Skip to main content
sharethis

ในห้วงของการถกเถียงระหว่างโหวตโนกับโนโหวต การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. 'ประชาไท' ชวนอ่านความคิด 'รังสิมันต์ โรม' จากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ในฐานะกลุ่มแรกๆ ที่รณรงค์เรื่องโหวตโนมาแต่ต้น ทำไมต้องโหวตโน โหวตโนเท่ากับยอมรับกติกาที่ไม่ชอบธรรมหรือไม่ พร้อมข้อเสนอต่อกลุ่มโนโหวต


6 เม.ย. 2559 (ภาพ: banrasdr)

 

ถ้าเราบอกว่า คนที่เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนาหรือเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นประชาชนจริงๆ คำถามคือมันจะมีวิธีการไหนที่จะพิสูจน์ได้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของได้ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่การเลือกตั้งหรือการลงประชามติ


ประชาไท: ทำไมต้องโหวตโน
รังสิมันต์: เราคิดว่าการโหวตโนคือการที่เรา ไม่ใช่แค่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แม้การลงประชามติคราวนี้เป็นการลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญแต่เราต้องยอมรับว่าการที่ประชาชนออกมาพูดปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ร่างเท่านั้น แต่เป็นการปฏิเสธไม่เอา คสช.ด้วย

ในแง่นี้ จุดยืนของ NDM ที่ผ่านมา เราต้านรัฐประหาร แต่เรามองว่านี่คือพื้นที่หรือเวทีในการต่อสู้อีกอันหนึ่งระหว่างประชาชนกับ คสช. เพราะฉะนั้น การที่ประชาชนออกไปโหวตโน ก็เป็นการแสดงความจำนงของประชาชนในการไม่เอา คสช. ไม่เอารัฐประหาร

เราไม่เคยเห็นด้วยกับที่ คสช.ทำตรงนี้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนออกมาแสดงความจำนงของตัวเอง คือเราเห็นด้วยกับภาพใหญ่ที่ต้องปฏิเสธทั้งยวงอยู่แล้ว แต่โดยวิธีการ เรามองว่าวิธีการโหวตมันโอเค เพราะถ้าเราไปดูในทางหลักการ ถ้าเราบอกว่า คนที่เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนาหรือเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นประชาชนจริงๆ คำถามคือมันจะมีวิธีการไหนที่จะพิสูจน์ได้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของได้ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่การเลือกตั้งหรือการลงประชามติ

ในแง่นี้ เราเลยมองว่า เมื่อประชาชนออกมาลงประชามติ มันคือการแสดงออกของความเป็นเจ้าของประเทศนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น พอเข้ามายึดอำนาจแล้วอ้างว่าตัวเองเป็นใหญ่ ได้รับการยอมรับจากประชาชน คำถามก็คือมันจะมีวิธีการไหนที่พิสูจน์ได้จริงๆ ว่า คสช. ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน อันนี้พูดในเชิงหลักการ ยังไม่ได้แตะเรื่องกติกาประชามติ


ในแง่นี้กระบวนการลงประชามติเองมันจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแน่ๆ แต่คนที่จะตัดสินคือ ประชาชน

 

คิดอย่างไรกับข้อถกเถียงของฝ่ายโนโหวตที่ว่าการไปโหวตเท่ากับไปยอมรับกติกาที่ไม่เป็นธรรม
ถ้าเราดูสิ่งที่ NDM ทำตั้งแต่ 6 เม.ย. เป็นต้นมา ที่เราเล่นเรื่องประชามติ ผมคิดว่าไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่า NDM ยอมรับกติกาการลงประชามติแบบนั้น ที่ผ่านมา เราสู้เรื่องกติกามาโดยตลอด เราบอกว่ากติกามันไม่เป็นธรรม

และถ้าถึงที่สุดแล้ว ถ้าสมมติทาง คสช. กกต. ยังคงดื้อรั้นในการที่จะให้การลงประชามติเป็นกติกาแบบนั้น สุดท้ายโดยตัวของมันเองต่อให้มีการลงประชามติเกิดขึ้น มันก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาเราต่อสู้ เราแยกส่วน

คือจุดยืนของ NDM เราเห็นด้วย ต้องมีการลงประชามติ เพราะมันเป็นการ prove ว่าใครกันแน่คือเจ้าของประเทศนี้จริงๆ

แต่ว่าในเชิงกติกา เชิงหลักการ ก็เป็นอีกเรื่องที่เราก็ต้องสู้เหมือนกัน คือสุดท้าย มันจำเป็นต้องดีไซน์กติกาให้คนสามารถได้พูดอย่างไม่มีเพดาน ซึ่งทุกวันนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น พวกเราก็ท้วงติงต่อ กกต. เรามีการจัดงานแถลงข่าว เอาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกติกามาถกเถียง ซึ่งเราพูดมาตลอดว่ากติกาตรงนี้มันไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น แม้ว่ากติกายังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยสภาพของประชามติที่มันเกิดขึ้น มันไม่มีทางที่ใครจะยอมรับตรงนี้ได้ ซึ่งคนที่ตัดสินตรงนี้ก็คือประชาชน เพราะฉะนั้น พวกเราเลยไม่กังวลว่า การเข้าไปตรงนี้จะเท่ากับเป็นการยอมรับกติกา เพราะเราพูดชัดมาโดยตลอดว่าการที่พวกเราเคลื่อนไหวตรงนี้เราไม่เคยยอมรับกติกาเลย เราท้วงติง กกต.ด้วยซ้ำว่าสุดท้าย ต่อให้คุณชนะบนกติกาแบบนั้น คำถามก็คือจะมีประชาชนคนไหนยอมรับการลงประชามติแบบนี้

ในแง่นี้กระบวนการลงประชามติเองมันจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแน่ๆ แต่คนที่จะตัดสินคือ ประชาชน คือสังคมทั้งสังคม เราจะมามองแค่ว่า นาย ก. นาย ข. หรือตัวเราบอกว่าเรายอมรับกติกาแล้ว อย่างนี้มันไม่พอ มันต้องพิสูจน์ให้สังคมทั้งสังคมเห็นว่าสุดท้ายมันไม่เป็นธรรมจริงๆ แล้วผมคิดว่ายิ่ง กกต.ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ คสช.ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากจะทำให้การลงประชามติเกิดขึ้น ซึ่งเราอาจจะแพ้หรือชนะ นอกจากไม่เป็นธรรมแล้ว เผลอๆ ผลเสียผลกระทบต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นก็จะเกิดกับฝ่าย คสช. กกต.เองมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะท่านจะกล้าพูดได้อย่างไรว่าท่านชนะบนกติกาแบบนี้

ยิ่งเขาบี้ ยิ่งเขาอยากจะชนะมันกลับกลายเป็นเขายิ่งพ่ายแพ้ ผมมองอย่างนั้น

คือผมมองว่าสุดท้ายประชาชนมีความเข้าใจและตัดสินใจได้เอง บนกติกาแบบนี้ไม่ใครออกมาตบมือเชียร์แล้วบอกว่า สิ่งที่ คสช.ทำมันถูก ทุกคนก็ตำหนิกติกาตรงนี้ทั้งสิ้น

แต่การที่เราตำหนิกติกามันคนละเรื่องกับการที่เราบอกว่าจะไปล้มประชามติ หรือไม่เอาประชามติตั้งแต่ต้น

ผมมองว่าสุดท้ายมันต้องแยกกัน ถ้าเรายืนยันว่าหลักการของพวกเรา หลักการของคนไทย ทุกคนควรจะได้กำหนดเจตจำนงของตัวเอง อนาคตของตัวเอง ฉะนั้น ประชามติต้องมี แต่ต้องมีแบบไหน เป็นอีกเรื่องที่ต้องมาคุย มาดีไซน์กัน ซึ่งการดีไซน์แบบนี้มันไม่เวิร์ค มันไม่ทำให้การลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. มันเป็นธรรม
 

ประเมินผลประชามติอย่างไร มีการนำผลประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 มาประเมินหรือไม่
พวกเราไม่ได้ดูแค่การลงประชามติปี 2550 เพียงอย่างเดียว เราดูการเลือกตั้ง การใช้สิทธิของประชาชนย้อนหลังกลับไป จนถึงปี 2549 สุดท้ายพวกเราประเมินว่าคนจะมาใช้สิทธิไม่มีทางเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยการใช้สิทธิเลือกตั้งประเทศไทยอยู่ประมาณนี้ พวกเราเชื่อว่าจะชนะตรงนี้  15 – 16  ล้านคนขึ้นไป ถ้าคนใช้สิทธิ 70 เปอร์เซ็นต์

แต่ว่าคราวนี้เราเชื่อว่ามันไม่เหมือนกับการเลือกตั้งแบบที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พวกเราค่อนข้างเชื่อว่าคนไม่ได้มาใช้สิทธิลงประชามติมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าอาจจะซัก 52-53 หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่น่าจะเกินนี้  คือส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะบรรยากาศ ความคึกคัก อยากใช้สิทธิ ณ จุดๆ นี้ยังขาดความคึกคัก กกต. ก็ยังไม่ได้พยายามโปรโมทอะไรมากขนาดนั้น คนก็อาจจะไม่ได้อยากใช้สิทธิมากขนาดนั้น

ตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คนมาใช้สิทธิประมาณ 25 ล้านไม่เกิน 26 ล้านคน คนไม่มาใช้สิทธิมีประมาณ 19 ล้านกว่า ประมาณรวมกันมันจะอยู่ที่ประมาณ 44 ล้าน เกือบๆ 45 ล้านคน คราวนี้ คนที่จะมีสิทธิจะมากขึ้น เพราะมีการขยายสิทธิให้ผู้ที่อายุ 18 ปี ณ วันที่มีการลงประชามติ พวกเราประเมินตัวเลขคนที่จะมีสิทธิน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้าน ถ้าคิดว่าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือน่าจะมากกว่าปี 2550 แน่ๆ

คือจริงอยู่ว่าตอนนี้ภาวะบีบคั้นของสังคมจาก คสช. มันมากกว่าก็จริงเมื่อเทียบกับปี 50 คสช.ค่อนข้างรุนแรงกว่า แต่ว่าผมคิดว่ารัฐธรรมนูญนี้มันเกินกว่าที่จะรับได้จริงๆ ในเชิงเนื้อหารัฐธรรมนูญก็แย่มากๆ คำถามง่ายๆจนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่นับคนที่ได้ประโยชน์จากการใช้มาตรา 44 มันไม่มีใครที่จะได้ประโยชน์ในรัฐธรรมนูญนี้เลย อย่างที่ 2 ในเชิงรูปแบบ การรัฐประหารคราวนี้ ผมคิดว่ากองเชียร์รัฐประหารก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างชัดเจน ขนาดฝั่ง กปปส.ที่เป่านกหวีดให้รัฐประหารเกิดขึ้น ณ วันนี้ผมว่าจำนวน กปปส.ที่สนับสนุน คสช. และรัฐประหาร ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในมุมหนึ่งเมื่อเราคิดถึงการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นคราวนี้  มันจะมีความแตกต่างจากปี 50 คือปี 50 อาจจะมีคนที่เสนอว่าการโหวตโนเท่ากับว่าไม่เอารัฐประหาร แต่ผมคิดว่า point ของเรื่องนี้มันจะไปไกลกว่าปี 50 จริงๆ ปี 50 คนยังค่อยไม่รู้สึกว่ามันคือการล้มรัฐประหาร แต่การลงประชามติคราวนี้มันให้ความรู้สึกเป็นการล้มรัฐประหารอย่างหนึ่ง เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ประชาชนสามารถแสดงออกในการล้มรัฐประหารได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมันเกิดจาการที่ คสช. อยู่มานานด้วย

เราต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญของคุณมีชัยที่ร่างขึ้นมา จุดประสงค์มันชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ คสช. ซึ่งมันจะแตกต่างจากปี 50 คือปี 50 คมช.ไม่ได้จะสืบทอดอำนาจขนาดนั้นเมื่อเทียบกันในเชิงความเข้มข้น คืออาจจะมีกลไกบางอย่างที่ถูกวางเข้าไปแต่ว่ามันไม่ได้เป็นการต่อข้ออำนาจของ คมช.ในลักษณะที่เข้มข้นขนาดนี้ แต่ คสช. นี่ชัดเจน มีคำถามในประชามติที่จะกำหนดให้ ส.ว. สามารถที่จะมาเลือกนายกฯ ได้ เพราะฉะนั้นในแง่นี้มันการันตีว่าจะมีการต่อข้ออำนาจของกองทัพ ของ คสช.แน่ๆ ยิ่งถ้าเกิดพิจารณาจาก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะออกมา มันยิ่งชัดเจนว่า คสช.พยายามจะวางกลไกต่างๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่นาน

ทีนี้ถ้าเกิดประชาชนสามารถล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ นั่นหมายความว่าสิ่งที่ คสช.มุ่งหวังที่อยากให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นกลไกในการที่จะต่อข้ออำนาจของตัวเองต่อไปมันก็จะถูกทำลายลง เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่า การโหวตโนคราวนี้มันจึงหมายถึงการปฏิเสธระบอบรัฐประหารที่ คสช.เป็นคนสร้างขึ้นมา

 

ถ้าคนไทยไม่ชอบ คสช. แล้วคนไทยจะโหวต yes เหรอ ต่อให้มีข้าราชการมารณรงค์ ต่อให้มี รด.มารณรงค์ 
 

มองกลไก ครู ก. ข. ค. ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เทียบกับเครื่องมือของฝ่ายโหวตโนที่มีอยู่ จะมีผลต่อการตัดสินใจลงประชามติหรือไม่
ครู ก. ครู ข. ครู ค. เป็นข้าราชการ ซึ่งถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิด ข้าราชการไทยมีอยู่ประมาณ 5 ล้านกว่าคน คำถามก็คือ ข้าราชการทั้ง 5 ล้านกว่าคน กลไกของ คสช.คุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าข้าราชการจะไปทาง คสช.ทั้งหมด ผมประเมินว่า ถ้าตีเลขกลมๆ 5 ล้านคนที่เป็นข้าราชการ จะมีที่เป็นไปได้สูงสุด 4 ล้านคน แล้ว 4 ล้านคนไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่แบบเต็มใจแค่ไหน และผมคิดว่า ตอนนี้เราอยู่ในโลกออนไลน์ มันถึงกันหมด ถ้าคุณอยากจะแสวงหาข้อมูลคือมันง่ายมาก เผลอๆ แชร์กันตามไลน์ ตามกลุ่มต่างๆ ที่มีกัน เพราะฉะนั้นผมว่าแม้กลไกของ คสช.จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเรา แต่ว่ามันก็มีข้อจำกัดจากการที่โลกไร้พรมแดนอย่างนี้ แต่ผมก็ยอมรับว่ากลไกของเขามันมีประสิทธิภาพมากกว่าเราอยู่แล้ว เขาสามารถใช้กลไกของข้าราชการที่มีอยู่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ แต่ยังมองว่ามันมีหลายๆ ส่วน อย่างที่ผมบอกว่าการลงประชามติครั้งนี้มันไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญ มันเป็นเรื่องของ..เอาตรงๆ มันไม่มีใครอ่านรัฐธรรมนูญแล้วด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้คนอาจไปลงประชามติอาจจะมีเหตุผลร้อยแปดแต่คนไทย 30 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจแล้วโดยที่ไม่จำเป็นต้องอ่านรัฐธรรมนูญ หรือแค่ฟังข่าวเขาก็รู้แล้วว่าทิศทางรัฐธรรมนูญไปยังไง โดยที่ไม่จำเป็นต้องอ่านรัฐธรรมนูญ ในแง่นี้แล้วเราดูจากที่ คสช.ทำ ทั้งบริหารประเทศ ล้มเหลวในทุกๆ ด้าน มันมีการจับกุมหลายๆ เรื่องที่มันกระทบต่อคนจำนวนมาก คำถามก็คือ ถ้าคนไทยไม่ชอบ คสช. แล้วคนไทยจะโหวต yes เหรอ ต่อให้มีข้าราชการมารณรงค์ ต่อให้มี รด.มารณรงค์ 


ผลตอบรับจากการรณรงค์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
การตอบรับมันก็ดี ที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ โลโก้ที่พวกเราดีไซน์ คนก็เอาไปใช้มากขึ้น ตอนนี้ถ้าเห็นโลโก้ก็จะนึกถึง NDM นึกถึงการโหวตโน แต่ความตั้งใจของเรา เราไม่ได้ต้องการให้โลโก้นี้เป็นแค่ของ NDM เราต้องการให้มันเป็นขบวนการโหวตโนที่ใครก็สามารถเอาไปใช้ได้ เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องเป็นของเรา

แต่ในแง่นี้ในเชิงการนำเสนอโลโก้มันก็เข้าถึงคนได้ และในเชิงการตอบรับ เราก็ขายได้หลายพันตัว การตอบรับในเชิงตัวเลขค่อนข้างดีกว่าที่เราคิดเอาไว้ อย่างวันที่ 22 พ.ค.นี่ก็ชัดเจน คือนอกจากเป็นการครบรอบรัฐประหารแล้ว มันแทบจะกลายเป็นการแสดงความจำนงของประชาชนด้วยซ้ำไปว่าเขาจะไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เอา คสช.

อันนี้อาจจะโยงกับที่ฝั่งบอยคอตเขายกมาว่าการโหวตโนเหมือนกับพูดแค่เรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถ้าเราดูวันที่ 22 มันชัดเจนว่ามันคือการต้านรัฐประหารที่อยู่บนฐานของการโหวตโนกับอนาคตที่ไม่ได้เลือกกับรัฐธรรมนูญที่เราไม่ได้มีส่วนร่วม คือมันเป็นการต้านรัฐประหารทั้งยวงอยู่แล้ว


22 พ.ค. 2559 (แฟ้มภาพ: ประชาไท)


ข้อเสนอหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
NDM มีแพลนจะออกโรดแมปในเดือนกรกฎาคม ผมอาจจะยังพูดข้อเสนอตรงนี้ชัดๆ ก่อนไม่ได้ แต่แน่นอนว่าจะต้องมีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด นี่คือหลักการ

เพราะถ้าเราดูปัญหาอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือกว่าจะมีการเลือกตั้ง ต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดหนึ่งปีครึ่ง การเลือกตั้งมันจะต้องเกิดขึ้นให้เร็วกว่านั้น

มันนานเกินไปแล้วที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้ง  ที่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น เราต้องมีการเลือกตั้งให้เร็วกว่านั้น เร็วกว่า คสช.แน่ๆ แต่รายละเอียดโรดแมปจะออกมาอีกทีในเดือน ก.ค.
 

ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ
ถ้าสมมติรัฐธรรมนูญผ่าน โดยเฉพาะด้วยกติกาแบบนี้ ผมว่ามันง่ายมาก คือโดยสภาพไม่มีใครยอมรับอยู่แล้ว คือ ณ วันนี้ กติกาเป็นแบบนี้ ประเทศต่างๆ ก็ไม่มีใครเอาด้วย เวที UPR ก็คอมเมนต์ให้แก้หรือทำให้กติกาเป็นธรรมมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติว่ามันผ่านด้วยกติกาแบบนี้ NDM ไม่ยอมรับอยู่แล้ว แล้วเราก็เคลื่อนไหวเพื่อต้านตรงนี้อยู่แล้ว เราก็คงทำเหมือนกับที่เราเคยทำที่ผ่านมา

ถ้าทางฝ่ายบอยคอตไม่เห็นด้วยกับกติกา แต่ยืนยันว่าถ้ามีประชามติได้ก็โอเค ก็ขอเชิญชวนให้ฝ่ายบอยคอตออกมาเล่นงาน กกต. มาซัก กกต. เรื่องกติกาให้มากกว่านี้
 

ทิ้งท้าย
ตอนนี้สุดท้ายผมไม่อยากให้เราแบ่งฝ่ายกัน จริงๆ ภาคประชาชนเรามีเยอะ แต่การถ่ายทอดออกมาเป็นเจตจำนง ความต้องการของประชาชน มันไม่ใช่เรื่องง่าย การมาทะเลาะกันเองมันไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากการทะเลาะกัน โดยเฉพาะการทะเลาะกันแบบหนักๆ เอาเป็นเอาตาย ก็คือ คสช.

ผมคิดว่าสุดท้ายฝ่ายประชาธิปไตยก็มีจุดหมายปลายทางเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือการล้ม คสช. และสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในสังคมไทย ผมคิดว่าเรื่องตรงนี้มันเป็นแนวทางที่น่าจะสามารถร่วมกันได้ แม้ว่าจุดยืนบางเรื่องอาจจะไม่เหมือนกัน

ประเด็นของฝ่ายบอยคอตอันหนึ่งแน่ๆ คือเขาไม่เห็นด้วยกับกติกานี้ จึงไม่ต้องการสังฆกรรมกับ คสช. กับการลงประชามติเลย คือจะไม่ไปใช้สิทธิเลย ส่วนฝ่ายโหวตโนเราก็สู้กัน ถ้ากติกามันแย่ก็ต้านกติกาไปก่อน

ผมเลยมีข้อเสนอกลางๆ ว่าถ้าทางฝ่ายบอยคอตไม่เห็นด้วยกับกติกา แต่ยืนยันว่าถ้ามีประชามติได้ก็โอเค ก็ขอเชิญชวนให้ฝ่ายบอยคอตออกมาเล่นงาน กกต. มาซัก กกต. เรื่องกติกาให้มากกว่านี้ อันนี้อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถึงที่สุดแล้วถ้ากติกามันไม่มีการแก้ไข ปรับเปลี่ยนเลย จะบอยคอตก็ไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นเรื่องของจุดยืน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net