Skip to main content
sharethis

หลังจากที่มีการสมคบคิดเพื่อ 'รัฐประหาร' ด้วยวิธีการลงมติถอดถอนประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ ของบราซิล หลังจากนั้นเธอได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อความยาว 20 กว่านาที ประกาศว่าการถอดถอนเธอไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย รวมทั้งกล่าวถึงระบบการเมืองที่ทำให้พรรครัฐบาลอ่อนแอเป็นเหตุให้เกิดการสมคบคิดถอดถอนเธอได้

ดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิลซึ่งถูกวุฒิสภาบราซิลลงมติถอดถอน (ที่มา: Wikipedia)

10 มิ.ย. 2559 อัลจาซีราสัมภาษณ์ดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิลผู้ถูกลงชื่อถอดถอนเมื่อไม่นานมานี้หลังจากที่เธอถูกกล่าวหาเรื่องการแก้ไขข้อมูลงบประมาณเพื่อหลบซ่อนการขาดดุลงบประมาณเพื่อรักษาคะแนนนิยมให้ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีได้อีกครั้ง แต่ทว่ากลุ่มนักการเมืองผู้ร่วมมือกันถอดถอนรุสเซฟฟ์กลับถูกเปิดโปงเมื่อไม่นานมานี้ว่าพวกเขาสมรู้ร่วมคิดกันถอดถอนรุสเซฟฟ์เพราะต้องการปกปิดและตัดตอนการสืบสวนสอบสวนกรณีอื้อฉาวการทุจริตสินบนรัฐวิสาหกิจพลังงานของประเทศบราซิล

และหลังจากที่มีการเปิดโปงในเรื่องดังกล่าวก็ส่งผลให้นักการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องลาออก ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มรัฐบาลรักษาการของ มิเชล เทเมร์ที่มาแทนที่หลังจากรุสเซฟฟ์ถูกถอดถอน

อัลจาซีราระบุว่ามีนักการเมืองบราซิลอย่างน้อยร้อยละ 60 ถูกสอบสวนหรือกล่าวหาในอาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อหาพยายามฆ่า ไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ และประธานวุฒิสภาผู้ที่จะพิจารณาถอดถอนรุสเซฟฟ์ในขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาด้วย

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา ลูเซีย นิวแมน สัมภาษณ์อดีตประธานาธิบดี รุสเซฟฟ์ ในกรุงบราซิลเลีย ในช่วงที่รุสเซฟฟ์กำลังรอคำตัดสินถอดถอนเธอในขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำให้เธอถูกขับออกจากการเป็นประธานาธิบดีอย่างถาวร จากที่ก่อนหน้านี้เธอลงมติถอดถอนมาแล้วจากสภาล่าง โดยในการให้สัมภาษณ์มีการพูดคุยว่าเหตุใดเธอถึงยังคงต่อสู้เพื่อให้กลับไปเป็นผู้นำทางการเมืองได้ เรื่องการแตกส่วนทางการเมืองในบราซิล และเธอมีแผนจะสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนให้กลับมาได้อย่างไรถ้าหากเธอเป็นฝ่ายชนะในขั้นตอนสุดท้ายของการถอดถอน

รุสเซฟฟ์กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า การถอดถอนเธอในครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมายเลย และเธอเชื่อว่าชาวบราซิลส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการลงมติถอดถอนเธอในครั้งนี้อีกแล้ว ซึ่งเธอตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีการสำรวจโพลล์ความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นนี้เลยในช่วที่ผ่านมาทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาทำโพลล์กันมาตลอด

นอกจากความเชื่อมั่นว่าประชาชนจะไม่ยอมรับการถอดถอนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้แล้ว เธอยังเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะสามารถชนะการลงมติถอดถอนในขั้นตอนสุดท้ายในวุฒิสภาได้ เธอบอกว่าการจะชนะการลงมติได้นั้นเธอต้องการคะแนนเสียง 28 เสียง เธอประเมินว่าตนเองมีเสียงสนับสนุนอยู่แล้ว 22 เสียง และถ้าหากจะต้องการเพิ่มอีก 6 เสียงก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก

รุสเซฟฟ์กล่าวอีกว่าในการลงมคิถอดถอนใดๆ ก็ตามควรมีโอกาสให้มีการแก้ต่างและการสิบสวนด้วยข้อมูลหลักฐานได้ในทุกข้อกล่าวหา เธอกล่าวว่าสาเหตุที่ผู้กล่าวหาเธอไม่มีกระบวนการสืบสวนด้วยข้อมูลหลักฐานเพราะพวกเขารู้ตัวว่าข้อกล่าวหาของพวกเขากอ่อนเพียงใดและถ้าหากมีการสืบสวนตัวเธอจะสร้างความอับอายให้กับสถาบันการเมืองบราซิลมากเพราะไม่มีอะไรน่าอับอายไปกว่าการพยายามสืบสวนเอาผิดคนที่บริสุทธ์อยู่แล้ว ทั้งนี้จากหลักฐานการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างผู้สมรู้ร่วมคิดในการถอดถอนรุสเซฟฟ์ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาแค่ต้องการถอดถอนเธอให้ได้แล้วหาข้ออ้างมาทีหลัง

หลังจากรุสเซฟฟ์ถูกถอดถอน ก็ยังคงมีประชาชนประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนน รุสเซฟฟชี้ว่าเป็นเพราะกลุ่มนักการเมืองที่รวมหัวถอดถอนเธอไม่สามารถบงการความคิดเห็นของประชาชนได้

นอกจากข้อกล่าวหาเรื่องการแก้บัญชีงบประมาณแล้ว รุสเซฟฟ์ยังถูกอ้างถอดถอนในข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในรัฐบาลภายใต้การนำของเธอ ซึ่งรุสเซฟฟ์ตอบคำถามในเรื่องนี้ว่ามีการสืบสวน ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาแและมีการสั่งพักงานพวกเขาโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ส่วนในเรื่องข้อหาแก้งบประมาณนั้นเธอไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปยุ่งกับดุลงบประมาณด้วยเพราะอยู่นอกขอบเขตหน้าที่ของประธานาธิบดีแต่เป็นหน้าที่ของรัมนตรีการคลัง ซึ่งตามกฎหมายบราซิลแล้วควรเอาผิดกับผู้ที่กระทำ เธอบอกอีกว่ารัฐบาลของเธอเป็นผู้สร้างระบบการจูงใจให้รับสารภาพผิดเพื่อแลกเปลี่ยนกับบางอย่าง (plea bargain) ซึ่งนำมาใช้ในการต่อสู้กับแก็งค์อาชญากร

นิวแมนยังถามเกี่ยวกับการที่เธอเป็นหนึ่งในประธานบอร์ดวิสากิจพลังงาน 'เปโตรบราส' ที่เกิดเรื่องการทุจริตสินบน ในฐานะที่เธอเป็นประะานบอร์ดเธอควรจะรับผิดชอบที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ รุสเซฟฟ์ตอบว่าเธอไม่ควรจะต้องร่วมรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะมีบางเรื่องที่ประธานและกรรมการบอร์ดไม่ได้รับรู้แต่จะเป็นที่รับรู้กันแต่ในฝ่ายการจัดการบริษัท อีกทั้งการติดสินบนเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าเธอเป้นประธานาธิบดีแล้วเพียงแต่เพิ่มมีการค้นพบการกระทำผิดในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่ง และเป็นการเอาผิดจากกฎหมายที่รัฐบาลเธอเป็นคนร่าง

รุสเซฟฟ์ ยังให้สัมภาษณ์อีกว่าเธอเองก็ไม่มีอำนาจในการชี้นำเปโตรบราสมากนัก คณะกรรมการในสมัยเธอใช้เวลาเปลี่ยนแปลงการทำงานจัดการในเปโตรบราสถึง 11 เดือน จนไม่มีโอกาสสนใจเรื่องกรณีการทุจริต โดยที่เปโตรบราสเองมีการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก ดังนั้นถ้าหากจะมีคนร่วมรับผิดชอบไม่ควรจะเป็นคณะกรรมการบอร์ดแต่อย่างเดียวแต่องค์กรตรวจสอบภายนอกควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย

ในข้อกล่าวหาเรื่องที่การบริหารของรุสเซฟฟ์ทำให้บราซิลเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น รุสเซฟฟ์ตอบโดยอ้างคำกล่าวของโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัดนเบลที่ประเมินว่าบราซิลจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้รวมถึงวิกฤตทางการเมืองในบราซิลก้ส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเพราะรัฐสภาปฏิเสธนโยบายการคลังไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ (procyclical) ของรัฐบาลรุสเซฟฟ์ แต่แทนที่ด้วยนโยายเชิญเสถียรภาพดุลงบประมาณแทน

รุสเซฟฟ์กล่าวต่อไปถึงเรื่องการแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองในรัฐสภาบราซิลว่า มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจจากกลุ่มสายกลางไปสู่ฝ่ายขวามากขึ้นในรัฐสภาและพวกแนวร่วมฝ่ายขวานี้ก็มีวาระทางการเมืองของตัวเองและแนวร่วมฝ่ายขวากลุ่มนี้ก็พยายามบ่อนทำลายตำแหน่งทางการเมืองของเธอ ฝ่ายขวาเหล่านี้ยึดกุมอำนาจควบคุมเอาไว้ในแบบที่พรรคเธอทำอะไรไม่ได้เพราะพรรคของรุสเซฟฟ์คือพรรคแรงงานมีอยู่เพียงร้อยละ 25 ในสภา พรรคฝ่ายค้านมีอยู่ร้อยละ 25 แต่พรรคอย่างพีเอ้มดีบีซึ่งมีอยู่ร้อยละ 50 ในสภาประกาศแยกตัวเองออกจากการเป็นพรรคแนวร่วมรัฐบาล

ปรากฎการณ์เช่นนี้ทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งในบราซิลมีความอ่อนแอ โดยรุสเซฟฟ์เปรียบเทียบว่าก่อนหน้านี้ในปี 2541 พรรครัฐบาลเสียงข้างมาในบราซิลมีอยู่ 3 พรรค ต่อมากลายเป็น 4 พรรค แต่การแยกส่วนทางการเมืองบราซิลในปัจจุบันต้องมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 15 พรรคถึงจะยึดกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ความอ่อนแอของระบบเช่นนี้ทำให้รองประธานาธิบดีทรยศเธอโดยการเป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดเพื่อ "รัฐประหาร" เธอได้

ในคำถามที่ว่าเธอจะกลับมาสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้อย่างไร รุสเซฟฟ์กล่าวว่าการปกป้องประชาธิปไตยจะทำให้เธอสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นจากประชาชนชาวบราซิลได้ "สิ่งที่ฉันเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการปกป้องรัฐบาลของตัวเองแต่ยังจัดเป็นการปกป้องกระบวนการประชาธิปไตยในบราซิลด้วย" รุสเซฟฟ์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Dilma Rousseff: 'No legal grounds for this impeachment', Aljazeera, 07-06-2016 http://www.aljazeera.com/programmes/talktojazeera/2016/06/dilma-rousseff-legal-grounds-impeachment-160606083853902.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net