Skip to main content
sharethis

คุยกับ ศศิน เฉลิมลาภ คนเคยเดินต้านเขื่อนแม่วงก์ ถกมุมมองต่อขบวน Walk for Rights ของอีสานใหม่ ถามความเห็นเรื่องสิทธิอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลังรัฐประหาร และสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญ

หากนับจากวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกจนถึงวันนี้ก็กินเวลาไปราว 1 ใน 3 ของการเดินทางของขบวน Walk for Rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่ พวกเขามีจุดมุ่งหมายในการเดินเป็นระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร ระยะเวลา 35 วัน เพื่อเป็นการเชื่อมร้อยชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งเป็นการเดินเพื่อเปิดปมปัญหาต่างๆ เหล่านั้นให้ผู้คนได้รับรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบกับชาวบ้านที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารโดย คสช.

ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกเดิน จนถึงทุกวันนี้ พวกเขาถูกเฝ้าจับตามองโดยเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเส้นทาง แต่ยังไม่ปรากฎว่ามีการสั่งห้ามให้หยุดเดินแต่อย่างไร ราว 11 วันที่ผ่านมาพวกเขาเดินผ่านพื้นที่ต่างๆ พูดคุย แลกแปลกสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่ เขาเดินผ่านพื้นที่ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ(เขื่อน)โป่งขุนเพชร ผ่านพื้นที่พิพาทการประกาศเขตอุทยานและป่าสงวนต่างๆ และล่าสุดพวกเขากำลังอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่จังหวัดเลย

ในมุมมองของคนเดิน กับมุมมองของคนเฝ้าติดตามอยู่ภายนอก อาจจะมีหลายสิ่งที่มองเห็นแตกต่างกันออกไป และคงเป็นไปได้ยากที่จะมีเป้าหมายตรงกันทั้งหมด แต่กับหลักการพื้นฐาน ศศิน เฉลิมลาภ ยังคงยืนยันว่า คนเราควรมีสิทธิในการแสดงออก และนี่คือบทสัมภาษณ์มุมมองของเขาต่อขบวนเดิน Walk for Rights และสถานการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลังการรัฐประหาร รวมทั้งมองยาวไปถึงร่างรัฐธรรมนูญกับสิทธิชุมชน

00000

ในฐานะคนที่เคยเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยการเดินมาก่อน มองปรากฎการณ์ Walk for Rights ของอีสานใหม่ ในครั้งนี้อย่างไรบ้าง

ผมนึกถึงขบวน Walk for Rights เทียบกับขบวนเดินด้วยรักของปากบารา มากกว่า ซึ่งผมก็ไปร่วมเดินกับขบวนเดินด้วยรักหลายวันอยู่ แล้วก็เข้าไปรับรู้ขบวนเขาพอสมควร คือว่าการเดินครั้งนั้นมันได้เดินที่จะพุ่งเป้ามาที่รัฐบาลอย่างเดียว มันเป็นการเดินเพื่อที่จะทดสอบการจัดกระบวนการ และทดสอบจิตใจของพี่น้อง อีกอันหนึ่งก็คือเป็นการให้ข้อมูลว่า มันมีปัญหาอะไรบางอย่างกับคนในภูมิภาคเดียวกัน อย่างที่จะนะเขาเดินเอาทรายจากคาบสมุทรอันดามัน เอามารวมกับทรายที่คาบสมุทรอ่าวไทย เขาเดินในเชิงลักษณ์ และระหว่างที่เดินก็มีการให้ข้อมูลข่าวสารกับคนที่อยู่ในเส้นทาง ซึ่งขบวนการของจะนะเขาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของเขาคือ ทำให้ขบวนเข้มแข็ง ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้น และได้สื่อสารกับคนเมืองที่หาดใหญ่พอสมควร แต่เป้าหมายที่ไปเดิน ไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะเรียกร้องกับคู่ขัดแย้ง หรือคู่กรณีโดยตรง

ส่วนที่ผมเดินมันต่างกัน ตรงที่ผมพุ่งเป้าเข้ามาที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลที่ผมสนใจถูกส่งออกไปในสาธารณะ เป้าหมายของผมคือการสื่อสารสาธารณะ และฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งของผมก็คือ นโยบายของรัฐบาลโดยตรง ส่วนของอีสานใหม่ ถ้าเทียบเคียงอาจจะคล้ายกับของเดินด้วยรักที่ปากบารา อำเภอจะนะ มากกว่า เพราะพลังของการขับเคลื่อนและรูปแบบของมัน มันจะไปเป็นเรื่องการสร้างเสริมแนวร่วม สร้างความเข้มแข็งแบบนั้นมากกว่า

แสดงว่ายังมองไม่เห็นการสื่อสารปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่ขบวนเดินผ่านไป

ใช่ อย่างของผม ผมไม่ได้เรียกร้องให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนนะ ผมเรียกร้องแทนธรรมชาติ แทนสัตว์ป่า ดังนั้นตัวผมเป็นทั้งสื่อ และเป็นสารด้วย ความเป็นสารคือ นายศศินเนี่ยเป็นสารที่ส่งไป ส่วนตัวสื่อผมเล่นเฟซบุ๊กตลอดเวลา แม้ผมจะไม่ต้องมีคนมาเดินทางขบวนผมมากนัก แต่เมื่อเดินถึงปุ้ปมีคนมารับ มีสื่อมาทำข่าว ผมถือว่าผมสำเร็จ ประเด็นของผมคือ ผมได้สื่อสาร ว่าพื้นที่นั้นมันมีความสำคัญอย่างไร มีคนมาสนใจ น้ำหนักที่ผมจะไปต่อรองกับอำนาจรัฐก็มากขึ้น

แต่ขบวนของทั้งเดินด้วยรัก และของอีสานใหม่ ประเด็นเรื่องการสื่อสารสาธารณะ ผมคิดว่ายังไม่ชัด แต่ในแง่ของการสื่อสารกับชาวบ้านผมคิดว่าอันนี้ชัด มันก็จะมีความต่างของเป้าหมายกันอยู่

อย่างกรณีผม ผมมองว่าตัวเองเป็นนักยุทธศาสตร์ ผมเป็นนักสื่อสาร แต่ที่สำคัญผมไม่ได้ทำขบวนนะ ผมไม่ต้องรับผิดชอบใคร ขบวนมันเกิดขึ้นเอง และไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ผมต้องดูแล เงื่อนไขของการเดินวันละ 30 กิโลเมตรของผมตอนนั้น ผมต้องการให้สาธารณะเห็นความตั้งใจของปัจเจกของผม อาจจะถือว่าเป็น วีรชนเอกชน อย่างไรก็ช่าง แต่มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นคนละแนวทางกับของอีสานใหม่ พูดว่าผมเป็นวีรชนเอกชนก็ได้ เอาตัวเองขึ้นมาเพื่อสัญลักษณ์ ฉะนั้นภาพผมที่ออกมา ผมไม่ต้องปิดบังว่าผมเหนื่อย ผมบาดเจ็บ ผมต้องการอุปสรรค เพื่อให้มันเกิดการเรียกร้องต่อสาธารณะ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าหากไม่ตั้งใจจริงเราไม่มาทำตัวเองให้ลำบากอย่างนี้หรอก ฉะนั้นผมต้องการความลำบาก แล้วผมก็รับผิดชอบตัวผมเองคนเดียว แต่พอมีการทำขบวนมันก็จะมีความลำบากมากขึ้น

แม้ผมจะยังไม่ชัดเจนถึงเป้าหมายของอีสานใหม่ แต่ผมเห็นว่าแสดงออกด้วยวิธีการแบบนี้การเรียกร้องแบบนี้เป็นสิทธิ แม้ว่าผมอาจจะเห็นด้วย 50 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่เห็นด้วยกับอีสานใหม่เลย แต่สิ่งที่ต้องยืนยันก็คือ คนควรมีสิทธิแสดงออก มันต้องมีพื้นที่ให้เขาแสดงออก ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่ควรจะไปปิดกั้นสิทธินี้ของประชาชน

นั่นหมายความว่า การเดิน เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีพลังอยู่ในยุคนี้

ผมโตมา ผมก็เห็นเขาเดินขบวนกัน ตอนนี้ผมอายุ 48 ตอน 14 ตุลา 2516 ผมอายุ 5 ขวบ ผมก็ได้ยินว่ามันมีการเดินขบวน เดินขบวนต่อต้านอเมริกา ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น มันมีการเดินขบวนเต็มไปหมด มันเป็นศัพท์ที่คุ้นหูมาก การเดินขบวนเนี่ย พอผมโตมาผมก็เห็นการเดินขบวนมาตลอด เว้นแต่ช่วงที่ประเทศเราเป็นเผด็จการ

แต่พอมาถึงยุคพฤษภา เขาไม่ใช่การเดินขบวน เขาใช้การอดอาหารประท้วง โกนผม เคยมีการขู่เผาตัวเองของกรรมกรตามโรงงาน ซึ่งมันก็ไม่ส่งผลสะเทือนนะ เพราะคนมองว่ามันเป็นเรื่องของคุณ คุณจะทำอะไรก็ทำไป การเคลื่อนไหวที่จะทำอะไรให้เกิดขึ้นมามันต้องทำให้คนเห็น ตอนนั้นพฤษภาก็มีการเคลื่อนขบวน คือมันต้องมีการเดิน มันต้องมีแอคชั่นบางอย่าง มันเป็นเทคนิค การที่เราจะนั่งอยู่เฉยมันไม่ความเคลื่อนไหว การเดินมันเป็น movement คือถ้าคุณเลือกว่าจะเดินคนจะสนใจว่าที่สุดแล้วคุณจะไปไหนต่อ

จนมาถึงยุคหลัง นปช. กปปส. มันก็มีการเดิน เดินเข้าไปปิดทำเนียบ เดินแห่โลงศพ เดินไปทั่วกรุงเทพตอน กปปส. ฉะนั้นการเดินมันเป็นพื้นฐานที่สุด

หากดูจากบริบททางการเมือง บรรยากาศทางการเมือง การเดินของอีสานใหม่ตอนนี้ กับการเดินของอาจารย์ครั้งที่ผ่านมามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ของผมง่ายกว่า เสรีภาพมันเยอะกว่า อำนาจที่ใครจะมาจับกุมคุมขังผม ผมก็ดีดดิ้นได้มากกว่า แต่ในยุคนี้แรกๆ มีกฎอัยการศึก ตอนนี้มีทั้ง พ.ร.บ. ชุมนุม มีประกาศอะไรบ้างก็ไม่รู้ละ ก็ต้องยอมรับว่ามันยากกว่า

ตอนช่วงที่เดินได้มีเจ้าหน้าที่รัฐมาติดตามเฝ้าจับตาหรือเปล่า

จำไม่ได้ จำไม่ได้ก็คือ ไม่ได้มีนัยสำคัญ ถ้ามาก็คงน้อยมาก แต่มีวันนี้เขาบอกว่าเป็น กอ.รมน. หรืออะไรก็ไม่รู้ เดินมากระซิบบอกผม ก็คุยอะไรไม่มาก แต่ในบางพื้นที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกให้ด้วยซ้ำไป เพราะเขาเห็นว่าเรามีสิทธิ เราแสดงออกอย่างสันติ และอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เขาคงไม่รู้จะห้ามอย่างไร เพราะผมก็ไม่ได้ไปปิดกั้นสิทธิใคร แต่ก็มีมาถามข้อมูลอยู่บ้างจนผมเสียเวลาอยู่พอสมควร แต่แน่นอนสมัยนั้นมันง่ายกว่าสมัยนี้เยอะ

มองสถานการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมหลังจากการรัฐประหารอย่างไร

ผมคิดว่า เขาไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ผมสงสัยว่าทำไมเขาไม่พัฒนากลไกปกติให้มีดีให้มันคุ้มครองสิทธิ ให้มันแก้ปัญหา อย่างเรื่องการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง มาเรื่องพลังงานจากขยะ ตรงนี้ทำไมไม่ยอมปล่อยให้กฎกลไกปกติทำงาน ทำไมต้องใช้อำนาจพิเศษในเรื่องที่มันต้องใช้ธรรมาภิบาล

ถ้ามองต่อไปในอนาคต โดยดูจากตัวร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าจะส่งผลต่อเรื่องสิทธิอนุรักษ์ สิทธิชุมชน การปกป้องชุมชนจากโครงการพัฒนาต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าของเก่าดีกว่า ของเก่ามันกระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเอง ที่จะลูกขึ้นมาประกาศว่าฉันมีสิทธิที่จะเข้ามาร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมกับคุณ แต่อย่างไรก็ต้องใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล และยั่งยืนด้วย ผมอยากให้มันเป็นหน้าที่ของชุมชนที่เรียกร้องให้รัฐมาร่วมทำ แต่ร่างใหม่มันบอกว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางปัญญาให้กับขบวนชาวบ้าน  พูดง่ายมันไม่ทำให้ชาวบ้านเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้

แต่อันนี้มันมอบหน้าที่ให้รัฐเป็นคนทำมากกว่า แล้วถ้ากฎหมายลูกมันออกไม่ชัดเจน พอให้รัฐทำรัฐก็จะบอกว่าทำแล้วตามกรอบกฎหมายกำหนด ถึงแม้ว่าเราจะฟ้องร้องไปมันก็ไม่ได้อะไร สู้ปลายเปิดแบบเก่าดีกว่า อันนี้มันเหมือนกับการมอบอำนาจให้รัฐดูแลทั้งหมด แม้การจะฟ้องก็เป็นหน้าที่ของรัฐ มันกลายเป็นการคุ้มครองรัฐกลายๆ เนื้อหาส่วนใหญ่มันยังคงครอบคลุมเหมือนเดิม แต่นัยลึกแล้วมันไม่เหมือนเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net