Skip to main content
sharethis

ตัวแทนสมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ร่วมเปิดเวทีสรุปบทเรียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชน สู่การจัดการที่ดินและระบบการผลิตของชุมชน และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่ดินจากผลกระทบที่เกิดจากนโยบายของภาครัฐ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ศาลาบ้านดินชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยสถานการณ์ล่าสุดในยุค คสช.ที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ตามมาด้วยแผนแม่บทป่าไม้ฯ และแผนทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านให้ความเห็นตรงกันว่า เพื่อความมั่นคงในผืนดิน มีแต่การยืนหยัดรวมใจกันต่อสู้อย่างอดทนเท่านั้น จึงจะฝ่าข้ามอุปสรรคจากความอยุติธรรมไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

จากกรณีศึกษากระบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของชุมชนบ่อแก้ว เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ภายหลังจากเมื่อปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  (อ.อ.ป.)  ยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านไปปลูกยูคาลิปตัส บนเนื้อที่กว่า 4,400 ไร่ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพจากที่ดินทำกิน บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน

ภายหลังปี 2547 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนที่ดินทำกินใน 5 ตำบล ของอำเภอคอนสาร เช่น ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย ได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน)” เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินพร้อมกับผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ยกตัวอย่างกรณีชุมชนบ่อแก้ว ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในนามเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ได้ร่วมกันชุมนุมพักแรมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2547 เพื่อให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และคืนที่ดินทำกินให้แก่ผู้เดือดร้อน

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 พวกเขาผลักดันให้เกิดกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกลไกรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผลปรากฏว่า ทุกกลไกดังกล่าวข้างต้น มีความเห็นตรงกันว่า “สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป”  อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก อ.อ.ป. แต่อย่างใด จึงเป็นที่มาของการเข้ายึดพื้นที่ของชาวบ้านผู้เดือดร้อนในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552


สู่การทวงคืน และพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน

ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า ปฏิบัติการเข้ายึดพื้นที่ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 200 คน จึงได้เข้ายึดพื้นที่พร้อมกับปักหลักในพื้นที่พิพาท และจัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว”  ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล โดยชาวบ้านมีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 ข้อ คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่

แต่ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม คือบทเรียนแรกของชาวชุมชนบ่อแก้ว โดยในวันที่ 27กันยายน 2552 อ.อ.ป. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 ราย โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้

ปัจจุบันสถานภาพของคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา โดยศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ตามฟ้องโจทก์ และ อ.อ.ป. ได้แจ้งพร้อมกับวางเงินกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการปิดหมายบังคับคดี แต่ชาวบ้านได้เคลื่อนไหวโดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสารถึง กทม. ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ อ.อ.ป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว

การเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป. เกิดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2554 โดยบรรลุข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. อ.อ.ป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี 2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน อ.อ.ป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3. การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ อ.อ.ป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่สถานภาพในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 86 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.52


 

สู่ยุคทวงคืนผืนป่า ในสมัย คสช.

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคสำคัญได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วอีกครั้งในช่วงหลังรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 มีการปิดประกาศของจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557

ต่อมา ชาวบ้านเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ ในคำสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ
2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป
3. ให้พิจารณาแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

และในวันที่  7 ตุลาคม 2557 ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  มติที่ประชุม : มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรโดยขอให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน  หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง ตัวแทนชาวบ้านจึงเดินทางเข้าพบนายอำเภอคอนสาร (นายเจนเจตน์ เจนนาวิน) เพื่อยื่นหนังสือให้รับทราบขบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน เป็นการต่อไป
 


สรุป เส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านบ่อแก้วในช่วงเกือบ 7 ปี ที่ผ่านมา

กล่าวได้ว่า สมาชิกชุมชนบ่อแก้วได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบริหารจัดการองค์กรประชาชนอย่างสำคัญ ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า มีแต่การยืนหยัดต่อสู้อย่างอดทนเท่านั้น ที่จะฝ่าข้ามจากความอยุติธรรมไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

นอกจากนี้เพื่อเป็นการการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชุมชนบ่อแก้วได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในพื้นที่โดยกำหนดเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์”เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพลังการผลิตของสมาชิกให้สามารถพึ่งตนเองได้ อีกทั้งเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของ อ.อ.ป. จะเห็นว่ามีนัยที่แตกต่างกันมาก ปัจจุบันสถานภาพการผลิตของชาวบ้านบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก มีบางรายที่สามารถขายเป็นรายได้ในครัวเรือน จำพวกกล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพดและพืชผักบางชนิด เป็นต้น
 

สรุปบทเรียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินกับก้าวต่อไปของชุมชนบ่อแก้ว

ร่วมกันยกระดับกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ในชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ น้ำและระบบน้ำ ไฟฟ้าทางการเกษตร รวมทั้งรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลเร่งสั่งการให้นำพื้นที่จำนวน 1,500 ไร่ มาให้ชาวบ้านจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน รวมทั้งยกระดับคนรุ่นใหม่โดยการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการแก้ไขในระดับนโยบายร่วมรณรงค์ผลักดันกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินก้าวหน้า พระราชบัญญัติกองทุนธนาคารที่ดิน พระราชบัญญัติรับรองสิทธิที่ดินชุมชน และกองทุนยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net