Skip to main content
sharethis

เปิดประเด็นถกเถียง ‘เงินเดือนให้เปล่า’ หลังชาวสวิตฯ เพิ่งลงประชามติปฏิเสธนโยบายนี้ มุมคิดฝ่ายหนุน เชื่อช่วยฟื้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนฝั่งค้านหวั่นก่อปัญหาเศรษฐกิจ อาชญากรรม และผู้อพยพ

ภาพจาก http://basicincome-europe.org/ubie/2016/06/swiss-basic-income-referendum-marks-the-beginning-of-a-european-debate

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์ได้จัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับนโยบาย Basic Income หรือเงินเดือนให้เปล่าแก่ประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงชื่อเพื่อออกเสียงประชามติตามระบบที่เปิดโอกาสให้การเสนอว่าสวิตเซอร์แลนด์ควรมีกฎหมายใดเพิ่มเติม โดยนโยบายเงินเดือนให้เปล่าสำหรับประชาชนได้รับคะแนนโหวตให้มีการลงประชามติ ผลของการลงประชามติคือมีผู้ปฏิเสธนโยบายดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 77

เงินเดือนให้เปล่าคืออะไร? เงินเดือนให้เปล่าคือสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐมอบเงินให้แก่ประชากรทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข ประชาชนไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อจะได้สวัสดิการนี้มา โดยประชาชนทุกคนจะได้รับเงินเดือนให้เปล่านี้เท่ากัน ไม่ว่ารวยหรือจน ทำงานหรือไม่ทำงาน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งหมดในประเทศ จำนวนเงินที่จะได้รับคือจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ไม่ใช่เงินจำนวนเล็กน้อยอย่างเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ 600-1,000 บาทต่อเดือน แต่มากถึง 2,500 ฟรังก์สวิส หรือกว่า 90,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว

หนึ่งในแนวคิดที่สนับสนุนการให้เงินเดือนให้เปล่า คือแนวคิดที่ถามว่า ถ้าเราได้ทำงานโดยไม่ต้องสนใจเงินเดือน เราจะทำงานอะไร โดยในปัจจุบัน เราทำงานโดยมีปัจจัยเรื่องเงินเดือนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่สามารถเลือกงานที่อยากทำจริงๆ ได้

กระแสการเรียกร้องให้มีเงินเดือนให้เปล่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เงินเดือนให้เปล่าเป็นสวัสดิการที่มีแนวคิดมานานหลายร้อยปี จุดเริ่มต้นของความคิดเรื่องเงินเดือนให้เปล่านั้นมาจากความคิดในหนังสือชื่อดังอย่าง Utopia ของทอมัส มอร์ (Thomas Moore) ที่มีตอนนึงกล่าวถึงการลงโทษขโมยจากการกระทำผิดว่า ‘ไม่มีการลงโทษใดในโลกที่จะหยุดคนมิให้ขโมย ถ้านั่นคือการขโมยเพื่อปากท้อง’ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่ชีวิตมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด นำไปสู่แนวคิดเรื่องการให้เงินเดือนเพื่อที่จะมีชีวิตแก่มนุษย์ทุกคน

"นโยบายดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ปกป้องประชาชนและแรงงานเอาไว้จากงานที่จ่ายค่าแรงและสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม งานที่สุ่มเสียงต่อศีลธรรมและงานที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แนวคิดเงินเดือนให้เปล่าจึงเป็นแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้คนเป็นสิ่งที่ฟื้นความเป็นมนุษย์ของคนกลับคืนมา"

รุทเกอร์ เบรกมัน (Rutger Bregman) นักข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์อย่าง De Correspondent กล่าวว่า การให้เงินให้เปล่าเป็นวิธีที่ถูกที่สุด เจริญที่สุด ในการต่อสู้กับความยากจน รุทเกอร์ ยกตัวอย่างการทดลอง ให้เงินแก่ผู้เร่ร่อนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คนละ 3,000 ปอนด์ หรือประมาณ 150,000 บาท เมื่อปี 2009 โดยไม่มีเงื่อนไข คนเร่ร่อนเหล่านั้นใช้เงินอย่างประหยัด หลังจากนั้นหลายปี 7 จาก 13 คนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้และได้รับการฝึกทักษะเพื่อประกอบอาชีพ เช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่องเงินเดือนให้เปล่าในอูกันด้าที่บอกว่า การให้เงินเดือนให้เปล่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะเพื่อประกอบอาชีพ ในอดีตที่ผ่านมามีการทดลองแนวคิดเงินเดือนให้เปล่าในหลายที่ นอกเหนือไปจากกรุงลอนดอน ยังมีบางพื้นที่ในเม็กซิโก บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาและแคนาดาด้วย การทดลองดังกล่าวให้ผลการทดลองไปในทิศทางเดียวกัน คือการให้เงินเดือนให้เปล่าแก่ประชาชนส่งผลในด้านดีเป็นส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของอาชญากรรม ความไม่เท่าเทียม ความยากจน ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสวัสดิการสุขภาพ รวมไปถึงการลดลงของการหนีเรียนส่งผลให้การศึกษาพัฒนา

คาร์ล วิเดอร์ควิสท์ (Karl Widerquist) กล่าวว่า ข้อดีที่สำคัญที่สุดของแนวคิดเงินเดือนให้เปล่า คือการที่นโยบายดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ปกป้องประชาชนและแรงงานเอาไว้จากงานที่จ่ายค่าแรงและสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม งานที่สุ่มเสียงต่อศีลธรรมและงานที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แนวคิดเงินเดือนให้เปล่าจึงเป็นแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้คนเป็นสิ่งที่ฟื้นความเป็นมนุษย์ของคนกลับคืนมา

ข้อโต้แย้งจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเงินเดือนให้เปล่าเสนอว่า การที่รัฐเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประชาชนมากเช่นนี้ อาจจะทำให้อำนาจรัฐมีมากขึ้นไปกว่าเดิม แนวคิดเรื่องเงินเดือนให้เปล่าต้องใช้เงินจำนวนมากในการปฏิบัติ ค่าแรงต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้นทุนสูงตาม ส่งผลต่อค่าครองชีพที่มากขึ้น

การให้เงินเดือนให้เปล่าอาจก่อให้เกิดภาวะว่างงาน เนื่องจากไม่มีแรงงานในระบบหรือค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น สภาวะขาดแคลนแรงงานนี้อาจส่งผลให้เกิดการนำเข้าแรงงานราคาถูกจากต่างชาติ เพื่อใช้แรงงานในงานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยต่างๆ นำไปสู่การอพยพของผู้ลี้ภัยจากประเทศโลกที่สาม เพื่อใช้ประโยชน์จากสวัสดิการและตลาดแรงงานที่พร้อมจะรองรับพวกเขา การเข้ามาของผู้อพยพ อาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา แม้ว่าการให้เงินเดือนให้เปล่าอาจจะทำให้ชีวิตของผู้ถือสัญชาติและได้รับเงินเดือนนี้ดีขึ้น แต่ผู้อพยพซึ่งไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวอาจจะรู้สึกเป็นส่วนเกิน โดยเฉพาะในสวิตเซอร์แลนด์ที่พึ่งมีการลงประชามติไป การขอสัญชาติเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องมีภูมิลำเนาและจ่ายภาษีเป็นเวลา 12 ปีจึงจะได้สัญชาติ ผู้อพยพที่อพยพเข้ามาและใช้แรงงานซึ่งไม่ได้รับสิทธิเงินเดือนให้เปล่ามีความเป็นไปได้ว่าจะรู้สึกเป็นส่วนเกินและอาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้

ปีเตอร์ โจเซฟ (Peter Joseph) กล่าวว่า ข้อโต้แย้งที่สำคัญอีกอย่างคือ การที่ให้เงินเดือนเปล่าๆ แก่ผู้คนจำนวนมาก อาจส่งผลให้เกิดการบริโภคเกินขนาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมว่า การบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเงินเดือนให้เปล่านั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเร็วกว่าการฟื้นตัวของธรรมชาติจะส่งผลเสียอย่างยิ่ง การพัฒนาโดยไม่เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติจะทำให้ไม่เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา

แม้ว่าข้อโต้แย้งเรื่องสวัสดิการที่ดีจะนำไปสู่การเข้ามาของผู้อพยพที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศ แต่มีนักวิชาการบางกลุ่มไม่คิดเช่นนั้น ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“argument ที่ห่วยที่สุดเวลาวิพากษ์นโยบายสวัสดิการที่สูงคือ จะทำให้คนหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศนั้น ผู้อพยพจะแย่งกันไปใช้สวัสดิการในประเทศนั้น

การกล่าวแค่นี้ถือว่า มืดบอด ทั้งเศรษฐศาสตร์แรงงานและประชากรศาสตร์ (การอพยพ)

1.โลกมีนโยบายรัฐสวัสดิการมาเกือบศตวรรษ พบว่านโยบายสวัสดิการไม่ได้เป็นตัวดึงให้คนอพยพเข้าสู่ประเทศนั้นเลย (คนอพยพเพื่อทำงาน ใช้ชีวิต ไม่มีใครอพยพมาเพื่องอมืองอเท้า) และประเทศเหล่านี้ส่วนมากหางานยากมากและเป็นงานที่อาศัย skill สูงเป็นส่วนใหญ่-คนมักอพยพไปสหรัฐอเมริกาประเทศที่ไร้สวัสดิการใดๆ/รวมถึงประเทศห่วยๆ อย่างไทยก็เป็นปลายทางการอพยพเพราะมีงานห่วยๆ เสี่ยงตายตามโรงงานและแพปลา)

2.นั่นหมายความว่า ผู้อพยพส่วนมากคือคนหนุ่มสาว เพื่อทำงาน เริ่มชีวิตใหม่ และส่วนมากพวกเขาเหล่านี้มี contribution ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าสวัสดิการที่พวกเขาได้รับอยู่แล้ว คนได้ประโยชน์จากนโยบายพวกนี้โดยตรงคือ คนชราที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต

3.แล้วคนแก่จากต่างประเทศจะไม่อพยพมาที่สวิสเหรอ....ย้ำอีกครั้งคนแก่ ไม่อพยพ ต่อให้ชีวิตจะดีอย่างไร พวกเขาก็อยากตายกับคนที่เขารัก”

นอกจากนี้ในปี 2012 เอดูอาร์โด ซูปลีซี (Eduardo Suplicy) นักการเมืองชาวบราซิลเคยให้สัมภาษณ์ กับ pulitzercenter ให้ความเห็นตอบโต้ข้อความที่ว่า เมื่อคนจนได้เงินเดือนให้เปล่า พวกเขาเหล่านั้นจะหยุดทำงานไว้ว่า

“แม้คุณมีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิต แต่คุณก็ยังจะทำงานต่อไป เพื่อจะได้เงินมากขึ้นใช่หรือไม่ ทำไมคุณถึงคิดว่าคนจนทั้งหลายจะไม่อยากพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขาบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่จะทำให้ดีกว่าแค่มีชีวิตรอด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”

สิ่งที่ถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดเงินเดือนให้เปล่า ไม่ได้ถกเถียงกันเรื่องประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการนั้นหรือไม่ แต่ถกเถียงกันเรื่องสิทธินั้นส่งผลดีกับเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และอะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชน

เมื่อมองมาที่ประเทศไทย สิ่งที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันกลับเป็นเรื่องคนไทยมีสิทธิที่จะตัดสินใจมากแค่ไหน คนไทยควรจะได้รับการศึกษาหรือเปล่า สวัสดิการสุขภาพเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือหรือไม่

 

เรียบเรียงจาก

http://www.basicincome.org/basic-income/history

ข้อมูลเพิ่มเติม

http://www.bbc.com/news/world-europe-36454060

http://pulitzercenter.org/reporting/brazil-economy-dreaming-world-free-hunger-and-need-Eduardo-Suplicy

http://qz.com/566702/finland-plans-to-give-every-citizen-a-basic-income-of-800-euros-a-month/

https://www.youtube.com/watch?v=aIL_Y9g7Tg0

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net