Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เป็นที่ฮือฮาที่ คสช.ออกคำสั่งกำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี แต่ยังมีคำถามว่าคำสั่งนี้จะมีผลอย่างไรและมีผลไปนานแค่ไหนกันแน่

จะพิจารณาเรื่องนี้อาจเริ่มจากคำชี้แจงของท่านรองนายกฯวิษณุ เครืองาม ที่ปรากฏในสื่อมวลชนที่ชี้แจงว่า ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เรียนฟรี ตามการศึกษาภาคบังคับ12 ปี ทำเกินจากนั้นได้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.   

ตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ได้ชี้แจงว่าไม่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายการศึกษาภาคบังคับคือประถมศึกษา 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี รวมเป็น 9 ปี ส่วนกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ที่ใช้กันอยู่ กำหนดไว้12 ปี รวมไปถึงมัธยมปลาย 3 ปีด้วย แต่รัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์ถึงเพื่อไทย มีนโยบายกำหนดให้เป็น 15 ปี เพิ่มจากภาคบังคับ 9 ปี คือช่วงอนุบาล 3 ปี และ มัธยมปลายอีก 3 ปี จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มีข้อถกเถียงมาโดยตลอด รวมถึงคำว่าเรียนฟรีนั้น ฟรีค่าอะไรบ้าง จากเดิมที่เป็นค่าเล่าเรียน ต่อมาก็มีค่าอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ค่าอาหาร ทุกอย่างต้องวัดดวงที่นโยบายของแต่ละรัฐบาล ซึ่ง คสช. มีความเป็นห่วงในส่วนนี้ และจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้เรียนฟรี 15 ปี เมื่อในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้เรียนฟรี 12 ปี ก็มีการโวยวายกัน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเรียนฟรี 15 ปี เป็นนโยบายรัฐบาล ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่ คสช.เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ในคำสั่งนี้จึงเป็นคำสั่งฉบับแรกที่อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอื่นด้วย และเพื่อเป็นหลักประกันว่านโยบาย เรียนฟรี 15 ปีจะมีการใช้ต่อไป ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ จึงทำเป็นคำสั่งออกมา แต่รู้ว่าคำสั่งไม่ยั่งยืน จึงสั่งไว้ด้วยว่าให้จัดทำ พ.ร.บ.เกี่ยวกับเรื่องนี้เสนอเข้า ครม.ใน 6 เดือน โดยจะมีรายละเอียดทั้งหมดว่าได้ค่าอะไรบ้าง

คำถามง่ายๆที่ต้องถามก็คือ ตกลงรัฐบาลเห็นว่าในร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี ถึง ม.3 เท่านั้น หรือกำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี ถึง ม.6และ ปวช. ถ้ากำหนดให้ถึง ม.6 อยู่แล้ว การออกคำสั่งก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ครอบคลุมเพียง ม.3 การออกคำสั่งนี้อาจมีผลในเวลานี้ เพราะคำสั่ง คสช.อยู่เหนือกฎหมาย หักล้าง พ.ร.บ.การศึกษาทั้งหลายได้ทันที

แต่ปัญหาก็คือหากร่างฯนี้ผ่านจนมีผลบังคับใช้ คำสั่ง คสช.หรือกฎหมายที่ไปปรับปรุงตามคำสั่งนี้จะยังมีผลต่อไปหรือไม่ น่าเป็นห่วงคือเมื่อถึงเวลานั้น หากมีการตีความกันขึ้นเช่นผู้ทีเขาพึงได้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอย่างเช่นเด็กเล็ก เด็กอนุบาลหรือเด็ก ม.ต้นได้รับการดูแลไม่เพียงพอก็อาจเรียกร้องให้มีการตีความ คำสั่งนี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญและถ้ารัฐบาลใดทำตามคำสั่งนี้ก็อาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญได้

พูดง่ายๆอีกแบบคือถ้าไม่ต่างกันหรือขัดกันก็ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่ง แต่ถ้าต่างกันคำสั่งก็จะไม่มีผล

ทำไมเรามาอยู่ในจุดนี้ ผมคิดว่าสาเหตุสำคัญมาจาก กรธ.ชุดนี้มีความคิดแปลกๆของตนเองหลายเรื่องรวมทังเรื่องเรียนฟรีนี้ด้วย จึงได้ร่างกันมาตามความคิดของตน ไม่ใช่เรื่องหลงลืมหรือมองข้าง แต่เขามีหลักคิด วิธีคิดของเขาอย่างนั้นจริงๆ มีคนท้วงกันไม่น้อย ก็ไม่ฟัง ส่วน คสช.นั้น นอกจากไม่ได้ฟังความเห็นผู้ทักท้วง เห็นเป็นเสียงนกเสียงกาแล้ว ยังให้ความสนใจแต่เรื่องโครงสร้างอำนาจ เวลาส่งข้อเสนอให้ กรธ.จึงมีแต่เรื่องเชิงอำนาจเช่นที่มาของ สว.และอำนาจของ สว.ในการเลือกนายกฯเป็นต้น ไม่มีเรื่องการศึกษา

พอมีเสียงวิจารณ์กันมากจนกระทั่งกลัวว่าเรื่องเรียนฟรีแค่ 12 ปีนี้จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในการลงประชามติ จึงมาหาทางออก ซึ่งก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาจริง คำสั่งที่ออกมานี้ยังจะมีปัญหาอยู่มากรวมทั้งอาจเกิดปัญหาใหม่ๆในทางปฏิบัติ เช่นทำไม่ได้จริงเพราะภาระจะมากขึ้นมาก ไม่มีเงินพอ ดูแลไม่ทั่วถึงและอาจไม่สามารถดูแลเอกชนที่จัดการศึกษาได้เพียงพอเป็นต้น ทั้งนี้ก็เกิดจากการรีบๆออกคำสั่งโดยไม่ได้ศึกษาหรือปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องให้ดีเสียก่อน

แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดก็คงเนื่องมาจากมุ่งที่จะใช้คำสั่งนี้มาแก้ปัญหาร่างรัฐธรรมนูญมีคนไม่เห็นด้วยมากขึ้นทุกที แต่การทำแบบสุกเอาเผากินหรือขอไปทีแบบนี้ก็อาจไม่ทำใหๆ้ร่างรัฐธรรมนูญดูดีขึ้นอย่างที่ต้องการด้วย

คำถามสุดท้ายที่ต้องถามคือสมควรหรือไม่ที่ คสช.จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของตนมาเที่ยวอุดช่องว่างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญล่วงหน้าทั้งๆที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ระหว่างการทำประชามติและยังไม่รู้เลยว่าจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net