ประเวศ ปาฐกถา แนะกรรมการสิทธิฯต้องเป็นกลไกอิสระ จะถูกดึงไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้

3 มิ.ย.2559 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะคณะอนุกรรมการด้านการไกล่เกลี่ย ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาวิชาการ “การสร้างกลไกการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Conciliation) ตามหลักการปารีส” โดยมี ประเวศ วะสี   กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สันติวิธีกับสิทธิมนุษยชน” 

ประเวศ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่คณะกรรมการรับผิดชอบอยู่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่สูงสุด สังคมที่ที่มีอารยะย่อมต้องมีสิทธิมนุษยชน มนุษย์เป็นผู้เจริญไม่ใช่ความรุนแรงเฉกเช่นสัตว์แต่ต้องใช้สันติวิธีแก้ปัญหา สันติวิธีนั้นมองสองด้าน เชิงระบบและเชิงวิธีการ มองเชิงระบบหมายถึงระบบสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน สังคมที่เคารพกันนั้นเป็นสังคมที่สงบสุข เป็นสังคมที่เจริญแล้ว เป็นสังคมสันติวิธี ในส่วนด้านวิธีการนั้น คือ การแก้ไขความขัดแย้งต่างๆด้วยวิธีสันติวิธี ดังนั้น หน้าที่ กสม. คือการสร้างและซ่อม คือ สร้างระบบที่ดีและมีวิธีจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยสันติวิธี

ประเวศ ยังกล่าวด้วยว่า สังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถตัดสินใครถูกใครผิดได้โดยง่าย เช่น เรื่องการผลิตไฟฟ้า สร้างเขื่อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะกระทบสิ่งแวดล้อม และกระทบชุมชน ก็จะมีการคัดค้านต่อต้านจากหลายด้าน เช่น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้นำชุมชน เราจะเห็นความขัดแย้งเป็นสามเส้า คือ ระหว่างรัฐ ทุนขนาดใหญ่ ภาคประชาชน นักพัฒนา NGO ภาครัฐที่ดำเนินการตามกฎหมายมักจะถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างทุนขนาดใหญ่มากกว่าคนเล็กคนน้อยคนยากจน รัฐมักเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งจึงใช้กลไกรัฐแก้ไขความขัดแย้งไม่สำเร็จ ดังนั้น กสม. ต้องเป็นกลไกที่มีอิสระ กสม. จะถูกดึงเข้าไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ กสม. ต้องทำงานเชิงนโยบาย ทำหน้าที่เชิงระบบ ว่าแต่ละหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ทำหน้าที่อะไร องค์กรเชิงนโยบายต้องระวังที่จะถูกดึงไปเป็นอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง การทำงานเชิงนโยบายคือต้องดูระบบทั้งหมด

ประเวศ กล่าวต่อว่า ถ้าดูเรื่องระบบสิทธิมนุษยชนทั้งหมด มีองค์ประกอบทั้งหมด 12 ด้าน คือ 1.เรื่องจิตสำนึก 2.เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3.ความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน 4.สันติในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี 5.การเมืองการปกครองที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 6.สัมพันธภาพทางราบความเป็นประชาสังคม 7.เศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม 8.ระบบความยุติธรรมที่เป็นธรรม 9.ระบบบริการสุขภาพและอื่นๆที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 10.การศึกษาที่ส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 11.การสื่อสารที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 12.สันติวิธี โดยด้านที่ต้องเน้นคือเรื่องการสื่อสารกับการศึกษาต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะสิทธิด้านนี้สร้างผลกระทบไปทุกเรื่อง

“พระปฐมบรมราชโองการ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม ครองแผ่นดินต้องมีความถูกต้องครอง พระเจ้าอยู่หัวเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดินทั้งแผ่นดินต้องมีความถูกต้องครองอยู่ กสม. ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม” ประเวศ กล่าว

ประเวศ กล่าวปิดท้ายว่า ในขณะนี้ในสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน ใช้ความเห็นแก้ปัญหาไม่ได้ ใช้ความรู้แก้ปัญหาไม่ได้ ใช้การวิพากษ์วิจารณ์ วาทกรรมที่นักวิชาการสร้างให้ตระหนักและพอแก้ไม่ได้ก็โกรธมันมีวิธีการที่ใช้เผชิญเรื่องความขัดแย้งเหล่านี้ ต้องใช้วิธีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง กสม. ต้องใช้เครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ประกอบด้วย กลุ่ม องค์กร สถาบัน ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในด้านใดด้านหนึ่ง กสม. เพียงทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานกับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้เป็นพลังแห่งความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือสันติสังคม และเป็นสังคมที่สมรรถนะในสันติวิธี 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท