ให้หลวงพ่อไปขอประกันตัวที่ศาล‬ (อคติหรือข้อกฎหมาย)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มีเสียงอื้ออึงในวงเจรจาการแจ้งข้อหา หรือที่เรียกว่าการปฏิบัติตามหมายจับ ในคดีหลวงพ่อพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แว่วๆว่า มีนักกฎหมายบางคน เสนอตั้งเงื่อนไขในการหาทางออกร่วมกันว่า "หากมีการแจ้งข้อหาแก่หลวงพ่อพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกายหรือที่ใดที่หนึ่ง หลวงพ่อต้องไปประกันตัวที่ศาลอาญานะ"(ศาลที่ออกหมายจับ) ผู้เขียนไม่อาจยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่ แต่จะขอตั้งประเด็นจากข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาและระมัดระวัง

ฟังดูว่าเป็นการเดินคนละครึ่งทาง ถอยคนละก้าวเพื่อเป็นการลดความขัดแย้งและบานปลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อหันมาฟังใหม่อีกครั้ง ถึงกับต้องหันสะบัดหน้ากลับไปฟังใหม่(เหมือนที่นักแสดงตลกชอบทำกัน) ก็ถึงกับอึ้ง!

*ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะชั้นนี้ คือ ชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อำนาจการปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้เอง ไม่ต้องเอาตัวผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับไปศาล นั่นกำลังวางเงื่อนไขเพื่อวางเหลี่ยมอะไรกันหรือ? จะทำให้เป็นปัญหาทำไม? [ก]

หากศาลมีคำสั่งในการออกหมายจับผู้ต้องหาโดยระบุในหมายจับว่า ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น

เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหา ให้แก่พนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการนำตัวมาฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนต่อหรือสอบสวนเพิ่มเติมไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะขอฝากขังผู้ต้องหาให้ยกคำร้อง นั่นคือปล่อยตัวไปก่อนจนกว่า อัยการจะฟ้องต่อศาล จึงจะนำตัวผู้ต้องหามาศาล

**หรืออาจจะมีอีกวิธี (เป็นเทคนิคที่ชอบทำกันในยุคนี้) ขอขยายความว่า พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหา แจ้งข้อหาแต่ไม่ให้ประกันในชั้นนี้ จากนั้นส่งตัวไปศาล เพื่อขอฝากขังต่อศาล ให้ศาลพิจารณาคำร้องขอฝากขังตามระยะเวลาของอัตราโทษสูงสุดผัดละ 12 วัน (ก็น่าคิด) นั่นคือ ศาลจะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. ให้ปล่อยตัวชั่วคราวถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่สำคัญมาก

ถามว่า ดีเอสไอทำได้หรือไม่ ตอบว่า ทำได้ แต่เลือกทำวิธีนี้เพื่อการใด มีอะไรซ่อนเร้นอำพรางอยู่ หรือว่ามีผู้ออกความคิดให้ทำ เพราะหากศาลไม่ให้ประกัน อะไรจะเกิดขึ้น ความเป็นพระจะเป็นอย่างไร คงไม่ต้องนึกภาพ เข้าทางโจรทันที (ขอถอนคำพูด เป็นว่า เข้าทางการตีความหลักกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯทันที) ดังนั้น หากจะให้เกิดความรอบคอบ ทีมที่ปรึกษาคงต้องดูความ ตาม มาตรา 27,28,29 และ 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ประกอบด้วย เนื่องจากในภาวะการณ์ช่วงนี้ อะไรๆก็ไม่ปกติอย่างที่ชาวโลกทำกัน [ข]

ส่วนประเด็นการจับสึกหรือสละสมณเพศ ต้องผ่านการสืบสวน สอบสวน และลงโทษพระภิกษุเสียก่อน ซึ่งการสึกจากความเป็นพระภิกษุจะยังไม่มีผลทางพระธรรมวินัยและทางกฎหมาย เพราะยังมิได้ผ่านการสอบสวนตามกระบวนการเสียก่อน ยกเว้นแต่พระภิกษุรูปนั้นจะสารภาพยอมรับความผิดเสียเอง และตราบใดที่ยังไม่วินิจฉัยว่า "ผิด" ก็ยังถือว่าไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุอยู่ตราบนั้น ซึ่งสอดคล้องและเทียบเคียงกับคดีอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิดจริง

***ด้วยเหตุที่ผู้เขียนยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นอีกถึงแนวทางที่เคยมีการเจรจามาแล้วหลายกรณีเพื่อมิให้เกิดปัญหาของมาตรฐานจากการปฏิบัติโดยอาศัยอำนาจเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงขอยกกรณีตัวอย่างมาเปรียบเทียบ กล่าวคือ

กรณีเมื่อปี พ.ศ.2557 ที่ศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาคดีกบฏ ก่อการร้าย และอื่นๆอีกมากมาย ผู้ต้องหารายนั้น ไปมอบตัวหรือไปปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน ก็ดำเนินการแจ้งให้ทราบถึงข้อหาแก่ผู้ต้องหา แล้วให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกัน(ตัวเลขเพียงหกหลัก) แล้วดีเอสไอก็เดินทางกลับ จากนั้นมาพบกันในสถานที่แห่งหนึ่งของเอกชนใกล้ที่ทำการดีเอสไอ ปรากฎว่าดีเอสไอ เดินทางไปหา นอบน้อม และให้เกียรติอย่างที่สุด ข่าวว่าคดีนั้นผ่านไปร่วม 2 ปีแล้ว อัยการก็ยังไม่สั่งฟ้อง ( เขาทำได้อย่างไร?) ดีเอสไอหรืออัยการออกมาแถลงถึงความคืบหน้าหรือไม่ จนประชาชนหรือสังคมเกิดความคลางแคลงใจกันว่า ผู้ต้องหารายนั้นยังไปไหนมาไหนหรือก่อความขัดแย้งได้อยู่ร่ำไป

‎กล่าวโดยสรุป‬ ผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด ก็คือ ดีเอสไอ แต่หากจะชัดแจ้งไปอีก อัยการที่มาร่วมสอบสวนทั้งเป็นที่ปรึกษา ก็น่าจะออกมาให้คำตอบต่อสาธารณะดังเช่นตอนไปขอออกหมายจับด้วย ก็น่าจะดีเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ไม่น้อย.

 

เชิงอรรถ

[ก]ข้อกฎหมาย

1.ข้อบังคับของประธานศาลฏีกา ว้าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2548

2.กฏกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ.2549

[ข] หลักกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้นมีมาตราสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีของพระ ดังนี้คือ. –

มาตรา 26 พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา 27 เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา 25 ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น

(2) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ

(3) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง

(4) ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา 28 พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

มาตรา 29 พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

มาตรา 30 เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท