มายาภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียมาแล้วโดยละเอียด ในบทความ มายาภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพยายามสร้างความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าไทยสามารถใช้ความสัมพันธ์กับรัสเซีย (และจีน) ในการคานอำนาจกับสหรัฐฯ รวมไปถึงสหภาพยุโรป เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตน กระนั้นผู้เขียนก็ได้ตัดสินใจยกประเด็นนี้มาเขียนอีกครั้ง ภายหลังจากได้อ่านบทความ 2 เรื่อง บทความแรก คือ บทบรรณาธิการของบางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งนอกจากเดอะเนชั่น (อนึ่งทั้งประเทศมีเพียง 2  ฉบับนี้เท่านั้น ที่จำหน่ายทั่วประเทศ)  และเก่าแก่ที่สุด โดยก่อตั้งตั้งแต่ปี 1946  ในส่วนบทบรรณาธิการของวันที่  24 พฤษภาคม ปี 2016  ที่ชื่อว่า  Moscow can offer more หรือ “กรุงมอสโคว์ สามารถเสนอได้มากกว่านี้” [1] อันเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปยังรัสเซียในการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนและรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ เช่นเดียวกับบทความที่ 2 คือ บทความของ วัฒนะ คุ้นวงศ์ จากเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ซึ่งนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกับบทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ไปคนละมุม แต่ทั้ง 2  บทความก็มีหลายจุดที่ชวนให้สงสัยและให้โต้แย้งได้อย่างมากมาย  และน่าจะเป็นตัวแทนของมายาภาพของคนไทยจำนวนอีกไม่น้อย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของประเทศตนกับหมีขาวซึ่งใฝ่หาตำแหน่งพญาอีกครั้ง

สำหรับบทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อแนะนำให้พลเอกประยุทธ์ และรัฐบาลไทย มีการกระชับความสัมพันธ์และการร่วมมือกับรัสเซียให้มากกว่าในปัจจุบัน โดยส่วนที่น่ากล่าวถึง คือ ย่อหน้าที่ 4  ซึ่งเป็นการเท้าความถึงประวัติศาสตร์ ดังต่อไปนี้

Russia and its predecessor, the Soviet Union, have spent most of the past 70 years in Thailand's diplomatic freezer. There was good reason for this. After World War II, Moscow and some other countries in the West spent much effort trying to keep Thailand out of the United Nations. After that, as chief international sponsor of Vietnam and the international communist movement, Moscow was an ideological opponent. Cold war over, it is past time for Bangkok and Moscow to move relations onto a more professional and closer status.

     
“รัสเซียและรัฐบรรพบุรุษ คือ สหภาพโซเวียต ได้ใช้เวลาเกือบ 70 ปีที่ผ่านมาแช่แข็งทางการทูตของไทย อันมีเหตุผลอันสมควร  เพราะภายหลังสงครามโลกครั้งที่  2 กรุงมอสโคว์และบางประเทศในโลกตะวันตก ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการกีดกันไม่ให้ไทยอยู่ในองค์การสหประชาชาติ ภายหลังจากนั้น ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนระดับโลกตัวพ่อของเวียดนามและขบวนการคอมมิวนิสต์สากล กรุงมอสโคว์จึงเป็นศัตรูทางอุดมการณ์ (น่าจะหมายถึงของไทย –ผู้แปล)  สงครามเย็นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว มันเป็นอดีตสำหรับกรุงเทพฯ และกรุงมอสโคว์ ที่จะผลักดันให้ความสัมพันธ์ไปยังสถานภาพที่ใกล้ชิดและเป็นระบบจริงจังมากกว่านี้”

           
ผู้เขียนมีความสงสัยว่าบทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ไปเอาข้อมูลมาจากที่ใดว่าสหภาพโซเวียตนั้นใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการกีดกันไทย (เช่นเดียวกับหลายประเทศในตะวันตกที่บทบรรณาธิการก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นประเทศใด) เพราะตามข้อมูลประวัติศาสตร์ที่รับรู้กันก็คือ สาเหตุที่โซเวียตไม่ยอมรับไทยแต่แรกก็เพราะไทยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ดังนั้นไทยจึงยกเลิก พ.ร.บ.นี้เสียในปี 1946 หรือ พ.ศ.2489  เพื่อให้โซเวียตซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของสหประชาชาติเห็นด้วยกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทย  ภายหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของไทยกับโซเวียตก็น่าจะอยู่ในภาวะที่ดีระดับหนึ่ง จนไม่ถึงขั้นจะมากีดกันผลประโยชน์ของกันและกัน อันสอดคล้องกับบทความของวัฒนะ คุ้นวงศ์ ที่ว่า

 “รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนคณะแรกมาเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 800 ปี การก่อตั้งกรุงมอสโก เมื่อปี ค.ศ. 1947 และที่สำคัญรัฐบาลของสองประเทศได้ตกลงร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ขั้นปกติ โดยได้แลกเปลี่ยนสาส์นใน วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1956”  

 ดังนั้น บทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ จึงอาจใช้ประโยคที่กำกวม อันเป็นการเสริมความคิดต่อผู้อ่านว่าไทยกับโซเวียตเริ่มต้นเป็นศัตรูกันอย่างยาวนานจากจุดนี้ และหยุดนิ่งแช่แข็งในช่วงสงครามเย็น  เพราะตามบทความของวัฒนะแล้ว ความสัมพันธ์ทางการทูต รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ ระหว่างสหภาพโซเวียตกับไทยมีลักษณะเป็นพลวัตรหรือเคลื่อนไหวอยู่เสมอ นับตั้งแต่ช่วงก่อนและต้นสงครามโลก (ปี 1941) ที่ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองสหภาพโซเวียต หรือหลังสงครามโลก ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เลยมาจนถึงทศวรรษ 80  ก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย อย่างเช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ในปี 1987 เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ของไทยได้เสด็จไปเยือนทั้งโซเวียตและสหพันธรัฐรัสเซียทั้งในปลายทศวรรษที่ 80 ยุคของ  มิคาอิล กอร์บาชอฟ และทศวรรษที่ 90 ซึ่งเป็นยุคของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน จนมาถึงต้นศตวรรษที่ 21 ในยุคของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ในขณะที่บทบรรณาธิการบางกอกโพสต์บรรยายราวกับว่า สงครามเย็นอันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียหยุดชะงักได้สิ้นสุดเมื่อไม่นานมานี้  (Cold war over, it is past time for Bangkok and Moscow to …….)  ทั้งที่ความจริงมันได้จบไปตั้งแต่ปี 1991 คือ 2 ทศวรรษครึ่งแล้ว      

อย่างไรก็ตามสำหรับบทความของวัฒนะ มีลักษณะเล่นโวหารเชิงการทูตที่ต้องเขียนเอาใจประเทศรัสเซีย ซึ่งตนทำงานเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ละเอียดและน่าเชื่อถือกว่าบทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ วัฒนะ ก็ได้ตีไข่ใส่สีในหลายส่วนจนบทความของเขากลายเป็นนิยายโรแมนติกไปเสีย ดังเช่น  

“ ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนสถานะจากมิตรมาเป็นศัตรู แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลทั้งของไทยและสหภาพโซเวียตกลับใช้เครื่องมือทางการทูตในทุกรูปแบบพยายามที่จะธำรงรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรและเห็นอกเห็นใจระหว่างสองประเทศให้ยั่งยืนต่อไปอย่างถึงที่สุด”

ตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์แล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 แม้จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตดังกล่าว แต่ไทยก็รู้สึกเป็นปรปักษ์และหวาดระแวงสหภาพโซเวียตอยู่ไม่น้อย จนกลายเป็นความรู้สึกและความสัมพันธ์ต่อกันแบบกำกวม ซับซ้อน (หรือจะเป็นการตี 2 หน้าก็แล้วแต่จะตีความ) อันไม่สอดคล้องกับบทความของวัฒนะเท่าใดนัก จากการที่สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเวียดนามกับลาวอย่างสม่ำเสมอในช่วงสงครามเย็น เช่นเดียวกับการให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในระดับหนึ่ง (เช่นให้สมาชิกไปฝึกในสหภาพโซเวียต) แม้ความรู้สึกด้านลบของชนชั้นนำไทยต่อโซเวียตจะไม่เข้มข้นเท่ากับกับจีน ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ ระยะห่างระหว่างไทยกับโซเวียตและอิทธิพลของฝ่ายหลังเข้ามาไม่ถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะเดียวกันโซเวียตก็ไม่ถึงระดับ “เป็นศัตรูทางอุดมการณ์ของไทย” ดังที่บทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ได้กล่าวอ้าง  เพราะไทยกับโซเวียตมีความคิดจะเป็นพันธมิตรกันได้ หากว่าสถานการณ์เอื้ออำนวย ดังตัวอย่างเช่น ในกลางทศวรรษที่ 70 ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังสงครามเวียดนาม ผู้นำทางทหารของไทยเคยมีความต้องการให้สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ในระดับหนึ่ง เพราะเห็นว่าจะช่วยป้องกันภัยคุกคามจากเวียดนามที่สามารถรวมประเทศ นอกเหนือไปจากการพึ่งพาจีนซึ่งเหินห่างจากเวียดนามไปเสียแล้ว จนถึงระดับขั้นการทำสงครามต่อกันในปี 1979  ความต้องการเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับสหภาพโซเวียตที่ต้องการแพร่ขยายอิทธิพลเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ แต่การเล่นเกมทางอำนาจเช่นนี้ไม่สามารถเป็นรูปธรรมได้ เพราะความรู้สึกไม่ไว้ใจกันก็ยังคงอยู่ นับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 60 ที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ปฏิเสธแผนความมั่นคงแบบรวมหมู่ของเอเชียของผู้นำโซเวียต คือ ลีโอนิด เบรฌเนฟ ในปลายทศวรรษที่ 60 ด้วยผู้นำของประเทศเหล่านั้นถือว่าเป็นการแพร่ขยายอิทธิพลของโซเวียตและไม่ต้องการมีปัญหากับจีนเพราะแผนความมั่นคงดังกล่าวมีไว้เพื่อโอบล้อมจีนซึ่งกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อโซเวียตยิ่งกว่าสหรัฐฯ[2]

ความรู้สึกกำกวมเช่นนี้ระหว่างไทยกับโซเวียตยังถูกกลบเกลื่อนจากบทความของวัฒนะที่อ้างถึงบทบาทของไทยต่อความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาแบบโปรยยาหอมดังต่อไปนี้

“............การเยือนสหภาพโซเวียตของพลเอกเกรียงศักดิ์ฯ (ในเดือนมีนาคม ปี 1979) ......มีเป้าประสงค์ทางการเมืองที่สำคัญคือต้องการให้สหภาพโซเวียตที่สนับสนุนเวียดนาม ตระหนักถึงท่าทีที่เป็นกลางของไทยและให้สหภาพโซเวียตประกันสถานะความเป็นกลางของไทยซึ่งหมายถึง ประกันความมั่นคงของไทยที่ปราศจากการถูกโจมตีจากเวียดนาม ซึ่งนายเลโอนิด เบรฌเนฟ(Leonid Brezhnev) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตและประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตให้การตอบสนอง”

ในทางกลับกัน หากพิจารณาถึงจดหมายที่นายเบรฌเนฟเขียนถึงประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ปี 1979 คือหลายเดือนภายหลังการมาเยือนของพลเอกเกรียงศักดิ์ โดยเฉพาะใจความสำคัญของจดหมายคือสหภาพโซเวียตเห็นว่าไทยนั้นไม่วางเป็นกลาง โดยการสนับสนุนฝ่ายเขมรแดงที่จะทำการต่อสู้กับกองทัพเวียดนามซึ่งเข้ามายึดครองกัมพูชาแบบกองโจรเมื่อปี 1978  ในจดหมาย นายเบรฌเนฟได้ร้องขอให้นายคาร์เตอร์ในฐานะที่สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับไทย .....

“...will give its leadership good advice, so that the hostile actions against a neighboring country will cease and the territory of Thailand will not be used as a base for sending Pol Pot bands into Kampuchea.”[3]

“จะให้คำปรึกษาที่ดีในฐานะเป็นผู้นำ เพื่อที่ว่าปฏิบัติการอันเป็นปรปักษ์ต่อเพื่อนบ้านจะยุติลงและแผ่นดินไทยจะไม่ถูกใช้เป็นฐานสำหรับส่งกองกำลังของพอลพตเข้าไปในกัมพูชา” 

            
ทักษิณ ชินวัตรที่หายไป

หากจะเปรียบเปรยบทความทั้ง 2 แล้ว บทความแรกคือบทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ก็เหมือนกับอาหารจานด่วนที่รสชาติเหมือนไม้ดีดปาก ส่วนบทความที่ 2 ซึ่งเขียนโดยวัฒนะเปรียบได้ดัง สลิ่ม ที่ใส่กะทิมาก ๆ จนมันย่อง แต่ทั้งคู่ก็มีจุดยืนที่เหมือนกันอยู่บางประเด็นจนสามารถสร้างมายาภาพแก่คนที่เข้ามาอ่านนั่นคือการทำให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหายไปจากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย   บทความแรกตัดตอนประวัติศาสตร์ช่วงของเขาออกไปอย่างไร้ร่องรอย ส่วนบทความที่ 2  ใช้ลัทธิราชาชาตินิยมกลบเกลื่อนแทนโดยเน้นที่บทบาทของเจ้าเป็นหลัก

ทั้งที่ความจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียได้เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในยุคที่ทักษิณ  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะในช่วงทศวรรษที่ 90 นั้นรัสเซียมีความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียค่อนข้างเบาบางด้วยยังต้องเผชิญกับปัญหาภายในประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สิ่งหนึ่งที่รัสเซียน่าจะจดจำไทยได้อย่างดีก็คือวิกฤตการณ์การเงินของรัสเซียในปี 1998  อันเกิดจากปัจจัยภายนอกสำคัญปัจจัยหนึ่งคือวิกฤตการณ์การเงินเอเชียที่มีจุดเริ่มต้นจากไทยหรือวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นเอง  ในต้นศตวรรษที่ 21 มีการพบปะระหว่างผู้นำคือทักษิณและปูตินหลายครั้งในระดับทวิภาคีเพื่อความร่วมมือกันทางด้านต่างๆ เช่นเศรษฐกิจและการลงทุน (ไม่ใช่พบกันหลายประเทศดังเช่นการเดินทางของ ฯพณฯ ประยุทธ์ ไปยังรัสเซียในครั้งนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่มอาเซียนกับรัสเซีย) ที่น่าสนใจว่าบุคลิกของทั้งทักษิณและปูตินในขณะนั้นมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันอันอาจกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดต่อกัน เช่นเป็นคนหนุ่มในวัย 50 กว่าเหมือนกัน ต่างก็มีความทะเยอทะยานที่จะผลักดันนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประเทศไปสู่รูปแบบใหม่ๆ เช่นเดียวกับนโยบายต่างประเทศของทั้งคู่ซึ่งเน้นการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ มากขึ้นกว่าเดิม  อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนอื่นๆ ที่ต่อต้านทักษิณพร้อมเครือข่ายมักนำเสนอภาพของทักษิณว่าเป็นเด็กในอาณัติของสหรัฐฯ จนถึงระดับการกลายเป็นหุ่นเชิดไปสำหรับบางแหล่ง (ในขณะเดียวกันชาวสลิ่มจำนวนมากซึ่งมักเสพสื่อเหล่านั้นกลับยกย่องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทั้งที่ก็เป็นเด็กในอาณัติของสหรัฐฯ เหมือนกัน)  จากการที่นำไทยเข้าไปผูกโยงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคหลังเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ผ่านประกาศสนับสนุนสงครามการก่อการร้ายของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และด้วยความเคยชินกับการแบ่งค่ายในช่วงสงครามเย็น ซึ่งถือกันว่ารัสเซียอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสหรัฐฯ และประเทศเล็กๆ ต้องเลือกข้าง  จึงทำให้คนไทยจำนวนมากมองข้ามบทบาทของทักษิณในการเชื่อมความสัมพันธ์กับรัสเซียไปเสีย

ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความที่แล้วว่านโยบายการเข้ามาเกี่ยวข้องกับเอเชียของรัสเซียได้เริ่มต้นก่อนวิกฤตยูเครนอันส่งผลให้สหรัฐฯ และตะวันตกคว่ำบาตรเศรษฐกิจของรัสเซียเสียด้วยซ้ำ [4] เพียงแต่ปูตินได้ยกระดับให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังปี 2014 เป็นต้นมา เพื่อปรับดุลยภาพทางอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ หากเราเชื่อว่าปูติน หันมาเน้นความสัมพันธ์กับเอเชียโดยเฉพาะไทยหลังจากรัฐประหารปี 2014 เท่านั้นเหมือนกับบทบรรณาธิการบางกอกโพสต์ได้ระบุข้างต้น ก็เท่ากับเป็นการยกย่องรัฐบาลทหารว่าเป็นผู้บุกเบิกความสัมพันธ์กับรัสเซียและกลายเป็นเพื่อนที่แสนดีไป ทั้งที่ความจริงแล้ว รัสเซียพร้อมจะเชื่อมความสัมพันธ์กับใครก็ได้ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ หากตอบสนองด้านผลประโยชน์ของตนได้อย่างเต็มที่ เช่นถ้ายิ่งลักษณ์ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอก็จะเดินทางไปจับมือกับปูตินที่เมืองโซคิไม่ต่างจากประยุทธ์เลย

ในทางกลับกันการทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของทักษิณและยิ่งลักษณ์อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียสะดุดไปเสียด้วยซ้ำ ถึงแม้ทางกรุงมอสโคว์จะไม่มายุ่งกับการเมืองภายในของไทยดังเช่นการคัดค้านการทำรัฐประหารเหมือนกับตะวันตก แต่ก็เป็นไปได้ว่ารัสเซียต้องหยุดชะงักเพื่อเฝ้ามองท่าทีและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ของไทยอยู่พอสมควร นอกจากนี้ความรู้สึกระหว่างไทยกับรัสเซียก็ได้ถึงจุดสะดุดอยู่ไม่น้อยจากกรณีพ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซียอย่างนายวิคเตอร์ บูทถูกจับได้ในเมืองไทยเมื่อปี 2008 และถูกศาลฎีกาของไทยตัดสินให้ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ ในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของฝ่ายขวาอำมาตย์นิยมและอยู่ในเครือข่ายเดียวกับ คสช. ทางรัสเซียประณามคำตัดสินของศาลไทยว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยบางสื่อเห็นว่าไทยต้องการแรงสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในหลายเรื่องมากกว่า[5] (แน่นอนว่าบทความของวัฒนะย่อมจงใจมองข้ามประเด็นนี้ไป)

นอกจากนี้ยังน่าสังเกตว่า สื่อเชิงอนุรักษ์นิยมอย่างบทความของวัฒนะมักสร้างความชอบธรรมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียโดยการข้ามไปปักหมุดแต่สมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งเป็นเพียงมายาภาพ เพราะสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังไม่ได้มีสถานภาพเป็นประเทศอย่างชัดเจนในปัจจุบัน (เช่นสำนึกของการเป็นรัฐสยามของภาคต่างๆ ยังแทบไม่เกิดขึ้น) และการติดต่อระหว่างพระองค์กับกษัตริย์ในยุโรปช่วงประพาสต่างประเทศนั้นเป็นในระดับส่วนบุคคลเสียมากกว่าระดับรัฐ   เช่นเดียวกับสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 นั้นรัสเซียเป็นจักรวรรดิซึ่งเป็นคนละบริบททางการเมืองกับรัสเซียในปัจจุบัน หรือแม้แต่การอ้างถึงสหภาพโซเวียตว่าเป็นรัฐเดียวกับรัสเซียก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะในยุคนั้น รัสเซียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตซึ่งมีบริบททางการเมืองอย่างเช่นอุดมการณ์ของรัฐและนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างจากรัสเซีย เพียงแค่รัสเซียซึ่งต่อมาเรียกตัวเองอย่างเป็นทางการว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) นั้นประกาศตนและได้รับการรับรองจากนานาชาติว่าเป็นรัฐที่รับมรดกเกือบทุกด้านแม้แต่อาวุธนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียต (ดังนั้นบทบรรณาธิการบางกอกโพสจึงใช้คำถูกต้องที่เรียกโซเวียตว่าเป็น “รัฐบรรพบุรุษ” ของรัสเซีย)         

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำของ 2 ประเทศก็ยังคงผลิตซ้ำฉากทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 5 กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางประวัติร่วมกันพร้อมกับสร้างอำนาจให้กับตัวเองไปด้วย ตัวอย่างเช่นปูตินก็น่าจะอ้างถึงรัสเซียในยุคดังกล่าวก็เพราะทะเยอทะยานในการนำรัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนสมัยเป็นจักรวรรดิ (หรือยุคสหภาพโซเวียต) แม้จะเป็นเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม[6] ส่วนรัฐบาลไทยหรือสื่อไทยซึ่งสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลก็เน้นรัชกาลที่ 5 เช่นพระปรีชาญาณในการติดต่อกับพระเจ้าซาร์  เพื่อตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของชาติภายใต้ลัทธิราชาชาตินิยม (ดังนั้นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ 2 พระองค์นั้นได้ช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกมากน้อยเพียงใดจึงจำกัดอยู่ในวงการประวัติศาสตร์แคบๆ ในมหาวิทยาลัยมากกว่าหนังสือสำหรับเด็กในโรงเรียน) และยังใช้อุดมการณ์ดังกล่าวในการกดทับบทบาททักษิณที่มีส่วนสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซีย  

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าขนลุกยิ่งสำหรับประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้แต่วลาดิมีร์ ปูติน ที่จะเกริ่นนำในขณะที่นั่งประชุมร่วมกันดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจที่ความสัมพันธ์อันงดงามและแนบแน่นระหว่างไทยกับรัสเซียเพิ่งมาเริ่มต้นเมื่อไม่ถึง 2 ทศวรรษนี้เองโดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้บุกเบิก ... ”

 

          

[2] สรุปความจากหนังสือ Soviet Foreign Policy and Southeast Asia  เขียนโดย  Leszek Buszynski

[6] ปูตินมีความชื่นชอบในตัวของปีเตอร์ สโตลีปิน นายกรัฐมนตรีสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นอย่างมากถึงขั้นร้องขอให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ดูมา) เจียดเงินเดือนมาเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ของสโตลีปิน ด้วยความที่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้เป็นนักปฏิรูปและเด็ดขาดในการจัดการกับปรปักษ์ทางการเมืองแต่ก็เสียชีวิตเพราะถูกพวกหัวรุนแรงลอบสังหารในปี 1911

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท