Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Abhisit Vejjajiva

11 มิ.ย.2559 อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งศูนย์ปราบโกงการทำประชามติ ว่า การตรวจสอบให้ประชามติมีความโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมนั้น สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะช่วยกันทำ ไม่ให้เกิดการทุจริต แต่ขออย่านำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง หากปลุกระดม ก็ถือว่าผิดกฎหมาย

ห่วงจนท.ชี้นำระหว่างลงพื้นที่เผยแพร่เนื้อหาร่างรธน.

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่งที่ตนเป็นห่วง คือ การใช้กลไกของรัฐในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากจะชี้แจง ต้องชี้แจงเพียงเนื้อหาสาระเท่านั้น แต่ถ้าให้เหตุผลในมาตราต่าง ๆ อาจถูกมองว่าชี้นำได้  ซึ่งโดยหลักสากล จะต้องระมัดระวังการใช้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างมาก เพราะมีบทบาทในการชี้นำทางหนึ่งทางใด ยกตัวอย่าง การเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องการใช้เครื่องมือของรัฐในการบอกว่า ต้องเลือกใครอย่างไร ดังนั้นกลไกของรัฐจะต้องระมัดระวังอย่างมาก

“ส่วนตัวมองว่า หน้าที่เผยแพร่ ต้องเผยแพร่แค่ตัวบทรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเป็นเรื่องของฝ่ายต่าง ๆ ในการให้ความเห็นรณรงค์ ซึ่งการทำประชามติที่ผ่านมา กกต.จะช่วยจัดเวทีให้ 2 ฝ่ายมาถกเถียงกัน ดูได้จากการทำประชามติในต่างประเทศ ซึ่งจะมีการจัดเวทีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก คงไม่ใช้กลุ่มข้าราชการเป็นผู้ไปชี้แจงเอง เพราะเป็นเรื่องยากที่คน ๆ เดียวจะไปพูดทั้งข้อดีข้อเสีย จึงต้องจัดเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูด ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะเป็นปัญหา เพราะหากพูดด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะถือว่าประชามติไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ยอมรับว่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามนโยบาย แต่ก็ต้องระมัดระวัง” อภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Abhisit Vejjajiva

ขอ กกต.อำนวยความสะดวกให้ ปชช.พูดได้ 2 ด้าน

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากให้ กกต.และผู้รับผิดชอบทบทวนและปรับท่าทีใหม่ เพื่อให้เวทีกับประชาชนที่จะพูดได้ทั้ง 2 ด้านโดยไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนกลไกของรัฐ ก็เอื้ออำนวยให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้มากกว่าที่จะเป็นผู้ชี้แจงเอง แม้ กกต.จะไม่มีอำนาจจัดเวที แต่ก็อำนวยความสะดวกได้ ส่วนตัวนั้น ก็พร้อมไปชี้แจง เพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้วินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากทำให้เกิดความชัดเจนของข้อกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ดี

ห่วงหลังประชามติคนยกเรื่องไม่แฟร์ไม่ฟรี ชี้ความขัดแย้งก็ไม่จบ

“เราต้องการให้กระบวนการนี้มีความชอบธรรม แต่ผมเป็นห่วงว่าถ้าหลังประชามติ มีการหยิบยกว่าการทำประชามตินั้นไม่ได้เสรีและเป็นธรรม ก็จะเสียเวลา เสียเงิน ความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญก็จะไม่จบ อยากให้ทุกฝ่ายคิดถึงอนาคต อย่ามองว่าการทำประชามติเป็นการต่อสู้ของแต่ละฝ่าย ให้เป็นเรื่องของเนื้อหารัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะใช้กติกาแบบนี้หรือไม่ ถ้ารับก็เอาไปใช้ ถ้าไม่รับก็ทำใหม่ อย่าไปตั้งธงว่าจะต้องผ่านหรือไม่ผ่าน” อภิสิทธิ์ กล่าว

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net