ส่องออสเตรเลีย สอนประชาธิปไตย-สำนึกพลเมืองอย่างไร

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 มีการจัดเสวนาเวทีสาธารณะ "เมื่อครูและนักการศึกษาไทยเรียนรู้การสอนประชาธิปไตยในออสเตรเลีย" ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย

เนื้อหาในงานเสวนากล่าวถึงการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองในประเทศออสเตรเลียผ่านการศึกษา โดยการวางหลักสูตรการศึกษาของออสเตรเลียนั้น เน้นความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวกับความแตกต่างในแต่ละท้องที่ เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาตามความต้องการจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับสภาพสังคมแบบนั้น

เฉลิมชัย พันธ์เลิศ  สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การวางหลักสูตรในไทยไม่ได้เกิดจากการพูดคุยกันของคนในสังคม แม้จะบอกให้ท้องถิ่นจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ  แต่การประเมิน การวัดผลกลับเป็นของส่วนกลาง นอกจากนี้การปกครองของไทยยังเป็นแบบรวมศูนย์ในทางปฏิบัติ

การเรียนการสอนของไทย ให้ความสำคัญกับความเป็นพลเมือง โดยมีการเพิ่มเป็นจำนวนวิชาลงไปในหลักสูตร โดยอาจจะใช้แนวคิดที่ว่ายิ่งเพิ่มชั่วโมงเรียนความเป็นพลเมืองมากเท่าไร ความเป็นพลเมืองของนักเรียนก็มากขึ้นเท่านั้น

การวางหลักสูตรจะสำคัญมากในการวางแผนการพัฒนาสำนึกความเป็นพลเมืองของประชาชน เพราะการวางหลักสูตรจะเป็นเสมือนเข็มทิศในการดำเนินงานพัฒนา วางระบบการศึกษาและการเรียนรู้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาหลักสูตรให้สามารถสร้างสำนึกพลเมือง ต้องใช้ข้อมูลในห้องเรียนมาประกอบการวางแผนหลักสูตร บวกกับการมีส่วนร่วมในห้อง สิ่งนี้คือรากฐานสำคัญในการสร้างหลักสูตร

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยกล่าวว่า การวางหลักสูตรการศึกษาของออสเตรเลีย ใช้เวลายาวนานในการร่างหลักสูตรเพราะต้องผ่านการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้หลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์การสร้างสำนักคิดพลเมืองมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การสร้างหลักสูตรแทบจะไม่มีการแทรกแซงจากภาคการเมืองในฐานะผู้กำหนดนโยบายเลย เช่น  กรณีที่พยายามนำเอาศาสนาคริสต์ใส่ลงไปในหลักสูตร แต่เพราะการสร้างหลักสูตรของออสเตรเลียมีรากฐานในการเจรจา ปรึกษาลงความเห็น การนำศาสนาคริสต์ใส่ลงในหลักสูตรจึงถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นการศึกษาศาสนาคริสต์ในฐานะบ่อเกิดของวัฒนธรรมตะวันตกแทน

การสร้างหลักสูตรเพื่อสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย เป็นหลักสูตรที่ผู้วางหลักสูตรทำงานร่วมกับโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามแต่ละที่โรงเรียนต้องการ เนื่องจากการปกครองของออสเตรเลีย แบ่งออกเป็น ชาติ มลรัฐ และท้องถิ่น หลักสูตรการศึกษาของออสเตรเลียจึงยืดหยุ่นปรับตัวตามความต้องการของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมของออสเตรเลีย การที่มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นจะทำให้สามารถปรับให้เข้ากับความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างดี

ชัยรัตน์ โตศิลา ประธานสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าสำนึกในความเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย คือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีดุลยภาพ เคารพซึ่งกันและกัน  ให้รู้สึกถึงความเป็นสมาชิกในสังคม

กระบวนการในการนำหลักสูตรไปใช้สำคัญมาก ในออสเตรเลียใช้วิธีการสร้างสำนึกผ่านวิชาอื่นๆ โดยให้ผู้เรียนมีสิทธิในการออกแบบการเรียนและสภาพแวดล้อมได้อย่างอิสระ เช่นในการ สร้างตึกใหม่ของโรงเรียนก็ให้เด็กๆ ลงความเห็นกันว่าส่วนใดของโรงเรียนจะเป็นอาคารอะไร  คือการที่ทำให้เด็กได้รู้สึกว่า ตนเป็นสมาชิก ส่วนหนึ่งของสังคมนี้ แนวคิดดังกล่าวสามารถสอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนได้ทุกวิชา ตามแต่ที่ผู้สอนจะใส่ความเป็นพลเมืองเข้าไปในการสอน

การทำให้สำนึกความเป็นพลเมืองเข้มแข็งไม่ได้มาจากการกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่มาจากการบ่มเพาะในระบบการศึกษาอย่างยาวนาน เป็นการเรียนรู้ระยะยาวที่คุ้มค่า ในการบ่มเพาะความเป็นประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน ดังนั้นกระบวนการการนำหลักสูตรไปใช้จึงสำคัญมาก การสร้างความเข้าถึงจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ตรงกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ปราศรัย เจตสันติ์ อาจารย์จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการเรียนการสอนที่ออสเตรเลียเน้นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมกับการเรียน มากกว่าจะบังคบให้เด็กเข้าเรียน โดยจะเป็นโรงเรียนและห้องเรียนขนาดเล็ก ใช้ครูถึงสามคนในการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นไปที่เด็กเป็นตัวบุคคลเพื่อเพิ่มความใกล้ชิด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสำนักความเป็นพลเมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ที่สร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมและเอื้อต่อการเรียนการสอน

เสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนรวมไปถึงการวางหลักสูตรของครูที่ออสเตรเลียมีความเป็นอิสระสูงมาก คือปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ไม่มีการจำกัดหรือบังคับจากส่วนกลาง ภาระหน้าที่ของครูผู้สอนก็แตกต่างกับไทย โดยครูที่ออสเตรเลียจะมีหน้าที่สอนและพัฒนาเด็กได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่สามารถสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า ห้องเรียนประชาธิปไตยมีอยู่บนท้องถนน เช่นการเดินขบวนเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ออสเตรเลียเปิดพื้นที่ให้แสดงออกความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในพื้ืนที่สาธารณะ ลักษณะของประชาธิปไตยของออสเตรเลียคือการมีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง เคารพซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลาย

การเรียนการสอนเพื่อสร้างสำนึกประชาธิปไตย ครูผู้สอนมีส่วนสำคัญ ประสบการณ์ทางสังคมของครูจะเป็นตัวหล่อหลอมแนวคิด และวิธีการที่ใช้เพื่อสอนเด็ก ถึงสำนึกความเป็นพลเมือง

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประชาธิปไตยเริ่มต้นในที่สาธารณะ หมายถึงที่ที่คนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในประเด็นทางสังคม มีทั้งพื้นทางกายภาพ เช่นร้านค้า สวนสาธารณะ และพื้นที่ทางนามธรรมเช่น การนำเสนอข่าวของสื่อ สังคมออนไลน์ต่างๆ พัทธ์ธีราได้อ้างถึง เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส นักวิชาการชาวเยอรมัน ที่ได้อธิบายถึงกระบวนการเกิดสำนึกสาธารณะ (สำนึกส่วนรวม) ว่า มาจากการที่ปัจเจกบุคคลใช้ความรู้และแสดงออกทางความคิดอย่างมีเหตุผล อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ส่งผลให้สาธารณชน (public) เริ่มสามารถเข้าถึงและยึดครองมณฑลสาธารณะที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐได้ และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวอำนาจรัฐด้วย พื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ท้าทายอำนาจเดิมของสังคมศักดินาในยุโรป

พัทธ์ธีรา เสนอว่า ในระบบรัฐสภาของออสเตรเลีย มีการเปิดให้ประชาชน ตั้งกระทู้ถามสด เกี่ยวการนโยาบการดำเนินงานต่างๆ โดยรัฐสภาได้มีการเปิดสภาให้ประชาชนเข้าไปสอบถามได้ถึงที่ประชุม ซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม เป็นสมาชิกของสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท