Skip to main content
sharethis
19 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เรียกร้อง 'ซูจี' ทบทวนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย-โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน หวั่นกระทบสิทธิมนุษยชนประชาชนในพื้นที่ กระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และทำลายกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในพม่า


21 มิ.ย. 2559 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน 19 องค์กร ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสที่นางอองซานซูจี  ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาร์ จะเดินทางเยือนไทยในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ โดยเรียกร้องให้ทบทวนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทย-พม่า ซึ่งเป็นแผนการลงทุนของไทยในพม่า โดยเฉพาะโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่ สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และจะเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในพม่า

"ในฐานะผู้นำของรัฐบาลพม่า พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ท่านชะลอโครงการต่างๆ ไว้ จนกว่าจะมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และเมื่อประชาชนจะสามารถตัดสินใจได้เอง (informed decision) เพื่อให้เกิดการลงทุนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝั่งอย่างยั่งยืน" แถลงการณ์ระบุ

 

แถลงการณ์ต่อผู้นำรัฐบาลพม่าในวาระเยือนไทย
ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-เขื่อนสาละวิน

21 มิถุนายน 2559

ในวาระที่นางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพม่าและที่ปรึกษาแห่งรัฐจะมาเยือนไทย พวกเรา ภาคประชาสังคมและชุมชนที่ทำงานติดตามประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมระหว่างไทย-พม่า ขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาและทบทวนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทย-พม่า ซึ่งเป็นแผนการลงทุนของไทยในพม่า โดยเฉพาะโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งต่างมีการวางแผนและผลักดันมาเป็นเวลานับสิบปี แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่คาดว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาหารือกับท่านในการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้

โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ได้เคยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-พม่า ในการศึกษาและพัฒนา 5 โครงการบนแม่น้ำสาละวิน และ 1 โครงการบนแม่น้ำตะนาวศรี จนปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พยายามผลักดัน 2 โครงการ ได้แก่ เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์) ในรัฐกะเหรี่ยง และเขื่อนเมืองโต๋น (7,100 เมกะวัตต์) ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ได้รับการคัดค้านมาตลอดเนื่องจากความไม่พร้อมและข้อกังวลหลักดังนี้

1. จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประชาชนชาติพันธุ์ทั้งในรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง ได้อพยพหนีภัยความตายมายังชายแดนตั้งแต่ราว 20 ปีก่อนเนื่องจากนโยบายกวาดล้างและการสู้รบกับกองกำลัง ประชาชนหลายแสนคนถูกถอนรากถอนโคน โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ หัวงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จนบัดนี้ประชาชนใหญ่ยังคงไม่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นฐาน และอาจเป็นผู้ลี้ภัยถาวรหากบ้านต้องจมลงใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน

2. โครงการจะสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้ายๆ ของโลกที่ยังคงไหลอย่างอิสระ มีธรรมชาติและระบบนิเวศที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ยากจะหาสายน้ำอื่นเทียบได้ ความห่างไกลและเหตุผลด้านการเมืองทำให้แม่น้ำสาละวินยังมีการศึกษาน้อยมาก แต่กลับจะถูกทำลายโดยที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ

3. จะเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพที่ท่านกำลังดำเนินอยู่ในพม่า โครงการเขื่อนจะทำให้ปัญหาการสู้รบรุนแรงมากยิ่งขึ้นและสร้างความไม่มั่นใจ

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 196.5 ตร.กม. (ใหญ่กว่าเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของไทยถึง 8 เท่า) ที่ผ่านมา ทางสมาคมพัฒนาทวายทำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย โดยได้ประมาณการณ์ว่าชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน (ประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000-43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากที่ตั้งโครงการ

นอกจากนี้การตรวจสอบโครงการของทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยยังพบว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ก่อผลกระทบต่อชาวบ้านแล้ว โดยเฉพาะประเด็นความไม่โปร่งใสและไร้มาตรฐาน ชาวบ้านต้องทนทุกข์ยากกับการถูกยึดที่ดิน ต้องสูญเสียวิถีชีวิตและรายได้ โดยไม่ได้รับการชี้แจงล่วงหน้าใดๆ และไม่มีการปรึกษาหารือที่มีความหมาย อีกทั้งกระบวนการชดเชยก็พบความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ พวกเขาได้ร้องเรียนเรื่องราวความไม่เป็นธรรมเหล่านี้หลายต่อหลายครั้งต่อเจ้าหน้าที่และบริษัท แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาดำเนินการ
ตามรายงานผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะนโยบาย เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาโครงการดังกล่าว ที่มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวทวาย ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้สรุปผลการพิจารณา ดำเนินการตามรายงานดังกล่าว โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในต่างประเทศ และกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ร่างขอบเขตงาน (Terms of reference) ของสัญญาหรือข้อตกลงที่จะมีขึ้นในอนาคต กลไกกำกับดูแลหรือสนับสนุนภาคเอกชนในการเคารพหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน การผลักดันมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

พวกเรามีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าการลงนามใดๆ ในโครงการขนาดใหญ่ระหว่าไทยและพม่าในขณะนี้ จะเกิดขึ้นบนบรรยากาศที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ ขาดข้อมูลที่เพียงพอในการประกอบการตัดสินใจ ขาดความโปร่งใส โครงการเหล่านี้รวมถึงโครงการอื่นๆ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด เป็นต้น

ในฐานะผู้นำของรัฐบาลพม่า พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ท่านชะลอโครงการต่างๆ ไว้ จนกว่าจะมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และเมื่อประชาชนจะสามารถตัดสินใจได้เอง (informed decision) เพื่อให้เกิดการลงทุนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝั่งอย่างยั่งยืน


ลงนามโดยองค์กร
1.  มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resource Center

2.  ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา Ecological Awareness Center

3.  ศูนย์ช่วยเหลือกฎหมายสิทธิชุมชน Community Legal Center

4.  กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน Land Watch Working Group

5.  กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ siamensis.org

6.  คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม Thai Climate Justice

7.  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน FTA Watch

8. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)

9.  โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (The campaign for public policy on mineral resources: PPM)

10. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย People’s Mineral Network

11. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา Eco-cultural Study Group

12. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) Sustainable Agriculture Foundation

13. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก Alternative Agriculture Network

14. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Greenpeace Southeast Asia

15. สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล Assembly of the Poor, Pak Mun Dam

16. เสมสิกขาลัย Spirit in Education Movement

17. มูลนิธิบูรณะนิเวศ Ecological Alert and Recovery - Thailand / EARTH

18. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา Center for Karen Study and Development

19. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Foundation for Sustainable Development

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net