Skip to main content
sharethis

อัลจาซีราเผยชาวลาว 3 รายที่ทำงานในไทยโพสต์โซเชียลวิจารณ์รัฐบาล สปป.ลาว ว่าทุจริต ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าและละเมิดสิทธิมนุษยชน และเมื่อกลับลาวไปทำหนังสือเดินทางจึงถูกจับกุม โดยถูกควบคุมตัวหลายเดือนก่อนถูกนำมาสารภาพผิดออกอากาศทางทีวี โดยเจ้าหน้าที่ลาวเตือนอย่าใช้โซเชียลมีเดียในทางที่จะทำให้ประเทศพัฒนาช้าลง และใครที่ถ่วงความเจริญจะถูกลงโทษ

ที่มา: Aljazeera/Laos National TV

8 มิ.ย. 2559 อัลจาซีราระบุถึงกรณีที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ นำตัวชาวลาว 3 คน ได้แก่ สมพอน พิมมะสอน อายุ 29 ปี กับแฟนสาวของเขา ลอดคำ ทำมะวง อายุ 30 ปี และชายอีกคนหนึ่งชื่อ สุกาน ชัยทัด อายุ 32 ปี สารภาพควาผิดผ่านทางโทรทัศน์ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่พวกเขาโพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์รัฐบาลลาว สมโพนกล่าวสารภาพทางโทรทัศน์ในขณะที่มีตำรวจคอยยืนคุมอยู่ว่า "จากนี้ไปผมจะปฏิบัติตัวดี จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตัวเองและเลิกทรยศชาติ" 

ในการสารภาพผู้บรรยายอ้างว่าพวกเขากระทำความผิดไว้โดยการประท้วงต่อต้านรัฐบาลลาวในขณะที่ทำงานอยู่ที่ประเทศไทยและโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลลงในเฟซบุ๊ค

แอนเดรีย จอร์เจตตา จากสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) กล่าวว่ารัฐบาลลาวซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งท้ายๆ ของโลก ไม่อดกลั้นต่อการถูกต่อต้านเลยแม้แต่น้อย และการจับขังผู้คนตามอำเภอใจโดยไม่ให้มีการติดต่อกับคนอื่นได้นั้นสะท้อนให้เห็นการจำกัดเสรีภาพที่น่าเป็นห่วง จอร์เจตตากล่าวอีกว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดในคดีนี้คือการที่รัฐบาลลาวถึงข้ามขั้นไปสอดส่องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนอกอาณาเขตประเทศตัวเองถือเป็นการเพิ่มระดับการปราบปราบผู้ต่อต้านรัฐบาลในโลกออนไลน์อย่างมีนัยสำคัญ

ลาวเป็นประเทศที่มักอยู่ท้ายตารางในการจัดอันดับเรื่องเสรีภาพสื่อเนื่องจากพรรครัฐบาลลาวควบคมสื่ออย่างเข้มงวดมาก โดยที่ลาวถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 173 จากทั้งหมด 180 อันดับ ในดัชนีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนปีล่าสุด โดยที่ชาวลาวหันไปใช้โซเชียลมเดียกันมากขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงการเซนเซอร์ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายเข้มงวดมากขึ้นในปี 2557 ที่ระบุโทษจำคุกผู้วิจารณ์รัฐบาลทางอินเทอร์เน็ต โดยมีวิดีโอตำรวจกล่าวเตือนว่าอย่าใช้โซเชียลมีเดียไปในทาง "ทำให้ประเทศพัฒนาช้าลง" และ "ใครที่ถ่วงความเจริญของประเทศจะถูกลงโทษ"

จอร์เจตตาเปิดเผยอีกว่าชาวลาวทั้งสามคนที่ถูกจับเป็นคนงานที่ไม่ได้จดทะเบียนแรงงานในประเทศไทย พวกเขาถูกจับกุมหลังจากที่กลับไปลาวเพื่อทำหนังสือเดินทาง เพื่อให้ได้กลับเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ได้อีกครั้ง โดยที่สมโพนทำงานเป็นยามโรงงาน ลอดคำ เป็นลูกจ้างทำงานบ้าน และสุกาน เป็นคนขับรถส่งของ พวกเขาเขียนในเฟซบุ๊คว่ารัฐบาลลาวทุจริตคอร์รัชั่น ทำการตัดไม้ทำลายป่า และละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ตามรายงานในเว็บไซต์ของ สถานีวิทยุเอเชียเสรี ญาติของสมพอน และ ลอดคำ เปิดเผยว่าทั้ง 2 ราย ถูกจับกุมตั้งแต่ 5 มีนาคม ที่แขวงคำม่วน โดยตอนแรกตำรวจจะตั้งข้อหาเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นข้อหาร่วมรณรงค์ทางการเมือง ส่วนสุกาน ภรรยาที่ปัจจุบันทำงานอยู่เมืองไทยเล่าว่า เขาหายตัวไปตั้งแต่ 22 มีนาคม ขณะที่ไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่สถานีตำรวจในแขวงสะหวันนะเขต กระทั่งเป็นข่าวถูกทางการลาวจับกุมดังกล่าว

ถึงแม้ว่าประเทศลาวจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่ชาวลาวหลายแสนคนก็ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทยากไร้ที่หางานยาก ส่วนใหญ่จะไปทำงานค่าแรงต่ำในไทย ชาวลาวจำนวนหนึ่งยังมีโอกาสเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลลาวที่หน้าสถานทูตลาวในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2558 โดยที่ในไทยเองก็กำลังอยู่ภายใต้การปกครองโดยทหารที่มีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557

แม้ว่าความเจริญจะเข้าถึงกรุงเวียงจันทน์แล้ว แต่ระบอบการเมืองยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลลาวไม่ยอมรับข้อเสนอแนะจากสหประชาชาติในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน

อัลจาซีรายังได้สัมภาษณ์หญิงช่วงอายุ 20-30 ปี ผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหาในลาว เธอบอกว่า "ลูกคนรวยขับรถชนคนตายได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่คนเหล่านีกลับมีปัญหาเพราะแค่ประท้วง ฉันสงสัยว่าทำไม มันไม่เป็นธรรมเลย"

ถึงแม้ว่าช่วงก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไปเยือนลาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยเป็นศัตรูกันในอดีต แต่ทว่าทางการลาวก้ยังไม่ค่อยเปิดรับการถกเถียงอภิปรายทางการเมือง ทูตตะวันตกที่ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยว่ารัฐบาลลาวไม่เปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งเป็นภัยต่อการอยู่รอดของพวกเขาเอง ทูตคนดังกล่าวยังบอกอีกว่าการเผยแพร่การสารภาพของผู้วิจารณ์รัฐบาลทางโทรทัศน์ล่าสุดเป็น "สาร" ส่งถึงคนหนุ่มสาวทุกคนในลาว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทำอะไรปิดลับของรัฐบาลโดยที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าผู้ถุกจับกุม 3 คนนั้นโดนลงโทษด้วยข้อหาอะไรและโดนลงโทษอย่างไร มีกรณีก่อนหน้านี้ที่ชาวโปแลนด์ที่มีเชื้อสายลาวถูกลงโทษจำคุกนานเกือบ 5 ปี เพราะวิจารณ์รัฐบาลทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีการปราบปราการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยที่ไม่มีการเปิดเผยว่าจับตัวนักศึกษาเหล่านั้นไปที่ไหน นอกจากนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนลาวที่มีสำนักงานในกรุงปารีสยังเปิดเผยว่ารัฐบาลอ้างว่ามีนักศึกษาเสียชีวิตในที่คุมขังของตำรวจ

อัลจาซีราระบุว่ารัฐบาลลาววำไม่ยอมตอบรับคำขอให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เลย

ในรายงานของอัลจาซีรายังระบุถึงกรณีการอุ้มหายนักเคลื่อนไหวชื่อสมบัด สมพอน ทำเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ มีภาพจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นว่าสมบัดถูกตำรวจลากตัวไปขณะที่ที่ด่านตรวจในเวียงจันทร์คืนที่เขาหายตัวไป ทำให้คนมีชื่อเสียงในประเทศตะวันตกเรียกร้องให้สืบสวนกรณีการอุ้มหายนี้

องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมามีกรณีประชาชนถูกอุ้มหายจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการกระทำของรัฐหรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐเพื่อกำจัดผู้ต่อต้าน และเรื่องนี้น่าเป็นห่วงในประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการอย่าง ลาว, เวียดนาม และไทย ที่มีการสอดส่องการต่อต้านรัฐบาลในโลกออนไลน์มากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Laos cracks down on social media critics, Aljazeera, 06-06-2016 http://www.aljazeera.com/news/2016/06/laos-cracks-social-media-critics-160606092251543.html

Three Lao Nationals Are Latest Victims of Forced Disappearances, 2016-05-16 http://www.rfa.org/english/news/laos/three-lao-nationals-are-latest-victims-of-forced-disappearances-05162016162445.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net