Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมระบุ มติ ครม. 8 มิ.ย.2559 ให้ยกเลิกมติ ครม.10 พ.ค.2559 เป็นเพียงการแก้ไขรายละเอียดบางประการ พล.ต.สรรเสริญ ยืนยันปิดเหมืองทอง บ.อัคราฯ ปลายปี 2559 ตามคำสั่งเดิม

13 มิ.ย. 2559 สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GREENS NEWS) รายงานว่า สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงคำสั่งด่วน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาให้ยกเลิกมติ ครม.10 พ.ค.2559 เรื่องรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั้น  สมชาย กล่าวยืนยันว่าไม่มีการต่อสัมปทานเหมืองทองคำ จ.พิจิตร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

สมชาย เปิดเผยว่า การยกเลิกมติ ครม. 10 พ.ค. 2559 เป็นเพียงการแก้ไขรายละเอียดบางประการ แต่สาระสำคัญเรื่องการดำเนินการตามข้อเสนอของ 4 กระทรวง คือการไม่ต่ออายุประทานบัตร การไม่อนุมัติอาชญาบัตรพิเศษ และคำขอประทานบัตร ยังคงมีผลเช่นเดิม

สมชาย กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตามมติของ 4 กระทรวง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการปรับแก้มติ ครม.เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในส่วนของรายละเอียด จากเดิมที่ระบุว่า รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงต่อครม.โดยวิดีทัศน์ เปลี่ยนเป็น รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีการนำเสนอเอกสารต่อ ครม.เท่านั้น

“จากนี้ทุกอย่างยังคงเดิมตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวง และเป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมายกำหนด ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงฯ ได้มีการต่อใบอนุญาตกิจการโลหกรรม เป็นเวลา 7 เดือนไปแล้ว และกำลังดำเนินการตามกฎหมายในการไม่อนุญาตสัมปทานทำเหมืองที่บริษัทขอต่ออายุใบอนุญาต” สมชาย กล่าว

สรรเสริญ ยันปิด ปลายปี 59 ตามคำสั่งเดิม

เมื่อ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า ได้สอบถามไปยัง อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุหนังสือฉบับนี้มิได้เป็นคำสั่งยกเลิกการปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในสิ้นปี 2559 ตามที่เข้าใจและมีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ แต่เป็นขั้นตอนทางเทคนิคเท่านั้น

“ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาฯ 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีอำนาจในการสั่งยุติการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำอยู่แล้ว ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีจึงไม่ต้องมีมติสั่งการใด ๆ แต่เป็นเพียงการรับทราบมติตามที่เสนอเท่านั้น” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว .

สำหรับ มติ ครม. 10 พ.ค.2559 ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบข้อเสนอของ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรของเหมืองแร่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายเวลาให้บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ถึงปลายปี 2559 เท่านั้น เพื่อที่จะนำแร่ออกจากพื้นที่ และเยียวยาพนักงานก่อนการปิดกิจการ

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหะกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และกระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2559 กลับมีการยกเลิก มติวันที่ 10 พ.ค.2559 โดยหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0505/ 20618 ลงวันที่ 8 มิ.ย.2559 ระบุตอนหนึ่งว่า ครม.พิจารณาเห็นว่ามติเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 เรื่องรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรายงานของ รมว.อุตสาหกรรม เกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ในรูปแบบวิดีทัศน์ โดยไม่มีเอกสารเสนอคณะรัฐมนตรี จึงให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว และมีมติเป็นดังนี้

1.รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานในรูปแบบวิดีทัศน์ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้เป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน 2.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net