Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เรื่อง “ขยะ” ที่จะเล่าในที่นี้ เป็นงานวรรณกรรมแปล จากเรื่อง Trash (2010) เขียนโดย แอนดี มัลลิแกน (Andy Mulligan) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นครูอาสาสมัครที่เบงกอล ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ บราซิล วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าชีวิตของเด็กเก็บขยะที่เมืองกองขยะในฟิลิปปินส์ ซึ่งได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ล่าสมบัติที่จะสร้างคุณค่าในชีวิตให้กับเด็กเหล่านี้ ต่อมาหนังสือนี้ถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นในอังกฤษ และได้แปลเป็นภาษาไทย โดย วิกานดา จันทร์ทองสุข พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน เมื่อ พ.ศ.2557

เรื่อง “ขยะ” เล่าเหตุการณ์ในชีวิตของเด็ก 3 คน คือ ราฟาเอล การ์โด และ แรต(จุนจุน) ซึ่งใช้ชีวิตเก็บขยะอยู่ที่เบลาฮา หรือเมืองขยะแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ วันหนึ่ง ราฟาเอลเก็บกระเป๋าสตางค์ใบหนึ่งได้ในกองขยะ ในกระเป๋าใบนี้ นอกจากจะมีเงินถึงพันหนึ่งร่อยเปโซแล้ว ก็ยังมีบัตรประตัวประชาชนของชายชื่อโคเช่ อันเคลีโก แผนที่แผ่นพับ และลูกกุญแจ แต่กระเป๋าใบนี้กลายเป็นต้นเหตุให้ตำรวจท้องถิ่น ต้องยกกำลังมาที่กองขยะแล้วล่อด้วยรางวัลเพื่อจะเอากระเป๋าคืน แต่ด้วยความไม่ไว้วางใจตำรวจ ราฟาเอลกับการ์โดตัดสินใจที่จะเก็บกระเป๋านั้นไว้แล้วนำไปฝากไว้กับแรต ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าที่รูในดงขยะเป็นบ้าน และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กทั้งสามคนช่วยกันหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง

ตำรวจสงสัยราฟาเอล จึงจับตัวไปซ้อมทารุณ ราฟาเอลตัดสินใจยืนยันไม่ยอมรับ จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา กลุ่มเด็กได้ทราบความจริงว่า โคเช่ อันเคลิโก เคยเป็นเด็กกำพร้า ต่อมาได้ทำงานเป็นผู้รับใช้ของวุฒิสมาชิกเฮจิส ซาปันตานานถึง 18 ปี ขณะนั้น วุฒิสมาชิกซาปันตาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี แต่อันเคลิโกถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์มากถึง 6 ล้านดออลลาร์ และในที่สุดก็ถูกฆ่าตายที่สถานีตำรวจ เงินจำนวนมากที่ถูกปล้นออกมานั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการทุจริตคอรับชั่น และเพื่อปิดความลับและไม่ไว้ใจธนาคาร วุฒิสมาชิกซาปันตาจึงสร้างห้องใต้ดินแล้วเอาเงินสดเก็บไว้ที่บ้าน อันเคลิโกที่เป็นคนรับใช้จึงวางแผนขโมยเงินออกมา วุฒิสมาชิกซาปันตาโกรธที่ต้องเสียเงิน และยังต้องเสียชื่อเสียงที่ถูกโจมตีในเรื่องที่มาของเงินจำนวนมากนี้ จึงพยายามที่จะใช้อำนาจตำรวจติดตามเอากลับคืนมา

สำหรับกลุ่มเด็กได้พบว่า ก่อนอันเคลิโกจะถึงแก่กรรม ได้เขียนจดหมายถึงกาเบรียล โอรอนดริช ชายอีกคนที่อยู่ในคุก การ์โดได้ขอให้ซิสเตอร์โอลิเวีย ครูอาสาสมัคร ช่วยพาไปที่คุก เพื่อพบกับโอลอนดริช จึงได้หนังสือไบเบิลเล่มสำคัญ ที่จะนำม่าถอดรหัส ในที่สุดกลุ่มเด็กก็ค้นพบได้ว่า เงินทั้งหมดถูกเก็บไว้ที่สุสานฝังศพประจำเมือง จึงได้ไปนำเงินจำนวนมากนั้นมาโปรยที่กองขยะ เพื่อเป็นการคืนเงินให้กับประชาชนคนยากจน

ใน ค.ศ.2014 วรรณกรรมเรื่องนี้ ได้ถูกดัดแปลงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยสตีเฟน ดาลดรี เป็นผู้กำกับ และริชาร์ด เคอร์ติส เขียนบท นำเอาดาราภาพยนตร์สำคัญ เช่น มาร์ติน ชีน และ รูนีย์ มารา มาร่วมแสดง แต่ภาพยนตร์เปลี่ยนสถานที่ของเหตุการณ์ให้เกิดในบราซิล เพราะลักษณะสังคมบราซิลก็เป็นแบบเดียวกัน คือ มีเด็กจรจัดเป็นจำนวนมาก และประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองกองขยะ แต่โครงเรื่องทั้งหมดยังเป็นไปเช่นเดิม และกลายเป็นหนังนอกกระแสที่มีคุณภาพมากเรื่องหนึ่งของปีนั้น

ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้แรกสุดก็คือ การสะท้อนสังคมเหลี่ยมล้ำ ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของสังคมด้วยพัฒนา จึงมีย่านที่อยู่มหาเศรษฐีควบคู่กับเมืองกองขยะ แม้กระทั่งในสุสานที่เก็บศพ ก็ยังมีการแบ่งแยกเป็นด้านคนรวยกับด้านคนจน ซึ่งมีการใช้พื้นที่อย่างไม่เท่าเทียมกัน แต่นวนิยายเรื่องนี้ เดินเรื่องด้วยตัวละครเด็กเก็บขยะ ที่เป็นชนชั้นต่ำ เป็นคนด้วยโอกาส เป็นเด็กเหลือขอ เป็นบุคคลไร้ค่าของสังคม ถึงขนาดที่ตำรวจที่จับราฟาเอลไปทรมานพูดตอนหนึ่งว่า “คนอย่างมันเกิดมาทำไม” แต่ในเรื่องนี้เล่าให้เด็กเหล่านี้มีสติปัญญา ท้าทาย และทวงคืน สิทธิของตนอย่างน่าสนใจ โดยการนำเงินทุจริตเหล่านั้นกลับมาโปรยบนกองขยะ กลับคืนสู่คนยากคนจน

ปัญหาใหญ่ที่สะท้อนในเรื่องคือ การทุจริตของชนชั้นนำที่สร้างความร่ำรวยให้ตนเองเป็นการทำลายโอกาสของคนยากจนทั้งหลาย รวมทั้งพวกเด็กข้างถนน ตัวละครโอลอนดิชเล่าว่าในเรื่องว่า วุฒิสมาชิกยักยอกเงินช่วยเหลือนานาชาติราว 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตามเงื่อนไขจะเป็นเงินที่รัฐบาลต้องออกเงินสบทบในการช่วยเหลือประชาชนคนยากจน และยังรวมถึงเงินสมทบจากภาคเอกชน หมายความว่าการทุจริตทำให้ประชาชนคนยากจน และเด็กกองขยะต้องเสียโอกาสที่จะมีสวัสดิการ มีการศึกษา อาจจะคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 70 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ยกระดับคนยากจนได้มากมาย ความยากจนและไร้โอกาสของเด็กกองขยะกับความมั่งคั่งจากการทุจริตของชนชั้นนำจึงเป็นสองด้านบนเหรียญอันเดียวกัน

เนื้อหาจากเรื่อง “ขยะ” จึงเป็นเรื่องสะท้อนสังคมไทยได้เช่นกัน ในฐานะที่เป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ประชาชนจำนวนมากอยู่ในระดับยากจน การทุจริตซึ่งน่าจะหมายถึงการนำเงินของรัฐไปใช้อย่างขาดการตรวจสอบของรัฐบาลทหาร เช่น การเอาเงินจำนวนนับพันล้านไปซื้ออาวุธประเภทเรือเหาะ เรือดำน้ำ รถถังสัปปะรังเค รวมทั้งการขยายเพิ่มกำลังพลของกองทัพ ในภาวะของโลกที่ไม่มีแนวโน้มสงคราม ก็เป็นสองด้านของเหรียญที่ทำให้รัฐบาลทหาร จะต้องมาตัดงบสวัสดิการสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ ประกันสังคม โครงการสุขภาพทั่วหน้า เงินด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการลดทอนโอกาส และความใฝ่ฝันของประชาชนคนยากจนทั้งสิ้น

ในโอกาสครบรอบสองปีของการรัฐประหารครั้งนี้ จึงชวนอ่านหนังสือเรื่อง “ขยะ” น่าจะช่วยทำให้เห็นภาพของสังคมเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น

0000

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 566  วันที่ 28 พฤษภาคม 2559

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net