Skip to main content
sharethis

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ชี้แจงเหตุฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชนผู้ทำรายงานซ้อมทรมาน ชี้จงใจปกปิดข้อมูล เคยขอข้อมูลเพื่อร่วมตรวจสอบแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องฟ้องเพื่อให้ความจริงปรากฏในศาล ระบุหากบิดเบือนก็สมควรได้รับโทษ ฐานละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านหัวหน้ากลุ่มด้วยใจ หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง ยืนยันอยู่บนเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป แนะทุกคนเรียนรู้สู่การสร้างกลไกปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้งและผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิด 

13 มิ.ย. 2559 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) กล่าวถึงกรณีสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 9 มิถุนายน 2559 เรียกร้องให้รัฐให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ แบบสองมาตรฐาน รวมทั้งให้ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกฟ้องด้วยข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และยังได้เรียกร้องให้เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนว่า การออกมาเรียกร้องของกลุ่ม LEMPAR และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจะสุ่มเสี่ยงต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมายซึ่งจะเป็นบัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย พ.อ.ปราโมทย์ ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ 8 มกราคม 2559 นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ณ ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส เกี่ยวกับสถานการณ์การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับปากจะทำการตรวจสอบให้ข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน

ต่อมา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มเครือข่ายองค์กรที่จัดทำรายงาน ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวและเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และต่อมาภายหลังได้มีการนำไปเผยแพร่ ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง

เขาระบุว่า จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยความโปร่งใส เพื่อนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดและใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นโดยเร่งด่วนต่อไป รวมทั้งได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

พ.อ.ปราโมทย์  ระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากรายงานดังกล่าว จำนวน 54 ราย พบว่าสามารถตรวจสอบและระบุตัวบุคคลได้เพียง 18 ราย ซึ่งผลจากการตรวจหลักฐานที่หน่วยนำมาชี้แจง ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการควบคุมตัวไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่ามีการซ้อมทรมานแต่อย่างใด ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4  สน. ได้เชิญนางสาวอัญชนามาร่วมประชุมหารือ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2559 รวมทั้งได้ประสานขอข้อมูลบุคคลที่กล่าวอ้างกับผู้จัดทำรายงานอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

"กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือกับองค์กรที่จัดทำรายงานเพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูลโดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงานมิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเยียวยา และหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง และในขณะเดียวกันได้นำเอกสารดังกล่าวออกไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิ และความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นอกจากยังนี้มีบางประเด็นที่สำคัญเช่น “โดนให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงและโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่ใบหน้า” ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง" พ.อ.ปราโมทย์ ระบุ

พ.อ.ปราโมทย์ ระบุต่อไปว่า ดังนั้น เพื่อธำรงและรักษาไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาลด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน โดยเชื่อมั่นว่าหากพยานหลักฐานมีอยู่จริงผู้จัดทำรายงานต้องนำมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริงหรือมีเจตนาบิดเบือนผู้จัดทำรายงานก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและหน่วยงานของรัฐที่พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรงพร้อมทั้งขอยืนยันว่ารัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม แต่รัฐไม่สามารถเพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายได้

 

หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ยืนยันปกป้องผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดต่อไป

ขณะที่ วานนี้ (12 มิ.ย. 2559) อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามนักสิทธิมนุษยชนที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ฟ้องร้องดังกล่าว ได้ออกมาโพสต์แสดงความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันอยู่บนเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป ไม่อยากให้เกิดเสียงเงียบ แนะทุกคนเรียนรู้สู่การสร้างกลไกปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้งและผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิด เพราะการทรมานกระทำกันในที่ลับแค่คำบอกเล่าศาลก็ไม่รับฟัง จึงต้องทำงานช่วยเหลือประชาชนต่อไป เพราะเชื่อว่าทุกคนก็มุ่งหวังสันติภาพ

รายละเอียดมีดังนี้

“ข้าพเจ้า อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ

ความตั้งใจของข้าพเจ้าคือไม่โพสต์ไม่คอมเม้นต์ FACEBOOK ในช่วงเดือนรอมฎอนที่มีความหมายนี้ แต่เมื่อเริ่มต้นการถือศีลอดก็ได้รับทราบข่าวการแจ้งความโดยกอ.รมน ภาค 4 ต่อ ข้าพเจ้าและคุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และคุณสมชาย หอมลออ จากกรณีร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม

หลายคนอาจมองว่า สมควรแล้วที่ข้าพเจ้าจะได้รับจากการกระทำของข้าพเจ้าเอง หลายคนอาจจะมองว่าไม่สมควรที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะถูกดำเนินคดีเช่นนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจดีต่อการกระทำครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ เพราะในการประชุมร่วมกันหลายครั้งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีการระบุถึงการดำเนินคดีกับข้าพเจ้าทุกครั้ง และ จากเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ หรือคนทำงานให้เขา มีคนเตือนข้าพเจ้าให้ระมัดระวังตัวจากการถูกติดตาม มีการใช้เพจสื่อสารในการสร้างความเกลียดชังต่อข้าพเจ้า มีการระบุในที่ประชุมว่าข้าพเจ้าคือผู้ที่ต่อต้านรัฐ

นี่คือบททดสอบที่อัลเลาะห์ได้ให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ความรู้สึกของการตกเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นอย่างไร ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจผู้เสียหายที่ถูกดำเนินคดี ที่ต้องอยู่ในเรือนจำ มากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนข้าพเจ้าเพียงเป็นเหยื่อทางอ้อมจากการที่น้องเขยถูกดำเนินคดีความมั่นคงที่ทำให้เข้าใจและน้องสาวร่วมกันก่อตั้งกลุ่มด้วยใจเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับดีความมั่นคง อาจเข้าใจจิตใจของคนในครอบครัว แต่ครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าข้าพเจ้าเข้าใจจิตใจของเขาเองอย่างลึกซึ้ง นี่คือบททดสอบที่ว่า ข้าพเจ้าจะปกป้องเหยื่อที่ถูกกระทำทรมานได้หรือไม่ นี่คือบททดสอบของคนทำงานที่จะกล้าหาญ ทำงานเพื่อประชาชน ผู้เสียหาย ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง มีการใช้กฎหมายพิเศษ เยี่ยงนี้ได้หรือไม่

ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์แสดงความห่วงใย และการเสนอความช่วยเหลือต่างๆ ขอบคุณมากคะ มันมีความหมายมากเลย สำหรับข้าพเจ้า และเมื่ออ่านข้อคิดเห็นหนึ่ง “อย่างนี้งานเข้า จะเดินต่อสู้ไหวไหมครับ” ข้าพเจ้าจึงต้องการบอกกับทุกคนว่า ข้าพเจ้ายังคงยืนอยู่บนเส้นทางการเป็นนักปกป้อง ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อไป กลุ่มด้วยใจจะยังคงทำงานในการบันทึกข้อมูล ข้อร้องเรียน รับเรื่องร้องเรียนการละเมิด และการช่วยติดตาม เฝ้าระวัง ผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ การปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง การเข้าถึงความยุติธรรมต่อไป งานของกลุ่มด้วยใจดำเนินการเพื่อพี่น้องประชาชน และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าและกลุ่มด้วยใจคือ สันติภาพในดินแดนปาตานี

ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าและคุณพรเพ็ญ คุณสมชาย เท่านั้นที่อาจจะเจอบททดสอบแบบนี้ แต่ในพื้นที่ขัดแย้งแบบนี้ ทุกคนอาจจะเจอกับเหตุการณ์นี้ก็เป็นได้ และนั่นก็ทำให้เกิดเสียงเงียบของประชาชน โลกนี้จะมีแต่ความสงบสุข สันติ ไม่มีการละเมิด มีแต่ภาพความเป็นฮีโร่ แต่เสียงเงียบนี้คือความน่ากลัวของไฟที่จะทำลายกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนี้ ข้าพเจ้าก็เช่นกัน

ข้าพเจ้ามองเห็นว่า เพื่อการป้องกันมิให้เกิดกรณีแบบนี้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป สิ่งที่เราควรจะนำมาเป็นบทที่ทุกคนได้เรียนรู้ ก็คือการเรียนรู้ศึกษากระบวนการยุติธรรมต่อกรณีการฟ้องร้องนี้ การติดตามคดีในทุกขั้นตอนกระบวนการ การสื่อสารต่อสาธารณะ การศึกษากลไกการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้ง (HUMAN RIGHT DEFENDER) และ ในอนาคตเราอาจจำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ก็เป็นได้

ประการต่อมา เราจะทำงานเพื่อปกป้องผู้เสียหายจากการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร เราควรจะมีกลไกอย่างไร ที่ผู้เสียหายจะกล้าที่จะให้ข้อมูลและไม่ถูกฟ้องร้องว่าให้ข้อมูลเท็จ ในเมื่อการกระทำทรมานเป็นการกระทำในที่ลับมีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำที่รู้เท่านั้น แม้แต่ในชั้นศาล เมื่อผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง การบอกเล่าเรื่องการถูกกระทำทรมานในระหว่างการควบคุมตัวศาลก็ไม่รับฟัง ด้วยไม่มีประจักษ์พยาน ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ กว่า 37 วัน ถึงแม้ญาติจะเห็นร่องรอยบาดแผล แต่คำบอกเล่านี้ก็ไม่มีผลในชั้นศาล หรือแม้แต่กรณีที่มีการยิงผิดคนก็ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ด้วยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายพิเศษ

ข้าพเจ้ายังคงยืนยันที่จะต้องทำงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อการทำงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ต่อไปเมื่อมีการร้องเรียนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนก็มุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพเช่นเดียวกัน แต่อาจเป็นสันติภาพที่มองต่างมุม

ข้าพเจ้ามองเห็นโอกาสที่ดีในอนาคต ที่เราทุกคนที่มีเป้าหมายเดียวกันคือคำว่าสันติภาพ ด้วยการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในการทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน และเพื่อการปกป้องซึ่งกันและกัน

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน
อัญชนา หีมมิหน๊ะ
12 มิถุนายน 2559”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net