นิธิ เอียวศรีวงศ์: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร (3)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ว่าเราจะก้าวเดินต่อไปอย่างรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ การสร้างรัฐไทยให้เป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งมีความสำคัญที่สุด ถึงอย่างไรรัฐ patrimonial ที่เรารู้จักคุ้นเคย ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมองจากแง่ของความขัดแย้งรุนแรงที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า หรือมองจากก้าวต่อไปของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตได้ไม่ขัดสน มีกำลังที่จะเก็บเกี่ยวผลดีของอารยธรรมยุคใหม่ได้ทั่วหน้ากัน

คุณลักษณะของรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งก็คือเป้าหมายของความพยายามนี้ ได้แก่รัฐต้องมีประสิทธิภาพ รัฐดำรงอยู่ในหลักนิติธรรม ถือกฎหมายเป็นใหญ่เหนือบุคคล และผู้ถืออำนาจรัฐหรือใช้อำนาจรัฐต้องรับผิดเชิงประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของรัฐสมัยใหม่นั้น แตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับรัฐ patrimonial โดยตรง ความมีประสิทธิภาพของรัฐเกิดขึ้นได้จากการมีเครื่องมือที่ดี และเครื่องมือที่ดีนั้นปฏิบัติงานและบริหาร โดยยึดความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่ความเป็นพรรคพวกหรือความจงรักภักดีต่อหัวหน้า ปฏิบัติงานไปโดยไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก

ในรัฐ patrimonial กฏหมายใช้บังคับคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจ แต่ยกเว้นหรือถูกตีความให้เอื้อประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยที่เป็นสมัครพรรคพวกของผู้ถือครองรัฐ แต่ในรัฐสมัยใหม่ กฏหมายใช้บังคับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน ไม่มีการใช้กฎหมาย หรือคำตัดสินขององค์กรอิสระอย่างสองมาตรฐาน ประสิทธิภาพของรัฐยิ่งทำให้การหลบเลี่ยงกฏหมายเป็นไปได้ยาก ส่วนการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นไปแทบไม่ได้ เพราะบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดในเชิงประชาธิปไตย เช่นถูกตรวจสอบหรือประณามจนไม่อาจอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปได้

ความรับผิด (accountability) เป็นเงื่อนไขสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะทั้งหลาย แต่ไม่ใช่รับผิดต่อเจ้านายเท่านั้น เพราะในระบอบ patrimonialism คนทำงานสาธารณะก็ต้องรับผิดต่อเจ้านายเหมือนกัน เนื่องจากทำงานนั้นตามคำสั่งหรือตามความเห็นชอบของเจ้านาย เมื่อทำผิด ก็แล้วแต่เจ้านายจะกรุณา ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่ปลดออกไปจนถึงตำหนิแต่ให้ทำงานต่อ หรือแม้แต่ตกรางวัล เพราะรัฐเป็นสมบัติส่วนตัวของท่าน ความรับผิดจึงต้องเป็นความรับผิดในเชิงประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐนั้นต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อาจเป็นรัฐเผด็จการก็ได้ แต่ความรับผิดของตำแหน่งสาธารณะต้องมีต่อประชาชน

ความขัดแย้งระหว่างรัฐสมัยใหม่และรัฐ patrimonial ทำให้รัฐ patrimonial ไม่มีทางก้าวหน้าในโลกปัจจุบันได้ ในประเทศไทย เราชอบพูดกันว่า ประชาธิปไตยเป็นไปได้สำหรับรัฐหรือสังคมที่มั่งคั่งเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยเป็นไปได้เฉพาะในรัฐสมัยใหม่เท่านั้นต่างหาก ไม่ว่าจะมีฐานะเศรษฐกิจมั่งคั่งหรือไม่ก็ตาม เช่นคอสตาริก้า ซึ่งไม่ได้มั่งคั่งแต่อย่างไร แต่มีประชาธิป¬ไตยที่ค่อนข้างมั่นคง ส่วนใหญ่ของรัฐที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนาการเมืองของตนไปสุ่ประชาธิปไตย คือรัฐ patrimonial

ปัญหาที่แท้จริงของไทยก็คือ เราติดตังอยู่ในรัฐ patrimonial อย่างดิ้นไม่หลุด นานวันเข้า ลักษณะ patrimonialism ของรัฐนำเรามาสู่ความขัดแย้งอย่างไม่มีทางออก และนำเรามาสู่กับดักทางเศรษฐกิจที่ทำให้พัฒนาต่อไปไม่ได้ ขอยกตัวอย่างให้เห็นได้ง่ายๆดังนี้ เช่นรัฐ patrimonial ไม่มีวันจะเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพราะเท่ากับทำลายช่องทางที่จะสืบทอดอภิสิทธิ์จากรุ่นสู่รุ่นของอภิชน ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงมีฝีมือแรงงานไม่พอที่จะก้าวในบันไดการผลิตระดับสูงขึ้นไปได้

ด้วยเหตุดังนั้น รัฐบาลที่อ้างว่าต้องการเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศชาติในช่วงนี้ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารต้องทำ ก็คือนำประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่โดยเร็ว ที่อ้างกันว่า รัฐบาลเผด็จการอาจแก้ปัญหาได้รวดเร็วและบรรลุผลได้มากกว่า อาจจะจริงก็ได้ แต่นับจากหลัง 2490 เป็นต้นมา ไทยยังไม่เคยมีรัฐบาลเผด็จการที่ต้องการสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นเลย ทั้งหมดร่วมมือกับผู้นำรัฐ patrimonialเพื่อช่วยรักษาลักษณะ patrimonialism ของรัฐเอาไว้ หรือในกรณีหลังๆ กลับเป็นเครื่องมือของผู้นำรัฐ patrimonial ในการเหนี่ยวรั้งมิให้รัฐไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่เอาเลย

และเพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ สิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สามอย่างเป็นอย่างน้อยก็คือ

1. ต้องยอมรับ และผลักดันให้คนไทยยอมรับว่า รัฐไทยเป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนไทยทุกคน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตย แม้ว่าหลักการ”พลเมือง”หรือผู้ถือครองรัฐร่วมกันนั้นเกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่หลักการนี้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ไม่ว่าในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์รูปแบบอื่นๆ

อันที่จริงอำนาจเผด็จการมีมากขึ้นและมั่นคงขึ้นเมื่อยอมรับว่า รัฐเป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนทุกคน ฮิตเลอร์ไม่เคยปฏิเสธมรดกชิ้นนี้ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยไกเซอร์เฟรดเดอริควิลเลียมที่ 1 และ 2 คนเยอรมันจำนวนมากซึ่งไม่ได้เป็นนาซี เข้าร่วมสงครามที่เขาอาจไม่เห็นด้วยเลย ก็เพราะเขาคิดว่าเขาต้องปกป้องชาติซึ่งเป็นสมบัติร่วมกันของเขา เช่นเดียวกับชาวรัสเซียภายใต้พระเจ้าซาร์และสตาลิน

เผด็จการที่ยึดอำนาจเพื่อรักษาชาติไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของบุคคลเป็นเรื่องตลกในพ.ศ.นี้ และไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จ ดังนั้นต้องยอมรับหลักการพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่ข้อนี้ และทำให้กลายเป็นหลักการสากลของคนในชาติ

เพราะชาติเป็นสมบัติร่วมกัน หน่วยงานของรัฐจึงถูกประชาชนตรวจสอบได้ โวยวายได้ ทำให้บุคคลสาธารณะต้องรับผิดเชิงประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตย แต่หมายถึงรับผิดต่อประชาชนเจ้าของรัฐ แม้แต่ผู้ที่ร่วมอยู่ในคณะยึดอำนาจ ก็อาจจำเป็นต้องตัดทิ้ง เพื่อรักษาคณะไว้ให้อยู่ต่อไป เผด็จการที่รับผิดเชิงประชาธิปไตยจึงมีได้ และที่จริงมีหลายคณะมาแล้วในโลก ในทางตรงกันข้าม ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ยอมรับผิดเชิงประชาธิปไตยก็มีเหมือนกัน ไม่ว่าผู้นำในระบอบใดที่ไม่ยอมรับผิดเชิงประชาธิปไตย ก็คือผู้นำที่ประสบความล้มเหลวในการนำประเทศไปสู่รัฐสมัยใหม่

2. สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือปฏิรูประบบราชการไทย (พลเรือน, กองทัพ, ตุลาการ) โดยยึดแนวของรัฐสมัยใหม่ นั่นคือทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถปกครองกันในระบบนิติรัฐได้จริง และทุกฝ่ายต้องรับผิดในเชิงประชาธิปไตย หากรัฐไทยมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย รัฐก็จะสามารถนำการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้นได้ แม้ยังมีความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ในประเทศอยู่มาก แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะแก้ไขโดยสงบไม่ได้สักวันหนึ่งข้างหน้า

3. ต้องสร้างดุลยภาพที่เหมาะระหว่างอำนาจส่วนกลางและท้องถิ่น รัฐสมัยใหม่ไม่ต้องรวมศูนย์ แตกต่างจากรัฐ patrimonialที่กลัวการแยกประเทศ จึงต้องพยายามรวมศูนย์ การกระจายอำนาจอาจกระทำตามหลักเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ได้ หากทำภายใต้หลักเผด็จการ การกระจายอำนาจคือการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหาร เพราะส่วนกลางอยู่ไกลเกินกว่าจะกำกับรายละเอียดได้ เช่นจัดให้การศึกษาในระดับพื้นฐานอยู่ในความควบคุมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีกรอบที่ส่วนกลางวางไว้ให้ทั้งโดยกฏหมายและโดยการเกลี้ยกล่อม (เป็นอำนาจที่มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่มักถูกรัฐบาลไทยลืมเสมอ)

หากทำภายใต้หลักประชาธิปไตย ก็มองการกระจายอำนาจเป็นสิทธิของพลเมือง ที่จะจัดการชีวิตของเขาเองเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่ต้องจัดการร่วมกับคนอื่นในชาติน้อยลง

ไม่ว่าจะมองจากหลักประสิทธิภาพหรือหลักสิทธิ ล้วนทำให้การบริหารงานสาธารณะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองต่อประชาชนเจ้าของชาติดีขึ้นทั้งนั้น ซึ่งนั่นก็คือส่วนหนึ่งที่สำคัญของการก้าวเข้าสู่รัฐสมัยใหม่

หากทำได้ตามนี้ รัฐไทยก็จะหยุดความเป็นบุคโขโลคณะหรือเล่นพรรคเล่นพวกน้อยลง รัฐสามารถกระจายทรัพยากรกลับสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับการให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนในด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากภายในหรือภายนอก หรือภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างที่รัฐสมัยใหม่อื่นๆ อาจทำได้

หากรัฐไทยกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่แท้จริง การพัฒนาประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องง่าย เพราะสิทธิประชาธิปไตยที่ได้มาจะไม่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง จนรัฐต้องถอยกลับไปเป็นรัฐ patrimonial อีก

ในขณะเดียวกัน อาศัยความมีประสิทธิภาพของรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจก็อาจทำอย่างได้ผลมากขึ้น ยิ่งภายในรัฐสมัยใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของนายทุนเพียงบางกลุ่มทำได้ยากขึ้น เพราะรัฐต้องมีเหตุผลที่จะอธิบายให้ประชาชนเชื่อว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาบ้าง นายทุนเองก็ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม และต้องรับผิดในเชิงประชาธิปไตย

ตลอดบทความนี้ ผมพยายามจะพูดถึงรัฐสมัยใหม่(ที่เข้มแข็ง) โดยไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะรัฐสมัยใหม่อาจเป็นประชาธิปไตยก็ได้ เป็นเผด็จการก็ได้ แต่รัฐ patrimonial ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ และไม่มีอนาคตในโลกปัจจุบันเสียแล้ว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผลักดันให้รัฐไทยก้าวไปเป็นรัฐสมัยใหม่เสียที แม้แต่ภายใต้เผด็จการทหาร (ซึ่งต้องให้ความหวังว่าจะทำและมีสมรรถนะจะทำได้ แต่หากไม่นับจอมพลป.พิบูลสงครามแล้ว เราไม่เคยมีเผด็จการทหารที่มีความคิดจะสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นเลย) แต่ในโลกปัจจุบัน ประชาธิปไตยกำลังขยายตัว เราจึงน่าจะทำไปพร้อมกัน คือเปลี่ยนประเทศไทยเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

ความเป็นรัฐสมัยใหม่กับความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่เงื่อนไขของกันและกัน ไม่จำเป็นว่ารัฐสมัยใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป และไม่จำเป็นว่ารัฐประชาธิปไตยต้องเป็นรัฐสมัยใหม่เสมอไป ฉะนั้นการทำสองอย่างไปพร้อมกันจึงไม่ผิดปรกติ และยังเหมาะกับสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันด้วย อาจขจัดอุปสรรคในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หลายเรื่อง

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว นอกจากต้องทำสามอย่างข้างต้นเพื่อนำรัฐไทยเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ (ยอมรับความเท่าเทียมของพลเมือง, ปฏิรูประบบราชการ, กระจายอำนาจ) แล้ว ยังควรใช้กระบวนการประชาธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนผ่าน เพราะประชาธิปไตยจะเป็นจุดยืนในการเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยในระบบ patrimonialism ได้แข็งแรงกว่า ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนนี้ก็คือ

1. กลับสู่การเลือกตั้งที่ให้อำนาจประชาชนในการตั้งและตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยเร็ว

2. ลดบทบาทของกองทัพลงให้เหลือเพียงการป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกเท่านั้น สิ่งที่กองทัพได้ทำในการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นเหตุผลซึ่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้นว่า เราจำเป็นต้องมีกองทัพที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนเสียที

3. เพิ่มศักยภาพของรัฐสภาในการตรวจสอบ ไม่เฉพาะแต่ด้านงบประมาณเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงประสิทธิภาพและความโปร่งใสของระบบราชการ (พลเรือน, กองทัพ, ตุลาการ) ด้วย อาจมีคณะกรรมการของผู้ทรงคุณวุฒิที่สภาตั้งขึ้น และต้องรับผิดชอบต่อสภาทำหน้าที่นี้แทน โดยเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

4. ไม่มีองค์กรสาธารณะใดๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน นับตั้งแต่วุฒิสภาและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรอิสระก็ไม่ใช่พรรคพวกของฝ่ายบริหารหรือตัวแทนประชาชน จะต้องคิดจัดการอย่างไรให้องค์กรอิสระประกอบด้วยผู้มีคุณวุฒิอันเหมาะสม แต่ก็ไม่ลอยขาดออกไปจากการตรวจสอบถ่วงดุลขององค์กรประชาชน

ผมทราบดีว่า ข้อเสนอทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน เหมือนเป็นการฝันเฟื่องที่ไม่อิงกับความเป็นจริงเลย ผมไม่ทราบหรอกว่า คนไทยจะผ่านช่วงนี้ไปได้อย่างไร แต่ผมคิดว่าเมื่อผ่านไปแล้ว เราควรมีเป้าหมายว่าจะเดินต่อไปอย่างไร อย่างน้อยเราไม่ควรผลักดันประชาธิปไตยภายใต้รัฐ patrimonial อีก เพราะมันไม่มีวันทำได้สำเร็จ การเปลี่ยนผ่านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของไทยเวลานี้คือ เราต้องเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่เสียที

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 23 พฤษภาคม 2559
หมายเหตุ: เพิ่มเติมเนื้อหาที่ประชาไทโดยผู้เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท