Skip to main content
sharethis

 

ที่มา เฟซบุ๊ก 'Suranand Vejjajiva

31 พ.ค. 2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพผ่านเฟซบุ๊ก กรณี สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวมเสื้อที่มีข้อความ "รับและไม่รับเป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย" โดยระบุว่า ใส่เสื้อไม่ผิดครับ (ความเห็นส่วนตัว) เนื่องจากใส่เสื้ออะไรเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุตคล 

แม้จะ เอาคำว่า “รับ” ออกก็ตาม แต่อาจผิด หาก 1. ใส่จัดรายการทุกวัน ในลักษณะเชิญชวนปลุกระดม (ยกเว้นพิสูจน์ว่า ยากจน มีเสื้อใส่แค่ตัวเดียว) 2. ช่วงจัดรายการมีการพูด เท็จ ปลุกระดม หยาบคาย (สองท่านคงไม่หลุด) 3. มีการแจกเสื้อแก่ผู้ฟัง เรียกเรทติ้งรายการ (ผิด ม.61(2) แจกของเพื่อจูงใจลงคะแนน) และ 4. มีการขายเสื้อ และคนใส่มากๆ แล้วไปเดินขบวนก่อความวุ่นวาย 

“แต่ผิดหรือไม่ผิด เป็นเรื่องของศาลตัดสิน ผมเพียงแค่แนะนำท่าน อ.ทั้งสองท่าน ด้วยความเคารพครับ” สมชัย ระบุ

 

ประยุทธ์โยนกกต.ตัดสิน

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.  ปฎิเสธที่จะแสดงความเห็น ต่อกรณีดังกล่าว  โดยให้เหตุผลว่า  ไม่ได้เป็นคนเขียนกฎหมาย ต้องไปถามจาก กกต. หาก กกต.บอกว่า สามารถสวมได้ ก็ต้องรับผิดชอบ หากมีความวุ่นวายเกิดขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว หากมีความไม่สงบ คสช.ก็ต้องออกมาดูแล

ด้านจาตุรนต์ถาม ไม่เพี้ยนหนักไปหรือ?

ด้าน จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 'Chaturon Chaisang' แสดงความเห็นกรณีนี้ด้วย โดยระบุว่า
 

ทำไมใส่เสื้อมีข้อความว่า "รับ ไม่รับเป็นสิทธ์ ไม่ผิดกฎหมาย" เป็นเรื่องที่กกต.ต้องไปพิจารณาว่าผิดกฎหมายประชามติหรือไม่ ไม่เพี้ยนหนักไปหรือ ?

คำว่า "รับ ไม่รับ ...." จะผิดกฎหมายอะไรในโลกนี้ได้อย่างไร

บอกว่ารับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ผิดกฎหมายตรงไหน ก็ที่จะให้ลงประชามติไม่ได้ให้คนไปลงมติ "รับ" อย่างเดียวไม่ใช่หรือ

กฎหมายบอกให้เผยแพร่ความคิดเห็นได้ จูงใจก็ได้ จะห้ามต่อเมื่อผิดเงื่อนไข เช่น เป็นเท็จ หยาบคาย ฯลฯ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ย่อมเผยแพร่และจูงใจได้

คำว่า ‘ชี้นำ’ ไม่ปรากฎในกฎหมายประชามติ แต่กลับเอาคำนี้มาใช้กันส่งเดช ชาวบ้านจะไปชี้นำผู้มีอำนาจได้ยังไง ผู้มีอำนาจต่างหากควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ชี้นำ

การที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจให้คุณให้โทษคนได้ไปชี้นำเรื่องทางการเมืองโดยไม่เป็นกลาง อาจผิดกฎหมายเรื่องความไม่เป็นกลางทางการเมือง แต่กกต.ไม่สนใจ

ใส่(เสื้อ)ว่าไม่รับรัฐธรรมนูญก็ไม่ผิดครับ

เรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดเรียกร้องกันไปจนถึงวันลงประชามติ

ผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่เคารพเชื่อถือหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็น เราจึงต้องมาพูดกันในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น คนไทยจะพูดคำว่า ‘ไม่รับ’ได้หรือไม่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : ปลุกระดม ก. เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น. แล้วใส่เสื้อหรือพูดว่าควรรับ ไม่ควรรับจะเป็นปลุกระดมได้ยังไง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน : เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้. แล้วการแจกเอกสารให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะผิดกฎหมายได้ไง ?

ที่กกต.และผู้มีอำนาจมักตีความกฎหมายผิดเพี้ยน จึงเหมือนไม่เข้าใจภาษาไทยและไม่เคยเปิดพจนานุกรม แนะนำให้ลองเปิดดูกันเสียบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net