‘อัครเดช’ อดีตจำเลยคดี 112 ได้รับอิสรภาพ “ผมคิดเล่นๆ ว่าอยากเป็นรมว.ยุติธรรม”

23 มิ.ย.2559 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 12.00 น. อัครเดช หรือ เค อดีตนักศึกษาชั้นปี 4 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยมีเพื่อนและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อเพื่อน (FFA) มารอรับ โดยทางมูลนิธิมอบเงินช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองรายนี้เป็นเงิน 2,000 บาท  

อัครเดช ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (1) , (2) , (3) , (4) , (5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 ขณะอายุ 24 ปี และเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาถูกขังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพ่อของเขายื่นประกันตัวรวม 4 ครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันด้วยเหตุว่าเกรงจะหลบหนี

เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ใช้นามแฝง “น้าดมก็รักในหลวงนะ” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความในวันที่ 15 มี.ค.57 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมมีผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเขากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สุทธิสารพร้อมนำหลักฐานเชื่อมโยงมายังตัวอัครเดชมาให้เจ้าหน้าที่ด้วย ขณะที่นายสุรพล พ่อของจำเลยเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ก่อนหน้าจะถูกจับกุมลูกชายทะเลาะกับคนในเฟซบุ๊กที่มีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน และโพสต์ข้อความตั้งคำถามไปเพียงแต่มีการพาดพิงสถาบันอันเนื่องมาจากบทสนทนาทางการเมือง

30 ก.ย.2557 ที่ศาลอาญา มีการนัดสมานฉันท์ในคดีนี้ โดยจำเลยให้การรับสารภาพพร้อมแถลงประกอบรับสารภาพขอให้ศาลรอลงอาญา ผู้พิพากษามีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะประวัติก่อนจะพิพากษา

4 พ.ย.2557  ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง ลงโทษฐานดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นบทหนักสุด จำคุก 5  ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี  6 เดือน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบการกระทำของจำเลยเป็นการเหยียดหยามสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนชาวไทย ทั้งจำเลยกระทำในลักษณะโฆษณา ทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและพบเห็นข้อความดังกล่าวได้ นับเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ริบของกลาง

ภายหลังได้รับอิสรภาพ อัครเดช ให้สัมภาษณ์ว่า เขายังคงสงสัยอยู่จนปัจจุบันว่าเขาทำสิ่งใดผิด และมีความเป็นห่วงพ่อวัย 53 ปีซึ่งก็ถูกจำคุกอยู่เช่นเดียวกันจากคดีที่เกี่ยวพันกับการเมือง คดีของพ่อต้องขึ้นศาลทหารและยังไม่มีความคืบหน้า ส่วนเรื่องการศึกษานั้นเขาวางแผนว่าจะหาทางเรียนต่ออีกครั้งและหางานทำเลี้ยงชีพ

“การเรียนเริ่มใหม่เมื่อไรก็ได้ ไม่เสียใจ ไม่จบก็เรียนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จบ แล้วจะหางานทำก๊อกๆ แก๊กๆ ปกติตอนเรียนหนังสือก็ไม่ได้ขอตังค์พ่ออยู่แล้ว ขายของในเน็ตบ้าง ซ่อมรถ ทำก่อสร้างไปด้วย หาเงินเลี้ยงตัวเองอยู่แล้ว” อัครเดชกล่าว

เขากล่าวถึงชีวิตภายในเรือนจำว่า เขามีความประพฤติดี ไม่เกเร และเรียนมหาวิทยาลัย จึงได้รับความไว้วางใจให้ช่วยเหลืองานเจ้าหน้าที่ และเหตุที่ได้ออกจากเรือนจำเร็วกว่ากำหนด ถูกคุมขังเพียง 2 ปี 3 วันเพราะได้รับการลดวันจำคุกจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในวาระโอกาสต่างๆ ขณะที่อยู่ในเรือนจำเขาเล่นดนตรีและร้องเพลง สร้างกิจกรรมนันทนาการให้กับผู้ต้องขังด้วยกัน รวมถึงสอนการเล่นกีตาร์ให้กับผู้ต้องขังที่สนใจ

เมื่อถามว่าเขารู้สึกอย่างไรในวันที่พ้นโทษ เขาตอบว่า  “มันไม่ได้ต่างกันนักข้างในกับข้างนอก มันอยู่ในกรอบที่จำกัดมากเหมือนกัน การพูดการคิดเหมือนกันเลย ข้างในแย่ยังไงข้างนอกแย่อย่างนั้น บางคนอาจมองว่าคุกนั้นลำบากมาก แต่เอาจริงๆ ถ้าเป็นคนระดับล่างๆ ข้างนอกก็ลำบากแบบเดียวกันนั่นแหละ ในรั้วเรือนจำมันเหมือนเป็นความโหดร้ายที่ชัดเจน มันไม่พรางหน้าเหมือนข้างนอก คนในเมืองอาจไม่เห็นหรอกว่าความโหดร้ายตามตรอกซอกซอย ตามสลัม เป็นยังไง แต่ข้างในมันชัด การมีอยู่ของความโหดร้ายนั้นทั้งข้างในข้างนอกมีเหมือนกัน แต่ข้างนอกมันพรางตาหรือคนทั่วไปอาจไม่ได้มองมัน”  

เมื่อถามถึงสิ่งที่สะเทือนใจ เศร้าใจ เขาตอบว่า “ที่รู้สึกเสียใจก็คือ นี่มัน พ.ศ.ไหนแล้ว บ้านเมืองเรายังไม่ไปถึงไหนเลย ข้างในก็ยังโหดร้ายขนาดนี้อยู่เลย มัน พ.ศ.ไหนแล้ว เราเป็นประชาธิปไตยมากี่ปีแล้ว ทำไมมันอยู่ตรงนี้”  

เมื่อถามว่าเขาสนใจการเมืองได้อย่างไร เขาตอบว่า “ผมสนใจการเมืองมานานแล้ว ผมเรียนที่ใต้ พ่ออยู่กรุงเทพฯ ไม่รู้เลยว่าอุดมการณ์ต่างกันหรือเปล่า แต่พอกลับมาคุยกันก็เจอว่าเหมือนกันเฉยเลย ผมมีช่วงเวลาวัยรุ่นน้อย สิบแปดก็โตเลย ทำงานเลย แล้วก็อ่านข่าวตลอด การเมืองมันกระทบกับเราทุกคน”

เมื่อถามว่าเขามีความฝันหรือไม่ เขาตอบว่า “ตอนอยู่ข้างในคิดเล่นๆ ว่า ซักวันนึงก็อยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเหมือนกัน จะได้มาเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ ราชทัณฑ์จะได้เข้าใจผู้ต้องขังมากขึ้น เราในฐานะผู้ต้องขัง รู้สึกเลยว่า บางทีมันก็เกินไป และโดยเฉพาะผู้ต้องขังที่มาด้วยคดีแบบนี้ด้วย ผมไม่ได้โดนเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ไม่เข้าใจอย่างเดียว ผู้ต้องขังด้วยกันก็ด้วย เขาไม่เข้าใจ พอรู้ว่าหมิ่นผู้ต้องขังที่เกลียดเรื่องพวกนี้ก็กระทืบเลย โดนตั้งแต่วันแรกที่เข้าไป แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะก็เอาตัวรอดได้”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท