สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-21 มิ.ย. 2559

 
กศน.จับมือกระทรวงแรงงาน กำหนด Road map ยกระดับความรู้ รปภ.
 
นายสุวิทย์ สุมาลา ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวภายหลังการประชุมหารือ แนวทางการยกระดับการศึกษาให้กั บพนักงานรักษาความปลอดภัย ครั้งที่ 4/2559 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน (16 มิถุนายน 2559) ว่า “ปัจจุบันมีพนักงานรั กษาความปลอดภัย ประมาณ 400,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบั งคับราว 300,000 คน ซึ่งเป็นผู้ได้รั บผลกระทบจากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติธุรกิจรั กษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควร กระทรวงแรงงานพร้อมด้วย กศน. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการ ได้ร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้ รปภ. กลุ่มนี้ได้รับการยกระดับการศึ กษาให้สูงขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ Road Map ที่กระทรวงแรงงานได้นำเสนอเพื่ อพิจารณา โดยในเบื้องต้นจะต้องมีการจั ดทำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนของ รปภ. ที่มีอยู่ทั้งหมดและกลุ่มที่ยั งไม่ได้จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ให้ชัดเจน รวมทั้งข้อมูลด้านพื้นที่ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมและสนั บสนุนให้มีการจัดการศึกษาให้อย่ างเหมาะสม
 
ในเรื่องหลักสูตรการศึกษาเพื่อยกระดับความรู้ นอกจาก กศน. แล้ว ยังมีหลักสูตรการอบรมวิชาชีพ รปภ. โดยสถาบันส่งเสริมคุณวุฒิวิชาชี พฯ และหลักสูตรของ กศน. ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับสำนั กงานตำรวจแห่งชาติตามกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลักสูตรที่ คล้ายกัน 3-4 หลักสูตร จึงได้พิจารณาเพื่อสร้ างแนวทางในการบูรณาการหลักสู ตรร่วมกัน รวมถึงหลักสูตรอบรมของกรมพั ฒนาฝีมือแรงงานด้วย การอบรมในแต่ละหลักสู ตรอาจจะสามารถต่อยอดวิชาชีพ รปภ. ต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิ ตและระดับค่าจ้างได้อีกด้วย โดย Road Map ดังกล่าวจะใช้ระยะเวลา 3 ปี และภายใน 3 ปี รปภ. ทั้งหมดจะต้องจบการศึกษาภาคบั งคับให้ได้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ซึ่งในระยะแรกจะเป็นการรวบรวมข้ อมูลต่างๆ เพื่อให้ทราบรายละเอียดว่าจะเข้ าไปสนับสนุนการศึกษาได้อย่างไร โดยในปัจจุบันมี กศน. ทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่ง ที่รองรับได้ โดยจะมีการขอความร่วมมือไปยั งสถานประกอบการในการส่งเสริมให้ ลูกจ้างเข้ารับการศึกษา และจะมีการประสานงานกับ กศน. อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการอำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องระยะเวลาการศึ กษาและค่าใช้จ่าย การสนับสนุนให้ รปภ. มีการศีกษาที่ดีขึ้น จะทำให้เป็นที่ต้องการของนายจ้ าง เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย คือ นายจ้างมีผลประกอบการที่เพิ่มขึ ้นและลูกจ้างมีค่าจ้างและสวัสดิ การที่ดีขึ้น
 
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อผู้ ที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ ว่า ไม่ให้นำคุณวุฒิทางการศึกษามาตั ดสิทธิ์หรือยกเลิกการจ้าง โดยสามารถเป็น รปภ. ไปได้จนกว่าจะเลิกอาชีพนี้ แต่กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคั บเฉพาะผู้ที่ไม่เคยจบการศึ กษาภาคบังคับและยังไม่เคยเป็น รปภ. มาก่อนและสนใจจะเข้ามาทำงานใหม่
 
สำหรับหลักสูตรการศึกษานั้น ทาง กศน. ได้มีการออกแบบหลักสูตรไว้แล้ว ซึ่งจะมีสองส่วน คือ หลักสูตรระยะเวลา 1 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และหลักสูตรเร่งรัดระยะเวลา 6 เดือน มีค่าใช้จ่าย 2,000 – 3,000 บาท
ซึ่งในส่วนนี้ได้ขอให้ กศน. ไปพิจารณาตาม มาตรา 44 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่ง กศน. รับไปพิจารณาว่า เข้าข่ายได้รับยกเว้นค่าใช้จ่ ายด้วยหรือไม่” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด
 
 
คปภ. เผยไตรมาสแรกปี 59 เพิกถอนใบอนุญาต “ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย” 13 ราย
 
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ มีตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 502,934 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพที่ดี แต่ก็ยังมีตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2559 หรือภายในไตรมาสแรกของปีนี้ นายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวน 13 ราย โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 6 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศ หรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าการประกันชีวิต (วินาศภัย) พ.ศ. 2556 จึงแจ้งให้สาธารณชนรับทราบดังมีรายชื่อต่อไปนี้ นางรัตนา โพธิ์วิจิตร ตัวแทนประกันชีวิต นางวิเศษ เปรมปรีดิ์วงศ์ ตัวแทนประกันชีวิต นางดวงใจ สมอาจ ตัวแทนประกันชีวิต นางกฤติยาพร มาลา ตัวแทนประกันชีวิต นางสาวสมัชญา ณ นครพนม ตัวแทนประกันชีวิต นางสาวอรัญ โชคเจริญ ตัวแทนประกันชีวิต นายวีรวิชญ์ ไตรวิวัฒน์นรา นายหน้าประกันวินาศภัย นางสาววิจิตรา จินตนา ตัวแทนประกันชีวิต บริษัท บิลเลี่ยน โบรกเกอร์ จำกัด นายหน้าประกันวินาศภัย นางสาวบุษบา ไผ่ประดับ นายหน้าประกันวินาศภัย นายไพรัตน์ ศักดาราช ตัวแทนประกันชีวิต นายตุลยธัช ธีรชัยอนันต์ (ชื่อเดิมนายธีรยุทธ ช้างสีสุก) ตัวแทนประกันชีวิต นายอติเทพ วัชรประทีป ตัวแทนประกันชีวิต
 
ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิดของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยทั้ง 13 ราย เกิดขึ้นใน 6 ลักษณะ คือ 1) รับชำระเงินเบี้ยประกันภัยจากผู้ขอหรือผู้เอาประกันภัย แต่มิได้แจ้งขอเอาประกันภัยหรือนำส่งเงินเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัย 2) กระทำการทุจริตการสอบ โดยสวมสิทธิ์เข้าสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตแทนผู้สมัครสอบ 3) ชักชวนให้บุคคลเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยอธิบายเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง 4) กระทำการในฐานะเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันนิติบุคคลที่มิได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย มอบหมายให้พนักงานซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เป็นนายหน้าประกันวินาศภัยชี้ช่องให้บุคคลเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย และให้ชำระเงินเบี้ยประกันภัยเข้านิติบุคคลดังกล่าว ประกอบกับเรียกเก็บเงินเบี้ยประกันภัยจากบัตรเครดิตของผู้ขอเอาประกันภัยเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ และเมื่อมีการขอยกเลิกการทำประกันภัย ก็คืนเงินเบี้ยประกันภัยล่าช้า 5) ปลอมลายมือชื่อของผู้เอาประกันภัย ในการมอบอำนาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ากรมธรรม์สูญหาย ขอออกกรมธรรม์ฉบับใหม่ทดแทนที่สูญหายและแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย และฉัน้เงินตามกรมธรรม์ ซึ่งเมื่อบริษัทออกเช็คเงินฉัน้ดังกล่าวแล้ว ได้ส่งมอบเช็คให้ผู้เอาประกันภัยโดยแจ้งว่าเป็นการชำระหนี้ส่วนตัวของตนที่มีต่อผู้เอาประกันภัย 6) ดำเนินงานเป็นเหตุให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ส่งผลให้ผู้สอบบัญชีปฏิเสธการรับรองงบการเงินของบริษัท และไม่สามารถจัดส่งรายงานเกี่ยวกับผลของการประกอบธุรกิจการเงิน และแบบ รปว. ประจำปี 2557 ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 13 ราย จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในอันที่จะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ประชาชนควรจะตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัย เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน/นายหน้าประกันภัยได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186
 
 
รมว.แรงงาน ติดตามสถานการณ์แรงงาน 4 จว.ตะวันออกเน้นความร่วมมือเเนวประชารัฐ ขับเคลื่อนทุกมิติด้านแรงงาน
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสประชุมติดตามผลการดำเนินงานด้านแรงงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมรับฟังประเด็นปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กร NGOs อาสาสมัครแรงงาน ล้งผลไม้ รวมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ณ ห้องประชุมศูนย์ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชั้น 2 อำเภอเมือง จังหวัดตราด ว่า จังหวัดตราดมีความสำคัญด้านการค้าชายแดน การลงทุน และการท่องเที่ยว จึงได้รับการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งการตรวจราชการในวันนี้ เพื่อติดตามและขับเคลื่อนงานด้านแรงงานของรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม การได้พบผู้ประกอบการ นายจ้าง และลูกจ้างในระบบไตรภาคี เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและความต้องการในพื้นที่โดยตรงจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลไปพิจารณาประกอบการวางแผนการพัฒนาด้านแรงงานในทุกมิติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอด
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านแรงงานในทุกเรื่องทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมการมีงานทำ การพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองแรงงานและระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม ท้ังนี้ ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการพัฒนาแนวคิด โดยเฉพาะเรื่องการเป็นหุ้นส่วน (pertnership) และแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การคุ้มครองดูแลลูกจ้างให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงาน อาทิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน การประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ยกระดับผลิตภาพแรงงาน การจัดตั้งสมาร์ทจ็อบเซ็นเตอร์และสมาร์ทเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ เพิ่มช่องทางการค้นหาตำแหน่งงานว่างและร้องเรียนด้านแรงงานผ่านสมาร์ทเลเบอร์ เป็นต้น ส่วนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานนั้น มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติและไม่ให้กระทบต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้วางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้เตรียมการด้านข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงานในทุก ๆ 5 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเช่นกัน
 
"ปัญหาด้านแรงงานที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นายจ้าง ลูกจ้าง ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการทุกปัญหาเพื่อให้ได้รับการแก้ไข แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขได้ทันทีก็จะมีการชี้แจงให้ทราบ " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ด้านนายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้กล่าวว่า จากสถิติแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 เป็นต้นมา มีจำนวน 2,112 คน ซึ่งสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 400 คน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดทำ MOU กับประเทศกัมพูชา ที่จะให้แรงงานสัญชาติกัมพูชาสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ตามด่านชายแดนในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ตราด และสระแก้ว สำหรับกรณีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีความแตกต่างระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทางนั้น จะมีการเจรจากับประเทศต้นทางโดยพิจารณาว่าค่าธรรมเนียมส่วนใดที่สามารถปรับลดได้บ้าง ซึ่งการดำเนินการระหว่างประเทศจะต้องมีการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน และจะประกาศให้ทราบว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ส่วนการที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยและผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการนั้น ขณะนี้กรมการจัดหางานได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจและกวดขันในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขัน สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการขอให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ตลอดทั้งปีนั้น จะต้องคำนึงถึงผลกระทบและพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งจากนี้ไปการดำเนินการจะใช้ระบบ MOU และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากขึ้น โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอ กนร. และ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รับทราบเพื่อพิจารณาและจะแจ้งแนวทางการดำเนินการให้ทราบต่อไป
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 17/6/2559
 
กัมพูชาฟ้อง 4 บ. ไทย/มะกัน ค้ามนุษย์-แรงงานทาส
 
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ 16 มิ.ย.ว่า กลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา 7 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 2 คน รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ เรียกค่าเสียหายไม่ระบุจำนวนจาก 4 บริษัทร่วมกิจการของสหรัฐฯและไทย ในข้อหาลักลอบค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย ซึ่งละเมิด "กฎหมายคุ้มครองเหยื่อการลักลอบค้ามนุษย์" ของสหรัฐฯ ที่มุ่งป้องกันการค้ามนุษย์ โดยมีห้างค้าปลีกรายใหญ่ "วอลมาร์ท" ของสหรัฐฯ รับซื้อกุ้งและอาหารทะเลอื่นๆจากกลุ่มบริษัทดังกล่าวด้วย
 
ในสำนวนฟ้อง ชาวกัมพูชาทั้ง 7 คนระบุว่า หลังเดินทางมาไทย ก็ถูกผู้จัดการโรงงานยึดพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทาง ให้ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน แต่ได้รับค่าแรงน้อยกว่าสัญญาว่าจ้าง และไม่ได้พาสปอร์ตคืนเพื่อกลับบ้านเกิด บางคนต้องเก็บสัตว์ทะเลที่ตกอยู่ตามริมหาดมากินประทังชีวิต
 
นายเขียว ระธา หนึ่งในคนงานเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเป็นสิ่งผิด การฟ้องก็เพื่อให้บริษัทเหล่านี้คิดทบทวนก่อนแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานที่ถูกลอบค้าในอนาคต เพราะพวกตนต้องตกเป็นเหยื่อแรงงานทาสและหนี้สินทาส พวกตนถูกบังคับใช้แรงงานและเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ช่วง พ.ศ.2553-2554
 
บริษัทสหรัฐฯที่ถูกฟ้องคือ "รูบิคอน รีซอร์สเซส" ผู้จำหน่ายและนำเข้าอาหารทะเล ซึ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทที่รัฐเดลาแวร์ แต่มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองคัลเวอร์ ซิตี รัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัท เวลส์ แอนด์โค ยูนิเวิร์ส จำกัด ซึ่งตั้งบริษัทในไทย แต่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และบริษัทไทย คือ พัฒนา ซีฟู้ดส์ จำกัด” ใน จ.สมุทรสาคร กับ เอส. เอส.โฟรเซิน ฟู้ดส์ จำกัด ใน จ.สงขลา ซึ่งทั้ง 4 บริษัทและวอลมาร์ทยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆในเรื่องนี้
 
นายแอ็กเนียซกา ฟรีสซ์แมน ทนายฝ่ายโจทก์เผยว่า ลูกความเป็นคนน่ารัก เรียบร้อย ทำงานหนัก สมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ โดยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทั้งจากค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับ ความทุกข์ทรมานทางจิตใจและความเจ็บปวด ซึ่งตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มีผู้ตกเป็นเหยื่อแรงงานทาสทั่วโลกเกือบ 21 ล้านคน ในอุตสาหกรรมที่ทำผลกำไรอย่างผิดกฎหมายนี้ปีละ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5.3 ล้านล้านบาท
 
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ชื่อเสียงของไทยเสื่อมเสียในปีหลังๆ หลังสำนักข่าวและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทำการสอบสวนหลายครั้งเรื่องการลักลอบค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและความรุนแรงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ส่วนรัฐบาลไทยสัญญาว่าจะกวาดล้างการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาส และเมื่อเร็วๆนี้ได้ปฏิรูปกฎหมายด้านการประมง
 
 
พรบ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยพ่นพิษ รปภ.ขาดคุณสมบัติ ลาออกอื้อ
 
พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2559 ทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดต้องลาออกไป บริษัทรักษาความปลอดภัยบางแห่งระบุว่ามี รปภ.ลาออกไปถึงร้อยละ 40
 
นายสมชาย สุขปวง ชาวอำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยมานานกว่า 12 ปี แล้ว แต่หลังจากที่ พรบ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ นายสมชายต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตร รปภ.เนื่องจากเข้าจบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามที่กฎหมายกำหนดว่าผู้ที่จบการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องเข้าอบรม แม้ว่าการอบรมนี้จะเป็นโอกาสให้เขาได้ทำงานต่อ แต่สมชายยังคงกังวลเพราะเขาแทบไม่มีเวลาที่จะเข้าอบรม
 
"เราทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ยังไม่รู้ว่าจะเอาเวลาที่ไหนไปอบรม" นายสมชายกล่าว
 
พรบ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 นั้น นอกจากกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพ รปภ.ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ยังกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพ รปภ. ต้องเป็นคนไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และ ไม่เคยถูกจำคุกในความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เพศ การพนันและยาเสพติด
 
ณรงค์ฤทธิ์ อรมณี กรรมการผู้จัดการใหญ่ หจก.ลานนาโซลูชั่น การ์ดกล่าวว่า ลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ทำให้พนักงานลาออกไปกว่าร้อยละ 40 โดยเฉพาะคนพื้นที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจัดหา รปภ. เนื่องจากทำให้ขาดแคลนพนักงาน
 
วัชรา ไชยชนะ นายกสมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าคนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่จะไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งตาม พรบ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยฉบับนี้ไม่ส่งเสริมและไม่เปิดโอกาสให้เข้ามาประกอบอาชีพ รปภ.
 
ขณะที่ พ.ต.ยุทธศาสตร์ แก้วคำแสน นายกสมาคมผู้ประกอปการวิชาชีพรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทยคาดว่า พรบ.ฉบับนี้ ส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการ พนักงาน และ ผู้ใช้บริการ รวมกว่า 1.5 ล้านคน
"เราพยายามยื่นคัดค้านตั้งแต่ชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา เพราะเห็นว่าถ้าออกกฎหมายในลักษณะนี้จะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กอยู่ไม่ได้" พ.ต.ยุทธศาสตร์กล่าว
ก่อนหน้านี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เหตุผลที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อกำหนดมาตรฐานของบริษัทและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
 
 
เดินหน้าตั้ง ‘กองทุนบำนาญภาคบังคับ’ สรุปรูปแบบเสนอคลังก่อนสิ้นปี /กองทุนการออมรับลูกบริหารร่วม
 
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเดินหน้าศึกษาตั้ง”กบช.ภาคบังคับ” คาดสรุปรูปแบบเสนอคลังก่อนสิ้นปี ขณะที่ต้องประเมินผลตอบแทน- อัตราเงินเฟ้อ- เพดานเงินนำส่งและฐานรายได้ หลังพบคนไทยออมต่ำต่อเดือนต่อหัว 30-40% ด้าน กอช.รับลูกบริหารร่วม แจงต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ. กอช. ย้ำให้ประชาชนเป็นสมาชิก รับเงินอุดหนุนจากรัฐเต็มแม็ก
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาพร้อมกำหนดกรอบตลอดจนการเครื่องมือเพื่อให้เกิดการออมภาคบังคับขึ้น ในลักษณะกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมและมีรายได้เพียงพอหลังวัยเกษียณ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังกังวล เนื่องจากยอดการออมต่อหัวต่อเดือนของคนไทยยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ 30-40% ของรายได้ซึ่งจะต้องศึกษาเพื่อเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างช้าที่สุดภายในสิ้นปีนี้
 
ทั้งนี้ อดีตที่ผ่านมาปี 2553 สศค.ได้เสนอให้จัดตั้ง กบช. เป็นกองทุนในระบบ defined contribution หรือ DC ที่จะต้องกำหนดประโยชน์ทดแทนไว้ล่วงหน้า โดยจะต้องให้ครอบคลุมผู้ทำงานในระบบประมาณ 13-15 ล้านคน
 
สำหรับการจ่ายเงินเข้ากองทุนนั้น โครงสร้างในระยะเริ่มต้นอาจกำหนดให้สมาชิกต้องส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเพิ่มเป็น5% จากเดิมเคยศึกษาไว้ที่ 3% เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยที่เปลี่ยนไป เช่น อัตรานำส่งต้องสูงเพื่อหนีอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และนายจ้างจะต้องจ่ายสมทบในอัตรา 5% เช่นเดียวกัน
 
นอกจากนี้ในอดีตเคยศึกษาการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 6-8 พันบาทและเพดานค่าจ้างที่ 4 หมื่นบาท ต้องนำปัจจัยที่เปลี่ยนไปมาประกอบการคำนวณ เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้น คือ ค่าแรงขั้นต่ำรายวัน วันละ 300 บาท หรือปริญญาตรี ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และท้ายสุดการจ่ายเงินจากกองทุนให้กับสมาชิก จะสามารถรับได้ทั้งแบบเงินก้อนหรือทยอยรับในรูปเงินบำนาญซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
 
” ปี 2575 ที่กระทรวงการคลังกำหนดรายได้จะต้องอยู่ที่เดือนละ 4 หมื่นบาท จะต้องนำมาคำนวณต่อการนำส่งในอัตราสมทบที่จะต้องทบทวนทุกๆ 5ปีนั้นเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญที่ผ่านมาที่การผลักดันให้เกิดการออมภาคบังคับไม่เกิดขึ้น ปัญหาใหญ่มาจากธุรกิจเอกชนที่จะต้องนำส่ง เพราะถูกมองว่าเป็นการนำส่งที่ซ้ำซ้อน และมีไม่น้อยที่มองว่าเป็นการสิ้นเปลือง เป็นภาระของแต่ละบริษัท เมื่อมีการนำส่งในส่วนเข้ากับกองทุนประกันสังคมที่จะต้องนำส่งถึงอายุ 55ปี หรือไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่อถึงกำหนดเวลาสามารถขอรับเงินนำส่งพร้อมผลตอบแทน จะสามารถทำควบคู่หรือต้องเลือกเพียงกองทุนใดกองทุนเดียว ตรงนี้ต้องศึกษาให้แน่ชัดเช่นกัน”
 
 
ก.แรงงาน ยืนยัน ให้ความสำคัญ "แรงงานนอกระบบ" รับพิจารณาข้อเสนอ เครือข่ายศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้เกิดผลเชิงรูปธรรมในระดับจังหวัดและท้องถิ่น/ชุมชน กับเครือข่ายศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบ (ภาคประชาชน) จาก 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ณ ห้องวิภาวดี บี 1 โรงแรมปริ๊นซ์ตั้น พาร์คสวีท ดินแดง โดยกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและห่วงใยเรื่องของแรงงานนอกระบบ โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็เล็งเห็นและให้ความสำคัญยิ่งต่อแรงงานนอกระบบ ซึ่งที่ผ่านมาในเวทีประชุมต่างๆ อาทิ การประชุม สปป.ลาว การประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 4 – 8 มิ.ย. 59 ที่ผ่านมา เป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวไว้ว่า การให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยมองโอกาส 3 เรื่อง มีเป้าประสงค์หลัก คือ ให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกคน มีงานทำ ทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบ โอกาสแรก คือ โอกาสในการตั้งต้น ทั้งจัดหางานและการให้ทุนประกอบอาชีพ โอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือให้ดียิ่งขึ้น ประการสุดท้าย คือ โอกาสในการได้รับความคุ้มครองโดยมีหลักประกันความมั่นคงทางสังคมที่มีคุณภาพ
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การรับฟังข้อเสนอในวันนี้ เบื้องต้นต้องรวบรวมข้อเสนอที่ทางเครือข่ายศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบ (ภาคประชาชน) จาก 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร เสนอมา อาทิ แผนยุทธศาสตร์ การสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยบริการชุมชน การมีหลักประกันทางสังคม พ.ร.บ.ประกันสังคม (มาตรา 40) หลักประกันสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน การจัดการอาชีพ เป็นต้น มาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานต้องขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ รวมถึง การสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประสานงาน อาสาสมัครอย่างเจาะลึก ในการสร้างองค์ความรู้ให้สามารถคิดแก้ไขปัญหา และจัดการกับปัญหาได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
 
"เข้าใจในความมุ่งมั่นและขอบคุณอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ทุกคน ที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้ด้วยชีวิตและจิตใจที่จะดูแลเพื่อนประชาชนด้วยกัน ข้อเสนอทุกข้อล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ตั้งแต่เรื่องของศูนย์ประสานงาน ซึ่งการรับรองอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่จะทำให้ศูนย์ประสานงานมีอยู่และตั้งไปได้โดยต่อเนื่องต่อไปเป็นประเด็นที่จะต้องไปคิดว่าควรทำอย่างไร ทั้งนี้ จากประสบการณ์และข้อมูลที่ทุกคนได้นำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สสส. ได้มาช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ นับว่าเป็นประโยชน์มาก เบื้องต้นขอรับข้อเสนอเพื่อไปพิจารณาสิ่งที่ต้องดำเนินการก่อน – หลัง ตามระบบราชการ" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 ซึ่งมีวิสัยทัศน์คือ “แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองมีหลักประกันทางสังคม นำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” และมียุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันทางสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายการมีงานทำ และยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ โดยทุกกรมในสังกัดได้กำหนดกลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มเป้าหมายดำเนินการ และมีหน่วยงานหลักในส่วนกลาง 2 หน่วยงานและหน่วยงานในภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด
 
 
แรงงานไทยแห่สมัครไปทำงานที่เกาหลีใต้ผ่านระบบเอ็มโอยูในงานด้านเกษตร ปศุสัตว์ และก่อสร้าง ในวันแรกอย่างคึกคัก ก.แรงงานเปิดรับสมัคร 4 จุดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 22 มิ.ย.นี้
 
กรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้ผ่านบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้เป็นวันแรกโดยมีผู้ที่มีอายุ 18-39 ปีเดินทางมาสมัคร เพื่อเข้ารับคัดเลือกไปทำงานในกิจการ อุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรมปศุสัตว์ และก่อสร้าง เป็นจำนวนมาก โดยเปิดรับสมัครจะมีตั้งแต่วันที่ 20-22 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00-16.00น. ใน 4 จุดทั่วประเทศทั้งนี้ ใน 4 จุดนี้ได้แก่ ศูนย์รับสมัครกรุงเทพฯ ชั้น 5 ห้องจอมพล ป.พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน 2.ศูนย์รับสมัครจังหวัดนครราชสีมา บริเวณชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า 3.ศูนย์รับสมัครจังหวัดอุดรธานี บริเวณชั้น บี ตึกคอมแลนด์มาร์ก 4.ศูนย์รับสมัครจังหวัดลำปาง ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง โดยปีนี้เปิดรับสมัคร 2,400 คน ทั้งนี้ ผู้ได้รับคัดเลือกจะมีสัญญาจ้างงาน 2 ปี และต่อสัญญาได้อีกคราวละ 1 ปี รวมไม่เกิน 4 ปี 10 เดือน อัตราค่าจ้างเดือนละ 1,098,360 วอน หรือ 33,398 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายเดินทางทั้งหมดอยู่ที่ 35,000 -45,000 บาท
 
 
'กำหนดอัตราพนักงานจ้างไม่เกินร้อยละ25' เจตนารมณ์เฉพาะพนักงานจ้างตามภารกิจ
 
นายสุรเกียรติ ฐิตะฐาน ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น (ผอ.สน.กม.) เปิดเผยถึงประเด็นร่างกฎหมายงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ที่นอกจากจะมีสาระสำคัญ คือ โครงสร้าง 3 ก จะเหลือแค่ ก เดียว โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำหน้าที่สำนักงานเลขา กถ. ต่อมาในประเด็นบัญญัติให้ ปลัดท้องถิ่น มีวาระ 4 ปี ที่กำหนดแบบนี้เพราะต้องการเพิ่มประสบการณ์การทำงานให้ปลัด
 
และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ "การกำหนดให้ท้องถิ่นมีพนักงานจ้างไม่เกินร้อยละ 25% ของข้าราชการ" เรื่องนี้ขั้นของเจตนารมณ์จริงๆ หมายถึง พนักงานจ้างตามภารกิจ ไม่ใช่พนักงานขนขยะ หรืออะไรต่างๆ โดยทางกรมฯ พร้อมจะชี้แจงเมื่อเรื่องนี้เสนอถึงกฤษฎีกา
 
 
กระทรวงแรงงาน พม. ร่วมภาคีเครือข่าย สร้างอาชีพคนพิการ 1 หมื่นตำแหน่งภายในปี 2560
 
กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานทุนกลางสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมภาคีเครือข่าย ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือสานพลังประชารัฐสร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 ตำแหน่ง เพื่อร่วมกันเร่งเดินหน้าดำเนินการทำงานจัดหางานให้กับคนพิการได้ตามเป้าหมายจำนวน 10,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2560
 
โดย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่ดีขึ้น พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมาย การจ้างงานที่สามารถจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้น ๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถส่งเสริมให้คนพิการได้รับสัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า ได้รับการเข้าฝึกงานปรับสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์เพิ่มหน่วยความสะดวกสำหรับคนพิการ
 
ส่วนด้าน นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า กระทรวง ฯ มีหน้าที่ในการประสานนโยบายร่วมกับทุกกระทรวง กรม เพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษา มีงานทำ ดำรงชีวิตอย่างอิสระและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงมีศูนย์ฟื้นฟูอาชีพและศูนย์พัฒนาอาชีพ สำหรับคนพิการทั่วประเทศที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้คนพิการก่อนที่จะไปประกอบอาชีพหรือเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (2 ธ.ค. 57) พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการทั่วประเทศประมาณ 1.9 ล้านคน มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ 1.6 ล้านคน ส่วนข้อมูลด้านการมีงานทำของคนพิการ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนพิการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 1 ล้านคนไม่ได้ทำงาน ในจำนวนนี้กว่า 7 แสนคน เป็นคนพิการที่อายุเกินกว่า 60 ปี และกว่า 3 แสนรายเป็นคนพิการอายุระหว่าง 15 - 59 ปี ที่ไม่มีงานทำ ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงของวัยทำงาน
 
 
แรงงานยันไม่มีนโยบายส่งหญิงไทยไปทำงานนวดต่างประเทศ
 
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเตือนผู้หญิงชาวไทย กรณีที่มีการเข้าใจผิดว่ากรมฯ เปิดรับสมัครในตำแหน่งอื่น นอกเหนือจาก เกษตร ปศุสัตว์ และก่อสร้าง โดยเฉพาะอาชีพการนวดสปา หลังจากที่มีการเปิดรับสมัคร คนหางานเข้ารับการทดสอบภาษาเกาหลี เพื่อไปทำงานผ่านระบบการจ้างงานของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กับประเทศไทย โดยรัฐต่อรัฐ ระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายนนั้น จนมีผู้สนใจเดินทางไปสอบถามที่จุดเปิดรับสมัคร ว่ากรมการจัดหางานไม่มีนโยบายจัดส่งผู้หญิงไทยไปทำงานนวดในต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่มักแจ้งเดินทางด้วยตนเอง หรือเดินทางไปในฐานะนักท่องเที่ยวและลักลอบทำงาน จนตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี
 
ปัจจุบันนอกจากคนไทยจะนิยมไปทำงานในไต้หวัน และอิสราเอลแล้ว ยังนิยมไปเกาหลีใต้ เพราะมีงานแน่นอน และเป็นการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายน้อยประมาณ 35,000 -45,000 บาท แต่มีรายรับต่อเดือน 3-4 หมื่นบาท ซึ่งการจัดส่งโดยรัฐเป็นการตัดปัญหาหลอกลวงไปทำงาน อีกทั้งหากมีการกล่าวอ้างว่าสามารถช่วยสอบผ่านภาษาเกาหลีได้ ดังนั้นขอเตือนว่าอย่าหลงชื่อ เพราะการคัดเลือกเป็นสิทธิของนายจ้างเกาหลีเท่านั้น
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า หากคนหางานไทยต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะตำแหน่งใด ประเทศไหน กับบริษัทอะไร ขอให้ติดต่อมาที่กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ เพื่อให้ตรวจสอบถามว่ามีงานนี้จริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
 
ทั้งนี้ปัจจุบันมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย 28,000 คน ส่วนที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายมีอยู่ประมาณ 50,000 คน จึงขอเตือนอย่าลักลอบไปทำงานผิดกฎหมายเพราะหากถูกจับได้จะถูกดำเนินคดี พร้อมทั้งส่งกลับประเทศ และถูกขึ้นบันชีดำไม่ให้กลับเข้าเกาหลีใต้อีก
 
 
"IM Japan" ถกเจ้ากระทรวงแรงงาน ขยายเวลาผู้ฝึกงานไทยไปญี่ปุ่น 5 ปี
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ Mr.Kyoei Yanagisawa ประธานบริหารองค์กร IM Japan ที่เข้าพบหารือข้อราชการและติดตามการแก้ไขกฎหมายฝึกงานญี่ปุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในการรองรับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยกล่าวว่าการขยายระยะเวลาให้ผู้ฝึกงานจาก 3 ปี เป็น 5 ปี ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ผู้ฝึกงานคนไทยได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก อาทิ ด้านการทำงาน ด้านทักษะฝีมือ แนวคิด และความมีระเบียบวินัย เป็นต้น สามารถนำมาประกอบกิจการของตนเอง และสามารถถ่ายทอดให้แก่คนทั่วไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
 
รมว.แรงงานกล่าวต่อว่า ยินดีที่ได้รับทราบว่าองค์กร IM Japan ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการส่งเสริมผลักดันการจัดตั้งสมาคมผู้สำเร็จการฝึกงานในประเทศไทยจนกระทั่งบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นย้ำขอให้องค์กร IM Japan เร่งพิจารณาออกประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น และการฝึกอบรมเพื่อยกระดับฝีมือผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทย ในส่วนของของกระทรวงแรงงานยินดีสนับสนุนความร่วมมือในการจัดส่งผู้ฝึกงานคนไทยในตำแหน่งช่างซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ และจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับตำแหน่งพนักงานดูแลความสะอาดและความปลอดภัยในอาคารต่อไป ตลอดจนยินดีให้ความร่วมมือกับองค์กร IM Japan ที่ได้นำเสนอในครั้งนี้ทุกด้าน เพื่อให้เยาวชนไทยรุ่นใหม่มีโอกาสได้ฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นในระบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม
 
Mr.Kyoei Yanagisawa ประธานบริหารองค์กร IM Japan รายงานให้ทราบความคืบหน้าในการพัฒนาระบบจัดส่งผู้ฝึกงานคนไทยในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้เพื่อเข้าร่วมการประชุมเพื่อรวมตัวกันของผู้ฝึกงานเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่มีส่วนให้เยาวชนคนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และหยิบยกกรณีตัวอย่างของนายพัฒนา พระไชยบุญ ผู้ที่ประสบความสำเร็จหลังจากกลับจากการฝึกงานที่ญี่ปุ่น จากเด็กต่างจังหวัดที่มีเงินติดตัวแค่ 300 บาท มาสมัครเข้ารับการอบรม ปัจจุบันกลายเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง พร้อมขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาขยายพื้นที่การรับสมัครไปยังต่างจังหวัด รวมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังทหารเกณฑ์ที่ใกล้ปลดประจำการ เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกวินัยที่เข้มแข็ง มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น
 
นอกจากนั้น ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องผลการทดสอบภาษาญี่ปุ่นของผู้ฝึกงานไทยโดยเฉลี่ย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าผู้ฝึกงานจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งควรพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการฝึกงานเป็นอย่างยิ่ง
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท