Skip to main content
sharethis

อ็อกแฟมเรียกร้องผู้นำเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยอาเซียน แก้ไขสภาพการทำงานของผู้หญิง เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังถดถอยลง และสร้างเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เผยพบแรงงานหญิงในเอเชียได้ค่าจ้างน้อยกว่าชาย 10-30%

2 มิ.ย. 2559 อ็อกแฟม ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ว่าด้วยผู้หญิงและบทบาททางเศรษฐกิจ ในโอกาสการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยอาเซียน หรือ World Economic Forum on ASEAN ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. นี้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้นำทางเศรษฐกิจที่ร่วมการประชุม สนับสนุนนโยบายที่มุ่งแก้ไขสภาพการทำงานของผู้หญิง เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังถดถอยลง และสร้างเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

“มิติด้านเพศสภาพส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในเอเชีย ผู้ชายคือผู้ถือครองทรัพย์สินมากที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงคือคนที่ยากจนที่สุด พวกเธอมักต้องทำงานที่ได้รับค่าแรงต่ำและมีสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง โดยแรงงานราคาถูกถูกทำให้เป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น” ทรินิ เลิง ผู้อำนวยการ อ็อกแฟม ฮ่องกง กล่าว

“ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศส่งผลต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหาความยากจน แต่การส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว”

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ในระหว่างปี 2533-2558 ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยเฉลี่ย แต่การเติบโตนี้กลับเพิ่มช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจน และยังส่งผลให้สถานการณ์ความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายแย่ลง

ในรายงานฉบับใหม่ของอ็อกแฟม หัวข้อ ค่าแรงที่ถูกกดขี่และภาระที่ถูกมองข้าม: ความไม่เท่าเทียมที่สะท้อนจากงานของผู้หญิงในเอเชีย พบว่าแรงงานหญิงในเอเชียได้ค่าจ้างร้อยละ 70-90 เมื่อเทียบกับแรงงานชาย ภาคธุรกิจมักบีบให้แรงงานหญิงต้องทำงานในสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายและถูกกดค่าแรง ซึ่งไม่สอคคล้องกับสิทธิแรงงาน นอกเหนือจากการทำงานเต็มเวลาแล้ว ผู้หญิงยังคงต้องรับภาระงาน ‘นอกเวลางาน’ อันรวมถึงภาระงานบ้าน การดูแลคนในครอบครัว ซึ่งส่งผลให้พวกเธอไม่มีเวลาเพียงพอ

“แต่รัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ โดยใช้นโยบายที่มีแนวความคิดเรื่องค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และการช่วยแบ่งเบาภาะงานการดูแลบ้าน” ทรินิ เลิง กล่าว

ในรายงานชิ้นนี้ อ็อกแฟมท้าทายให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนจากระบบค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเป็นค่าแรงที่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งหมายถึงรายได้ที่เพียงพอสำหรับที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย การศึกษา อาหาร การเดินทาง และการสาธารณสุขที่เหมาะสม และยังช่วยให้แรงงานได้มีเงินเก็บพอเพียงเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเมื่อต้องเผชิญกับเหตุภัยพิบัติ ข้อมูลอ้างอิงจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เสนอว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้ระบบค่าแรงที่เพียงพอต่อการยังชีพมากที่สุด คือ กลุ่มผู้หญิงที่ได้รับค่าแรงต่ำที่สุด อีกทั้ง การมีระบบดังกล่าวช่วยเติมช่องว่างของค่าจ้างด้วย 

รายงานของอ็อกแฟมยังเสนอให้รัฐบาลต่างๆ ลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึง ระบบสาธารณสุข น้ำและสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยบรรเทาและกระจายภาระงานการดูแลคนในครอบครัวและงานบ้าน

การลงทุนในงานบริการและดูแล (Care Economy) จะส่งผลให้ผู้หญิงมีงานทำ ช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ และยังช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายงานวิจัยโดย ยูเค วีเมนส บัดเจด กรุ๊ป (UK Women’s Budget Group) ซึ่งทำการศึกษาในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) จำนวน 7 ประเทศชี้ว่า การลงทุนในภาคสังคมและการดูแลเด็กโดยร้อยละ 2 ของรายได้มวลรวม (Gross domestic product  หรือ GDP) จะส่งเสริมให้มีอัตราการจ้างงานสูงขึ้นกว่าร้อยละ 2.4 ถึง 6.1 โดยรัฐบาลสามารถจัดสรรเงินลงทุนได้โดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ากับบริษัทและคนที่ร่ำรวย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net