินตัดพ้อถึงคนในหมู่บ้านที่ขับไล่พวกเขาว่า "ผู้คนพวกนี้ พวกเขาใจแคบเหลือเกิน พวกเราไม่อยากอยู่ร่วมกับพวกเขา"


เรียบเรียงจาก

'No Muslims allowed': how nationalism is rising in Aung San Suu Kyi's Myanmar, The Guardian, 23-05-2016
http://www.theguardian.com/world/2016/may/23/no-muslims-allowed-how-nationalism-is-rising-in-aung-san-suu-kyis-myanmar

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net