เอ็นจีโอสิทธิฯ ร้องสอบวิสามัญโรฮิงญาพังงาอย่างอิสระ หยุดขังผู้ลี้ภัยโดยไม่มีกำหนด

26 พ.ค. 2559 จากกรณีชาวโรฮิงญา 21 คน หลบหนีจากห้องความคุมผู้ต้องขัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.พังงา เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่างการจับกุมผู้หลบหนี เจ้าหน้าที่ระบุว่ายิงเพื่อป้องกันตัวทำให้กระสุนถูกผู้หลบหนีเสียชีวิต 1 คนนั้น องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องสอบสวนการยิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเสียชีวิต พร้อมทั้งยุติการกักขังโดยไม่มีกำหนด ประกันการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ประเทศไทย: สอบสวนการยิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเสียชีวิต ยุติการกักขังโดยไม่มีกำหนด ประกันการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

(กรุงเทพฯ 24 พฤษภาคม 2559) ทางการไทยควรดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ ต่อกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ฟอร์ติไฟย์ ไรท์ (Fortify Rights) กล่าวในวันนี้ ทางการไทยควรยุติการกักขังผู้ลี้ภัยและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยไม่มีกำหนด

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 มีรายงานว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวน 21 คนหลบหนีออกจากห้องกักของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา (ตม.จว.พังงา) เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ตำรวจไทยให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าได้ออกปฏิบัติการตามหาตัว และระหว่างการจับกุมผู้ต้องกักหกคนที่หลบหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงปืนและเป็นเหตุให้ชายชาวโรฮิงญาเสียชีวิตหนึ่งคน

มีรายงานว่าชาวโรฮิงญาสามคนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการยิงปืนสังหาร ขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจแล้ว

“ทางการควรเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่ชักช้า” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ติไฟย์ ไรท์กล่าว “ตำรวจต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงเหตุผลที่ชอบธรรมในการใช้กำลังที่เป็นอันตรายถึงชีวิตกับกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้”

พล.ต.ต.วรวิทย์ ปานปรุง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงากล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตำรวจต้องยิงปืนสังหารชาวโรฮิงญาคนดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง เนื่องจาก “เขาขัดขืนการจับกุมและทำร้ายเจ้าหน้าที่” ตำรวจไม่ได้ระบุชื่อเหยื่อชาวโรฮิงญารายนี้

ตามข้อมูลของตำรวจ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีได้ขว้างก้อนหินใส่ตำรวจขณะที่เกิดเหตุการณ์

การใช้กำลังที่เป็นอันตรายถึงชีวิตของตำรวจสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหากเกิดกรณีที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตและอาการบาดเจ็บร้ายแรง และเมื่อมีสัดส่วนเหมาะสมกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเท่านั้น หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) มีข้อแนะนำให้เจ้าหน้าที่ “ใช้ความระมัดระวังในการใช้ (อาวุธปืน) และการปฏิบัติที่มีสัดส่วนเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิดและตอบสนองต่อจุดประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย” และจรรยาบรรณของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Code of Conduct for Law Enforcement Officials) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ “ใช้กำลังเฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งและในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง”

เพื่อให้เกิดการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงในกรณีนี้ ฟอร์ติไฟย์ไรท์เรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้มาตรา 148 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ดำเนินการชันสูตรพลิกศพเมื่อเป็น “ความตายโดยผิดจากธรรมชาติ” รวมทั้ง “ความตายที่เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น” กรณีที่เป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ การชันสูตรพลิกศพต้องให้พนักงานอัยการ แพทย์และบุคคลอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย

“เราอาจหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ หากทางการไทยเคารพสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ติไฟย์ ไรท์กล่าว “นโยบายและการปฏิบัติของทางการไทยต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากำลังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขา ฉะนั้นต้องได้รับการแก้ไขโดยทันที”

พ.ต.ท. นพดล รักชาติ สวญ.ตม.จว.พังงา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกจากตม.จว.พังงา “ได้ถูกกักตัวไว้เกือบหนึ่งปีแล้ว” และมีความทุกข์ทรมานจาก “ความเครียดและความคิดถึงบ้าน”

ในเดือนมีนาคม 2559 ฟอร์ติไฟย์ ไรท์และองค์กรเพื่อชาวโรฮิงญาแห่งพม่าประจำสหราชอาณาจักร (Burmese Rohingya Organization UK) จัดทำข้อมูลซึ่งระบุว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ถูกกักขังไว้โดยไม่มีกำหนดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นเด็กชายอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งถูกกักตัวไว้เป็นเวลากว่า 12 เดือนในสถานที่ซึ่งมีสภาพเลวร้ายที่ห้องกักของตม.จว.สงขลา ชาวโรฮิงญาในไทยถูกกักตัวไว้เป็นเวลานานต่อเนื่องกันในสถานที่ที่แออัด ต้องนอนเบียดกันบนพื้น ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การดูแลด้านสุขภาพจิต และไม่สามารถออกกำลังกายหรือได้รับอากาศภายนอกไม่ว่าในช่วงเวลาใดเลย ซึ่งถือว่าขัดกับกฎบัตรและมาตรฐานระหว่างประเทศ

กฎหมายระหว่างประเทศห้ามการควบคุมตัวโดยพลการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีเวลากำหนด รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ซึ่งไม่ใช่คนชาติ รัฐอาจจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพของผู้เข้าเมืองได้ เฉพาะในกรณีที่เป็นข้อยกเว้น ภายหลังมีการประเมินอย่างละเอียดเป็นรายบุคคลแล้ว การควบคุมตัวต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นและมีสัดส่วนเหมาะสมต่อเป้าหมายที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ใช้วิธีการที่มีลักษณะบังคับจิตใจน้อยกว่าเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว อาจถือเป็นการควบคุมตัวโดยพลการได้

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ถูกกักตัวในไทยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งในบางกรณีเจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนร่วมมือกับขบวนการเหล่านี้ เพื่อนำตัวบุคคลดังกล่าวจากพม่ามาไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กว่า 40 คนได้หายตัวไปจากบ้านพักเด็กและครอบครัวของรัฐและห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดทางใต้ของไทย

ในวันที่ 15 มีนาคม ทางการไทยมีมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากมีการปฏิบัติตามจะเป็นการให้ความคุ้มครองพยานอย่างเป็นทางการต่อพยานในการไต่สวนคดีค้ามนุษย์ในไทย และยังให้สถานภาพตามกฎหมายต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วย แม้ในเวลาต่อมาจะมีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยให้บังคับใช้ตามมติดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการบังคับใช้ตามมติคณะรัฐมนตรีนี้

“ไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมที่จะกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยไม่มีกำหนด แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในไทย” เอมี สมิธกล่าว “ถึงเวลาที่ทางการไทยต้องยุติการปฏิบัติมิชอบและปฏิบัติตามพันธกิจของตนที่จะคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์” 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท