อนาคตวิทยากับการเมืองไทย หรือ สวัสดีท่านโนบิตะ, เรามาจากโลกอนาคต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สวัสดี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีโนบิตะ, เราชื่อโดราเอมอน เรามาจากโลกอนาคต เราดีใจมากที่รู้จักนาย ท่านนายกรัฐมนตรีโนบิตะ จอ.โอชา หากท่านโนบิตะประสงค์ให้ประชาชนดาวอังคารอยู่อย่างมีความสุขตลอดไป เราอยากให้ท่านโนบิตะลองคิดไปถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า แล้วค่อย ๆ นึกย้อนหลังกลับมาทีละนิดจนถึงเวลาที่เป็นปัจจุบันว่าควรจะเกิดอะไร ควรจะทำอะไร อนาคตที่มีความสุขในอีก 20 ปีข้างหน้าจึงจะเป็นจริง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยนะโนบิตะ ถ้านายอยากให้การไปตั้งถิ่นฐานยังดาวอังคารราบรื่น มีความสุข ในเวลานั้นนายจะต้องมีความใฝ่รู้ช่างสังเกต ตลอดจนมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีทุกชนิดและเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างชาญฉลาด ในเวลานั้นท่านโนบิตะคงมิได้ห้อยพระเครื่องเป็นพวงมาเป็นเวลานานแล้ว ในฐานะพุุทธศาสนิกผู้ล้ำสมัยเป็นไปได้ว่าอย่างมากนายก็คงห้อยแฟลชไดรฟ์เก๋ ๆ ที่ออกแบบเป็นตัวอักษรคำว่าสติ เพราะนายได้เข้าใจแล้วว่า สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง--ทั้งนี้สมมติว่าสมัยนั้นยังใช้แฟลชไดรฟ์อยู่นะ ส่วนนายจะให้ทีมงานที่ออกแบบสติกเกอร์ไลน์ค่านิยม 12 ประการเป็นคนออกแบบแฟลชไดรฟ์นี้ให้หรือไม่ เราไม่ขอทำนาย

ขยับใกล้ปัจจุบันเข้ามาอีกหน่อย ก่อนที่นายจะไปถึงจุดที่เข้าใจพุทธธรรมมากขึ้นจนเข้าใจแล้วว่าสติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ก่อนที่นายจะรู้ว่าพก "หลวงพ่อสติ" องค์เดียวก็เพียงพอแก่การบริหารดาวอังคารแล้ว ก่อนจะไปถึงจุดนั้น นายได้ปรับปรุงการห้อยพระเครื่องให้กะทัดรัด เหลือห้อยแค่เพียง 5 องค์

แม้นายจะเข้าใจแล้วว่าพระเบญจภาคีที่นิยม ๆ กันอยู่ในหมู่นักเลงพระเครื่องนั้นเป็น "ไสยศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" โดยบรรดาเซียนพระ ไม่เก่าไปกว่าปีพ.ศ. 2456

(พระสมเด็จวัดระฆัง "องค์ประธานแห่งพระเบญจภาคี" เป็น "ซิกเนเจอร์ โปรดักส์" ของสมเด็จโต พระรอด จ.ลำพูน พบครั้งแรกประมาณต้นรัชกาลที่ 5 พระนางพญา จ.พิษณุโลก ขุดพบสมัยรัชกาลที่ 5 พระผงสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี ขุดพบปีพ.ศ.2456 พระซุ้มกอ จ.กำแพงเพชร พบราวปีพ.ศ.2392 concept พระเบญจภาคี จึงเป็นความคิดใหม่ ที่เพิ่งสร้างขึ้นภายหลังจากที่มีการสร้าง/ค้นพบพระเครื่องแต่ละองค์ครบทุกองค์แล้ว)

แต่ท่านโนบิตะก็เห็นประเด็นว่าการ "จัดทัพ" พระเครื่องให้กระชับ ย่อมเป็นการฉลาดกว่าการห้อยพระเป็นพวง เพราะนั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพในการจัดการ ไม่ต้องอาศัยพระเครื่องเป็นกองร้อย ก็สามารถทำให้ท่านโน ฯ อุ่นใจได้

เช่นเดียวกับที่ในเวลานั้นนายค้นพบแล้วว่าการมีนายพลจำนวนมากอยู่ในกองทัพสะท้อนถึงการมีกองทัพที่อุ้ยอ้าย ขาดประสิทธิภาพ ในเวลานั้นนายได้ปฏิรูปลดขนาดกองทัพลดจำนวนนายพลลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกันไปด้วย

ขยับใกล้ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ก่อนที่นายจะห้อยพระเพียง 5 องค์ นายได้เริ่มเข้าใจแล้วว่า การห้อยพระเป็นพวง มีอะไรก็ใส่ ๆ เข้ามานั้น อาจเทียบได้กับช่วงเวลาที่ต้องสู้รบเยี่ยงกองโจร ที่มีแต่ความประหวั่นพรั่นพรึง ขาดขวัญ ขาดกำลังใจ ห้อยพระมาก ๆ เข้าไว้ก่อนเป็นดี

ท่านโน ฯ เริ่มเห็นแล้วว่า ต้อง "จัดทัพ" พระเครื่องให้มีโครงสร้าง ต้องมีการตรวจสอบหน้าที่คุณสมบัติพระเครื่องแต่ละองค์ แล้วคัดสรรค์เฉพาะองค์ที่มีฟังก์ชั่นไม่ซ้ำกัน มารวมกันเป็นทีม กระนั้นนายก็ยังลังเล เลือกองค์นี้ เสียดายองค์นั้น สุดท้ายก็ยังห้อยเป็นพวงอยู่ดี

แต่อย่างน้อยก็ลดองค์ที่ซ้ำซ้อนลงได้บ้าง

ในเวลานั้นท่านโน ฯ ได้ปรับปรุงกองทัพ โดยตำแหน่งไหนที่ซ้ำซ้อน หรือไม่มีการหน้าที่ชัดเจน ก็ได้ปรับลดลงบ้างเช่นกัน

สาเหตุที่ท่านโน ฯ เริ่มคิดถึงโครงสร้าง/การหน้าที่ของพระเครื่องแต่ละองค์ ก็เพราะก่อนหน้านั้น ท่านโน ฯ ได้มีโอกาสอ่านและทำความเข้าใจความหมายของคาถาชินบัญชร มิใช่สักแต่ว่าสวด ๆ ท่อง ๆ หวังแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของคาถา โดยไม่มีความรู้เลยว่าคาถาชินบัญชรกล่าวถึงอะไร

"...สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก"

"พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ..."

"พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย"

"พระเถระกุมารกัสสปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ"

"พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบีื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง"

สรุปเทียบความง่าย ๆ ในกรณีพระเครื่องก็คือ การห้อยพระเครื่องก็เพื่อเป็นอนุสติน้อมนำเอาคุณสมบัติเด่น ๆ ของพระองค์นั้น ๆ แต่ละองค์มาไว้กับตัวเรา องค์ใดเด่นในหน้าที่ในกิจใด ก็น้อมใจให้ตนปฏิบัติกิจนั้น ๆ โดยมีพระหรือธรรมะองค์นั้น ๆ เป็นแบบอย่าง ห้อมล้อมตนเองไว้ด้วยธรรมะ/ด้วยคุณสมบัติที่พระเครื่ององค์นั้น ๆ มี ที่พระเครื่ององค์ต่าง ๆ จะสามารถคุ้มครองเราได้ ก็ด้วยการที่เราปฏิบัติตามธรรมะที่ประจำอยู่กับพระเครื่ององค์นั้น ๆ มิใช่อยู่ที่เครื่องที่วัตถุที่นำมาสร้างขึ้นเป็นองค์พระ

เป็นอันว่าการจะไปตั้งถิ่นฐานยังดาวอังคารได้สำเร็จ จุดเริ่มต้นจุดหนึ่งในบรรดาจุดเริ่มต้นหลาย ๆ จุด ก็คือการที่โนบิตะได้เริ่มอ่านและเข้าใจความหมายบางประการของการห้อยพระเครื่อง จากคาถาชินบัญชรนี้เอง

หากท่านโนบิตะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และดังนั้นจึงยังคงห้อยพระเครื่องเป็นพวงอยู่ เกรงว่าอนาคตของท่านโน ฯ อย่างมากคงไปได้ไกลเพียงการเป็นจิ๊กโก๋คุมปากอุโมงค์หรือปากปล่องทางเข้าออกชุมชนแออัดบนดาวอังคารเท่านั้น

0000

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือเรื่องการส่งเสริมการปลูกหมามุ่ย ท่านโนบิตะย่อมรู้ดีว่า หากเริ่มต้นด้วยวัฒนธรรมแบบไทย ๆ หากส่งเสริมให้มีการปลูกอะไร โดยไม่มีแผนงานเตรียมเอาไว้ก่อน สุดท้ายพืชเกษตรชนิดนั้น ๆ ก็จะหมดอนาคต ประเดี๋ยวก็จะปลูกตาม ๆ กันทั้งแผ่นดิน จนแทบจะไม่มีราคา

เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ นายจึงเริ่มจากการใช้แนวคิดอนาคตวิทยาอีกเช่นกัน กล่าวคือในอนาคตที่หมามุ่ยได้เป็นสินค้าเกษตร/สมุนไพรชั้นนำของประเทศนั้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือ ชุมชนไทยบนดาวอังคารได้มีการเปิดรับแนวทางการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง (เช่นเดียวกับที่การแพทย์แผนจีนได้รับการยอมรับอย่างทัดเทียมกับการแพทย์ตะวันตก) จน แม้แต่ในแผนกการแพทย์ฉุกเฉินก็ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นจากการประยุกต์ความรู้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเข้ากับความรู้เรื่องพลังบำบัดที่เกิดจากความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ ความรู้ในทางชีวฟิสิกส์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสภาพไร้ความโน้มถ่วง ในการเยียวยาความเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ในท่ามกลางความงอกงามของการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ เท่านั้น ที่หมามุ่ยจะเป็นสินค้าเด่นของชุมชนไทยบนดาวอังคารได้

ก่อนที่จะไปถึงจุดที่การแพทย์ทางเลือกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น แน่นอนว่าสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก็คือการยอมรับและส่งเสริมความหลากหลายทางความคิด ถ้าในจิตใต้สำนึกส่วนลึกของท่านนายกรัฐมนตรีโนบิตะนิยมประเทศถั่งเช่า ท่านก็ต้องระลึกถึงคำพูดของ "บิ๊กเติ้ง" ที่ว่า "แมวสีอะไรก็จับหนูได้" ไม่ว่า "บิ๊กเติ้ง" จะให้ความหมายคำพูดนี้ว่าอย่างไรก็ตาม ท่านโนบิตะต้องคิดต่อไปว่า การจะไปถึงจุดที่แมวสีอะไรก็จับหนูได้นี้ แมวทุกตัวทุกสีต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงให้เติบโตทัดเทียมกัน ความคิดต่าง ๆ จึงจะงอกงามได้

เมื่อนึกย้อนกลับไปก็เป็นอันว่า จุดเริ่มต้นของความสำเร็จของการส่งเสริมการปลูกหมามุ่ยนั้น กลับเป็นการส่งเสริม ยอมรับ และเคารพความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับหมามุ่ยเลย

0000

เพื่อมิให้เรื่องยืดเยื้อจนเกินไป ตัวอย่างสุดท้าย แต่มิใช่สำคัญน้อยที่สุด คงเป็นเรื่องความสมัครสมานของคนในชาติ โดยมีสถาบันกษัตริย์ที่เป็นกลาง เป็นที่รักของคนทั้งชาติ

เป้าหมายในอนาคตของเราคงเป็นว่า คนทุกเฉดสีมีความรักเคารพในกันและกัน แม้จะมีความแตกต่างในเพศสภาพ วัย หรือความคิดทางการเมือง ในเวลานั้น เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธงชาติอาจมีแถบสีหลากหลายจนเป็นสีรุ้งไปแล้วก็ได้ อย่าลืมว่าในเวลานั้นไทยสยามมิได้อยู่เพียงตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำอื่นใดในภูมิภาคต่าง ๆ เท่านั้น หากแต่ไทยสยามได้ไปตั้งถิ่นฐานและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนานาชาติบนดาวอังคารแล้ว

ก่อนที่จะไปถึงจุดที่เรามีความสมัครสมานจนมีความยอมรับอย่างทัดเทียมแม้ในเพศสภาพที่แตกต่างกัน สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนคงจะเป็นเรื่องของการปรองดองกันได้ในระหว่างฝ่าย "เหลือง" กับฝ่าย "แดง" สภาพปรองดองนี้จะเกิดได้อย่างไรคงยังเป็นปริศนาอยู่ในเวลานี้ แต่เมื่อปรองดองกันได้สำเร็จ ธงชาติอาจสะท้อนความสามารถดำรงอยู่ร่วมกันของฝ่าย "เหลือง" และฝ่าย "แดง" ด้วยการเพิ่มสีเหลืองเข้ามาเป็นอีกสีหนึ่งของธงชาติ สะท้อนแนวคิดว่า แม้แตกต่างทางความคิด ทุกสีทุกชีวิตก็เป็นไทยด้วยกัน

ความสมัครสมานของคนในชาติ อาจจะเกิดจากความรักใคร่กลมเกลียวกันขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน เพราะมีการระงับการฟ้องร้องกันด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีการปล่อยผู้ต้องหา, ผู้ถูกจับกุมคุมขังในคดีนี้ทุกราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับที่ในยามที่ญาติอันเป็นที่รักของเราป่วยไข้ ผู้คนก็มักจะหาโอกาสปล่อยวัวปล่อยควาย ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ญาติที่เจ็บป่วยนั้น เพื่อให้บุญกุศลนั้นช่วยรักษาญาติอันเป็นที่รักได้หายป่วยไข้โดยพลัน ในกรณีของพระประมุขของประเทศ ไม่มีอะไรจะดีงามไปกว่าการที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำบุญด้วยการระงับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลโดยพลัน

แต่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นก่อน และดูเหมือนว่าสังคมไทยได้ขาดหายสิ่งนี้ไป ซึ่งก็คงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการขาดหายไปของพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีความกล้าหาญพอที่จะเข้าไปเตือนสติท่านนายกรัฐมนตรีโนบิตะ ให้ตระหนักว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นเป็นเพียงพุทธมามกะ หากแต่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ก็แหละความเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ย่อมทรงประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นธรรมประจำใจ พระองค์ทรงประกอบด้วยความเมตตาในพระราชหฤทัยอย่างไม่มีประมาณ ปรารถนาก็แต่จะช่วยให้เวไนยสัตว์พ้นทุกข์

การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ปรารถนาพุทธภูมิ

ในแง่นี้ การที่ประชาชนก็ดี ข้าราชการทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ก็ดี พยายามฟ้องร้องบังคับคดีเอากับบุคคลต่าง ๆ ด้วยกฎหมายอาญามาตรานี้ จึงรังแต่จะทำให้พระบรมเดชานุภาพอันเกิดแต่ความรักในพสกนิกรต้องมัวหมองไป

0000

ท่านนายกรัฐมนตรีโนบิตะที่รัก แทนที่ท่านจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความกลัว จนต้องอาศัยพระเครื่องเป็นสรณะ ถือเอาไสยศาสตร์และโหราศาสตร์เป็นที่พึ่ง บางทีการเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ ก้าวข้ามความกลัวมาสู่ความรักในเพื่อนพ้องพี่น้องชาวไทยด้วยกัน ก้าวข้ามการจ่อมจมอยู่กับการใช้ศาสตร์และความเชื่อเก่า ๆ ที่อาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เปิดกว้างให้ที่ทางแก่ศาสตร์ใหม่อย่างอนาคตวิทยา บางที ท่านอาจจะพบว่าการลงจากหลังเสือเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายบนดาวอังคารอย่างมีความสุข มิใช่เรื่องยากเลย

ด้วยรัก จากใจ

โดราจัง.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท