ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2559: สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง

วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2559 ทบทวนว่าเรายังมี "ความหวัง" ต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่

นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องการสร้างสังคมประชาธิปไตยผ่าน 1. การสร้างดุลยภาพของการใช้อำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2. สำรวจแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ และ 3) การสร้างทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย/สังคมประชาธิปไตย

คลิปการปาฐกถา "สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง" โดย วรรณภา ติระสังขะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การปาฐกถาหัวข้อ "สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง" โดย วรรณภา ติระสังขะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

องค์ปาฐก ระหว่างเตรียมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับ สุดา พนมยงค์ บุตรีของปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งทายาทคณะราษฎร และทายาทเสรีไทย

24 มิ.ย. 2559 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพมหานคร มีการปาฐกถาปนีดีพนมยงค์ ประจำปี 2559 ในโอกาสครบรอบ 84 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 หัวข้อ "สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง" โดย วรรณภา ติระสังขะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มต้นวรรณภานำเสนอว่า สังคมไทยนั้นยังคงอยู่ท่ามกลางกระแสของการต่อสู้ว่า อะไรคือความเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับประเทศของเรา สังคมไทยเรายังคงกำลังเปลี่ยนผ่าน และแสวงหาจุดสมดุลเพื่อมุ่งไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เราคงต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า เรายังมี "ความหวัง" ต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่

นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วเป็นเวลาถึง 84 ปี ที่เราจะหวนคิด ทบทวน และตั้งคำถามกับตัวเองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ณ วันนี้ว่า ตลอดระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยราจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำพาสังคมนี้ ไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ อย่างไร?

ข้าพเจ้าเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้นยังต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายๆ ปัจจัย ที่ทำให้ประเทศนั้นๆ สังคมนั้นๆ ก้าวผ่านไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้

โดยการปาฐกถาของวรรณภา นำเสนอมุมมองว่า การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยสามารถทำผ่าน 1) การสร้างดุลยภาพของการใช้อำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2) ผ่านการสำรวจแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ และ 3) ผ่านการสร้างทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย / สังคมประชาธิปไตย (Democratic Society)

ในการสำรวจแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดีนั้น วรรณภาเสนอว่า คุณลักษณะของประชาธิปไตยในแต่ละมิติของปรีดี สามารถอธิบายความประกอบด้วย 1) ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคมการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจต้องเอื้ออำนวยให้ราษฎรส่วนใหญ่ของสังคมไม่ตกเป็นทาสหรืออยู่ภายใต้บงการของคนส่วนน้อยที่อาศัยอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจของสังคม

2) ประชาธิปไตยทางการเมือง เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ โดยหัวใจสำคัญสามารถพิจารณาได้จากประเด็นสิทธิเสรีภาพของราษฎรว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด และสามารถปฏิสัมพันธ์ต่อรองอำนาจในระบบการเมืองในระดับใด

3) ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ถือเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอันเนื่องด้วยเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองหรือวิถีปฏิบัติประจำวันของพลเมืองภายในสังคม โดยวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเช่นว่านั้น จะเป็นพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่สังคมใดๆ ประกอบด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมืองแต่หากขาดซึ่งทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้วย่อมไม่สามารถนำพาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง

ในตอนท้ายวรรณภาเสนอว่า การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ความพยายามทบทวนถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง การปฏิรูปการปกครอง การปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมแก้ไข การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในอดีตและปัจจุบันของไทยที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ดูจะประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่สามารถสถาปนาคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยให้สามารถหยั่งรากลึกในสังคมได้ ด้วยความล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองที่ว่านั้น การสร้าง "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย และคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมุ่งสถาปนาความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา รัฐบาล องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ให้มีความสอดคล้องเหมาะสม ระบบกฎหมายภายใต้หลัก "นิติรัฐ" เพื่อให้ทุกองคาพยพในสังคมการเมืองถูกตรวจสอบ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้โครงสร้างอำนาจรัฐได้สัดส่วนและได้ดุลยภาพเป็นเบื้องต้น

ประการต่อมา การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้นั้นจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือสังคมไทยต้องวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง มุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติเพื่อให้ทุกคนมีโอกาส สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การศึกษาที่มีคุณภาพ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และอำนาจทางการเมืองในมิติอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เมื่อสังคมประกอบด้วยระบบบเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยแล้ว ย่อมส่งผลให้สังคมมีความเป็นชุมนุมที่เข้มแข็ง มีความตื่นเต้นทางการเมือง มีจิตสาธารณะ ให้ความสำคัญแก่ประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

และสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อการก่อร่างสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้นั้น ขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุดมคตินั้นให้เกิดขึ้นจริง นั่นคือ การสร้างทัศนะทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงในจิตใจของเราทุกคน การตระหนักรู้ ยึดมั่นถือมั่น และสมาทานอย่างซื่อตรงต่อความเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

จึงไม่แปลกเลยหากจะกล่าวว่า เราทุกคนล้วนเป็น "คำตอบ" ที่เป็น "ความหวัง" ที่ทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท