Skip to main content
sharethis
ย้อนดู ‘แบบแผน’ ของการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทย การดำรงอยู่ และจุดจบของรัฐบาลทั้งรูปแบบ ‘เผด็จการ ประชาธิปไตยครึ่งใบ และประชาธิปไตย’ ในช่วงปี 2518-2539
 
จากรายงานวิจัยเรื่อง 'รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2518-2539' โดย ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ด้วยเงินทุนสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่เมื่อปี 2541 ที่ได้ศึกษาถึงลักษณะความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 20 ปีเศษดังกล่าว และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล รวมถึงทัศนคติของกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีต่อรูปแบบรัฐบาล  ศึกษาเปรียบเทียบที่มาและการล่มสลายของรัฐบาลแต่ละรูปแบบภายใต้ระบอบการเมืองที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งที่มาและองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาล
 
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเริ่มจากรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จนถึง รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา มีการสำรวจทัศนคติของกลุ่มบุคคลชั้นนำทางการเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ ข้าราชการประจำระดับสูง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ประมาณ 100 คน โดยผลวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญด้าน แบบแผนการจัดตั้งรัฐบาลและการจัดความสัมพันธ์ทางการเมือง  ที่อาจเป็นข้อสังเกตสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
ปัจจัยและความแตกต่าง ระหว่างปี 2518-2539
 
ในช่วงระยะเวลา 20 ปี ดังกล่าว (2518-2539) มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทยทั้ง 3 รูปแบบคือ มีรัฐบาลรูปแบบเผด็จการ  รัฐบาลรูปแบบประชาธิปไตย และรัฐบาลรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความแตกต่างของรูปแบบการปกครอง สรุปได้ดังนี้
 
รัฐธรรมนูญ ในการกำหนดรูปแบบของรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2018-2539 ปัจจัยสำคัญที่สุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศจะกำหนดหลักเกณฑ์กติกาออกมาว่าในเวลานั้น ๆ ประเทศจะปกครองด้วยรูปแบบใด  จะปกครองด้วยรูปแบบเผด็จการ  รูปแบบประชาธิปไตย  หรือว่ารูปแบบกึ่งประชาธิปไตย  ในช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏว่าประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534  ในบรรดารัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองประเทศเหล่านี้จำนวน 3 ฉบับ  ที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรัฐบาลในรูปแบบเผด็จการ คือ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520 และธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2534 ส่วนรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐเป็นแบบกึ่งประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 (ฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม)  และรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรัฐบาลในรูปแบบประชาธิปไตย คือ  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517  ทั้งนี้การกำหนดว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นแบบใด  สามารถพิจารณาได้จากรูปแบบของสภาที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net