สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 มิ.ย. 2559

 
ก.แรงงานเผยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสูงสุดวันละ 550 บาทมีผล 10 ส.ค.นี้
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการยกระดับทักษะฝีมือให้แรงงานไทยให้มีมาตรฐาน เพื่อให้มีค่าจ้างที่สูงขึ้นและเป็นตามการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่คณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 กระทรวงแรงงานได้นำเสนอมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้วซึ่ง เพิ่มขึ้นอีก 20 สาขาอาชีพใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างไว้แล้ว 35 สาขาอาชีพ โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2559 และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 นี้เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีแผนการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกในระยะต่อไป เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นกำลังแรงงานที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมืออีก 20 สาขาอาชีพ นั้น ค่าจ้างต่อวันต้องเป็นเงินไม่น้อยกว่า ดังนี้ สาขาอาชีพพนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง ระดับ 1 วันละ 360 บาท และระดับ 2 วันละ 430 บาท สาขาอาชีพพนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ 1 วันละ 370 บาท และระดับ 2 วันละ 445 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 1 วันละ 410 บาท และระดับ 2 วันละ 490 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างกลึงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเชื่อมมิก-แม็กสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคพ่นสีตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท
 
สาขาอาชีพพนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท และระดับ 2 วันละ 480 บาท สาขาอาชีพช่างเจียระไนพลอย ระดับ 1 วันละ 420 บาท และระดับ 2 วันละ 550 บาท สาขาอาชีพช่างหล่อเครื่องประดับ ระดับ 1 วันละ 420 บาท และระดับ 2 วันละ 550 บาท สาขาอาชีพช่างตกแต่งเครื่องประดับ ระดับ 1 วันละ 420 บาท และระดับ 2 วันละ 550 บาท สาขาอาชีพช่างฝังอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 วันละ 420 บาท และระดับ 2 วันละ 550 บาท สาขาอาชีพนักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1 วันละ 415 บาท และระดับ 2 วันละ 500 บาท สาขาอาชีพผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 วันละ 360 บาท และระดับ 2 วันละ 430 บาท สาขาอาชีพผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 วันละ 350 บาท และระดับ 2 วันละ 420 บาท และสาขาอาชีพผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 วันละ 340 บาท และระดับ 2 วันละ 410 บาท
 
 
ธนาคารไทยพาณิชย์ปลด จนท.สินเชื่อรถยนต์กว่าครึ่งร้อย สหภาพแรงงานชี้ “บอสใหญ่” เซ็นเอง
 
(9 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากอดีตพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเคยปฏิบัติงานในสาขาพื้นที่ภาคใต้จำนวนหนึ่งว่า ขณะนี้มีอดีตพนักงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารจำนวนมากกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะถูกผู้บริหารเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าตามกฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายเงินโบนัสจากการปฏิบัติงานช่วงกลางปีจำนวนอย่างน้อย 1 เดือน ที่ทุกคนจะต้องได้รับอีกด้วย
 
“พวกเราเพิ่งถูกแบงก์เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยแจ้งให้รู้ตัวช่วงประมาณวันที่ 25 พ.ค. แต่กลับให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ 31 พ.ค.ในทันที พวกเราไม่มีใครตั้งตัวติด ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างนี้ด้วย กระทบไปถึงครอบครัวทุกคนแน่นอน เราไม่คิดว่าสถาบันการเงินที่เป็นที่เชื่อถือของประชาชนใช้วิธีการลดต้นทุนกันแบบนี้ หลังจากนี้ ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่ลูกเมียที่ต้องรับผิดชอบจะอยู่กันได้อย่างไร บางครอบครัวพอกล้ำกลืนเอาตัวรอดไปได้ แต่หลายครอบครัวหน้ามืดตามัวไปตามๆ กัน”
 
อดีตพนักงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาในภาคใต้ กล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบเวลานี้แบงก์เลิกจ้างพนักงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 50 ตำแหน่ง ในส่วนของภาคใต้มีนับสิบตำแหน่ง เท่าที่ทราบตอนนี้ใน จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ถูกเลิกจ้างเท่ากัน 5 ตำแหน่ง ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี 2 ตำแหน่ง โดยสิ่งที่ผู้บริหารแบงก์ทำ คือ ใช้วิธีเสนอแกมบังคับว่าจะเขียนจดหมายลาออกเอง หรือจะให้ใช้มาตรการเลิกจ้าง ซึ่งหากเลือกอย่างหลังอาจจะทำให้เสียประวัติได้
 
“หลายคนยินยอมทำหนังสือลาออกให้ แล้วมีการเซ็นชื่อรับเงินชดเชยไปบางส่วนแล้วด้วย แต่ก็มีอดีตพนักงานแบงก์ที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากยังไม่ยอมเซ็นให้ ซึ่งก็แทบไม่มีผลอะไร เพราะผู้บริหารใช้วิธีแจ้งให้ไปรับเงินชดเชย อีกทั้งพวกเราก็ไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่อะไรได้อีกแล้ว ที่น่าเจ็บใจคือ ทำไมต้องรีบเลิกจ้างพวกเรา ทั้งที่หากได้ปฏิบัติงานถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ในวันที่ 25 มิ.ย.พนักงานจะได้รับโบนัสกลางปีอีกอย่างน้อยคนละ 1 เดือน ทำไมต้องใช้วิธีการแบบนี้ด้วย”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังจากที่ฝ่ายบริหารแจ้งเรื่องการเลิกจ้างพนักงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ในวันที่ 25 พ.ค.นั้น ถัดมาเพียง 2 วัน คือ ในวันที่ 27 พ.ค. นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทำหนังสือที่ สร.ธทพ.7/2559 ส่งถึง นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อแจ้งเรื่องขอให้ยกเลิกนโยบายเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อพนักงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ พร้อมกันนั้น ยังได้ส่งคู่ฉบับแจ้งไปยัง นายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
 
ด้วยสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ภาคใต้ และภาคเหนือที่มีผลกระทบกรณีผู้บริหารสายงานสินเชื่อรถยนต์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีการบังคับลงลายมือชื่อให้ทำหนังสือลาออกโดยพนักงานไม่ยินยอม และยังมีพนักงานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่ถูกผู้บริหารหน่วยงานแจ้งให้พนักงานกลุ่มนี้ไม่ต้องมาปฏิบัติงาน อีกทั้งยังแจ้งให้มีผลสิ้นสุดการเป็นพนักงานภายในวันที่ 1 มิ.ย.2559
 
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งเงินชดเชยในกรณีเลิกจ้างก็ไม่ได้ระบุให้พนักงานรับทราบ ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ขอให้ท่านยกเลิกนโยบายดังกล่าวทันทีเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธนาคาร
 
อีกทั้งสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับทราบว่า ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้ลงนามให้มีการเลิกจ้างกลุ่มพนักงานสินเชื่อรถยนต์โดยตรง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบ และฟ้องร้องท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ และธนาคารต่อศาล ในกรณีที่ธนาคารยืนยันการเลิกจ้างดังกล่าว
 
สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ จึงขอเรียนมายังท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้โปรดยกเลิกนโยบายดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งต่อชื่อเสียงของท่าน และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ยึดถือ และยึดมั่นในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่จะพิจารณา และยกเลิกนโยบายดังกล่าวในทันที
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนึ่งในเจ้าหน้าที่การตลาดสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาในภาคใต้ที่ถูกเลิกจ้าง และกำลังเดือดร้อนหนักให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ถูกแบงก์เลิกจ้างอย่างไมเป็นธรรมในครั้งนี้จำนวนหนึ่งกำลังปรึกษาหารือกันว่า จะเดินหน้าไปขอพึ่ง หรือไปร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานไหนได้บ้าง และเป็นไปได้ที่อาจจะมีการรวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน กรณีถูกแบงก์เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งหลายคนเห็นร่วมกันว่า ถ้ามีช่องทางไหนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ก็จะทำ
 
 
"ลูกจ้าง บ.ไทเกอร์ฯ" ยื่นขอชดเชย 26 ราย
 
นายชัยวัฒน์ ทิพย์ลมัย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(สสค.) จังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า กรณีบริษัทไทเกอร์ เทมเพิล จำกัด ซึ่งจัดการแสดงสัตว์อยู่ภายในวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรีได้แจ้งเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอยู่ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.นั้น สสค.จังหวัดกาญจนบุรีได้ประสานงานกับประกันสังคมจังหวัดกาญจนบุรีพบว่าบริษัทฯมีลูกจ้าง 72 คน และไม่มีค่าจ้างค้างจ่ายทั้งนี้ จากการที่สสค.เข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างได้มีลูกจ้างลาออกเอง และไม่เขียนคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 46 คนและมีลูกจ้าง 26 คน ที่เขียนคำร้องเพื่อขอรับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งกรณีขอค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินชดเชยตามอายุงาน โดยสสค.จะเรียกนายจ้างมาชี้แจงข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดการจ้างงานของลูกจ้างแต่ละคนทั้ง 26 คนโดยเร็วที่สุด และจะออกหนัง สือคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานภายใน 30 วัน
 
 
กรมการจัดหางานเตือนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ หลัง 22.30 น.
 
กรมการจัดหางานแจ้งเตือนแรงงานไทยที่ทำงานในสิงคโปร์ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในที่สาธารณะ สวนสาธารณะและพื้นที่ส่วนกลางของพื้นที่อาศัยของรัฐ หลังเวลา 22.30 - 07.00 น. หากฝ่าฝืนมีโทษปรับประมาณ 2,500 บาท หากกระทำผิดซ้ำอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 เดือน หากกระทำผิดในเขตควบคุมสุรา จะต้องโทษสูงกว่าโทษพื้นฐานมากกว่า 10 เท่า
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่า ขณะนี้ประเทศสิงคโปร์ออกกฎหมายเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในที่สาธารณะ สวนสาธารณะและพื้นที่ส่วนกลางของพื้นที่อาศัยของรัฐ หลังเวลา 22.30 - 07.00 น. โดยเฉพาะในย่านลิตเติ้ลอินเดีย และเกย์ลัง ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสุรา ทั้งนี้ อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะในบริเวณสถานที่ เช่น ผับ/ดิสโก้ หรือร้านอาหารเท่านั้น หรือหากซื้อจากร้านค้า/ร้านอาหารในตึกโกลเด้นมายคอมเพล็กต้องซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายจาก NEA/PLRD และอนุญาตให้ดื่มได้ภายในร้านเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษปรับประมาณ 2,500 บาท หากกระทำผิดซ้ำอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 เดือน หากกระทำผิดในเขตควบคุมสุรา จะต้องโทษสูงกว่าโทษพื้นฐานมากกว่าถึง 10 เท่า ส่วนร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาห้ามขาย มีโทษปรับไม่เกิน 250,000 บาท ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด เป็นลำดับที่ 4 รองจาก ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี และ ญี่ปุ่น โดยในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา มีคนหางานที่เดินทางไปทำงานประเทศสิงคโปร์ จำนวน 41,302 คน จำแนกเป็น ปี 2559 (มกราคม-พฤษภาคม) จำนวน 3,254 คน ปี2558 จำนวน 7,265 คน ปี2557 จำนวน 8,191 คน ปี 2556 จำนวน 10,728 คน และปี2555 จำนวน 11,864 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง ตำแหน่งช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ในอุตสาหกรรมวางท่อก๊าซและน้ำมัน
 
กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยทั้งที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์และกำลังจะเดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ ควรปฏิบัติตามกฎหมายประเทศสิงคโปร์อย่างเคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยง การกระทำผิดกฎหมายเนื่องจากสิงคโปร์มีการกำหนดบทลงโทษรุนแรงและเข้มงวด นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้สภาพสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ และวัฒนธรรมของประเทศสิงคโปร์ด้วย
 
 
สำนักงานประกันสังคมเตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น แก้ไขกฎหมายขยายอายุเกษียณ-เพิ่มเงินสมทบ
 
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการขยายอายุเกษียณ และเพิ่มเงินสมทบเพื่อสร้างความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคม ว่า ขณะนี้คณะทำงานของ สปส.ได้มีข้อสรุปว่า ควรให้มีการปรับการกำหนดอายุเกษียณและการเพิ่มอัตราเงินสมทบให้เป็นไปอย่างยืดหยุ่น โดยเสนอให้แก้ไข พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม พ.ศ 2558 ที่ปัจจุบันกำหนดอายุเกษียณของผู้ประกันตนไว้ที่ 55 ปี และกำหนดอัตราเงินสมทบของฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างฝ่ายละ ร้อยละ 5 และฝ่ายรัฐร้อยละ 2.5 ให้เปลี่ยนเป็นไม่กำหนดตัวเลขอายุเกษียณและอัตราเงินสมทบที่แน่นอน โดยให้ออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดภายหลัง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  .ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่เสนอให้ขยายอายุเกษียณและเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพให้มากกว่าปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3 ทั้งนี้ เบื้องต้นมีแนวคิดจะขยายอายุเกษียณเป็นแบบขั้นบันได
 
เลขาธิการฯ. สปส. เชื่อว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะช่วยให้การกำหนดอายุเกษียณเป็นไปอย่างยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะเดิมมีการกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างตายตัว แต่ทั้งนี้การที่จะกำหนดอายุเกษียณและเพิ่มอัตราเงินสมทบจะต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน
 
นายโกวิท กล่าวอีกว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ สปส.จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อระดมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสรุปข้อมูล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาต่อไป
 
 
กนร.เคาะปรับขั้นตอนขอใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว
 
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่กระทรวงแรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ กกจ. เสนอขอปรับเปลี่ยนขั้นตอนการออกใบอนุญาตทำงาน โดยให้แรงงานนำเอกสารยืนยันการนัดหมายตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลมายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงาน จากนั้นเมื่อได้ผลการตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้วให้นำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด จากเดิมที่ต้องรอให้ผลออกเรียบร้อยแล้วจึงจะนำมายื่นดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ โดยตั้งเป้าจะศึกษาและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ติดตามของแรงงานต่างด้าวและบุตรของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง และคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายรองรับการรับอนุสัญญาไอแอลโอฉบับดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและส่งกลับแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน โดยเบื้องต้นจะนำร่องที่ จังหวัดตาก สระแก้ว และหนองคาย ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน เพื่อสร้างความเข้าใจกับนายจ้างและชี้แจงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แรงงานต่างด้าวรับทราบ ป้องกันปัญหาแรงงานบังคับที่อาจนำไปสู่กระบวนการการค้ามนุษย์ได้ และมีมติให้ตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว โดยจะประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เอ็นจีโอและหน่วยงานต่างๆ เบื้องต้นจะตั้งขึ้นในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก คือ จังหวัดสมุทรสาคร ระนอง และชลบุรี จุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รับร้องทุกข์ เป็นศูนย์กลางให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาขอความช่วยเหลือ
 
นายอารักษ์กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำแนวปฏิบัติ ในการตรวจบัตรสีชมพูและใบอนุญาตทำงาน ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันและตรวจสอบการปลอมแปลงบัตรสีชมพู แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่พบปัญหาดังกล่าว รวมทั้งยังให้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงบัตรสีชมพูและใบอนุญาตทำงานใหม่ เพื่อให้มีรูปแบบที่ทันสมัย ตรวจสอบได้ง่าย โดยคาดว่าภายใน 2 เดือนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ทั้งนี้ สำหรับยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพู ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และกลุ่มที่ถือเอกสารประจำตัวบุคคลซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางออกให้ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 3 ล้านคน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 29 กรกฎาคม ว่า ยอดการจดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีนายจ้างจำนวน 144,967 คน นำต่างด้าวมาจดทะเบียน จำนวน 494,030 คน เป็นแรงงานจำนวน 482,898 คน เป็นผู้ติดตาม จำนวน 11,132 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นสัญชาติพม่า จำนวน 277,262 คน สัญชาติลาว จำนวน 31,312 คน สัญชาติกัมพูชา จำนวน 185,456 คน
 
 
ผู้ว่าฯ โคราชบุกช่วยต่างด้าวถูกนายจ้าง รง.ไก่กดขี่หักเงินเกิน กม.กำหนด-ที่พักอาศัยห่วย
 
(13 มิ.ย.) ที่โรงงานผลิตไก่แช่แข็งส่งออก บริษัท บีบีเอ็ม อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 253 ม.3 ต.ขามทะเลสอ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด แรงงานจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวและติดตามความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงของนายจ้าง
 
จากกรณีเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่ากว่า 30 คนเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาว่า บริษัท บีบีเอ็ม อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 253 ม.3 ต.ขามทะเลสอ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ผลิตไก่แช่แข็งส่งออก ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับความเดือดร้อน จากการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของนายจ้าง
 
หลังลงพื้นที่ตรวจสอบ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จริง ไม่ว่าจะเป็นการหักค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม จึงได้เข้าช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวตามสิทธิที่แรงงานต่างด้าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับทางบริษัทก็ยินยอมที่จะคืนเงินในส่วนที่หักเงินจากลูกจ้างเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ครบทุกคนภายในระยะเวลา 15 วัน และปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ
 
ส่วนเรื่องร้อนเรียนเรื่องความเป็นอยู่ที่พักของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกสุขลักษณะนั้น จากการลงไปตรวจสอบพบเป็นบ้านพักสวัสดิการที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ให้ แต่เมื่อมีแรงงานอยู่กันเป็นจำนวนมากจึงทำให้เกิดความไม่สะอาด จึงได้สั่งการให้สาธารณสุขอำเภอขามทะเลสอเข้าไปดูแลและออกข้อแนะนำให้ทางบริษัทไปดำเนินการแก้ไข สำหรับบริษัท บีบีเอ็ม อินเตอร์ฟู้ด จำกัด มีแรงงานทั้งสิ้น 239 คน เป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 200 คน
 
 
กระทรวงพาณิชย์ พร้อมขยายร้านหนูณิชย์ฯ เข้าโรงงาน มั่นใจข้าวปิ่นโตร้านสะดวกซื้อ ไม่กระทบร้านข้าวแกง
 
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในสัปดาห์หน้า จะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้ง สภาแรงงาน เพื่อสรุป และดำเนินการนำเอาร้านหนูณิชย์ ไปจำหน่ายข้าวแกงราคาถูกไม่เกินจานละ 35 บาท ภายในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และยังคงมั่นใจว่า ร้านข้าวแกงต่างๆ รวมทั้งโครงการหนูณิชย์ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ได้มีการโปรโมชั่นในการทำข้าวปิ่นโตเพราะส่วนใหญ่ยังคงต้องการบริโภคข้าวแกงที่มีความสดใหม่ และหลากหลาย ในราคาไม่แพง ขณะที่ ข้าวปิ่นโตดังกล่าวน่าจะเป็นทางเลือก สำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้สูง และทำงานในเมืองมากกว่า
 
และสำหรับร้านหนูณิชย์พาชิม ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะนี้ เปิดแล้วมากกว่า 11,000 ร้านทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มขยายได้อย่างต่อเนื่อง
 
 
"ซูจี" เดินทางเยือนประเทศไทย ใน 23-25 มิ.ย นัดหารือบันทึกความร่วมมือด้านแรงงาน
 
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา จะเดินทางเยือนประเทศไทย ในวันที่ 23-25 มิ.ย.59 ซึ่งจะมีการหารือถึงบันทึกความร่วมมือด้านแรงงาน โดยที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาพร้อมอนุมัติให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนาม ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้พล.อ.ศิริชัย เป็นผู้ลงนามในเอกสารทั้งสองฉบับ
 
พล.ต.วีรชนกล่าวอีกว่า หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยและไม่ขัดกับหลักการที่ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอครม.ทราบภายหลังตามหลักเกณฑ์ของมติครม.เมื่อวันที่ 30มิ.ย.58 เรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศในการลงนามครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงจังและความจริงใจของไทย ในการร่วมกันแก้ปัญหาแรงงานปัญหาการค้ามนุษย์และการแก้ไขปัญหาสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ อย่างมีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
 
 
แรงงานเปิดขึ้นทะเบียนคนว่างงานผ่านเน็ต
 
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวความคืบหน้าการเปิดขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ว่า ขณะนี้ กกจ.เปิดให้บริการขึ้นทะเบียนว่างงานกรณีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้างหรือลาออก ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาทาง http://empui.doe.go.th/auth/index เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดขั้นตอน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการที่สำนักงาน โดยใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชนในการเข้าสู่ระบบซึ่งตรวจสอบข้อมูลจากกรมการปกครองเพื่อยืนยันตัวบุคคล อีกทั้ง ยังสามารถออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน สำหรับใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตในการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้อีกด้วย
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้ประกันตนเดินทางมาขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเฉลี่ยวันละประมาณ 3,000 คนทั่วประเทศ หากคิดจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 100 บาท จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงวันละกว่า 300,000 บาท หากคิดเป็นเดือนจะประหยัดได้เดือนละกว่า 9 ล้านบาท สำหรับจำนวนผู้ประกันตนที่เข้ามาใช้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม-15 มิถุนายน ที่ผ่านมามีจำนวน 6,695 ราย เป็นชาย 2,639 ราย เป็นหญิง 4,056 ราย
 
 
กลุ่มบุคคลไร้สัญชาติวอนกระทรวงแรงงานขยายการอนุญาตขอบเขตการประกอบอาชีพให้เพิ่มมากขึ้น
 
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายสันติพงษ์ มูลฟอง ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล นำคณะบุคคลไร้สัญชาติที่ประสบปัญหาในเรื่องการทำงาน ตัวแทนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ จำนวนกว่า 30 คน มายื่นหนังสือถึง นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เพื่อขอความช่วยเหลือ จากกรณีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดงานหรือการประกอบอาชีพ ของคนไร้สัญชาติ เพื่อให้ได้สิทธิทำงานอย่างถูกต้อง ตามมาตรา 13 ของ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ) การทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุญาตให้คนไม่ใช่สัญชาติไทยประกอบอาชีพได้ตามที่กำหนด 27อาชีพเท่านั้น
 
นายสันติพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติจำนวนกว่าแสนคนในจังหวัดเชียงใหม่ และในพื้นที่อื่นอีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 79,000 คน ซึ่งเมื่อต้องออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาตออกจากพื้นที่เพื่อศึกษาตามหลักสูตร
 
สำหรับบุคคลไร้สัญชาตินี้มีจำนวนมากที่จบการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ในสาขาต่างๆ เช่น วิศวกร พยาบาล นิติศาสตร์ ครู แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะไม่มีสัญชาติไทย และไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ แม้ปัจจุบันจะผ่อนผันให้ออกนอกอำเภอได้ แต่ไม่ให้ออกนอกเขตจังหวัดก็ตาม จึงอยากขอให้มีการผ่อนผันให้สามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ เพราะเนื่องจากเกรงว่า ถ้ามีกี่ปิดกันโอกาสของเยาวชนไร้สัญชาติที่มีคุณภาพ ต่อไปในอนาคตคนรุ่นกลุ่มนี้จะไม่เข้ามาสู่ระบบการศึกษา หรืออาจหันไปประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมายได้
 
ขณะที่นาย ยอด ปอง อายุ 27 ปี บุคคลพื้นที่สูงชาติพันธุ์ปะหล่อง ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ที่ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เล่าให้ฟังว่า ตนจบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนนาฏยสังคีต มหาวิทยาลัยบูรพา และได้รับใบประกอบวิชาชีพครูเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แต่อีก 5 เดือน ใบอนุญาตออกนอกพื้นที่จะครบกำหนด จึงจะทำให้ตนไม่สามารถประกอบอาชีพได้อีก จึงอยากขอร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีสถานะประกอบอาชีพได้เพิ่มมากขึ้น
 
ด้าน นายอารักษ์ กล่าวยืนยันว่า จะให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยเบื้องต้นจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ และอาจจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือน จะมีความชัดเจน ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
 
บุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ หากสามารถช่วยเหลือนำเข้าสู่ระบบการทำงานได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานของประเทศได้ “อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท