เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยการศึกษาฟินแลนด์ กระตุกต่อมอิจฉาครู-นักเรียนไทย


สถานีรถไฟในเฮลซิงกิ

“อะไรคือสิ่งที่คนในประเทศของเธอภูมิใจ” นักข่าวจากพม่าถาม Erja-Outi Heino ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารจากกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ เธอนิ่งไป 3-4 วินาทีก่อนตอบว่า “ระบบการศึกษา มันอาจเป็นสิ่งที่ใหม่มาก เราเพิ่งเป็นผู้นำด้านการศึกษาราวสิบกว่าปีมานี้เอง แต่มันเป็นสิ่งที่คนฟินแลนด์ภูมิใจมาก และมันน่าจะนับเป็นอัตลักษณ์ของเราได้”

นี่สะท้อนว่าผู้คนในประเทศซึ่งได้รับเอกราชมาเพียง 100 ปี (ครบในปีหน้า) ภูมิใจกับระบบการศึกษาของตัวเองแค่ไหน ทั้งที่ย้อนกลับไป 30-40 ปีฟินแลนด์ก็น่าจะใกล้เคียงประเทศไทยที่มีระบบการศึกษาที่ล้มเหลว และเป็นจำเลยสำหรับทุกปัญหาของสังคม

กลุ่มนักข่าวต่างชาติที่เป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ได้มีโอกาสพบกับเด็กๆ ในโรงเรียนมัธยมเล็กๆ แห่งหนึ่ง เด็กส่วนมากยังมีความเขินอายตามประสา ไม่ได้พูดจาฉะฉานราวกับซักซ้อมมาอย่างดี แต่อย่างน้อยพวกเขาก็กล้าพูดจาตอบโต้แขกผู้มาเยือน บ้างใช้ภาษาอังกฤษได้ดี บ้างใช้ไม่คล่องนักแต่ก็พยายามสื่อสารโดยไม่กังวลนักว่าสำเนียงจะห่วย แกรมม่าจะผิด

“เธอต้องเคารพธงชาติตอนเช้ามั้ย” นักข่าวจากเมืองไทยถาม

“มันคืออะไร” เด็กชายจากเกรด 8 ถามกลับ

“แบบว่าเข้าแถวรวมกันทั้งโรงเรียนในตอนเช้า แล้วก็ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ ฟังครูพูดหน้าเสาธง” นักข่าวตอบ

“เราก็มีที่ต้องประชุมรวมกันทั้งโรงเรียน ร้องเพลงชาติด้วย ปีละครั้งเวลามีงานใหญ่ๆ” เด็กชายพยายามอธิบายการร้องเพลงชาติของตัวเองบ้าง

ฟินแลนด์ติดอันดับต้นๆ ของระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันหลายต่อหลายปี ในหลายต่อหลายวิชา จนเป็นที่ร่ำลือและเป็นจุดหมายของการเดินทางมาดูงานจากทั่วสารทิศ แต่ไม่ต้องกังวลเรื่อง “ผักชีโรยหน้า” เพราะเมืองเฮลซิงกินั้นจัดคิวให้โรงเรียนต่างๆ ในทุกพื้นที่รองรับแขกผู้มาดูงานครบถ้วนแทบทุกโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดการดูงานแบบกระจุกตัวและรบกวนการเรียนการสอน 

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของที่นี่ คือ การที่รัฐทุ่มเทงบประมาณให้กับการศึกษาอย่างทั่วถึงและด้วยมาตรฐานใกล้เคียงกัน นักเรียนทุกคนสามารถเรียนฟรี (ฟรีจริงๆ ไม่มีแม้ค่าหนังสือ) ได้จนจบระดับมัธยมศึกษาและทุกคนจะได้รับอาหารกลางวันคุณภาพฟรี 1 มื้อ เนื้อสัตว์ มันบด ผัก ผลไม้ นม ขนม มีพร้อม

“โรงเรียนเอกชนที่นี่มีจำนวนน้อยมากและแพงมาก คนส่วนใหญ่ส่งลูกเรียนในโรงเรียนของรัฐกันทั้งนั้น เพราะมาตรฐานของโรงเรียนไม่ได้ต่างกัน โรงเรียนเอกชนอาจจะเพียงมีความเด่นในบางด้าน เช่น มีการเรียนดนตรีที่เข้มข้น” เพื่อนชาวฟินแลนด์อธิบาย

“ฟินแลนด์ทุ่มงบให้กับการศึกษามาก แต่ไม่ได้มากไปกว่าประเทศในแถบยุโรปประเทศอื่น แต่ที่เราประสบความสำเร็จเพราะเราให้ความสำคัญกับคำว่า คุณภาพ อย่างจริงจังและเราวางแผนระยะยาว” Hannele Cantell นักการศึกษาผู้เป็นคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรกลางของฟินแลนด์ กล่าว

เธอเล่าถึงโครงสร้างทางเลือกของนักเรียนในฟินแลนด์ว่า ในชั้นอนุบาล หลักสูตรของที่นี่เน้นให้เด็กในวัยนี้ “เล่นเป็นหลัก” เนื่องจากพบว่าพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ต้องการการเล่นอย่างเต็มที่ จึงเน้นการจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมจินตนาการและพัฒนาของเด็กก่อนวัยเรียน


Hannele Cantell 

ส่วนการเรียนในระดับประถมนั้น โรงเรียนมีการกระจายตัวทุกพื้นที่และแต่ละแห่งจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก โดยเน้นให้เด็กเดินทางไปเรียนยังโรงเรียนใกล้บ้าน การเรียนการสอนจะมีหลักสูตรกลาง แต่จะไม่กำหนดกรอบ “วิธีการสอน” กับครูผู้สอน

“ครูแต่ละคนอาจคิดวิธีที่จะสอนไม่เหมือนกัน เราปล่อยพื้นที่ว่างไว้เพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ เพราะครูเป็นคนที่สัมพันธ์กับเด็กๆ โดยตรง เขาย่อมรู้ดีที่สุดว่าเด็กของเขาต้องการอะไร เรามีหลักของการเคารพศักยภาพและการออกแบบการสอนของครู” Hannele กล่าว

สำคัญไปกว่านั้น ห้องเรียนในฟินแลนด์นั้นมีนักเรียน 10 กว่าคนอย่างมากไม่เกิน 20 คน การดูแลของครูจึงทั่วถึง

ยกตัวอย่างการสังเกตการณ์ในห้องเรียนวิชาภาษาฟินนิชของนักเรียนชั้น ม.2  ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีนักเรียนมาเรียนราว 10 คน แต่ละคนแต่งตัวตามสไตล์ของตัวเอง มีตั้งแต่ย้อมผมฟ้า-เสื้อกล้าม-เจาะหู ไปจนถึงคลุมฮิญาบ ในโรงเรียนทุกแห่งมีการรับนักเรียนที่เป็นลูกหลานแรงงานอพยพรวมอยู่ด้วยเสมอและโรงเรียนแห่งนี้มีสัดส่วนราว 20% การสอนของคุณครูเดินด้วยคำถาม ครูสาวถามไปเรื่อยๆ จนกว่านักเรียนจะตอบ และเมื่อนักเรียนตอบก็รับฟังและแลกเปลี่ยน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร จากนั้นจึงสรุปขึ้นกระดาน ทุกคนก็เรียนกันปกติยกเว้นเด็กชายสองคนคู่หูหลังห้องที่ดูไม่ค่อยสนใจเรียนและชอบแกล้งเพื่อน ครูสั่งให้คนอื่นทดลองทำแบบฝึกหัดสั้นๆ แล้วหันมาจัดการกับทั้งคู่.... โดยการลากเก้าอี้มานั่งสอนสองคนนี้โดยเฉพาะ ทั้งคู่จึงต้องนั่งตอบคำถามครูทีละจุดๆ

“เรื่องการบ้าน นักเรียนที่นี่มีการบ้านน้อยมากหรือไม่มีเลย มีการวัดผลตอนเลื่อนชั้นเล็กน้อย ส่วนการสอบระดับชาตินั้นมีครั้งเดียวตอนจบเกรด 12 เนื่องจากเราไม่ได้เชื่อในระบบการสอบวัดผลนัก ไม่ต้องทำบ่อยก็ได้” Hannele อธิบายทำเอานักข่าวชาติต่างๆ อ้าปากค้าง จินตนาการไม่ออกว่าอยู่กันได้อย่างไรโดยไม่มีการสอบ 

หลังจากจบมัธยมต้น นักเรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนต่อสายสามัญหรือสายอาชีพ เฉพาะคนที่สนใจด้านวิชาการมากๆ ถึงเรียนสายสามัญเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ที่นั่นไม่ได้มีค่านิยมว่าทุกคนควรจบมหาวิทยาลัย บางคนเรียนจบม.6 ก็ทำงานเลย บางคนเรียนสายอาชีพ แล้วแต่ถนัด อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ที่นั่นสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ เช่น เรียนสายอาชีพแล้วพบว่าอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็สามารถทำได้

ในส่วนของหลักสูตรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การสร้างหลักสูตรไม่ได้มาจากคณะกรรมการหลักของกระทรวงศึกษาเท่านั้น แต่ต้องมาจากการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ตัวแทนครูซึ่งเห็นปัญหาในทางปฏิบัติ รวมถึงภาคประชาชน เอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานด้านการศึกษา ทั้งหมดต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอย่างสำคัญในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีการทบทวนยกเครื่องใหญ่หลักสูตรกลางทุกๆ 10 ปีเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น อาชีพครูถือเป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพอย่างสูงในสังคม เป็นอาชีพที่สอบยาก เรียนยาก และได้รับความนิยมสูงมาก ยิ่งกว่าวิศวกรหรือหมอด้วยซ้ำ Satu  Pehu-Voima นักการศึกษาอีกคนหนึ่งบอกว่า นักเรียนระดับหัวกะทิจำนวนมากล้วนแต่อยากเป็นครู การแข่งขันจึงมีสูงมาก ทำให้กระทรวงศึกษาสามารถเลือกบุคลากรกลุ่มที่ดีที่สุดมาเข้าสู่อาชีพครู ซึ่งนับเป็นอาชีพที่มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนด “อนาคต” ของประเทศ เนื่องจากพวกเขามีอิทธิพลต่อพลเมืองรุ่นใหม่ทั้งหมด

นี่คือภาพคร่าวๆ ที่นักเรียนไทยและครูไทยอาจจะแอบอิจฉา หัวใจสำคัญของความสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าฟินแลนด์เป็นประเทศร่ำรวยที่มีประชากรน้อยเพียง 5 ล้านกว่าคน มากเท่ากับการมีวิสัยทัศน์และวิธีคิดบางอย่าง อันได้แก่ การเคารพในศักยภาพของคน การเปิดให้มีเสรีภาพทางความคิด ลดกรอบหรือกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และพยายามสร้างระบบที่วางอยู่บนความเท่าเทียมให้กับพลเมือง

 

หมายเหตุ ข้อมูลจากการไปเยี่ยมโรงเรียนในฟินแลนด์ระหว่างการไปร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2016 ที่กรุงเฮลซิงกิ ระหว่างวันที่ 1-4 พ.ค.2559 สนับสนุนโดยสถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท