Skip to main content
sharethis

โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีพม่าเผย อองซานซูจี ซึ่งมีตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐ รมว.ต่างประเทศ และ รมว.สำนักงานประธานาธิบดี เตรียมเยือนไทยเดือนมิถุนายนนี้ แต่ยังไม่แน่ว่าประธานาธิบดีถิ่นจ่อ จะเยือนไทยด้วยหรือไม่ ด้านสื่อพม่า 'อิระวดี' แซวว่าไทย-พม่าเป็นชาติเพื่อนบ้านที่มีชะตาทางการเมืองพลิกผันกัน พม่าเปิดกว้างมากขึ้นแม้จะเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ส่วนไทยซึ่งเป็นที่พักพิงผู้อพยพ-แหล่งจ้างงานแรงงานพม่านับล้าน ขณะนี้ปกครองภายใต้รัฐบาลทหารมา 2 ปีแล้ว

31 พ.ค. 2559 ซอเท โฆษกของสำนักงานประธานาธิบดีพม่า เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค.) ว่า อองซานซูจี ในฐานะที่ปรึกษาของรัฐ รัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี และรัฐมตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนมิถุนายนนี้ โดยรายละเอียดและกำหนดการเดินทางอยู่ระหว่างการหารือ

อย่างไรก็ตาม ซอเท ปฏิเสธที่จะยืนยันว่า ประธานาธิบดีถิ่นจ่อจะเดินทางมาเยือนไทยด้วยหรือไม่

ด้านสำนักข่าวอิระวดีของพม่า ยังอ้างแหล่งข่าวว่า หากกำหนดการเยือนประเทศไทยอยู่ระหว่าง 23 - 25 มิถุนายน คาดว่า ถิ่นจ่อ จะร่วมเดินทางเยือนไทยด้วย

สำหรับกำหนดการเยือนต่างประเทศหลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยตั้งรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนมีนาคมนั้น ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม ถิ่นจ่อ และ อองซานซูจี เดินทางเยือนประเทศลาว และในวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถิ่นจ่อเดินทางเยือนรัสเซียเพื่อฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย 20 ปี

ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ หารือ อองซานซูจี ในฐานะ รมว.ต่างประเทศพม่าเมื่อ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: MNA)

 

ก่อนหน้านี้เมื่อ 9 พฤษภาคม ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนพม่าและเข้าพบอองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีตำแหน่งเสมือนเป็นผู้นำ แต่ด้วยข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญทำให้อองซานซูจี ไม่สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้บัญชาการกองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เยือนประเทศไทยเป็นเวลา 3 วัน ตามคำเชิญของผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้สำนักข่าวอิระวดี บรรยายสภาพทางการเมืองของไทย-พม่าว่า "เป็นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พลเมืองของพวกเขาประสบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีชะตาผกผันน่าสนใจในรอบไม่กี่ปีมานี้ โดยที่นับตั้งแต่ปี 2554 พม่าเคลื่อนไปในทิศทางที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้จะเป็นการเคลื่อนอย่างกระท่อนกระแท่นก็ตาม ซึ่งนำมาสู่การผ่อนคลายทางการเมืองมากขึ้นเมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งที่ทำให้ อองซานซูจีขึ้นสู่อำนาจ

ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาได้ 2 ปี นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ และเสรีภาพสื่อมวลชน เสรีภาพในการรวมตัวสมาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวของฝ่ายต่อต้าน คสช. ถูกจำกัดอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลทหาร

สำนักข่าวอิระวดีกล่าวถึงสภาพของชาวพม่าในไทยว่า ผู้คนพม่านับหลายล้านคนเข้ามาทำงานในประเทศไทยในรอบหลายปีมานี้ ขณะที่คนเรือนแสนยังคงอยู่ในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า พวกเขาหลบหนีภัยมาหลายทศวรรษแล้ว อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้หลายคนก็หลบหนีการกดขี่ภายใต้อดีตรัฐบาลทหารพม่า

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Suu Kyi to Visit Thailand in June, By THE IRRAWADDY, Monday, May 30, 2016 http://www.irrawaddy.com/burma/suu-kyi-to-visit-thailand-in-june.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net