Skip to main content
sharethis

เปิดตัวหนังสือ "รัฐธรรมนูญฯ" ของปิยบุตร - วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอว่าปัญหาสำคัญของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทยปี 2475 อยู่ที่ความเป็นชั่วคราวของปฐมรัฐธรรมนูญ เปรียบลงประชามติรัฐธรรมนูญ เหมือนชกมวยกติกาไม่แฟร์ แต่ก็น่าขึ้นชก หากแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้ ชีวิตพ่ายแพ้ตลอดอยู่แล้ว หากชนะขอชนะครั้งเดียวพอ - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ชี้หนังสือ "รัฐธรรมนูญฯ" เป็นประโยชน์ศึกษารัฐธรรมนูญในสังคมพูดอย่างทำอย่าง ที่มักอ้างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็ถูกฉีดตลอดมา

4 มิ.ย. 2559  คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดเสวนา "รัฐธรรมนูญ" ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" ระหว่างเวลา 13.00 - 16.30 น. ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยากรประกอบด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยก่อนหน้านี้เป็นการนำเสนอส่วนของการอภิปรายโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เขียนหนังสือ ซึ่งสำรวจแนวคิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ตอบคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญไทยทำไมฉีกง่าย รัฐธรรมนูญไทยที่สะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจ-ความคิดการเมือง 2 ฝ่ายที่ยังไม่ชนะกันเด็ดขาด และกรณีศึกษาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกกรณีของสเปน-โปรตุเกส-กรีซ ที่เพิ่งเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในทศวรรษ 2510 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในงานอภิปราย "รัฐธรรมนูญ" ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" (ที่มา: บ้านราษฎร)

 

วรเจตน์อภิปรายปัญหาสำคัญของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกรณีประเทศไทย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ตามความเห็นของปิยบุตรที่ปรากฏในหนังสือนั้นรัฐธรรมนูญคือการก่อร่างสร้างรูประบอบใหม่ มีลักษณะแตกหักกับระบอบเดิมหรือระเบียบทางการเมืองแบบเดิม เกิดขึ้นจากการปฏิวัติและอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่นอกจากแนวคิดนี้ยังมีอีกแนวคิดว่าการก่อรูปของระบอบการเมืองรวมถึงรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นพัฒนาการต่อเนื่องกันตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ ทั้งสองแนวทางนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่

วรเจตน์ กล่าวยกตัวอย่างถึงรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลพวงจากการแตกหักกับระบอบเดิม แล้วกำหนดกติกาพื้นฐานและคุณค่าของคนสังคม เป็นความฝันของประชาชนที่ฝันถึงระเบียบการเมืองที่ดีงาม เที่ยงธรรม นอกจากนี้สิ่งสำคัญนอกจากการริเริ่มก่อร่างสร้างตัวของของรัฐธรรมนูญแล้ว การจะพยายามสร้างระเบียบการเมืองที่ดีให้ใช้หรือดำรงอยู่อย่างยาวนานหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นความใฝ่ฝันของสังคมที่ดีงาม เป็นธรรม จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพลังทางกฎหมายอาจไม่พอ

อย่างไรก็ตาม อีกสำนักหนึ่งมองว่า ยังมีระบบแบบอังกฤษซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และไม่ได้เกิดจากการแตกหักกับระบอบเก่า แต่เป็นผลพวงของการจัดระเบียบทางการเมืองที่เดินต่อมาตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เป็นลำดับ พูดง่ายๆ มันไม่ได้ก่อตั้งอย่างฉับพลัน แตกหัก แต่มันสืบเนื่องต่อเนื่องมา ความคิดนี้ปรากฏในหมู่นักคิดอนุรักษ์นิยมพอควรในอังกฤษ

วรเจตน์กล่าวว่า ไม่ว่าจะอย่างไรรัฐธรรมนูญก็ต้องมีความชอบธรรม ตรงนี้เองที่ประชาชนจะมีความหมาย จริงๆ การออกเสียงประชามติถือเป็นการตัดสินใจสำคัญมากของประชาชน แต่กำลังบอกว่านั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะต้องพิจารณา เรายังต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมด้วย

“ระเบียบทางการเมืองใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเมื่อผ่านประชามติใหม่ๆ อาจทำอะไรไม่ได้ แต่ความชอบธรรมไม่ได้อยู่ที่การก่อตั้งจุดเดียว แต่มันมีความต่อเนื่องของการยอมรับนับถือของคนในสังคม มีเนื้อหาที่เห็นว่าเป็นคุณค่าพื้นฐานของคนในสังคมที่ควรต่อเนื่องยาวนานไป แปลว่า รัฐธรรมนูญอาจผ่านประชามติ แต่การยอมรับนับถืออาจจะไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างระเบียบทางการเมือง ชุมชนทางการเมืองที่ดีงาม และใช้กับทุกคนอย่างเสมอเหมือนกัน” วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์ยังระบุถึง “ความใหม่” ที่ปรากฏในเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ว่า ในทางวิชาการมีการถกเถียงเรื่องเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เดิมมีความคิดที่วินิจฉัยสถานะของรัฐธรรมนูญอยู่สองแบบ คือ เป็นการ ‘ให้ฝ่ายเดียว’ หรือได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 กับอีกส่วนหนึ่งที่ตีความว่าเป็น ‘สองฝ่ายตกลงกัน’ ขณะที่ปิยบุตรเสนอว่า 2475 เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของคณะราษฎรต่างหาก และการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นก็เพราะคณะราษฎรเลือกที่จะทำเช่นนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของเขา วรเจตน์เห็นว่า ปัญหาสำคัญของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญน่าจะอยู่ที่ความเป็นชั่วคราวของปฐมรัฐธรรมนูญ

ตอนหนึ่งวรเจตน์ กล่าวเรื่องประชามติว่าไม่คิดจะโน้มน้าวใครเพียงแต่แสดงทัศนะส่วนตัว โดยเขาเปรียบเทียบกับเรื่องการชกมวย โดยกล่าวว่า การชกมวยเวทีหนึ่ง มีกติกาที่อนุญาตให้ฝ่ายหนึ่งชกได้เต็มที่ ขณะที่อีกฝ่ายถูกมัดมือข้างหนึ่ง ขาข้างหนึ่งและปิดตาอีกข้างหนึ่ง บางคนเห็นว่าไม่ควรลงไปแข่งในกติกาเช่นนี้ บางคนบอกว่าควรขึ้นชกเผื่อฟลุค เรื่องนี้ยากที่จะตัดสินและถกเถียงกันได้อีกมาก แต่สำหรับเขาเห็นว่า น่าจะขึ้นชกและหากแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้ เป็นการแพ้และชนะบนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และการออกแบบกติกาจะเป็นตัวกำหนดความชอบธรรม

เขากล่าวด้วยว่า เขาประสบความพ่ายแพ้มาตลอดอยู่แล้ว จะแพ้อีกครั้งก็ไม่เป็นไร และหากจะชนะขอชนะแค่ครั้งเดียว "ผมก็เคยชินนะครับกับการเป็นผู้แพ้ ไม่เป็นไร การแพ้นี้ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แกร่งขึ้น แล้วชัยชนะนั้นนะครับ ทีเดียวพอ ครั้งเดียวพอ"

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (ซ้าย) และพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ในงานอภิปราย "รัฐธรรมนูญ" ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ "รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน" (ที่มา: บ้านราษฎร)

สุธาชัย ชี้หนังสือ "รัฐธรรมนูญฯ" เหมาะใช้ศึกษาสังคมพูดอย่างทำอย่าง ปากบอก รธน.สูงสุดแต่ก็ฉีกทุกเมื่อ

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดยออกนอกกรอบจารีต และเป็นหนังสือกฎหมายที่มีหลายประเด็นและเป็นประโยชน์มาก ท่ามกลางสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมที่ double speak หรือพูดสองชั้น หรือพูดอย่างทำอย่าง รัฐธรรมนูญก็เช่นกันเรากล่าวอ้างว่า เป็นกฎหมายสูงสุดแต่มันก็ถูกฉีกตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้เพราะชนชั้นนำไทยเห็นระบอบประชาธิปไตยทั้งระบบรวมถึงรัฐธรรมนูญและรัฐสภาด้วย เป็นเพียง “วิธีการ” ไม่ใช่ “หลักการ” แต่ปิยบุตรนำเสนอใหม่ว่า ความหมายที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญคือการปฏิวัติ แตกหักกับระบอบเก่า รัฐธรรมนูญนั้นก่อตั้งระบอบใหม่ เป็นของระบอบใหม่จึงไม่อ้างอิงกับอำนาจประเพณี

“คนร่างรัฐธรรมนูญก็เห็นรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบทางการเมือง หาโมเดลต่างๆ มาใช้สร้างองค์กรตรวจสอบ ถ้าย้อนหลังกลับไปบอกได้จะบอกว่า ประเทศที่เก่าแก่มากในการสร้างองค์กรตรวจสอบคือ จีน และมันล้มเหลว เพราะในที่สุดขุนนางที่กุมอำนาจตรวจสอบนั้นแหละจะกลายเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และมีอำนาจล้นฟ้าในเวลาต่อมา ในที่สุดก็ต้องสร้างองค์กรตรวจสอบซ้อนองค์กรตรจสอบไปเรื่อยๆ” สุธาชัย กล่าว  

สุธาชัย กล่าวอีกว่า เรื่องรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่รณรงค์อยู่มันร่างโดยการมีกรอบที่ถูกกำหนดไว้แล้วตามกรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 มาตรานี้มาจากธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดโดยคณะรัฐประหาร พูดใหม่ได้ว่าฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ร่างขึ้นมาตามกรอบรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชนเลย พวกเนติบริการร่างตามกรอบคณะรัฐประหารทั้งสิ้น

“จะร่วมประชามติไหม ท่านอื่นๆ จะร่วมก็ได้ไม่ร่วมก็ได้ แต่ถามผมผมจะไปลงมติไม่รับ มันหมายถึงไม่รับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่รับอำนาจรัฐประหารโดยตรง แล้วผมรับอะไร ผมว่ามันเถียงกันได้ เรื่องรัฐธรรมนูญ 2540 ถ้าเราปฏิเสธการรัฐประหารทั้งหมด เราต้องรับรัฐธรรมนูญ 2540 แม้มีข้อบกพร่องมากมายก็ตาม แต่เราน่าจะเริ่มต้นจากจุดนี้ หาทางแก้โดยศิวิไลซ์ แบบผู้เจริญแล้ว คือไม่แก้ด้วยรถถัง เราอาจจะตัดทิ้งบางมาตราหรือยำใหญ่อย่างไรก็ตาม แต่จะเอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวเริ่ม” สุธาชัยกล่าว

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เทียบอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกรณีญี่ปุ่น-เยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าหนังสือรัฐธรรมนูญฯ เล่มนี้อ่านยากเล่มหนึ่ง ขนาดนักศึกษานิติศาสตร์บอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง พวกเราก็คงจะเหนื่อย การเสวนาในวันนี้มีประโยชน์ในการปูพื้นฐานและกระตุ้นความสนใจพวกเราในเรื่องที่ไม่ได้พูดกันมาเลยในรอบ 10 ปี นั่นคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือประชาชนเป็นต้นน้ำ รัฐธรรมนูญเป็นกลางน้ำ แล้วองค์กรสถาบันการเมืองที่ตามมาก็เป็นปลายน้ำ ต้นน้ำเป็นอย่างไร กลางน้ำและปลายน้ำก็เป็นอย่างนั้น ต้นน้ำที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนนั้น ต้องเกิดจากการปฏิวัติ เนื้อหาในหนังสือนอกนั้นก็เป็นเทคนิค ในขั้นตอนของการใช้รัฐธรรมนูญ

พิชิตกล่าวว่า เมื่อหนังสือออกมาแล้วผมรีบไปซื้อมาอ่านเลยแม้ว่าจะอ่านยาก แต่ก็อ่านมาแล้ว 3-4 รอบ ซึ่งยอมรับว่ามีความยาก เมื่อคืนก่อนเริ่มเสวนาก็อ่านอีกครั้งหนึ่ง

พิชิตกล่าวต่อไปว่าหลังการอภิปรายของวรเจตน์ซึ่งให้รายละเอียดเรื่องของการใช้รัฐธรรมนูญกรณีของอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น ทำให้พบว่าแนวคิดเรื่องกฎหมายมหาชนไทยได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสและเยอรมันค่อนข้างมาก ในส่วนของอังกฤษที่บอกว่าไม่ได้เกิดจากการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบแต่เป็นความต่อเนื่อง แนวคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน โดยพิชิตขอเสนอเพิ่มเติมว่ากรณีของอังกฤษก็มีการปฏิวัติ เป็นการปฏิวัติที่รุนแรงเอาการครั้งใน ค.ศ. 1648 โดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งทำให้ฝ่ายรัฐสภาชนะและประหารกษัตริย์อังกฤษ ระบอบสาธารณรัฐปกครองได้ 10 ปีก็ไปไม่รอด ต่อมามีการปฏิวัติครั้งที่ 2 ที่ไม่นองเลือดคือปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 ซึ่งเกือบจะเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนกันเพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภา ซึ่งกษัตริย์ยังเชื่อในอำนาจเทวสิทธิ์ว่ามาจากพระเจ้า แต่รัฐสภาไม่เชื่อ และมีข้อขัดแย้งระหองระแหงกัน ในที่สุดฝ่ายรัฐสภาทนไม่ได้เอากองทัพมาจากเนเธอร์แลนด์ แต่ตอนนั้นเลี่ยงสงครามได้เพราะกษัตริย์ตัดสินใจไม่สู้ ฝ่ายรัฐสภาก็ตั้งกษัตริย์ที่เป็นลูกเขยของกษัตริย์เดิมก็คือ กษัตริย์วิลเลียม โดยเชิญมาขึ้นครองราชย์ ขณะที่กษัตริย์พระองค์เดิมหนีไปเฉยๆ ไม่ได้สละราชสมบัติ แต่รัฐสภาตีความว่าสละราชสมบัติ ต่อมารัฐสภานำกฎหมาย Bill of rights (บัญญัติสิทธิ) มาให้กษัตริย์มาลงพระปรมาภิไธย ซึ่งกำหนดให้อำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐสภา ถ้าตีความตามหนังสือของปิยบุตรก็คือกษัตริย์อังกฤษก่อนและหลัง ค.ศ. 1688 ก็เป็นคนละสถาบันกัน

ในทางรัฐศาสตร์มีคำเรียกว่ากรณีของอังกฤษเป็นการปฏิวัติ แต่เรียกว่า "Conservative revolution" เป็นการปฏิวัติที่ระบอบเก่ายังคงสืบเนื่องมาอยู่

ในเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ในเชิงตำราวิชาการค่อนข้างชัด คือ มีระบอบเก่า ยกเลิกระบอบเก่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญปรากฏตนขึ้นคือประชาชน แล้วใช้อำนาจนั้นผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และก่อตั้งสถาบันการเมืองใหม่ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป และมีการถกเถียงกันต่อว่าหลังสถาปนารัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจปฐมยังอยู่ไหม หรือพักผ่อนก็ว่ากันไป

โดยพิชิตลองนำเสนอว่า จะใช้กรอบดังกล่าวพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์ของประเทศอื่น ซึ่งอาจจะไม่ลงตัวนัก กรณีที่ชัดเจนคือญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญเมจิ ค.ศ. 1889 สมเด็จพระจักรพรรดิเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ด้วยตนเอง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจอธิปไตยทั้งหมดแก่พระมหากษัตริย์ มี 2 สภา ประกอบด้วยขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้แต่งตั้งโดยจักรพรรดิ สภาล่างมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเฉพาะผู้ชายที่มีสิทธิออกเสียง

พอแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ปกครองคือนายพลแมคอาเธอร์ ที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของมหาอำนาจ (SCAP) ก็รอรัฐบาลญี่ปุ่นที่ตั้งใหม่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยอมร่างรัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกาเลยตั้งคณะกรรมการร่างเอง คนที่นั่งเขียนเป็นทหารสหรัฐอเมริกา 2 คน และมีการศึกษาของนักวิชาการญี่ปุ่นอยู่แล้ว ทหาร 2 คนนี้ก็ไปปรึกษาใครต่อใคร โดยมีเวลาร่าง 2 อาทิตย์ พอร่างเสร็จแมคอาเธอร์ส่งให้ญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็รับไปอ่านและมีการแก้ไข รัฐธรรมนูญแมคอาเธอร์ให้มีสภาเดียว รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ให้มีสองสภา ในร่างมีการแก้กฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วย จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าสู่สภา ดูเหมือนเป็นการแตกหักกับระบอบเก่า เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต้นร่างโดยแมคอาเธอร์ และแก้ไขโดยฝ่ายญี่ปุ่น แต่เวลาเอาเข้าสภา เป็นการเสนอให้ใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเมจิ แล้วเอาร่างใหม่ยัดใส่เก๊ะเข้าไปเลย โดยถือมาตรา 73 รัฐธรรมนูญเมจิ ที่ระบุว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของสมเด็จพระจักรพรรดิเท่านั้น ดังนั้น ผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาคือพระจักรพรรดิ ผ่านทั้ง 2 สภาและประกาศใช้

คำถามคือในช่วงระยะเวลานั้นหลังสงครามโลก ค.ศ. 1945 จนกระทั่งพฤศจิกายน ค.ศ. 1946 เมื่อพระจักรพรรดิลงนามในรัฐธรรมนูญ ใครคือผู้มีอำนาจปฐมในการสถาปนารัฐธรรมนูญ แมคอาเธอร์หรือเปล่า พอร่างรัฐธรรมนูญไปสู่รัฐบาลญี่ปุ่น มีการแก้ไขแต่ยังเป็นไปตามหลักการใหญ่แมคอาเธอร์ แต่วิธีการรูปแบบใช้รัฐธรรมนูญเป็นรูปแบบเก่า ผ่องถ่ายต่อท่อมาจากรัฐธรรมนูญเมจิ ดังนั้นกรอบการใช้อาจจะลำบากเวลาใช้มองประเทศอื่น

หรือกรณีเยอรมัน ประเทศสัมพันธมิตร มหาอำนาจ 3 ชาติยึดครองเยอรมันตะวันตก คืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา และทำเป็น Outline เป็นข้อๆ ส่งรัฐบาลเยอรมันชั่วคราวไปร่างรัฐธรรมนูญมา รัฐบาลเยอรมันตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐต่างๆ ผ่าน 8 พฤษภาคม 1949 ถึงตรงนี้ยังส่งกลับไปให้ฝ่ายสัมพันธมิตรดูอีก 4 วัน เมื่อเห็นชอบ 12 พฤษภาคม 1949 แล้วเข้าสู่สภา หมายความว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรมีอำนาจดูในตอนสุดท้ายอีก ก่อนเข้าสู่สภาเพื่อประกาศใช้ กรณีนี้การเปลี่ยนผ่านในลักษณะนี้ ใครมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ฝ่ายสัมพันธมิตรหรือเปล่า

 

ภาวะหุ้นส่วนระหว่างคณะราษฎรและระบอบเก่า ดำเนินมาจนถึงรัฐประหาร 2500

ส่วนเรื่องเมืองไทย ขออภิปรายต่อจากสุธาชัยและปิยบุตร ในหนังสือมีความพยายามถกเถียงเหตุการณ์ในช่วง 23 ถึง 27 มิถุนายน 2475 ว่าในช่วงระยะนั้นใครเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ หนังสือเล่มนี้เสนอว่าอย่างน้อย 23-27 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญฝ่ายเดียว ซึ่งอันนี้ผมเห็นด้วย แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่ 27-28 มิถุนายน ที่ว่าธรรมนูญการปกครองสยาม ที่ร่างโดยคณะราษฎรถูกเติมคำว่าชั่วคราว โดยเข้าใจว่าเป็นพระบรมราชวินิจฉัย นอกจากนั้นแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแสดงชัดเจนว่าเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นวันที่ 27-28 มิถุนายน 2475 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

ในแง่นี้เล่มนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าหลัง 28 มิถุนายน 2475 ไปแล้ว ใครคือผู้ทรงอำนาจ แต่ผมกลับเห็นด้วยกับนักกฎหมายของคณะราษฎร ที่ว่าหลัง 28 มิถุนายน 2475 เป็นการใช้อำนาจร่วมกัน ระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร เป็นหุ้นส่วนที่ไม่ค่อยจะสมดุลนักระหว่างกัน และความไม่สมดุลนั้น ได้แก้ตกไประดับหนึ่งเมื่อเกิดกบฎบวรเดช ความไม่สมดุลนั้นคือ การตัดสินว่าในหุ้นส่วนระหว่างอำนาจเก่ากับคณะราษฎรใครจะเป็นหุ้นส่วนใหญ่ เป็นหุ้นส่วนเท่ากันคงยาก เพราะจะทะเลาะกันแหลก ต้องมีหุ้นใหญ่และหุ้นเล็ก โดยในห้วงที่ผ่านมาก็มีการช่วงชิงอำนาจกัน มีการปิดสภา การยุติไม่ใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนกระทั่งเกิดการยึดอำนาจอีกรอบโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาเพื่อปลดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นการหาสมดุลระหว่างหุ้นส่วนทั้ง 2 นี้ และมาตัดสินกันได้โดยกบฎบวรเดช ซึ่งตัดสินว่า คณะราษฎรจะเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในความร่วมมือชั่วคราวนี้ โดยฝ่ายคณะเจ้าหรืออำนาจเก่าเป็นหุ้นส่วนรอง ก็จะเห็นสิ่งที่ตามมาภายหลังเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2482 การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ปี 2483 ยืดบทเฉพาะกาลอีก 10 ปี และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2489 อันเป็นผลมาจากที่คณะราษฎรเป็นหุ้นส่วนใหญ่

แต่ดุลอำนาจก็เริ่มเปลี่ยนนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 มีรัฐธรรมนูญ 2495 จนกระทั่ง 16 กันยายน 2500 คือรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่ว่ากว่าจะได้ชื่อเต็มๆ แบบนี้ต้องรอจนถึง พ.ศ. 2519 ถึงจะได้ใช้ชื่อนี้

เพราะฉะนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ที่ยังไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2495 นั่นคือรัฐธรรมนูญ 2475 ที่จอมพล ป. แก้ไขแล้วนำมาใช้ ต้องรออีกปีที่จอมพลสฤษดิ์รัฐประหารตัวเองอีกรอบหนึ่ง คราวนี้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2495 แล้วใช้ธรรมนูญการปกครองที่มีมาตร 17 ใช้สั่งยิงเป้าคนได้ ซึ่งตรงนี้สำคัญ นับแต่นั้นมา 16 กันยายน 2500 หุ้นส่วนแบบเดิมจบไปแล้ว คณะราษฎรถูกทำลายอย่างถึงราก อย่างสิ้นเชิง

หลังจากนั้นมาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่กับใคร ถ้าเอาตามนักกฎหมายฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็จะบอกว่าพระมหากษัตริย์และประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกัน และมีแถมว่าถ้าเกิดปฏิวัติรัฐประหารมาเมื่อไหร่ อำนาจนั้นกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ จนกว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จึงจะมีการแชร์อำนาจกันอีกครั้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ในแง่นี้ผมมองว่าข้อคิดของนักกฎหมายมหาชนฝั่งอนุรักษ์นิยมน่าศึกษา เพราะที่เขาอยู่ในค่ายนั้นเขาเลยเห็นประเด็นชัด เพราะไม่ได้ถูกเคลือบคลุมด้วยอคติประชาธิปไตย โดยพิชิตเสนอว่าหลัง 16 กันยายน 2500 เป็นต้นมา อำนาจปฐมของการสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่พระมหากษัตริย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net