Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ร่างรัฐธรรมนูญฉบับจะลงประชามติ(ถ้ามี) เฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา มาตรา 67 ระบุว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

หลังจากมาตราดังกล่าวนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง กลับปรากฏ “ความเห็นร่วม” ของกลุ่มชาวพุทธขั้วตรงข้ามกันอย่างมิได้นัดหมาย

เห็นได้จากแกนนำพระสงฆ์และชาวพุทธที่เรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญและคัดค้านการปฏิรูปพุทธศาสนาตามแนวทางของกลุ่มพุทธอิสระ-ไพบูลย์ นิติตะวัน อย่างพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) กล่าวต้อนรับมาตรา 67 ในเรื่องกำหนดให้รัฐส่งเสริม “พุทธศาสนาเถรวาท” เป็นพิเศษว่าเห็นด้วยที่บัญญัติเช่นนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ปัญหาอยู่ที่การไม่บัญญัติให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ (ดู matichon/news/100020)

ขณะที่นายไพบูลย์มองว่า นี่เป็นจุดกึ่งกลางหรือการประนีประนอมที่จะไม่เลยไปถึงการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และยืนยันว่า “ผมจะใช้มาตรา 67 วรรคสองนี่แหละมาดำเนินการปฏิรูปพุทธศาสนาต่อไป...”  โดยเฉพาะข้อความในวรรคสองว่า “...ต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด...”  ซึ่งสำหรับนายไพบูลย์แล้วถือว่า นี่คือเครื่องมือในการจัดการกับพระนอกรีต พระที่สอนผิด บิดเบือนพระธรรมวินัยและประพฤติผิดพระธรรมวินัยเถรวาทในพระไตรปิฎก หรือพวกพุทธพาณิชย์ และเขาเชื่อว่าจะใช้มาตรานี้แหละดำเนินการให้พระสงฆ์ปฏิบัติเคร่งครัดและสมถะเพียงพอตามพระธรรมวินัยเถรวาทอย่างแท้จริง (ดู matichon/news/154194)

มองจากทัศนะของในไพบูลย์ จะเห็นว่าร่างรัฐรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงเป็นร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” เท่านั้น หากยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบอลัชชี” อีกด้วย

เมื่อสืบสาวไปจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง/ปราบอลัชชี มีที่มาจาก “ผลึกความคิด” ของมวลมหาประชาชน กปปส.ที่ขัดขวางการเลือกตั้งจนนำมาสู่รัฐประหาร 2557 ภายใต้วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยอาศัยอำนาจพิเศษเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” แต่แล้วกระบวนการปฏิรูปก็ให้กำเนิดร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ฉายโฉมหน้า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” แต่อย่างใด

กระนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.เจ้าของความคิด “ปฏิรูปเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์” กลับออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มที่ ไม่ติดใจว่าที่มาของนายกฯจะเป็นคนนอกหรือไม่ โดยยกคำของพุทธทาสภิกขุมาสนับสนุนความเห็นของตนเองว่า “…ในฐานะศิษย์สวนโมกข์ อาจารย์พุทธทาสบอกว่า คนที่มาเป็นผู้นำมาอย่างไรนั้น ไม่สำคัญเท่ากับคนมีธรรมะ มีศีลธรรม ขอให้ได้คนดีก็แล้วกัน เพราะไม่ได้อยู่ที่วิธีการมา แต่อยู่ที่คน”  (ดู matichon/news/145457)

ขณะเดียวกัน อีกแนวร่วมสำคัญหนึ่งในมวลมหาประชาชน กปปส.ก็ผุดความคิด “ปฏิรูปพุทธศาสนา” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยมีมันสมองสำคัญคือพระพุทธอิสระ นายไพบูลย์ นายแพทย์มโน เลาหวนิชอดีตพระวัดพระธรรมกายยุคแรกก่อตั้งเป็นต้น

น่าสังเกตว่า กระบวนการปฏิรูปพุทธศาสนาเริ่มด้วยการ “ปราบอลัชชี” โดยการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมรื้อข้อกล่าวหา “ต้องอาบัติปาราชิก” ของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสพระธรรมกายที่มหาเถรสมาคมเคยมีมติไปแล้วว่า “ไม่ต้องอาบัติปาราชิก” ขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ ขั้นตอนต่อมาก็คือการแจ้งข้อกล่าวหา “ครอบครองรถหรูเลี่ยงภาษี” ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ที่ถูกมองว่าให้ความช่วยเหลือพระธัมมชโย จนเป็นเหตุให้มี “มลทิน” ที่ไม่สามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ สุดท้ายก็คือการแจ้งข้อหา “รับของโจร” กับพระธัมมชโยที่เกี่ยวพันกับกรณีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช.พยายามอธิบายว่า การดำเนินการกับพระธัมมชโยเป็นเรื่องทางกฎหมายเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น แต่ผู้คนในโลกสื่อโซเชียลที่มองเห็น “ตัวละคร” และกระบวนการดำเนินการกับพระธัมมชโยทั้งหมดกลับไม่ได้เชื่อเช่นนั้น

ภายใต้กระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ หากพระธัมมชโยถูกศาลตัดสินว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต ย่อมกลายเป็นเงื่อนไขให้มหาเถรสมาคมดำเนินการเอาผิดทางธรรมวินัยฐานต้อง “อาบัติปาราชิก” และต้องจับสึกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

แต่หากกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการกับพระธัมมชโยได้ภายในเร็วๆนี้ๆ ดาบต่อไปก็คือ “มาตรา 67” ที่นายไพบูลย์เงื้อง่าไว้แล้วว่า จะใช้ฟันพระที่สอนผิดบิดเบือนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเถรวาท

ฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบอลัชชี จึงเห็นได้ไม่ยากว่าใครกลุ่มไหนที่จะกลายเป็นอลัชชีที่ถูกปราบ เหมือนกับที่เห็นได้ไม่ยากว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น คนที่ถูกกล่าวหาว่าโกงกลุ่มไหนบ้างที่จะต้องถูกปราบ

หากมองในมุมกว้างออกไปว่า ชาวพุทธกลุ่มไหนบ้างที่ไม่เอาธรรมกาย ข้อสังเกตของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ข้างล่างนี้น่าจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น 

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า "ความหมั่นไส้" วัดธรรมกาย มีที่มาจากชนชั้นกลางในกรุงฯ ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า มาจาก ผู้ที่มีสังกัดในสายปฏิบัติธรรมที่หลากหลาย ได้แก่ เหล่าชาวพุทธลูกศิษย์พระป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระในสายธรรมยุติฯ (ซึ่งในวงการก็รู้กันดีว่า เหล่าธรรมยุติฯ ดูถูกวัตรปฏิบัติของพระมหานิกาย ยังไม่นับว่ามีความคิดที่แบ่งชนชั้นกัน โดยธรรมยุติฯ ได้ยกตนเหนือว่ามหานิกายอยู่เนืองๆ) หรือว่าจะเป็นลูกศิษย์พระ "ดี" อย่าง พุทธทาส, พระพรหมคุณาภรณ์ ที่ได้ทำการตีตราบาปธรรมกายว่า ละเมิดคำสอนว่าด้วย อัตตา-อนัตตา อันถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ในอีกด้านก็คือ เหล่าลูกศิษย์พระ "เคร่ง" อย่างสายสันติอโศก ดังนั้นชาววัดธรรมกายจึงเป็น “คนนอก” ในสายตาของคนเหล่านี้  (ดู “บทวิเคราะห์ธรรมกาย กฎหมายหมิ่นศาสนา และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ซ้อนรัฐ” prachata/journal/39991)

แน่นอน เราต้องรวมกลุ่มพุทธะอิสระ-ไพบูลย์ที่เชื่อมโยงกับ พธม.-กปปส.เข้าด้วย เฉพาะกลุ่มสันติอโศกปฏิเสธทั้งคำสอนและแนวปฏิบัติของธรรมกาย ส่วนกลุ่มชาวพุทธที่สมาทานคำสอนพุทธทาส,พระพรหมคุณาภรณ์นั้นมีหลากหลาย มีทั้งที่อยู่ในฝ่าย พธม.-กปปส.และที่ไม่เลือกฝ่าย (หรือเห็นใจเสื้อแดงก็น่าจะมี) กลุ่มที่แสดงออกทางการเมืองโดยอ้างคำสอนพุทธทาสส่วนมากจะอยู่ฝ่าย พธม.-กปปส. แต่ทั้งหมดนั้นต่างมองว่า คำสอนของธรรมกายเป็น “สัทธรรมปฏิรูป” (ธรรมะปลอม-ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพุทธะ, ไม่ใช่พุทธแท้?)

ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มชาวพุทธที่ไม่เอาธรรมกายด้วยข้ออ้างที่ว่า “คำสอนธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูป” และ “ธรรมกายเกี่ยวข้องกับการเมือง” (สนับสนุนทักษิณ-พรรคเพื่อไทย) ก็ล้วนแต่เป็นชาวพุทธที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและอิงอำนาจรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเองในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอยู่แล้ว แม้แต่สันติอโศกเองที่แยกออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมแล้ว แต่ก็ต่อสู้ทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมและเสนอให้ใช้ “ม.44” จัดการกับพระธัมมชโย ส่วนกลุ่มพุทธอิสระ และศิษย์สวนโมกข์ที่นำโดยนายสุเทพก็ชัดเจนอยู่แล้วว่านำศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไรบ้าง

แต่ก็ควรเข้าใจว่า การอ้างพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ถือเป็น “ประเพณี” ที่ตกทอดมาจากรัฐยุคเก่า โดยเป็น “หน้าที่” ของคณะสงฆ์ไทยที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วไม่ถือว่าเป็น “การเมือง” แต่อย่างใด หรือถ้าอ้างพุทธศาสนาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เป็น “การเมืองที่ไม่ผิด” หรือเป็นการเมืองที่ถูกที่ควรอยู่แล้ว

การนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจะเป็นเรื่องที่ผิด เมื่อสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อธรรมกายซึ่งเป็นองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ มีมวลชนจำนวนมาก ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่ “ขัดต่อจารีตเก่า” ของพุทธศาสนาเถรวาทไทยอย่างรุนแรง และไม่อาจจะปล่อยเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าศาสนาจะสนับสนุนขั้วอำนาจเก่าหรือขั้วอำนาจใหม่ในการต่อสู้ทางการเมือง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่ากลุ่มชาวพุทธที่รังเกียจคำสอน,แนวปฏิบัติแบบธรรมกายและฝ่ายธรรมกายเองก็ตาม ต่างก็พยายามอิงแอบอำนาจรัฐในลักษณะใดลักษณะหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

ฝ่ายที่รังเกียจธรรมกาย นอกจากจะอ้างศาสนาต่อสู้ทางการเมืองสนับสนุนขั้วอำนาจเก่าแล้ว ยังเรียกร้องอำนาจรัฐเอาผิด “ทางธรรมวินัย” กับฝ่ายธรรมกาย ซึ่งย่อมขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาตามกรอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ส่วนฝ่ายธรรมกายก็อาศัยกลไกอำนาจคณะสงฆ์แลอำนาจรัฐบาลในการขยายอิทธิพลของตัวเองไปยังวัดต่างๆ (จัดบวชพระทีละเป็นแสนรูปแล้วส่งไปอยู่ยังวัดต่างๆทั่วประเทศเป็นต้น) และขยายการเผยแผ่ศาสนาแบบของตัวเองเข้าไปยังโรงเรียนและหน่วยงานราชการต่างๆ (กระทั่งมีหลักสูตรวิชาพุทธศาสนาแบบธรรมกายในโรงเรียนรัฐบาลเป็นต้น) อีกทั้งยังสนับสนุนการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งก็ขัดต่อหลักเสรีภาพทางศาสนาตามกรอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เช่นกัน

ฉะนั้น เมื่องมองรวมๆแล้ว กลุ่มชาวพุทธที่ขัดแย้งกันอีรุงตุงนังอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีกลุ่มไหนเลยที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทุกกลุ่มล้วนแต่คิดว่า “พุทธศาสนากับรัฐควรมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ต่อกันเหมือนในยุคเก่า” คือต่างเห็นว่ารัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ควรทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนาแบบรัฐยุคเก่า

โดยจิตสำนึกที่ว่ารัฐมี “หน้าที่” ในการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา ส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนา รักษาธรรมวินัยที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกและจัดการเอาผิดพระนอกรีตที่ทำผิดธรรมวินัย ก็คือจิตสำนึกที่สร้างขึ้นในรัฐยุคเก่าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

กลายเป็นว่าชาวพุทธไทยที่อยู่ในยุครัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ (ถึงยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆเราก็บอกว่าต้องเป็นให้ได้) ยังมีสำนึกเสมือนว่าตนเองยังอยู่ในยุครัฐยุคเก่า และพยายามขับเน้นให้โฉมหน้าความเป็น “รัฐพุทธศาสนาเถรวาทไทย” แจ่มชัดและน่ากลัวมากยิ่งขึ้น ผ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่อาจเป็นกลไกล่าแม่มดทางศาสนายิ่งกว่ารัฐยุคเก่าเสียอีก

เมื่อมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบอลัชชีจึงทะลุไปเห็นโฉมหน้ารัฐพุทธศาสนาเถรวาทไทย ที่ทำให้รัฐไทยย้อนยุคไปไกล และถอยห่างจากความเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หลายปีแสง เอวังเวงก็มีด้วยประการฉะนี้แล!
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net