'กกต. สมชัย' บอก 'ม.61 วรรค 2' ตกเป็นจำเลยของสังคม ยันเป็นของดีกันเหตุวุ่นวาย

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงาน การสัมมนาวิชาการเนื่องในวันสถาปนาสำนักงาน กกต. ครบรอบ 18 ปี เรื่อง “เหลียวประชามติสากล แลประชามติไทย” โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า เวลาพูดถึงการทำประชามติ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1. เนื้อหา การให้คนทั้งประเทศมาออกเสียงประชามติ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การกำหนดเนื้อหาต้องเป็นประเด็นที่สำคัญและใหญ่จริงๆในการให้ประชาชนตัดสินใจ 2.เวลา การให้คนได้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศต้องมีเวลาอย่างเพียงพอในการคิดไตร่ตรองเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งครั้งนี้มีกรอบเวลาค่อนข้างจำกัดเพียง 120 วัน

สมชัย กล่าวว่า 3.กระบวนการ ต้องโปร่งใสให้ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าเป็นธรรม เป็นกติกาที่ทุกคนจะได้รับความเท่าเทียมกัน ถ้าจำกันได้ร่างกฎหมายประชามติร่างแรกที่กกต.เสนอให้สนช.บัญญัติคำว่าเปิดโอกาสให้คนทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน มีงบให้ฝ่ายละ 50 ล้านบาท แต่การประเมินสถานการณ์ของฝ่ายที่ออกกฎหมายคิดว่าถ้าเปิดโอกาสจะมีความวุ่นวายทางการเมือง และ4.บรรยากาศ ทุกมีความตื่นตัวที่จะช่วยกันตัดสินใจอนาคตของประเทศ ภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผล

“ขณะนี้มาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติ กำลังตกเป็นจำเลยของสังคม มีการกล่าวหากันว่าใครเป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่ผมยืนยันว่ามาตรา 61 วรรคสอง เป็นของดี ต้องถามว่าขณะนี้เราต้องการให้สังคมเอาเรื่องเท็จมาหลอกกัน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจลงประชามติบนความรู้พื้นฐานที่ผิดหรือไม่ หรือต้องการให้ใช้คำหยาบคาย รุนแรงต่อกันเช่นนั้นหรือไม่ รวมทั้งต้องการให้เกิดการปลุกระดมไม่เคารพกฎหมายออกมาเดินขบวนเผาบ้านเผาเมืองอย่างนั้นหรือไม่ ทั้งที่เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างฯ เพื่อเป็นการปรามเหตุการณ์เหล่านี้ไว้เท่านั้น บรรยากาศขณะนี้ไม่ได้น่ากลัว อย่าดราม่ากันไปเอง สังคมดราม่ามากเกินไปหรือไม่ เพลงประชามติที่เขียนก็ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เอะอะอะไรก็ว่าเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพ สังคมหวาดระแวงจนเกินไป หากคิดเช่นนี้ก็จะไม่มีความสุข” สมชัย กล่าว

สิริพรรณ ระบุเพลงรณรงค์ของ กกต. บางท่อนเหมือนอวยร่างรธน.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรณรงค์เป็นหัวใจสำคัญ แต่เพลง 7 สิงหหาประชามติของ กกต. ที่ถูกวิจารณ์ว่าลำเอียง เนื้อความในเพลง บางประโยคเหมือน กกต.จะเชิดชูร่างรัฐธรรมนูญ คนอาจมองว่ากกต.กำลังสนับสนุนให้รับร่าง ซึ่งตามหลักสากล กกต.จะไม่มาร่วมรณรงค์อย่างเด็ดขาด และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็น่าสนใจ เพราะไม่ว่ามีคำวินิจฉัยเป็นอย่างใด หวังว่าบรรยากาศจะสดใสกว่านี้

ปริญญา ชี้เป็นประชามติที่ถูกใจก็รับไป ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น

ส่วน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้คำถามคือคสช.คิดอย่างไรที่ทำประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นข้อบกพร่องรุนแรงที่สุดในการทำประชามติครั้งนี้ บทความต่างประเทศจะเรียกการทำประชามติ 7 สิงหาคมว่าทางเลือกของฮอบส์สัน คือถ้าถูกใจก็รับไป ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น

“บรรยากาศตอนนี้คือความมืดดำ ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งจะมีผลต่อความชอบธรรมและความยั่งยืนของร่างรัฐธรรมนูญนี้ การทำประชามติที่ดีคือ ต้องเป็นธรรม รู้ว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง ต้องมีเสรีภาพ ประธาน กกต.อาจทำให้เกิดเสรีภาพในคูหาได้ แต่กระบวนการก่อนลงประชามติประชาชนจะมีสิทธิพูดได้มากแค่ไหน หากจะให้เป็นประชามติที่สมบูรณ์ต้องให้สองข้างแสดงความเห็นตามสมควร” ปริญญา กล่าว

ปริญญา กล่าวถึง มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ ว่า กติกาในมาตรานี้ทำให้การออกเสียงประชามติกระทบต่อหลักเสรีภาพ ถ้าไม่แก้ไขก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ คำว่าปลุกระดมไม่ควรจะมีอยู่ในกฎหมายนี้เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ส่วนคำถามพ่วง ควรเป็นคำถามที่ชัดเจนกว่านี้ พร้อมเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งประเด็นคำถามพ่วงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เชื่อว่าน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท