15 ปีคดีโคบอลต์-60 ศาลฎีกาให้บ.จ่าย 5 แสน ทนายชี้เอกชนรับผิดชอบน้อยไป

8 มิ.ย. 2559 เวลา 13.30 น. ที่ศาลแพ่ง รัชดา มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องเหตุการณ์การแพร่กระจายของรังสีโคบอลต์-60 สืบเนื่องจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 มีบุคคลเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่ารกร้างนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบร้ายแรงจำนวน 12 คน

ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ 816/2544 หมายเลขแดงที่ 1269/2547 ระหว่าง จิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์ กับพวกรวม 12 คน โจทก์ และบริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน จำเลย โดยคำตัดสินวันนี้ศาลพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยคิดค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดรวมเป็นเงิน 529,276 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และโจทก์ที่ 4 เสถียร พันธุ์ขันธ์ ที่ฟ้องให้บุตรชายที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวนั้น ศาลไม่ให้ค่าเสียหายเนื่องจากเคยได้รับค่าเสียหายจากศาลปกครองไปแล้ว

สุรชัย ตรงงาม ทนายความของโจทก์ในคดีดังกล่าว กล่าวว่า โดยสรุปศาลฎีกาวินิจฉัยการรับผิดของผู้ประกอบการโดยเริ่มต้นศาลเห็นว่าการกระทำของผู้ประกอบการเป็นการกระทำละเมิด เพียงแต่ทุนทรัพย์ที่ฎีกาไป 12,836,942 บาทนั้น ศาลฎีกามีความเห็นว่าตัวโจทก์เคยได้รับค่าเสียหายจากทางศาลปกครองกลาง ในปี 2549 ไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นได้รับไปรวมทั้งหมดประมาณ 6 ล้านกว่าบาท และศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มค่าเสียหายมานั้นเหมาะสมแล้ว

สุรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนในประเด็นผู้บริหารเจ้าของบริษัทที่ควรต้องร่วมรับผิดกับตัวบริษัท เพราะเป็นผู้ได้รับประโยชน์และเป็นผู้รับทราบ ประเด็นนี้ศาลไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเพราะศาลควรให้เหตุผลอย่างชัดแจ้งและอธิบายให้สาธารณะชนเข้าใจ

“คดีนี้เป็นคดีแรกๆ ที่มีการฟ้องทั้งศาลปกครองและศาลแพ่ง คือมีการฟ้องหน่วยงานรัฐ เรื่องการควบคุมดูแลไม่ดี และฟ้องต่อเอกชนซึ่งเก็บรักษาวัตถุอันตรายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คำตัดสินวันนี้เนื่องจากศาลปกครองตัดสินไปก่อน ค่าเสียหายใดๆ ที่ศาลปกครองตัดสินจึงถูกนำมารวมในคดีแพ่งด้วย ซึ่งทำให้เห็นปัญหาว่า 1.ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายนั้น ยังไม่รับผิดชอบจากการกระทำหรือรับผิดชอบน้อยจนเกินไป 2.ไม่มีระบบไล่เบี้ยเอาคืนจากหน่วยงานรัฐอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2545 ที่มีการฟ้องร้องศาลปกครองและได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านกว่าบาท เหตุใดหน่วยงานรัฐไม่ได้มีการไปไล่เบี้ยเอาคืนจากผู้ประกอบการ รวมถึงบรรดาค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมียอดรวมถึง 7 ล้านกว่าบาท สิ่งนี้สะท้อนระบบบิดเบี้ยวของกระบวนการการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อม” สุรชัยกล่าว

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า คดีนี้อาจเป็นคดีแรกที่เกี่ยวพันกับเรื่องความรับผิดของบริษัทที่เป็นผู้ละเมิดอย่างร้ายแรงเพราะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ดูแลวัตถุอันตราย เนื่องจากแท่งโคบอลต์-60 เป็นวัตถุอันตราย การจัดเก็บโดยไม่ถูกต้องถือเป็นการละเลย แต่คำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ ให้ผู้ประกอบการมีส่วนชดใช้ค่าเสียหายรวม 529,276 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งคิดว่ายังมีปัญหาในเรื่องการพิจารณาจ่ายค่าเสียหาย กลายเป็นว่าผู้ประกอบการชดใช้น้อยมากและน้อยกว่าหน่วยงานรัฐ

“ความรับผิดของผู้ประกอบการในเรื่องสิ่งแวดล้อมยังต้องปรับปรุง ค่าเสียหายเชิงลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการที่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การประมาทเลินเล่อหรือจงใจประมาทในการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง ผลกระทบไม่ได้เดือดร้อนแค่โจทก์เท่านั้น แต่สถานการณ์ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน โรงพยาบาลสมุทรปราการต้องเข้าไปตรวจคนบริเวณรอบๆ ซึ่งเข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะมาก แต่ไม่แน่ใจว่ากระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายคืนจากผู้ประกอบการหรือไม่ คดีนี้เป็นบทเรียนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐต้องเรียกร้องจากผู้ประกอบการในการรับผิดชอบด้วย”สุภาภรณ์กล่าว


จิตรเสน จันทร์สาขา

จิตรเสน จันทร์สาขา โจทก์ที่ 9 ผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า เคารพในคำพิพากษาดังกล่าว แต่ยังมีความคิดว่าผู้ประกอบกรไม่ได้เข้ามารับผิดชอบหรือเหลียวแล สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากรังสีโคบอลต์-60 เทียบไม่ได้กับเงินชดเชยที่ได้รับวันนี้จากผู้ประกอบการ การต่อสู้คดีมา 15 ปีนั้นแม้ในส่วนค่ารักษาพยาบาลจะมีสวัสดิการของหน่วยงานรัฐแต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล และตัวเองก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ภรรยาต้องหยุดงานเพื่อมาเฝ้าที่โรงพยาบาลช่วงปีแรกที่บาดเจ็บทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก

“ผลกระทบจากรังสีโคบอลต์-60  ผมต้องตัดมือทั้งสองข้าง ผมได้รับเงินจากการตัดสินของศาลปกครอง รวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 1.9 ล้านบาท ผู้ประกอบการให้แค่ 4 หมื่นบาท ในขณะที่รัฐบาลให้การรักษาและให้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว” จิตรเสน กล่าว


สนธยา สระประทุม

สนธยา สระประทุม โจทก์ที่ 10 ผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ผู้ประกอบการชดเชยน้อยกว่าที่รัฐให้มาน้อยกว่าถึง 10 เท่า ทั้งที่ผู้ประกอบการเป็นต้นเหตุของปัญหา ในกรณีตัวเขานั้นหลังคำตัดสินวันนี้ยังคงอยู่กับปัญหาสุขภาพมาต่อเนื่องถึง 15 ปี ซึ่งอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดในอนาคตเนื่องจากมีปัญหาเรื่องมือข้างซ้ายและข้างขวาใช้การไม่ได้เต็มที่ ไม่เคยรักษาหายขาด

“มือข้างซ้ายตอนนี้ที่แขนมีแผลพลุพองขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง ในระยะเวลา 15 ปี ไม่มีภาครัฐเข้ามาหรือจะเรียกผู้ป่วยเข้าไปตรวจโครโมโซมหรือตรวจเลือด นอกจากผู้ป่วยมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็วิ่งเข้าไปหาหมอเอง ผมอยู่แถวบางนา ผมจะต้องดูว่าโครงการ 30 บาทให้ใช้บริการในโรงพยาบาลไหนได้บ้าง โรงพยาบาลที่ใช้บริการหมอบางคนบอกรักษาได้บางคนรักษาไม่ได้ แม้ผมขอไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น เขาก็จะต้องตรวจว่าสามารถส่งไปโรงพยาบาลดังกล่าวได้รึเปล่า” สนทยากล่าว

ย้อนหลังเหตุการณ์ ‘โคบอลต์-60’ ปี 2543

เหตุการณ์การแพร่กระจายของรังสีโคบอลต์-60 เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 บริเวณร้านรับซื้อของเก่าในซอยวัดมหาวงศ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากมีบุคคลเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่ารกร้าง เจ้าของร้านและลูกจ้างได้ทำการตัดแยกชิ้นส่วนโลหะที่ห่อหุ้มสารกัมมันตภาพรังสีไว้ภายใน ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่ออกมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลที่ทำงานและพักอาศัยในร้านรับซื้อของเก่า และผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงเกิดอาการเจ็บป่วย ได้แก่ อาการบวมที่นิ้วมือ อาเจียน ผมร่วงและมีปริมาณเม็ดโลหิตขาวต่ำมาก และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ

 ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 12 คน ได้มอบหมายให้ทนายความจากสภาทนายความฯ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม-EnLAW) ยื่นฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริก จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 5 คน ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2544 ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีจากแท่งโคบอลต์-60 เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยขาดความระมัดระวังในการใช้และจัดเก็บ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ได้รับสัมผัส  โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 109,264,360 บาท

วันที่ 18 มี.ค. 2547 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่า บริษัทฯ กระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย รวมเป็นเงินที่บริษัทฯ ต้องชดเชยค่าเสียหายทั้งสิ้น 640,276 บาท  ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2552 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 4 ส่วนโจทก์อื่นๆ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1

วันที่ 17 ธ.ค. 2552 โจทก์ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื่องจากยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในบางประเด็น โจทก์เห็นว่า นอกจากพฤติการณ์ของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหมดแล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากมลพิษ วัตถุอันตราย หากผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้วัตถุอันตรายในการดำเนินกิจการโดยละเลยต่อกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องและขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวมเฉกเช่นในคดีนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท