สืบพยานโจทก์วันแรก 'ประชาไท' ฟ้องแพ่ง ไอซีทีปิดเว็บปี 53

 

1 มิ.ย. 2559 ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลแพ่ง รัชดา มีการสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 ที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (เว็บไซต์ประชาไท) เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงการคลัง เป็นเงิน 350,000 บาท จากกรณีมีคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553

มาตรา 9 (3) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  - ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

ก่อนเริ่มการสืบพยาน ผู้พิพากษาได้เรียกคู่ความมาสอบถามโดยแจ้งว่า หากชนะคดีเงินที่ฟ้องร้องนั้นมาจากภาษีประชาชน จะขัดกับจุดประสงค์ของมูลนิธิซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามฟ้องก็ได้พ้นตำแหน่งและเหตุการณ์ต่างๆ ล่วงเลยไปแล้ว เว็บของโจทก์ก็เข้าถึงได้แล้ว ด้านจีรนุชระบุว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่ได้หวังจำนวนเงิน อย่างที่เห็นแล้วว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นเงินไม่มาก การฟ้องคดีไม่ได้พุ่งเป้าที่ตัวบุคคล แต่อยากต่อสู้ในเชิงหลักการว่าการปิดสื่อโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำได้หรือไม่ เพราะอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้ององค์กรด้วย หากได้ค่าเสียหายมาแล้ว มูลนิธิก็จะพิจารณาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีระบุว่าเนื้อหาที่เป็นเหตุในการสั่งปิดเว็บไซต์มี 3 ส่วนคือ
1.บทความเรื่อง ธาตุแท้นายอภิสิทธิ์ ที่สรุปความได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะชื่นชมระบอบอำมาตยาธิปไตย และเป็นรัฐบาลที่แต่งตั้งในค่ายทหาร ซึ่งมีเนื้อหาบิดเบือนความจริง เพราะนายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ โดยมติสภาผู้แทนฯ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

2. รายงานข่าวที่ระบุว่า กลุ่มรักเชียงใหม่มีการขึ้นป้ายยุบสภา และแกนนำรุ่นสองของ นปช.พร้อมจะเดินทางไปสร้างแรงกดดันที่ศาลากลางหากมีการส่งสัญญาณจากแกนนำที่กรุงเทพฯ เป็นข้อความที่บีบบังคับให้นายอภิสิทธิ์ต้องยุบสภาสถานเดียว ไม่ใช่การเรียกร้องคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

3. ภาพข่าวการชุมนุม ซึ่งบนเวทีมีป้ายข้อความ "โค่นรัฐบาลอำมาตย์" ซึ่งบิดเบือนต่อความเป็นจริง เพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่รัฐบาลอำมาตย์ และการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นการชุมนุมเพื่อโค่นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

สำหรับการสืบพยานโจทก์วันนี้ ประกอบด้วย จีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ในฐานะบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ และ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน

จีรนุช ยื่นคำเบิกความเป็นเอกสาร และอัยการซึ่งเป็นทนายจำเลยได้ถามค้านถึงบทความในเว็บไซต์ประชาไทที่ระบุว่านายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯที่ได้รับการแต่งตั้งในค่ายทหาร จีรนุชรับว่าบทความนี้ปรากฏในเว็บไซต์จริง อัยการถามว่า ตามรัฐธรรมนูญขณะนั้นคือ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 ระบุว่า นายกฯ ต้องได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น การเขียนว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตั้งในค่ายทหารจึงไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จีรนุช ตอบว่า งานชิ้นนี้คือบทความ ความเห็นในบทความไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการและขอสงวนไม่ตอบคำถามดังกล่าว ส่วนการเขียนว่าเป็นรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปเพื่อต้องการล้มล้างรัฐบาลใช่หรือไม่นั้น จีรนุช ตอบว่า ไม่สามารถอ่านเจตนาของผู้เขียนได้ และว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวเกินเลย เพราะเป็นการเชื่อมโยงบทความกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในเวลานั้น

จีรนุชรับด้วยว่า รายงานข่าวที่แกนนำรุ่นที่สองระบุว่าหากมีการส่งสัญญาณก็พร้อมจะมากดดันรัฐบาลนั้นปรากฏในเว็บไซต์จริง ส่วนการชุมนุมโดยกดดันรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

อัยการถามถึงภาพเวทีชุมนุมที่มีข้อความ 'โค่นรัฐบาลอำมาตย์' จีรนุช ตอบว่า เนื้อหาดังกล่าวปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ด (prachataiwebboard.com) ซึ่งอยู่ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน แต่ไม่เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ โดยภาพนี้เป็นภาพที่มีผู้ใช้งานนำมาโพสต์และภาพลักษณะนี้ปรากฏในสื่อทั่วไปที่รายงานการชุมนุม

จีรนุชตอบคำถามทนายโจทก์ถามติงว่า บทความที่เผยแพร่ในประชาไท มีกองบรรณาธิการเป็นผู้พิจารณา โดยผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงคือ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหาร และผู้ที่ส่งบทความมามีหลากหลายอาชีพ กรณีมีผู้ไม่เห็นด้วยกับบทความใดๆ อาจโต้แย้งด้วยการส่งบทความมาเผยแพร่ได้เช่นเดียวกัน หรือแสดงความเห็นท้ายบทความ หรือเขียนจดหมายถึงกองบรรณาธิการ โดยบทความที่เผยแพร่ในประชาไทไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นเหมือนกองบรรณาธิการ และประชาไททำหน้าที่เป็นเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งวัตถุประสงค์นี้ก็ได้เขียนกำกับไว้ด้วยในหน้าบทความนั้นๆ

จีรนุช ระบุว่าการกล่าวถึงเรื่องการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีทั้งจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และคอลัมน์ในสื่อต่างๆ ส่วนรายงานข่าวที่แกนนำย่อยของ นปช.ระบุว่าหากแกนนำส่งสัญญาณมาก็พร้อมไปกดดันที่ศาลากลางนั้น เป็นการประมวลข่าวจากสำนักข่าวอื่นๆ ได้แก่ มติชนออนไลน์ คมชัดลึก สำนักข่าวไทย พีเพิลชาแนล นอกจากนี้คำสั่งปิดเว็บไซต์ของ ศอฉ.ไม่ได้ระบุถึงเว็บบอร์ดประชาไท ทั้งนี้ เว็บไซต์ประชาไทและเว็บบอร์ดประชาไท อยู่ใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนเหมือนกัน แต่แยกการดำเนินงานกันชัดเจน โดยกองบรรณาธิการดูแลเว็บไซต์ประชาไท ส่วนเว็บบอร์ดประชาไทเป็นพื้นที่แสดงความเห็นของผู้ใช้ทั่วไปและเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคม-การเมือง

พยานโจทก์ปากที่สอง ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท ยื่นเอกสารคำเบิกความต่อศาล อัยการถามค้านว่า การตั้งรัฐบาลในค่ายทหารนั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ใช่หรือไม่ ชูวัสตอบว่า เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แต่ตรงกับข้อเท็จจริงที่มีการนำเสนอในสื่อไม่ต่ำกว่า 20 สำนัก อัยการถามว่าข้อความจากบทความ 'ธาตุแท้นายอภิสิทธิ์' เป็นข้อความที่เป็นจริงไม่บิดเบือนหรือไม่ ชูวัสตอบว่า เป็นความเห็นที่อ้างจากข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตใจจากที่เห็นในหนังสือพิมพ์ทั่วไป ส่วนกรณีแกนนำรุ่นสองบอกว่าจะรวมพลที่ศาลากลาง เป็นการกดดันรัฐบาลซึ่งเป็นไปตามมาตรา 63 (การชุมนุมโดยสงบ-ปราศจากอาวุธ) ของรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่นั้น ชูวัสบอกว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะการกดดันเป็นการชุมนุมโดยสงบ

ทนายโจทก์ถามติงว่า มีข้อความใดในบทความที่กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ได้เสียงไม่ถึงครึ่งหรือไม่ ชูวัสตอบว่า ไม่มีการกล่าวหาว่ามาไม่ถูกต้อง ส่วนการเขียนว่ารัฐบาลแต่งตั้งในค่ายทหารนั้น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมที่รวมเสียงข้างมากในค่ายทหาร เนื่องจากขณะนั้น พรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก โดยธรรมชาติก็ต้องเอาหัวหน้าพรรคเป็นผู้นำ ทั้งนี้ เรื่องการเข้าสู่อำนาจของนายอภิสิทธิ์ถูกพูดถึงมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 แล้ว (สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าก่อนการแถลงข่าวตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมของแกนนำพรรคการเมืองภายใน ร.1 พัน 1 รอ.)

นอกจากนี้ชูวัสตอบคำถามทนายโจทก์ด้วยว่า เว็บประชาไทและมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการชุมนุมจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของโจทก์ ส่วนภาพเวทีนั้นไม่ได้อยู่ในเว็บประชาไทที่ถูกปิด

พยานปากที่สาม อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความถึงความสำคัญของสื่อในสังคมประชาธิปไตย และตอบคำถามทนายโจทก์ว่า บทความธาตุแท้นายอภิสิทธิ์นั้นสามารถนำเสนอได้ เพราะเป็นการแสดงความเห็นทั่วไป กรณีที่มีผู้ถูกพาดพิงในสังคมประชาธิปไตย ผู้ถูกพาดพิงอาจโต้แย้งด้วยการส่งบทความหรือจดหมายชี้แจงไปที่สื่อเดียวกัน หรือฟ้องหมิ่นประมาท ส่วนการรายงานข่าวนัดชุมนุมและภาพเวที ก็เป็นสิ่งที่นำเสนอได้ ทั้งนี้ การปิดเว็บไซต์จะส่งผลต่อผู้อ่านและความหลากหลายของสื่อในสังคม

อุบลรัตน์ตอบอัยการถามค้านด้วยว่า บทความที่ระบุว่านายอภิสิทธิ์ชื่นชมระบอบอำมาตย์นั้นสามารถทำได้เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมาจากการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อทนายโจทก์ถามติงว่า บทความจำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงที่ยุติหรือไม่ อุบลรัตน์กล่าวว่า มันยุติในความเห็นของผู้เขียน เป็นการแสดงความเห็นตามที่ผู้เขียนได้ข้อมูลมา และการแสดงความเห็นถึงที่มาของนายกฯ ว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทำได้ในสังคมประชาธิปไตย

ศาลนัดสืบพยานจำเลย 1 ปากในนัดต่อไป วันที่ 2 มิ.ย. เวลา 9.00 น.

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553 จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เป็นผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (จำเลยที่1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. (จำเลยที่ 2), ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 3), กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 4) และกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 5) เรื่อง ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 350,000 บาท กรณีมีคำสั่งปิดกั้น prachatai.com และยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการยกเลิกการปิดกั้น prachatai.com โดยวันเดียวกัน ศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องโดยไม่มีการไต่สวน ด้วยเหตุผลว่าจำเลยทั้งหมดมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ต่อมา เว็บไซต์ประชาไทอุทธรณ์คำสั่งศาล โดยศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องจำเลยที่ 4-5 คือ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง แต่ไม่อาจฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. และ ศอฉ. ได้ ต่อมา จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รับฟ้องคคีดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 และต่อมา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าอยู่ในอำนาจศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองศาลมีความเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลแพ่ง เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้บัญญัติตัดอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดยศาลแพ่งอ่านความเห็นของทั้งสองศาลเมื่อ 14 ธ.ค. 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท