Skip to main content
sharethis

โครงการนิติธรรมในประเทศไทยที่ ม.ลอนดอน SOAS สัมมนาหัวข้อ “ประเทศไทยใน ‘วิกฤตรัฐพันลึก’ อูจีนี เมริเออ เสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอกระบวนการของตุลาการภิวัฒน์และผลกระทบ กลไกปราบปรามภัยคุกคามชนชั้นนำร่วมอภิปรายกลไกรัฐพันลึกโดย กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด และไชยันต์ รัชชกูล

สัมมนา Thailand in a Deeper State of Crisis ? (ประเทศไทยใน ‘วิกฤตพันลึก’?) นำเสนอโดย อูจีนี เมริเออ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล พร้อมวิทยากรร่วมอภิปราย ได้แก่ กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด และไชยันต์ รัชชกูล โดยมี วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมในประเทศไทย SOAS เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจาก CEAL)

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 โครงการนิติธรรมในประเทศไทย ณ ศูนย์กฎหมายเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยลอนดอน SOAS ประเทศอังกฤษ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง Thailand in a Deeper State of Crisis ? (ประเทศไทยใน ‘วิกฤตพันลึก’?) นำเสนอโดย อูจีนี เมริเออ (Eugénie Merieau) นักวิชาการเจ้าของบทความเรื่อง Deep State (รัฐพันลึก) และ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ พร้อมวิทยากรร่วมอภิปราย ได้แก่ กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด และไชยันต์ รัชชกูล โดยมี วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมในประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน SOAS เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

 

อูจีนี เมริเออ: ศาลรัฐธรรมนูญและสิ่งบ่งชี้สำคัญของรัฐพันลึก

อูจีนี เมริเออ (Eugénie Merieau) (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจาก CEAL)

อูจีนี เมริเออ (Eugenie Merieau) นักวิชาการด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัย Science Po แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวข้องกับสภาวะรัฐพันลึกของประเทศไทย ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2540-2558 นำเสนอบทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นในฐานะกลไกของรัฐพันลึก หรือ deep state ในประเทศไทย โดยเสนอว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญในการปรากฎอยู่ของรัฐพันลึกในประเทศไทย

อูจีนีอธิบายว่าการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 มีเป้าประสงค์เป็นเครื่องมือรับประกันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเป็นไปตามทฎษฎีทางวิชาการของ Tom Ginsburg นับแต่นั้นระบบตุลาการของไทยได้รับการเพิ่มอำนาจมากขึ้น (Judicial empowerment) และเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา (Judicialization of Politics) ศาลทำหน้าที่เป็นเครื่องมือพิทักษ์ผลประโยชน์ของมหาอำนาจในสังคม (the Counsitutional Court as an hegemonic preservation tool) ตามทฤษฎีของ Ran Hirschl

สำหรับในบริบทการเมืองไทย ที่มีวัฎจักรของการปฎิวัติและการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่อดีต หรือ ที่เรียกกันว่า Vicious cycles (วงจรอุบาทว์) นั้นอูจีนี่กล่าวว่าการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 มีความแตกต่างจากในสมัยก่อน คือบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในระหว่างการรัฐประหารกับการเลือกตั้ง หรือที่หลายคนเรียกว่าเป็น ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Coup d’etat) ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญแต่ศาลในระบบยุติธรรมอื่นๆ เช่น ศาลอาญา และศาลปกครอง เข้ามามีบทบาทเพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหารด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างในกรณีการเลือกตั้งปี 2549 ซึ่งมีการบอยคอตการเลือกตั้งและ กกต. ในยุคนั้นได้พยายามที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ทว่าศาลอาญาวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะสูญญากาศและท้ายที่สุดเกิดการรัฐประหารในปี 2549 หรือ กรณีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในปี 2556 ที่ชี้ว่าการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นการใช้อำนาจที่มิชอบ ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องลาออกจากตำแหน่งและไม่นานหลังจากนั้นจึงเกิดรัฐประหารเดือน พ.ค. 2557 คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้ศาลรัฐธรรมนูญดูเหมือนว่าจะมีทำหน้าที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยเสียเอง ซ้ำยังช่วยเหลือให้เกิดการรัฐประหารอีกด้วย

เมื่อกลับไปดูประวัติการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญในปี 2538 ซึ่งมีคณะกรรมการนำโดย นพ. ประเวศ วะสี ทำการศึกษาเรื่องศาลรัฐธรรมนูญโดยยึดตัวแบบหลักในประเทศเยอรมันนีที่ให้อำนาจศาลอย่างมากและมีลักษณะของความเป็นอิสระสูง ซึ่งความเป็นอิสระนี้จะดูได้จากขั้นตอนการเลือกสมาชิกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง สำหรับกรณีของประเทศไทย ตุลาการ มีจำนวน 9 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 มีจำนวน 15 คน และมากกว่าครึ่งมาจากการคัดเลือกของศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่มีการแทรงแซงใดๆจากองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการเลือกสรรภายในของฝ่ายตุลาการเอง สำหรับคณะกรรมการแต่งตั้งนั้นมีจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มาจากกระบวนเลือกตั้งทางการเมือง ซึ่งในทางวิชาการ ถือว่าเป็นขั้นตอนในลักษณะนี้แสดงถึงความมีอิสระสูง

ในปี 2540 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักให้มีการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องรับประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนประชาธิปไตย ซึ่งกำลังเบ่งบานในยุคนั้น เช่น หากมีกลุ่มพรรคการเมืองที่มีความเสี่ยงจะเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองนั้นได้

นอกจากนี้ อูจีนี่ยังได้ใช้ทฤษฎีของ Jon Elster ซึ่งบ่งชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการรับประกันผลประโยชน์ของสถาบันการเมืองและกลุ่มผู้ร่างเองด้วย

ในปี 2550 หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญภายหลังเกิดการรัฐประหารปี 2549 เราจะได้เห็นความเบ่งบานในการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมากกว่าที่ผู้ร่างในปี 2540 ได้คาดการณ์ไว้ หรือที่เราเรียกว่า ตุลาการภิวัฒน์ เช่น กรณีที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากในปี 2556 ที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15–18/2556 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ นั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ อูจีนีมองว่านี่เป็นใช้อำนาจที่มากที่สุดของศาลในการกีดกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่านี่เป็นการรัฐประหารโดยตุลาการ ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างใดๆจากการรัฐประหารโดยทหาร

จากคำวินิจฉัยต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญทำให้เราเห็นถึงพฤติการณ์ที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจนำในสังคมและเป็นการลงมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามทฤษฎีของ Ran Hirschl ได้อธิบายว่าตุลาการโดยศาลรัฐธรรมนูญจะถูกทำให้เป็นการเมืองด้วยกระบวนการที่ฝ่ายการเมืองให้ความวางใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง (Judicialization of Politics) ด้วยวิธีการที่ศาลได้เข้าไปสู่พื้นที่ทางการเมือง (Political arena) ในรูปแบบต่างๆ เช่น แทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง ล้มอำนาจฝ่ายบริหาร สร้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนระบอบ หรือ การแทรกแซงความขัดแย้งในสังคม ซึ่งอูจีนีได้ยกตัวอย่างคำวินิจฉัยต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญไทย เปรียบเทียบกับทฤษฎีที่ได้กล่าวมาข้างต้น

เช่น คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีปลดนายสมัคร สุนทรเวชจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของวุฒิสภาทำไม่ได้ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ชนชั้นนำในสังคมเห็นว่าอำนาจของตัวเองถูกท้าทายจากเสียงข้างมากในสังคมประชาธิปไตยจึงใช้กระบวนการศาลในการหยุดหรือล่าช้ากระบวนการประชาธิปไตย

ซึ่งมีเงื่อนไขสี่ประการที่ทำให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ ได้แก่ 1. ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ 2. ผลการเลือกตั้งนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนระบอบ หรือ ท้าทายอุดมการณ์ของรัฐ 3. วิกฤติทางการเมืองเปิดโอกาสให้ศาลเข้ามามีบทบาท และ 4. ศาลถูกมอบอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มการเมืองที่ใหญ่กว่า อูจีนีกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นตัวอย่างในทางทฤษฎีของ Ran Hirschl ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

อูจีนี กล่าวถึงกรณีการตีความมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ฝ่ายผู้ประท้วงในเวลานั้น เสนอให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการเมือง ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นให้อำนาจนี้กับกษัตริย์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ความพยายามนี้ได้ถูกนำมากล่าวถึงและเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยกลุ่มตุลาการและทหารพยายามที่จะต่อรองให้ตัวเองมีอำนาจในสถานการณ์ไม่ปกติ (crisis power) ซึ่งเห็นได้จากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันยังเพิ่มความพยายามที่จะไม่ให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันแรงกระแทกจากฝ่ายเลือกตั้ง เช่นในมาตรา 301 (7)

ทั้งนี้อูจีนีเสนอว่าบทบาทขององค์กรศาลในฐานะกลไกของ deep state มีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารและสถาบันที่มีบทบาททางการเมือง เช่น กองทัพ โดยควรจับตาบทบาทและกลไก deep state ดังกล่าวจะยิ่งมีบทบาทสำคัญในอนาคตการเมืองประเทศไทยอันไม่แน่นอนของประเทศไทยที่กำลังจะมาถึงอย่างไร

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ตุลาการภิวัฒน์และผลกระทบ และกลไกปราบปรามภัยคุกคามชนชั้นนำ

ปิยบุตร แสงกนกกุล (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจาก CEAL)

ปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ ได้นำเสนอประเด็น กระบวนการของตุลาการภิวัฒน์และผลกระทบ โดยกล่าวว่าธีรยุทธ์ บุญมีเป็นผู้นำคำนี้มาใช้เป็นคนแรกและได้รับการนำไปพูดถึงต่ออย่างวงกว้างในสังคมซึ่งจุดเริ่มของกระบวนการนี้ ซึ่งมีที่มาหลังจากพระราชดำรัสวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549

กลับกลายเป็นกรณีที่ศาลเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่ได้ยึดโยงหรือรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

ปิยบุตรเสนอว่า อันที่จริงคำว่าตุลาการภิวัฒน์ ควรเป็นคำที่มีความหมายที่ดี แต่ในบริบทของสังคมไทยกลายเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ ซึ่งต่างจาก ‘Judicialization of Politics’ ที่มีความหมายในทางบวก โดยปิยะบุตรให้คำจำกัดความคำว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ว่าหมายถึง กระบวนการตุลาการที่เล่นบทบาททางการเมืองโดยหยิบยกคดีที่มีเป้าหมายไปที่กลุ่มการเมืองซึ่งเห็นว่าเป็นภัยต่อกลุ่มชนชั้นนำเก่าในสังคม กล่าวโดยสั้น ตุลาการภิวัฒน์คือเครื่องมือต่อสู้กับนักการเมือง

กระบวนการของตุลาการภิวัฒน์ ทำในสองลักษณะคือ 1. การตีความตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะกว้างในรัฐธรรมนูญ เช่น นิติธรรม จริยธรรม และ คุณธรรม ในทางมิชอบ (arbitrary) เช่น การตีความมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ศาลไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ 2. การใช้ข้อถกเถียงประเด็นเชิงจริยธรรมทางการเมืองในคำพิพากษา เช่น คำพิพากษาปี 2550 ซึ่งมีผลให้ยุบพรรคไทยรักไทย และคำวินิจฉัยในปี 2556 ที่ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับการเลือกตั้งวุฒิสภา กระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพียงองค์กรเดียว แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ มาช่วยสนับสนุน

ทั้งนี้พระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตุลาการ สังคมไทยเห็นว่าศาลจะเป็นองค์กรที่มีความอิสระสูงและไม่เลือกข้างมากที่สุด และจะเป็นองค์กรสุดท้ายที่ช่วยแก้ไขความขัดแย้ง (last resort) ซึ่งปิยะบุตรมองว่าศาลมีความเป็นอิสระสูงจากกระบวนการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีอิสระจากกลุ่มชนชั้นนำเก่า

นอกจากนั้นยังต้องมีตัวละคร เช่น นักการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ หรือ สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ชงเรื่องไปสู่ศาล ทั้งนี้การสร้างความชอบธรรมในการตีความทางกฎหมายย้อนหลังของศาลในตัวรัฐธรรมนูญเองก็เป็นอีกเงื่อนไขให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ เช่น คำพิพากษาศาลในกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยถูกนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากที่มีการยุบพรรคไปแล้ว

เมื่อมีการใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ทำให้สังคมไทยมองว่า ในความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ จะต้องถูกแก้ไขด้วยระบบศาลเท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจในการปกครอง (principle on separation of power) ที่มองว่าประเด็นบางอย่างไม่สามารถที่จะแก้ไขโดยศาลหรือระบบตุลาการได้ แต่ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ตุลาการภิวัฒน์ ยังดำเนินการหลายอย่างที่ขัดกับหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย ด้วยการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐชนชั้นนำ เช่น การยุบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง การแทรกแซงไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การแทรกแซงกระบวนการทางเมืองในระบบเลือกตั้งอื่นๆ ที่นำไปสู่การเข้ามาของอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

คำถามต่อการดำรงอยู่ของอำนาจชนชั้นนำเก่าในสภาพสังคมสมัยใหม่ที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ปิยะบุตร อภิปรายว่า วาทกรรมเรื่องนิติรัฐในสังคมที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากนั้น แท้ที่จริง หมายถึง การเติบโตของระบบตุลาการ การเติบโตของสถาบันกษัตริย์ และการเติบโตของระบบตุลาการนิยมเจ้า (Royalist Jurist) โดยนักวิชาการด้านกฎหมายตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองได้นำเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นแกนหลักในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบบสังคมเสรีประชาธิปไตย และมิได้ให้ความสำคัญกับการปฎิวัติ 2475 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ภายหลังจากการสิ้นสุดชองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งยังสร้างวาทกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงความสำคัญของสถานบันกษัตริย์ต่อการสร้างชาติ รัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตย

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายที่ส่งเสริมการสร้างวาทกรรมดังกล่าวอย่างมาก เขากล่าวว่า “เราศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญตามอย่างหลักการของฝรั่งซึ่งมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ อันหมายถึงกษัตริย์ไม่สามารถกระความผิดใดๆได้ ยกเว้นว่าจะมีการนำความขึ้นทูลเกล้าถวายจากรัฐบาลเพื่อลงพระปรมาภิไธย ในประเทศอังกฤษสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ แต่สำหรับประเทศไทย สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชาติ และมีบทบาทสำคัญทางสังคม นั่นหมายถึงบทบาทในการแก้ไขความแย้งด้วยเช่นกัน ดังนั้น อำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรนูญจึงแตกต่างจากในระบบของอังกฤษ”

บวรศักดิ์ยังสร้างวาทกรรมเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอำนาจอธิปไตยถูกมอบให้ประชาชนโดยผ่านรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหาร อำนาจนั้นจึงกลับมาสู่พระมหากษัตริย์และรัฐบาลภายใต้การรัฐประหารจึงควรได้รับการยอมรับเนื่องจากการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยดังกล่าวเป็นกระบวนภายในของไทย

นอกจากนี้ยังมีการสร้างวาทกรรมเรื่องการปฎิรูปการเมืองโดยผ่านการกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นนักวิชาการหลักที่ศึกษาเรื่องนี้ อมรเขียนหนังสือเรื่อง "รัฐธรรมนูญนิยม ทางออกของประเทศไทย" โดยเสนอว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นการออกแบบระบบการปกครองของรัฐ และการบริหารงานรัฐ ซึ่งสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบในทางลบอันจะเกิดจากพฤติการณ์หาผลประโยชน์ให้ตนเองของกลุ่มนักการเมืองต่างๆ และยังเป็นกระบวนการปฎิรูปการเมืองที่แท้จริง

ทั้งนี้หากมีการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักการรัฐธรรมนูญนิยมแล้วจะต้องมีส่วนประกอบสามประการ คือ 1. ผู้นำทางการเมืองในประเทศ 2. นักวิชาการที่มีคุณภาพ และ 3. ประชาชนเข้าใจปัญหาอย่างท่องแท้ และพร้อมที่จะลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว สำหรับอมร ผู้นำทางการเมืองมีบทบาทมากที่สุดในการผลักดันให้เกิดกระบวนการดังกล่าว ด้วยทฤษฎีดังกล่าวทำให้ตุลาการกลายเป็นเทคโนแครตที่มีบทบาทในการก่อตั้งองค์กรและนโยบายกลไกต่างๆ ของรัฐ โดยที่ตัวเองเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในองค์กรอิสระนั้นๆ ที่ควรจะเป็นสถาบันเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐตามหลักการเสรีประชาธิปไตย ท้ายที่สุดตุลาการเหล่านี้จึงเสริมสร้างอำนาจของตนผ่านการอ้างเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล

ในขณะที่ประเทศไทยมีการก่อตั้งองค์กรใหม่ๆ ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยในช่วงปฎิวัติ 2475 แต่สำหรับบทบาทของศาลเองนั้นถือว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากระบบการปกครองในยุคเก่า เนื่องจากระบบศาลได้ถูกปฎิรูปเปลี่ยนแปลงมาแล้วในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก ซึ่งคณะราษฎรมิได้เปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวเนื่องจากต้องการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประเทศเจ้าอาณานิคม อันเป็นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร

ถึงแม้คณะราษฎรจะพยายามเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างระบบของศาลเพื่อให้ดูมีความทันสมัยแต่มิได้เปลี่ยนแปลงพื้นฐานความคิดของการผู้พิพากษาในการเป็นผู้ดำรงความยุติธรรมให้กับประชาชนตามระบอบการปกครองใหม่ และถึงแม้ว่าปรีดี พนมยงค์ จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อสร้างบุคคลากรด้านกฎหมายจากประชาชนธรรมดาแต่ทว่าก็ไม่ได้มีความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลง mind set (ระบบคิด) ของผู้พิพากษาในระบบเดิม ซ้ำนักกฎหมายอาวุโสในระบบตุลาการยังมาจากระบอบเก่า ระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาก็มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และดำเนินการในทางปิด สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อระบบศาล ซึ่งเห็นได้จากคำปฏิญาณของผู้พิพากษาซึ่งต้องกล่าวว่าทำหน้าที่ในนามของพระมหากษัตริย์ด้วยจริยธรรมสูงสุด นับแต่นั้น พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความยุติธรรมที่ตอกย้ำว่าผู้พิพากษาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน เป็นผู้ที่ได้รับอำนาจโดยตรงและทำหน้าที่แทนกษัตริย์ในการดำรงความยุติธรรม อย่างที่เราเห็นในพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตุลาการภิวัฒน์

ทั้งนี้ สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังได้เคยกล่าวไว้ในระหว่างการฝึกสอนผู้พิพากษาว่า “ในบรรดาหน่วยงานข้าราชการ ศาลเป็นหน่วยงานเดียวที่ถือได้ว่าทำหน้าที่ในนามของกษัตริย์ ถ้าในหลวงสั่งให้เราทำอะไร เรายินดีที่จะทำ แม้นว่าการกระทำนั้นจะทำให้เราต้องตาย”

ปิยบุตรเสนอตอนท้ายด้วยว่า ผู้พิพากษาเชื่อว่าตัวเองเป็นหน่วยงานที่อยู่เหนือสถาบันทางการเมืองใดๆ ในขณะที่ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นผู้ที่ทุจริต ไม่จริงใจ ขัดแย้งวุ่นวาย และมุ่งแต่รักษาผลประโยชน์ของตน ส่วนความเป็นอิสระของศาล หมายถึงความเป็นอิสระจากสถาบันเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายถึงอิสระจากสถาบันการเมืองอื่น โดยศาลเองก็ได้รับบทบาทเป็นกลไกปราบปรามพลังทางการเมืองทั้งในส่วนนักการเมืองและฝ่ายประชาชนธรรมดา ที่ฝ่ายชนชั้นนำจารีตประเพณีเห็นว่าเป็นภัยคุกคามแก่ตน

 

ไชยันต์ รัชชกูล (ซ้าย) กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด (ขวา) (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจาก CEAL)

 

กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด: เสนอศึกษาการเมืองไทยช่วงสงครามเย็น เพื่อทำความเข้าใจกลไกรัฐพันลึก

ในส่วนของวิทยากรผู้ร่วมอภิปราย ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Rise and Decline of Thai Absolutism ได้ตั้งคำถามว่าตัวอย่างกลไกของรัฐพันลึกที่ปรากฏในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น มีการเริ่มต้นหรือเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านอย่างไร เหตุการณ์ทางการเมืองก่อนที่จะเกิดการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปอย่างไร และ เราควรตั้งคำถามว่าเมื่อใดที่เกิดสภาวะรัฐพันลึกขึ้น โดยแนะให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในช่วงสงครามเย็นและการเปลี่ยนรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ค.ศ. 1973 ซึ่งอาจช่วยทำให้เข้าใจกลไกของรัฐพันลึกและปัญหาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยได้ชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นเพียงการแทรกแซงการเมืองประชาธิปไตย หรือทำหน้าที่ถึงขั้นที่รักษาประชาธิปไตยในบางช่วงเวลา (intermittent) นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าสถาบันที่มีบทบาทเชื่อมโยงกันดังกล่าว เช่น ตุลาการ และ กองทัพ อาจไม่ได้มีความคิดเห็นหรือความแนบแน่นเป็นปึกแผ่นร่วมกันเสมอไป

 

ไชยันต์ รัชชกูล: วิธีควบคุมการเมืองของชนชั้นนำแบบ มอบให้-ยึดคืน

จากนั้น ไชยันต์ รัชชกูล ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy ได้อภิปรายให้ข้อคิดเห็นว่าฝ่ายชนชั้นนำจารีตประเพณีมีวิธีการจัดการควบคุมการเมืองการปกครองไทยแบบมอบให้-ยึดคืน (appropriate-expropriate) โดยยกตัวอย่างในยุคสมัยใดที่กระแสประชาธิปไตยกำลังแพร่หลายและเป็นที่นิยมในทางที่เกื้อหนุนต่อชนชั้นนำ ชนชั้นนำก็พร้อมที่จะมอบและหนุนกระแสดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเข้ายับยั้งและยึดคืน เช่น กรณีการรัฐประหาร หรือ การสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพราะเห็นว่ามีความเสรี "มากเกินไป" เป็นต้น ซึ่งไชยันต์ กังวลว่าความลักลั่นที่ปรากฏมาต่อเนื่องยาวนานได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึกรุนแรงในทุกระดับ ตั้งแต่การในระดับครอบครัว เพื่อนฝูง ทั้งในชิวิตจริงและในปฏิสัมพันธ์ทางอื่น เช่น กลุ่มแชทไลน์ ไปจนถึงความขัดแย้งภาพใหญ่ในบริบทของความแตกต่างทางภูมิภาค ชนชั้น หรือการงานอาชีพ ซึ่งคงเป็นสถานการณ์ที่จะดำเนินต่อไปอย่างน่าอันตราย

 

ปิยบุตรชี้รับรัฐธรรมนูญเท่ากับต่อเวลา คสช. ดำรงอำนาจพิเศษถาวร

ในช่วงอภิปรายแลกเปลี่ยน ต่อข้อซักถามเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าควรรับหรือไม่รับ และถ้าไม่รับอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ปิยบุตร กล่าวว่า ถ้าเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เท่ากับว่าเรายอมรับให้ คสช. ดำรงอำนาจพิเศษต่อไปเรื่อยๆ อย่างถาวรในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ เป็นการ Constitutionalized coup d’etat ปัจจุบันเราอยู่ในสภาวะยกเว้น (state of exception) ซึ่งควรจะเป็นเพียงชั่วคราว แต่หากเรารับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เท่ากับเราให้สภาวะยกเว้นดำรงอยู่อย่างถาวรไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ความไม่แน่นอนว่าจะมีการจัดเลือกตั้งหรือไม่นั้นก็มีสูง มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเลื่อนวันลงประชามติออกไป ซึ่งควรจับตามองศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีบทบาทอย่างไร แล้วหลังจากนั้นอาจจะมีเหตุการณ์คล้ายๆ กับสงครามโลก อย่างที่คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกไว้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่มีการทำประชามติอีกเลย นอกจากนั้นหาก คสช. ประเมินว่าผลประชามติออกแล้วมีแสดงถึงความแตกแยกสูงระหว่าง ผลรับหรือไม่รับ ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ คสช. คงไม่อยากให้เกิดเหตุกาาณ์นี้ขึ้น และแน่นอนหากว่า คสช.ประเมินแล้วว่าตัวเองไม่ชนะก็ไม่น่าจะจัดประชามติ

ต่อข้อถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากโหวตไม่รับชนะ ปิยะบุตรมองว่าการดำรงอยู่ในอำนาจของคสช. จะลำบากมากขึ้นเพราะไม่มีความชอบธรรมแล้ว ถึงแม้ว่าการโหวตไม่รับจะหมายถึงว่า คสช.ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปก็ตาม ซึ่งแบบนี้ก็ยังดีโหวตยอมรับให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไปแบบถาวรในรัฐธรรมนูญ

ผู้เข้าร่วมเสวนา เสอนว่าหากเราโหวตรับอย่างน้อยเราก็จะมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกรับรองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปิยะบุตร ให้ความเห็นว่า ต่อให้รัฐธรรมนูญผ่าน คสช. ก็จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป หนำซ้ำระบบต่างๆ ก็จะมีความแนบเนียนมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากแค่ไหน เราก็ยังมีมาตรา 44 อยู่ ซึ่งให้อำนาจ คสช. ในการบริหารประเทศต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ อีกทั้งระบบศาลในประเทศไทยเองก็เคยล้มการเลือกตั้งมาแล้วถึงสองครั้ง

ต่อข้อถามว่าหลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการยูพีอาร์ ของ องค์กรสหประชาชาติ ซึ่งได้รับวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในประเด็นกฎหมายมาตรา 112 และ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะยกเลิก หรือ แก้ไข กฎหมายนี้ อูจีนี ให้ความเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2555 กล่าวว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 ที่กล่าวว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับกฎหมายมาตรา 112 ในทางกลับกัน การตีความจะกว้างมากขึ้นและมีโทษหนักมากขึ้น

ด้านวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมในประเทศไทย มหาวิทยาลัยลอนดอน SOAS กล่าวว่างานดังกล่าวเป็นกิจกรรมครั้งที่สามของโครงการ โดยก่อนหน้านี้ได้มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติร่วมเป็นวิทยากรอย่างต่อเนื่องทั้งจาก SOAS และสถาบันอื่น อาทิ Professor Sir Jeffrey Jowell อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และ Professor Andrew Harding ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากฎหมายเอชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เป็นต้น ส่วนงานสัมมนาครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมเข้าฟังอย่างหลากหลายทั้งนักวิชาการและนักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติ และยังมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรสนใจร่วมรับฟังอีกด้วย

สำหรับโครงการนิติธรรมในประเทศไทยจะจัดกิจกรรมวิชาการครั้งต่อไปในช่วงเดือนกันยายน 2559 ซึ่งเป็นวาระฉลองครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้ง SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน อีกทั้งยังเป็นช่วงครบรอบ 10 ปีหลังการรัฐประหารไทย พ.ศ. 254 9โดยผู้สนใจสามารถชมคลิปกิจกรรมและติดตามข่าวสารของโครงการได้ทาง https://www.facebook.com/soasrolt/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net