Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนรุ่นใหม่ออกแถลงการณ์ขอศาลรัฐธรรมนูญรับพิจจารณา คำร้องเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมขอให้ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายยุติการใช้กฎหมายดังกล่าวจนกว่าการพิจจารณาแล้วเสร็จ

2 มิ.ย. 2559 หลังจากเมื่อวานที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของ จอน อึ๊งภากรณ์  ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา  61 วรรคสอง ,สามและสี่ ขัดรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) หรือไม่ ซึ่งในที่สุดมีมติเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อความในมาตรา 61 วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา และเตรียมการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์นี้

ต่อกรณีดังกล่าว กลุ่มเยาวชนนักกิจกรรม ซึ่งรวมตัวกันในนามเครือข่ายคนรุ่นใหม่ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีใจความว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจจารณา คำร้องเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน บนข้อเท็จจริงและหลักการทางกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และขอให้ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายยุติการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวที่ยังเป็นปัญหาและอยู่ในกระบวนการพิจารณา รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหรือกฎหมายอื่นซึ่งจะขัดขวางการแสดงออกและการส่วนร่วมอย่างเต็มทีของประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศในการลงประชามติอย่างเป็นประชาธิปไตยและบริสุทธิ์ยุติธรรม

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 11.00น. กลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว นำโดยนันทพงศ์ ปานมาศ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต) เพื่อเรียกร้องให้กกต.เปิดพื้นที่ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนจากกกต.มารับหนังสือ

เนื้อหาสำคัญที่ทางกลุ่มเรียกร้องได้แก่ ขอให้กกต.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 เพื่อให้ประชนได้แสดงความเห็นต่อรธน. ขอให้กกต.กำหนดกรอบให้ชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นได้มากน้อยเพียงใดสำหรับการทำประชามติครั้งนี้ และการอภิปรายแสดงความเห็นต่อรธน.ไม่ควรผูกขาดอยู่กับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรสื่อ ควรให้ทุกภาคส่วนดำเนินการได้เท่าเทียมกัน และขอให้เปิดพื้นที่สื่อโทรทัศน์สำหรับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐธรรมนูญนี้ด้วย นอกจากนี้ทางกลุ่มขอเชิญชวนประชาชน นักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ด้วย

00000

แถลงการณ์ขอให้มีการรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเสรี

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประกาศให้จัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพื่อให้ประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศแสดงเจตจำนงต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งกระบวนการออกเสียงประชามติมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างเสมอหน้า อย่างไรก็ตามนับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ ปรากฏว่าการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนหลายกิจกรรมถูกแทรกแซงโดยเจ้าหน้ารัฐ โดยอ้างถึงคำส่งหัวหน้า คสช ฉบับ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

นอกจากนี้ หลังการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งมีเนื้อหาในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกหนึ่งฉบับ โดยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่นคำว่า "รุนแรง" "ก้าวร้าว" "ปลุกระดม" ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้ประชาชนอาจสับสนและไม่อาจแน่ใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง และยิ่งทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรมน้อยลงไปอีก เพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากเนื้อหามีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ ซึ่งจะนำไปสู่ความสับสนของประชาชน  ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการดำเนินการโดยใช้ดุลพินิจของปัจเจกบุคคล จนทำให้กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ในสัปดาห์หน้า

เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นการแสดงเจตจำนงตามหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เราในนามของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ห่วงใยการลงประชามติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน บนข้อเท็จจริงและหลักการทางกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และขอให้ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายยุติการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวที่ยังเป็นปัญหาและอยู่ในกระบวนการพิจารณา รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหรือกฎหมายอื่นซึ่งจะขัดขวางการแสดงออกและการส่วนร่วมอย่างเต็มทีของประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศในการลงประชามติอย่างเป็นประชาธิปไตยและบริสุทธิ์ยุติธรรม สุดท้ายในช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทางเครือข่ายขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ออกมารณรงค์และแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรีและเสมอภาคกัน

1 มิถุนายน 2559

เครือข่ายคนรุ่นใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net