'อีสานใหม่' เดินวันที่ 3 ชาวบ้านพื้นที่ปัญหาอุทยานตาดโตนร่วมขบวน-ตำรวจตามถ่ายรูป

ขบวนเดินเพื่อสิทธิฯ เดินต่อวันที่สาม มีชาวบ้านดงคำน้อยซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับซ้อนที่ดินร่วมด้วย ล่าสุด พักที่ชัยภูมิ หลังเข้าที่พักได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาถ่ายรูปก่อนจะกลับไป

7 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 16.15 น. ขบวนการอีสานใหม่ซึ่งจัดกิจกรรม Walk for rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ได้เดินทางมาถึงวัดเขต ต.หนองบัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยสำหรับคืนนี้ หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที ได้มีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจขับตามเข้ามา พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบหนึ่งนาย เดินลงมาถ่ายรูปกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ ซึ่งกำลังนั่งพักอยู่หน้าศาลาวัด พร้อมทั้งชี้แจงว่า ไม่มีอะไร เพียงแค่ต้องการเข้ามาเก็บภาพเท่านั้น และต้องการทราบว่ามากันทั้งหมดกี่คน แต่ไม่มีใครให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่จึงได้กลับไป

สำหรับการเดินทางของขบวนการอีสานใหม่ในวันนี้เป็นการเดินในระยะทางทั้งหมด 14 กิโลเมตร รวมทั้งสามวันระยะทางทั้งหมด 54 กิโลเมตร โดยการเดินทางในวันนี้ได้มีชาวบ้านดงคำน้อย ต.ห้วยต้อน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ มาร่วมเดินด้วย โดยถือเป็นรับธงเดินต่อจากชาวบ้านห้วยทับนาย ที่มีความจำเป็นต้องกลับไปก่อน

ทั้งนี้ ชาวบ้านดงคำน้อยเป็นชาวบ้านจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับซ้อนที่ดินของชาวบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2523 และหลังมีการประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557  เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้  และการประกาศแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน  อุทยานแห่งชาติโตน ร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัดชัยภูมิ ได้ดำเนินการทวงคืนพื้นที่ป่า โดยยึดที่ดินชาวบ้านไปแล้ว จำนวนกว่า 40  ราย ทำให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวไร้ที่ทำกิน ปัจจุบันก็ยังมีการยึดที่ดินชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

 

 

สำหรับการเดินของขบวนการอีสานใหม่ในวันนี้ซึ่งนับเป็นวันที่ 3 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 08.25 น. โดยเดินทางออกจากวัดบ้านปากห้วยเดื่อ ต.คูเมือง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ ระหว่างขบวนฯ เดินทางมาถึงหมู่บ้าน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.หนองบัวแดง รอถ่ายรูปขบวนเดินบริเวณหน้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งสอบถามว่าเดินทางมากันกี่คน และจะไปพักค้างคืนที่ไหน เพื่อที่จะได้จัดชุดดูแลความปลอดภัยได้ถูกต้อง แต่ทางขบวนฯ ไม่ขอเปิดเผยปลายทาง เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้นำกำลังมาดูแล

ทั้งนี้ ระหว่างเดินทางผ่านหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ขบวนเดินเพื่อสิทธิฯ ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวการเดิน และเป้าหมายของการเดินว่าเป็นการเดินเพื่อรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเปิดปัญหาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยมีชาวบ้านหลายคนเข้ามาให้กำลังใจ

สำหรับกิจกรรม Walk for rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน จัดโดยขบวนการอีสานใหม่ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยจะเดินทั่วภาคอีสานระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร 35 วัน เพื่อพบปะประชาชนในภาคอีสาน และเปิดปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ และนโยบายของรัฐทั่วภาคอีสาน

 

"มันไม่น่าเชื่อว่า เราเดินกันมาแค่ 40 กิโล เจอการสร้างเขื่อนแล้วสองที่ (เขื่อนโป่งขุนเพชร-เขื่อนยางนาดี) และกำลังจะสร้างอีกที่หนึ่ง(เขื่อนชีบน)"

นั่นเป็นคำตอบของ บี ณัฐพร อาจหาญ ขบวนการอีสานใหม่ หลังจากที่เราถามเธอว่า สามวันที่เดินมาเห็นอะไรบ้าง

บีเริ่มออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา เธอและขบวนการอีสานใหม่มีเป้าหมายในการเดินทาง โดยการเดินเท้า ระยะทางราว 800 กิโลเมตร ทั่วภาคอีสาน จุดประสงค์หลักในการเดิน เป็นไปเพื่อการเยี่ยมยามถามข่าวพี่น้องภาคอีสาน พร้อมเดินเพื่อเปิดปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ

เธอเล่าให้ฟังว่า วันแรกที่ออกเดินทางมีความกังวัลหลายอย่าง จะเดินได้ไหม จะถูกจับหรือไม่ แต่เมื่อออกเดินผ่านมาสักระยะ แม้จะเหนื่อยแต่กลับรู้สึกว่ามีพลัง

พลังที่เธอพูดถึงฟังดูแปลกๆ แต่เธอบอกว่ามันมาจากการเดินร่วมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ

"พลังมันมาจากความเหนื่อย มันมาจากความจริงที่เราได้เห็น การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่น้อง จากที่เคยได้ยินแต่เรื่องเล่า อย่างโป่งขุนเพชรที่ต่อสู้กันมา 30 ปี พอมาเห็นพื้นที่จริง เห็นความยากลำบาก แต่ชาวบ้านเขายังสู้กันอยู่ มันทำให้เรามีแรงที่จะเดินต่อ"

หลายคนคงสงสัยไม่ต่างกัน ในยุคที่การเดินทางสามารถทำได้หลากหลายวิธี ถนนหนทางมีไปทั่วถึงทุกแห่ง แต่ทำไมพวกเขาถึงเลือกที่จะเดิน

บี บอกกับเราว่า การเดินมันเป็นเครื่องมือที่ทำให้มองเห็นความเป็นจริง ทำให้มีเวลาให้ได้คิดได้ทบทวนกับเรื่องราวที่เดินผ่านมา ต่างจากการนั่งรถ ที่ทุกอย่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว และความสบายอาจทำให้เราไม่รู้สึกกับปัญหาเหล่านั้นจริงๆ

ตลอดระยะเวลา 3 วัน ระยะทาง 40 กว่ากิโลเมตร บีไม่ได้ทำเพียงแค่เดินเพื่อไปให้ถึงที่หมายเท่านั้น ระหว่างทางเธอและกลุ่มอีสานใหม่พยายามพูดคุยกับผู้คนในหมู่บ้านต่างๆ และนี่คือสิ่งที่เธอสะท้อนให้เห็นตลอดสามวันที่ผ่านมา

"เราคุยกับชาวบ้านหลากหลาย หลายคนถามว่ามาจากไหน จะไปไหนกัน และก็เดินทำไม เราก็พยายามบอกเล่าเหตุผล เพราะชาวบ้านที่เราได้คุยหลายคนก็อาจจะกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน
หลายคนก็พยายามต่อสู้ แต่บางคนอยากสู้ แต่เขาสู้ไม่ไหว เพราะถูกกดทับมานานเกินไป แต่นัยน์ตาเขายังมีความหวังอยู่ ที่คุยกันเขายังหวังว่าจะได้รับค่าชดเชย ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ บางคนก็หวังว่าพื้นที่ของตัวเองจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท