สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 มิ.ย.2559

สศช.ชี้อีก 15 ปีไทยเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด มีปชช.อายุเกิน 60 ปีกว่า 28% ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย
 
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปี 2548 ไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยโดยมีประชากรอายุเกิน 60 ปีอยู่ที่ 14% ของประชากรทั้งหมดและคาดว่าปี 2574 หรืออีก 15 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด มีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีมากว่า 28% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะกำลังแรงงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบในมิติระดับมหภาคและจะเป็นแรงต้านที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งรัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาคน Gen Y ไม่อยากมีลูก เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยกับการมีบุตร ตลอดจนความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจว่าจะไม่สามารถเลี้ยงบุตรได้ โดยต้องออกนโยบายให้ครอบครัวมีบุตรมากขึ้นและต้องพัฒนาวัยเด็กให้เติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ
 
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหานั้น จะต้องรักษาอัตราการเติบโตได้จะต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจจากใช้แรงงานสูงไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากนวัตกรรมและขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีคู่กับการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีผลิตภาพสูงขึ้น โดยโจทย์ที่สำคัญในระยะยาว คือ ต้องเชื่อมโยงไปถึงประชากร รุ่นถัดไป โดยเฉพาะ Gen Y ประมาณ 16.45 ล้านคน หรือ 39% ของวัยแรงงาน
 
อย่างไรก็ตาม หลายความเห็นบอกว่ารัฐบาลควรพิจารณาขยายอายุเกษียณการทำงานออกไป เพื่อเลื่อนผลกระทบจากเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวต่อเนื่องไปอีก 10 ปี แต่มาตรการนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ถาวร ภาคแรงงานจะต้องเรียนรู้ทักษะการบริหารทั้งองค์กรและการเงิน ส่วนแรงงานลูกจ้างต้องมีทักษะเฉพาะทางที่เหมาะสมกับงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาพรวมของประเทศ
 
สำหรับประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปมากกว่า 20% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยประชากรวัยแรงงานอายุ 15-59 ปี จะลดลงจาก 43 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 40.7 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า และหากประเทศไทยไม่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตได้ จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยเติบโตเฉลี่ย 4.5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชะลอลงเหลือ 3-3.5%
 
 
สพฐ.จับมือกระทรวงแรงงาน หวังส่งเสริมความรู้อาชีพ ทิศทางตลาดแรงงานให้เด็กตั้งแต่ระดับมัธยมต้น
 
ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง สพฐ. และกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านอาชีพ ทิศทางของตลาดแรงงาน โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) และนายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมลงนาม
 
นายการุณกล่าวว่า ในปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องอาชีพเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งในส่วนของ สพฐ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพ 4 รูปแบบ คือ 1.ฐานสมรรถนะอาชีพระยะสั้น 2.การจัดการศึกษาระบบทวิศึกษา 3.การเตรียมพื้นฐานความถนัดทางสาขาวิชาชีพระดับอุดมศึกษา 4.การส่ง เสริมการเรียนรู้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจพอเพียง
 
"สาระสำคัญในบันทึกความร่วมมือนี้ ต้องการให้นักเรียนที่กำลังจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายได้รับการแนะแนวให้รู้ถึงศักยภาพของตนเอง มีความรู้เรื่องอาชีพ โดยกรมจัดหางานจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ขยายผลไปสู่ครูประจำชั้นให้มีทักษะในการใช้และให้คำปรึกษาแก่นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ถือเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานประจำปีของสถานศึกษาด้วย โดยจะมีคณะกรรมการของกรมการจัดหางาน สพฐ. และผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการติดตาม รวมทั้งให้มีคณะกรรมการประ สานงานระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและประสานงานการพัฒนาทักษะการใช้ระบบทดสอบศักยภาพต่างๆ และประมวลผลการทดสอบในระบบออนไลน์หรือออฟไลน์ต่อไป" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
 
ด้านนายอารักษ์กล่าวว่า โลกมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้งานก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งแนวทางของงานในยุคนี้คือ การทำงานแบบอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง ซึ่งก่อนที่จะทำได้ เราจะต้องแนะนำให้เด็กรู้ว่าตัวเองมีความสามารถอะไร นำไปใช้และต่อยอดอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ตรงตามความถนัดของแต่ละบุคคล และจะทำให้เด็กสามารถสร้างอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยทำให้เด็กได้รู้ตัวเองตั้งแต่ยังอยู่ในระดับมัธยมศึกษา และพัฒนาได้อย่างถูกทาง
 
 
บริษัทจัดแสดงเสือในวัดป่าหลวงตาบัวฯ เลิกจ้างพนักงาน 74 คน กสร.เร่งช่วยเหลือให้เงินชดเชย-หางานให้ใหม่
 
น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (สสค.) จังหวัดกาญจนบุรี ว่า บริษัทไทเกอร์ เทมเพิล จำกัด ที่จัดการแสดงสัตว์อยู่ภายในวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งบริษัทแห่งนี้เป็นของภาคเอกชน ไม่ใช่ของทางวัด ได้แจ้งเลิกจ้างลูกจ้างที่มีทั้งหมด 74 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคนไทยทุกคน ไม่มีลูกจ้างต่างด้าว เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปขนย้ายเสือโคร่งของกลางที่อยู่ภายในวัดป่าหลวงตาบัวฯ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 137 ตัว ตามคำพิพากษาของศาล ทำให้บริษัทฯ ไม่มีสัตว์ให้จัดแสดงอีก
 
อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า กสร.จะเข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างทั้ง 74 คน โดยประสานงานกับนายจ้างให้จ่ายค่าจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินชดเชยตามอายุงานของลูกจ้างแต่ละคน รวมทั้งค่าจ้างค้างจ่าย หากพบว่ามีการค้างจ่ายค่าจ้าง
 
ทั้งนี้ วันนี้ (4 มิ.ย.) สสค.กาญจนบุรีจะร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมการจัดหางาน (กกจ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) และสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานใน จ.กาญจนบุรี เข้าไปสอบถามและรวบรวมข้อมูลเรื่องอายุงาน ค่าจ้าง และค่าจ้างค้างจ่าย เพื่อจะได้ข้อมูลของลูกจ้างแต่ละคนและสรุปในภาพรวม รวมทั้งจะตั้งโต๊ะแจ้งและรับยื่นใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน บริการจัดหางานใหม่ และการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้าง
 
 
ประกันสังคมนำร่องทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย 1 ก.ค.นี้
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มวงเงินสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมให้มากกว่า 600 บาทต่อปี หลังจากมีข้อเรียกร้องจากเครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุขและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) ขณะเดียวกัน สปส.ก็พิจารณาเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นและความสามารถในการจ่ายของกองทุนประกันสังคม แต่คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้มากกว่า 600 บาทต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะได้ข้อสรุปและเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ในเดือนกรกฎาคมนี้
 
"ส่วนข้อเรียกร้องในเรื่องการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมโดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนนั้นเบื้องต้น สปส.จะให้มีการนำร่องใช้สิทธิด้านทันตกรรมโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินภายใต้วงเงินปีละ 600 บาทใน 30 หน่วยรักษาทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 12 หน่วย และที่เหลืออีก 18 หน่วยกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น สมุทรปราการ เชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้" นายโกวิทกล่าว
 
 
'รมว.แรงงาน' รุกแก้รปภ.ไม่จบ ม.3-ยกระดับปลอดภัย
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่ไม่จบ ม.3 โดยภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และมีผลบังคับใช้แล้วนั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ รปภ. ต้องเป็นคนไทยที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี เท่านั้น พร้อมกับผ่านหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยและต้องจบวุฒิ ม.3 ด้วย เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการ
 
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้สั่งการให้ร่วมหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือ 3 กลุ่มคือ รปภ. ที่ไม่มีวุฒิ ม.3 ให้เข้าเรียน กศน. เพื่อสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ กลุ่มคนที่ต้องการเริ่มทำงาน รปภ. ให้ กศน. จัดหลักสูตรเรียนระยะสั้นเพียง 1 ปี เพื่อให้ได้รับวุฒิ ม.3 และกลุ่มที่ทำงาน รปภ. อยู่แล้ว แต่ไม่มีวุฒิ ม.3 ซึ่งต้องการประกอบอาชีพอื่น เพื่อจะได้ดูแลงานที่เหมาะสมให้ พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือตามความถนัด และความต้องการของตลาดแรงงาน
 
 
โรงงานงานชุดชั้นในบุรีรัมย์จ่ายชดเชยลอยแพแค่ 23%
 
(4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการโรงงานตัดเย็บชุดชั้นใน “บริษัทอินโนวาโมด จำกัด” อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ พร้อมคณะผู้บริหารได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับแรงงานที่ถูกลอยแพเลิกจ้างอย่างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้แรงงานประสบปัญหาเดือดร้อนตกงานมานานร่วมเดือน
 
โดยการเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ การเจรจาไกล่เกลี่ยทางบริษัทยอมที่จะจ่ายเงินชดเชยทั้งเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่แรงงานได้เพียง 23% ตามอายุการทำงานของแต่ละคน ซึ่งไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชย และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้แก่แรงงานตั้งแต่รายละ 10,000 บาท ไปจนถึงรายละกว่า 80,000 บาท รวมแล้วเป็นเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายทั้งสิ้นร่วม 7 ล้านบาท
 
ทำให้แรงงานส่วนมากไม่พอใจต่อข้อเสนอของนายจ้าง แม้ทางบริษัทจะชี้แจงว่า ที่ผ่านมาทางโรงงานได้ประสบปัญหาด้านการตลาด และขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำให้ต้องปิดกิจการอย่างกะทันหัน
 
ส่วนเงินที่นำมาจ่ายชดเชยให้แก่แรงงานนั้นทางบริษัทอ้างว่า เป็นเงินที่ได้จากการขายเครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ในโรงงานเป็นเงินกว่า 1 ล้าน 6 แสนบาท นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่แรงงานได้คนละ 23% ของจำนวนเงินตามระยะเวลาการทำงานของแรงงงานแต่ละคนที่ควรจะได้รับ ทำให้แรงงานทั้ง 82 คนไม่พอใจต่อการจ่ายเงินชดเชยของบริษัท แต่ไม่มีทางเลือกจำยอมต้องรับเงินจำนวนดังกล่าวตามที่นายจ้างเสนอ พร้อมลงชื่อถอนคำร้องยินยอมรับเงินจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และจะไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษฟ้องร้องนายจ้างในกรณีดังกล่าวด้วย
 
น.ส.รัตนาพร เนาวนัตน์ หนึ่งในแรงงานที่ถูกลอยแพยอมรับว่า เสียใจ และจำยอมต้องรับเงินชดเชย จำนวน 14,000 บาท ตามเพื่อนๆ แรงงานคนอื่น จริงแล้วตนจะได้เงินชดเชยต่อการถูกเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในครั้งนี้กว่า 50,000 บาท เพราะแรงงานแต่ละคนต่างเกรงว่า หากมีการแจ้งความฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว จะทำให้ล่าช้าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และไม่รู้ว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าวหรือไม่
 
ส่วนเงินที่ได้รับ 14,000 บาท ไม่เพียงพอที่จะนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพอื่นได้ จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือหาตำแหน่งงานว่างให้แก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลุ่มดังกล่าวได้มีงาน มีรายได้เลี้ยงครอบครัวด้วย
 
ด้าน นายประภาส ศิลปรัศมี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เข้ามาดูแลแรงงานที่ถูกลอบแพเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด และได้ออกคำสั่งให้นายจ้างเข้าดำเนินการจ่ายเงินให้แก่แรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดเต็มตามจำนวน
 
ส่วนนายจ้าง และลูกจ้างจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยยินยอมกันนั้นขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะมีการเจรจาตกลงกันได้หรือไม่ หรือแรงงานรายใดไม่ประสงค์จะรับเงินชดเชยตามที่นายจ้างเสนอ ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมที่ดำเนินการต่อนายจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อเรียกร้องให้แรงงานได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดทุกขั้นตอนต่อไป
 
 
รถสีข้าวซบเซาฝนแล้งรายได้หดตกงาน
 
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตของผู้คนรอบด้าน ซึ่งที่ จ.กาฬสินธุ์ นอกจากจะทำให้เกษตรกรและชาวประมงเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา เสียโอกาสในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้เป็นอย่างมากแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการรถสีข้าวเองก็ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน
 
โดยนายเฉลิม ไทรชมพู อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 25 หมู่ 3 บ้านแดง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ผู้ประกอบการรถสีข้าวกล่าวว่า จากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีถึงข้าวนาปรังปีนี้ ถือเป็นช่วงวิกฤตหนักสุดของวงการรถสีข้าว เนื่องจากมีงานให้สีข้าวน้อยมาก จากที่เคยได้รับจ้างสีวันละ 5-10 แห่ง กลับได้เพียงวันละแห่ง 2 แห่งเท่านั้น หรือหากเทียบกับปีก่อนๆที่รับจ้างสีข้าวทั้งนาปีและนาปรัง มีรายได้รวมปีละ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาททีเดียว
 
นายเฉลิมกล่าวอีกว่า ธุรกิจรถสีข้าวได้รับความนิยมมาประมาณ 20 ปี ทั้งนี้ เพื่อบริการสีข้าวให้กับพี่น้องชาวนา ที่สะดวกรวดเร็วกว่าการนวดข้าวด้วยแรงงานคน คิดค่าจ้าง 2 บาทต่อถุง (25-30 ก.ก.) ก่อนที่จะปรับราคาที่ถุงละ 5 บาท ทั่ว จ.กาฬสินธุ์มีรถสีข้าวไม่น้อยกว่า 800 คัน สำหรับตนมีรถสีข้าว 3 คัน ทำให้มีรายได้จากการสีข้าวเป็นอย่างดี แต่ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลับเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวนาทำนาได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับมีรถเกี่ยวข้าวจากต่างถิ่นเข้ามาแย่งงาน จึงทำให้รายได้ลดหายไปจำนวนมากดังกล่าว โดยเฉพาะช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังปีนี้เกิดภาวะซบเซาอย่างมาก มีรายได้ไม่ถึง 5 พันบาทเลย
 
อย่างไรก็ตาม ยังถือเป็นความโชคดีอยู่บ้าง ที่อยู่ในพื้นที่ใช้น้ำชลประทาน จึงพอที่จะมีชาวนาได้ทำนาและได้รับจ้างสีข้าวเป็นรายได้เสริม ขณะที่ผู้รับจ้างรถสีข้าวรายอื่นๆได้เลิกล้มกิจการและขายรถสีข้าวไป เนื่องงานตกงาน และรายได้ไม่คุ้มกับการซ่อมบำรุง
 
 
กลุ่มบริหารอาคารขาดแคลนแรงงานหนัก หลังตึกใหม่เสร็จเร็วปีละ 1,000-2,000 ตึก คนโตไม่ทัน
 
นายอัครนันท์ อริยศรีพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี อาร์ เอ็ม โมเดิร์น แมนเนจเม้นท์ บริษัทบริหารอาคาร เปิดเผยว่า แนวโน้มกลุ่มบริหารอาคารจะขาดแคลนแรงงานมากที่สุดในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจำนวนบุคลากรเติบโตไม่ทันกับอาคารใหม่ๆ ที่สร้างเสร็จเร็วมาก โดยปัจจุบันมีอาคารทั่วประเทศกว่า 8 แสนอาคาร
 
ทั้งนี้ประเมินจากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า มีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินสำหรับหมู่บ้านจัดสรรทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 700-900 โครงการ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงเพื่อการอยู่อาศัยทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 อาคาร ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงานทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 50-100 อาคาร ยังไม่นับรวมอาคารเพื่อการพาณิชย์ อาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานทั่วประเทศ อาคารเพื่อโรงแรม ที่แต่ละปีเกิดใหม่จำนวนมาก จึงมีความต้องการบุคลากรบริหารอาคารมากถึง 2 หมื่นคน/ปี
 
นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เร็วขึ้นมาก ในอดีตอาคารสูงใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 2-3 ปี แต่ปัจจุบันใช้เวลาก่อสร้างเพียง 18 เดือน เรียกว่าตึกเสร็จเร็วกว่าคนที่จะมาทำงาน
 
ด้านนายศักดิ์สิน ปัจจักขะภัติ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการบริหารทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิตและสถาบันฯ พัฒนาหลักสูตรบริหารอาคารระยะสั้น 20 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านนี้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น
 
 
ผู้ประกอบการขานรับผู้พิการเข้าทำงาน
 
ปัจจุบันไทยมีผู้พิการ 1.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มาลงทะเบียนต้องการทำงานกว่า 190,000 คน มีสถานประกอบการภาคเอกชนกว่า 10,000 แห่ง ที่เข้าข่ายต้องจ้างงานคนพิการ รวมตำแหน่งสำหรับผู้พิการ 60,000 ตำแหน่ง ซึ่งได้จ้างงานแล้ว 39,000 ตำแหน่ง
 
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บอกว่า ผู้ประกอบการเอกชนให้ความร่วมมืออย่างดีมากในการจ้างผู้พิการเข้าทำงาน โดยกว่า 92% จ้างงานตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการ ที่รัฐสนับสนุน ทั้งการหักลดหย่อนภาษีได้สุงสุดถึง 200% รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท โดยเฉพาะในการทำการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการให้โอกาสทางสังคมมาก
 
และในปีนี้รัฐฯ ตั้งเป้าให้จำนวนสถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการ เพิ่มเป็น 95% หรือให้มีการจ้างงานเพิ่มอีก 10,000 ตำแหน่ง โดยหนุนให้จัดสรรงบประมาณจาก CSR มาจ้างงานแรงงานคนพิการให้ทำงานในชุมชน ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับผู้พิการโดยตรง ดีกว่าการส่งเงินเข้ากองทุน เพราะในปัจจุบันเงินสะสมมีถึงกว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว
 
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่กำหนดให้นายจ้าง หรือสถานประกอบการ และ หน่วยงานรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราผู้พิการ 1 คน ต่อคนงาน 100 คน และหากไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงาน ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในอัตราปีละ 109,500 บาท ต่อคนพิการ 1 คน และ หากยังไม่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ก็อาจให้สัมปทาน สถานที่ให้คนพิการ จำหน่ายสินค้า บริการ จ้างงาน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
 
 
อดีตลูกจ้าง รพ.เดชาร้อง จนท.หวั่นไม่ได้เงินชดเชย
 
อดีตลูกจ้างโรงพยาบาลเดชา เข้ายื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการกับบริษัท ศรีอยุธ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลเดชา ให้จ่ายค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างตั้งแต่เดือน ธ.ค.58 – พ.ค.59 รวมถึงค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างที่ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า
 
โดยนายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเร่งพิจารณาคำร้องของอดีตลูกจ้างโรงพยาบาลเดชาภายใน 60 วัน เพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินตามคำร้อง ซึ่งนายจ้างมีระยะเวลาในการดำเนินการตามคำสั่ง 30 วัน หากครบกำหนดนายจ้างยังไม่ดำเนินการตามคำสั่ง จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างต่อไป ขณะที่ลูกจ้างสามารถยื่นเรื่องขอเงินกองทุนสงเคราะห์ได้ ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ โดยอัตราการจ่ายเงินจะเป็นไปตามระยะเวลาการทำงาน และสามารถยื่นเรื่องขอเงินนอกจากค่าชดเชยได้จำนวน18,000 บาท
ขณะที่นางสาว วารุณี เจริญพงศ์นรา ตัวแทนลูกจ้างโรงพยาบาลเดชา ระบุว่านอกจากการยื่นเรื่องตามสิทธิแล้ว เรียกร้องสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการช่วยเหลือกรณีที่นายจ้างค้างจ่ายเงินประกันสังคม ในส่วนของนายจ้างเป็นเวลากว่า2 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างหรือผู้ประกันตน กรณีชราภาพที่มีจำนวนกว่า10 ราย พร้อมมองว่าเงินในส่วนของนายจ้างเป็นรายได้สะสมที่ลูกจ้างทุกคนควรจะได้รับ จึงอยากเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือและเยียวยากรณีดังกล่าว
 
ทั้งนี้ อดีตลูกจ้างโรงพยาบาลเดชาที่มีประมาณ 200 คน ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่3 เพื่อลงทะเบียนผู้ว่างงานจากการเลิกจ้าง ซึ่งจะได้รับเงิน ร้อยละ50 จากค่าจ้างเป็นเวลา180 วัน หรือ 6 เดือน
 
 
โรคจากการทำงานพุ่งสูง คร.เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ดูแล
 
(7 มิ.ย.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “กฎหมายระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม” ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการรับฟังสถานการณ์การพัฒนากฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาเป็นแนวทางในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มพบมากขึ้น จากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปิโตรเคมี นาโนเทคโนโลยี ซึ่งทำให้มีผลต่อสุขภาพต่อแรงงานและชุมชนสิ่งแวดล้อม
 
“การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ยังคงมีปัญหาในการเข้าไปดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกัน เนื่องจากไม่มีกฎหมายและอำนาจในการเข้าไปดำเนินการ ที่สำคัญ ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน กรมฯ จึงได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายดังกล่าว โดยทบทวนข้อมูลทางวิชาการ และพิจารณาการมีส่วนร่วมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และข้อมูลอื่น ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในสถานประกอบการ และในชุมชน ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนในครั้งนี้เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ” อธิบดี คร. กล่าว
 
นพ.อำนวย กล่าวว่า หลังจากการยกร่างจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นใน ก.ค. นี้ จะมีการปรับปรุงร่างให้ครอบคลุมก่อนที่จะนำเสนอผู้บริหาร สธ. และนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป เพื่อดูแลสุขภาพคนทำงานของประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีประชากรที่มีงานทำ 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน หรือร้อยละ 55.9 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 16.9 ล้านคน หรือร้อยละ 44.1
 
 
ก.แรงงานยัน รปภ.ไม่จบ ม.3 กว่า 2.7 แสนรายไม่ตกงานแน่! ผนึกหลายองค์กรเร่งปรับวุฒิการศึกษา
 
(8 มิ.ย.) นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหาแนวทางการจัดการศึกษาให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่ได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ตามนโยบายรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ รปภ.ซึ่งไม่จบ ม.3 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ควบคุม รปภ.ที่ทำงานอยู่เดิมในส่วนของผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษา ม.3 ประมาณ 2.7 แสนคนไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน ยังสามารถทำงานต่อไปได้
 
“วันนี้เรามีความเห็นร่วมกันว่าเราจะช่วยประเทศชาติโดยการยกระดับความรู้ของคนไทยที่เป็น รปภ.2.7 แสนคนที่มีวุฒิต่ำกว่า ม.3 ให้ได้มีโอกาสปรับวุฒิการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยความร่วมมือของกระทรวงแรงงาน กศน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนเหล่านั้นได้มีการเทียบวุฒิการศึกษา โดยนำมาตรฐานวิชาชีพเป็นองค์ประกอบในการที่จะไปเทียบโอน”
 
ทั้งนี้ การสำเร็จการศึกษาวุฒิ ม.3 นั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กำหนดให้มี 2 ทางเลือก ได้แก่ (1) การเทียบระดับชั้น (เทียบโอน) ในหลักสูตรเร่งรัด 6 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายจำนวน 3,000 บาท ซึ่งต้องผ่านการประเมินประสบการณ์ การประเมินความรู้ความคิด การสอบข้อเขียน และการสัมมนาวิชาการ (2) การเรียนเพิ่มวุฒิแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปี
 
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน. ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในระบบเข้ารับการศึกษานอกโรงเรียนจาก กศน. ซึ่งนายจ้างยินดีให้การสนับสนุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับกระทรวงแรงงานจะมีการวางโรดแมปการดำเนินงานและให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
 
สำหรับสถานที่การฝึกอบรม ในระยะเริ่มแรกหากสถานที่ฝึกอบรมไม่เพียงพอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัย ทั้งหมด 20 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบังคับการฝึกอบรมตำรวจกลางที่ศาลายา ศูนย์ฝึกอบรมภาค 1-8 ศูนย์ฝึกอบรม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนกองกำกับ 1-9 ของกองกำกับการพิเศษ จำนวน 9 แห่ง รวมเป็น 20 แห่ง
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท