เนเธอร์แลนด์แนะแผนจัดการน้ำไทยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เลิกสั่งงานจากบนลงล่าง

แลกเปลี่ยนแผนบริหารจัดการน้ำ เนเธอร์แลนด์ทุ่มงบเทคโนโลยีสำหรับบริหารจัดการน้ำ พร้อมแนะไทยวางแผนระยะยาว ไม่ใช่ขยันรับมือช่วงภัยพิบัติ เลิกสั่งงานจากบนลงล่าง ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มาเกี่ยวข้อง อิสราเอลย้ำความสำเร็จเกิดจากปรับทั้งเทคนิค-นโยบาย สิงคโปร์เรียกเก็บภาษีน้ำ บริการข้อมูลน้ำแจ้งเตือนประชาชนฟรี 

20 มิ.ย.2559 บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี) ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเวทีบรรยายพิเศษ “บทเรียนความสำเร็จของต่างประเทศบนความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”  ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี  กล่าวเปิดการบรรยายโดยเล่าว่า เมื่อก่อนทรัพยากรน้ำมีไม่จำกัดแต่เพราะประเทศไทยไม่เคยใส่ใจวางแผนบริหารจัดการ มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ประเทศกำลังเผชิญความรุนแรง ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น  อย่างปี 2554 ประเทศไทยเผชิญภัยแล้งอย่างกว้างขวาง สมมติฐานเดิมเรื่องน้ำของประเทศไทยที่มีอยู่ใช้ไม่ได้อีกต่อไปสำหรับอนาคต จะต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ การแบ่งพื้นที่เพาะปลูก ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ โดยต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

เนเธอร์แลนด์ลงทุนอย่างหนักด้านเทคโนโลยี เตือนไทยวางแผนถ้าไม่อยากล้มเหลว

Tjitte A. Nauta ตัวแทนจาก Integrated Water Management, Deltares ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า เนเธอร์แลนด์ลงทุนอย่างมากไปกับเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมนั้นมีการพิจารณาว่าหากเลือกตัวเลือกนี้จะเกิดผลกระทบทางตรง ทางอ้อมอย่างไร และมีปัจจัยอื่นอะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปดูว่าพื้นที่ไหนควรทำอย่างไร เช่น บางพื้นที่สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อกักเก็บน้ำได้แต่คุณภาพน้ำที่กักเก็บได้จะน้อยลง

ตอนหนึ่ง Tjitte พูดถึงว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่เมืองกักเก็บน้ำและมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ทั้งยกตัวอย่างพื้นที่จัตุรัสกลางเมือง Rotterdam สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งหากมีฝนตกลงมามาก พื้นที่ตรงนี้จะสามารถกักเก็บน้ำได้แต่จะทำลักษณะนี้ได้เฉพาะในบางพื้นที่ที่ประชาชนยอมรับเท่านั้น

Tjitte กล่าวต่อถึงข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ว่า ถ้าไม่ไทยอยากไม่ล้มเหลวด้านการบริหารจัดการน้ำ ต้องเปลี่ยนนโยบายเชิงรับเป็นเชิงรุก ไม่ใช่เตรียมการรับมือเฉพาะช่วงที่มีภัยวิบัติ แต่ให้แผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ไม่ใช่แค่เพียง 5 ปี และเปลี่ยนกระบวนการทำงานจากบนลงล่างเป็นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนจากโครงสร้างต่อต้านธรรมชาติเป็นอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

อิสราเอลเปลี่ยนแผนจัดการน้ำทั้งเทคนิค-นโยบาย

Weinberger Gavriel ตัวแทนจาก The Hydrological Service , The Governmental Authority for Water and Sewage  กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของอิสราเอลไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพียงเชิงเทคนิคแต่รวมถึงเชิงนโยบายเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน โดยพยายามทำให้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดใช้ได้เต็มที่ โดยตามกฎหมายน้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะซึ่งรัฐบาลจะต้องบริหารจัดการเพื่อประชาชน ทั้งนี้อิสราเอลเป็นประเทศที่แห้งแล้งมาก น้ำจึงระเหยไวทำให้แทบไม่มีน้ำจากธรรมชาติ รัฐบาลจึงต้องดำเนินโยบายบริหารจัดการน้ำทั้งวัฏจักร ตั้งแต่น้ำฝน น้ำบาดาล และน้ำเสียที่จะนำกลับมาใช้ซ้ำ

Weinberger  กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสามารถนำน้ำจากธรรมชาติที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีกรอบได้ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อิสราเอลมีความต้องการใช้น้ำถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้องเซ็นสัญญาซื้อจากตุรกีเมื่อ 2547 จึงคุยกันและจัดตั้ง “Water Board” เป็นกลไกเชิงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ  โดยปัจจุบันอิสราเอลไม่ได้หวังพึ่งเพียงน้ำตามธรรมชาติแต่อาศัยน้ำที่ผลิตขึ้นคิดเป็นร้อยละ 50 ของน้ำที่มีทั้งหมด ส่วนความกังวลในอนาคตที่อิสราเอลมีนั้นคือทำอย่างไรให้อิสราเอลพร้อมรับมือกับอุทกวิทยา ไม่ให้เกิดทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

สิงคโปร์เรียกเก็บภาษีน้ำ บริการฟรีแจ้งข้อมูลเตือนภัยประชาชน

Ridzuan Bin Ismail  ผู้อำนวยการ Catchment and Waterways, PUB, Singapore’s national water agency กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของสิงคโปร์เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีเคยให้นโยบายการบริหารจัดการน้ำสำคัญกว่านโยบายอื่นๆ เพราะหลังได้รับอิสรภาพ สิงคโปร์ประสบปัญหาน้ำท่วมและคุณภาพน้ำแย่ แต่ตอนนี้มีแหล่งเก็บน้ำเพียงพอและไม่ได้มีเพียงการใช้น้ำ ทั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมสามารถระบายน้ำออกได้ภายในหนึ่งชั่วโมง ซึ่งนโยบายการบริหารจัดการน้ำอาศัยทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

Ridzuan Bin Ismail  กล่าวต่อว่า มี 3 มาตรการจัดการน้ำ 1. เรียกเก็บภาษีน้ำเพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการใช้น้ำ 2.ออกข้อกำหนดผลิตภัณฑ์เพื่อประหยัดน้ำ หากใช้น้ำเกินที่กำหนดไว้จะต้องส่งแผนการใช้น้ำ 3.มาตรการความสมัครใจ เช่น มีเว็บไซต์สำหรับบอกเล่าความสำเร็จในการประหยัดน้ำ นอกจากนี้มีการบริการแก่ประชาชนอย่างใช้โซเชียลมีเดียในการส่งข้อมูล ส่ง SMS แจ้งเตือนเมื่อมีปริมาณน้ำเลยขีดที่กำหนดไว้ให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท