รมว.ยุติธรรม หาทางยกเลิก 'เมทแอมเฟตามีน' จากบัญชียาเสพติด ชี้อันตรายน้อยกว่าเหล้าบุหรี่

ที่มาภาพ เพจ Ministry of Justice, Thailand 

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ศาลฏีกา ร่วมกับสำนักกิจการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมประชุมเรื่อง ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด( UNGASS ) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมี วีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดการประชุม

ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า มีแนวคิดทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ ทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้งที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว 

มว.ยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุม UNGASS ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เรียกร้องให้คำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน เช่น อันตรายของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนที่มีต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม บทบาทของผู้กระทำผิด มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก หลายประเทศนำแนวคิดของประเทศไทยไปใช้ แต่ในไทยทำไม่ได้เพราะติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าไม่แก้กฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ ตนจึงผลักดันให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา กฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัด แต่ที่ผ่านมาการบำบัดทำไม่ได้ ติดขัดที่กฎหมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีนจากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์ เมทแอมเฟตามีนมีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุรา แต่สังคมกลับยอมรับบุหรี่และสุรา หลังจากนี้จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด

“ปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำคุกหรือปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ โดยให้พิจารณาเป็นรายกรณีและขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์, เดลินิวส์ และเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท