Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2559 ซึ่งเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย และเครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D) จึงได้จัดงานเสวนา “แหกตาดูโลกยาเสพติด มุมมองต้องเปลี่ยน”ที่ Eat@Double U ชั้น 9 เซ็นทรัลเวิลด์ ภายหลังเสร็จสิ้นการฉายหนังเรื่อง Where to invade next? หรือ บุกให้แหลก แหกตาดูโลก โดยผู้กำกับชื่อดัง ไมเคิล มัวร์ ซึ่งตอนหนึ่งในหนังระบุถึงการจัดการปัญหายาเสพในโปรตุเกสที่ประสบความสำเร็จหลังจากหันมาทำให้ผู้ใช้ยาไม่เป็นอาชญากร ไม่ลงโทษรุนแรง

เนื้อหาในงานเสวนากล่าวถึงการปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวคิดเพื่อหาทางออกให้กับสังคมโลก โดยตั้งอยู่บนฐานของพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Evidence-based Experts)แทนอุดมคติเดิมเรื่องสังคมที่ปราศจากยาเสพติดโดยใช้กลยุทธ์การสร้างความกลัวและโทษทางอาญา มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจใหม่ต่อการจัดการปัญหายาเสพติดอย่างรอบด้าน มากกว่ามองเพียงมีขาวกับดำเท่านั้น

ปิยะบุตร นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซนกล่าวว่า การจะแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องใช้ความเข้าใจ ทำความรู้จักและยอมรับมัน ยาเสพติดบางชนิด เช่น กัญชา มนุษย์รู้จักและใช้ประโยชน์จากมันมาก่อนที่จะหาข้อดีข้อเสียของมัน

ปิยะบุตรยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถจัดการปัญหายาเสพติดได้ ไม่ว่าเราจะปราบปรามคนขาย ผู้ผลิต หรือลงโทษผู้เสพมากเท่าไร มันไม่เป็นผล ไม่มีประเทศไหนที่สามารถกำจัดยาเสพติดได้ อย่างโปรตุเกสที่สามารถลดปัญหาที่ตามาจากการใช้เสพติดได้ เขาไม่ได้ใช้วิธีการกำจัด แต่ใช้วิธีการลดความรุนแรงจากการใช้ยาในการจัดการกับปัญหายาเสพติด

ปิยะบุตรบอกว่า การใช้กฏหมายไม่สามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดได้ การจัดการกับยาเสพติดต้องมีความหลากหลาย ปรับเปลี่ยนไปตามปัญหาที่พบเจอ การใช้โทษทางอาญาอย่างเดียวจะไม่ทำให้ยาเสพติดหายไป ผู้ใช้ยาส่วนมากมองว่า ยาเสพติดเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิต ผู้ที่ใช้ยาแล้วก่อปัญหามีแค่ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ใช้ยาทั้งหมด แต่ละคนมีเหตุผลในการใช้ยาแตกต่างกันไป การจัดการยาเสพติดจึงต้องคำนึงถึงในจุดนี้

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้นจะต้องใช้หลักให้เกียรติและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ เป็นหลักสำคัญในการจัดการกับผู้ใช้ยา การลงโทษทางสังคมและการใช้กำลังบังคับ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาเสพติดไม่มีทางที่จะถูกกำจัดไปได้อย่างแน่นอน ยาเสพติดจะอยู่ในสังคมของเรา ทางแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่การทำให้มันถูกกฎหมาย แต่เป็นการถูกควบคุมให้การค้าขายอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย การค้ายาเสพติดอย่างเสรีทำได้ ภายใต้การควบคุมดูแลและการลงทะเบียนผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งการควบคุมปริมาณการใช้ยาสามารถทำได้ผ่านกระบวนการดังกล่าว โดยในประเทศโปรตุเกส นโยบายดังกล่าวที่ถูกนำมาใช้ ทำให้หารควมคุมดูแลยาเสพติดเป็นไปได้

ภาสกร เสนออีกว่า การลดจำนวนผู้ใช้ยาสามารถทำได้ โดยยกตัวอย่างการทดลองที่เสนอเงินจำนวนหนึ่งกับยาเสพติดให้กับผู้ใช้ยา โดยถ้าเป็นจำนวนเงินที่มากพอ ผู้ใช้ยาเสพติดก็จะเลือกเงินมากกว่ายาเสพติด โดยการทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าถ้าเราให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้ยา จะทำให้จำนวนผู้ใช้ยาลดลง ภาสกรบอกว่า ผู้ที่ใช้ยาเสพติดส่วนมากไม่ได้มาจากการติดยาอย่างรุนแรง

วุฒิพงษ์ พาณิชย์สวย นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยใช้แนวทางของสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามยาเสพติด คือการทำสงครามเพื่อปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากไทยใกล้กับแหล่งผลิตยาเสพติด รัฐบาลไทยมองว่ายาเสพติดเป็นต้นตอของปัญหาอาชญากรรมหลายๆ อย่าง เดิมบทลงโทษของผู้ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างรุนแรง แม้จะเปิดช่องให้มีการบำบัดแต่ก็เป็นการบังคับบำบัด

วุฒิพงษ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเปลี่ยนไป จะลดความเป็นคดีอาญาของยาเสพติดลง เปิดช่องทางให้มีการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากยาเสพติดในทางการแพทย์ และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาแก่ประชาชน เนื่องจากจะเป็นแนวทางในการลดอันตรายจากการใช้ยา และลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมา การร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลังจากนี้จะเป็นไปในแนวทางการสร้างความเข้าใจใหม่แก่ประชาชน ไม่ให้มองว่าคนใช้ยาเสพติดเป็นคนร้าย

จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาคมโลกใช้มาตรการไม่อดกลั้นต่อยาเสพติด คือปราบปรามกำจัดให้สูญหายไป ต่อมาเมื่อรับรู้แล้วว่าการปราบปรามดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จึงทำให้เกิดการแพร่ของโรคขึ้น กลุ่มดังกล่าวไม่สามารถมาปรากฏตัวเพื่อรับความช่วยเหลือจากรัฐได้ เนื่องจากต้องการหลบซ่อนเพราะโทษจากการใช้ยาเสพติดค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังมีปัญหาความหนาแน่นในเรือนจำ คนที่ถูกจับจากคดียาเสพติดส่วนมากเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่นายทุน และยังมีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรม ประชาคมโลกจึงเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการไม่ทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรมแทน ในโปรตุเกสการใช้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันยาเสพติดไม่มีโทษในเชิงอาญาอีกต่อไป มีก็เพียงโทษปรับเท่านั้น

จอนกล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ยา ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ต้องรณรงค์ลดความเข้าใจผิด ลดอคติต่อผู้ใช้ยา ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร ถ้าเกิดว่าผู้ใช้ยายังถูกดลือกปฏิบัติ ปัญหายาเสพติดจะไม่สามารถแก้ไขได้ พร้อมทั้งเสนอว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ควรมีตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้ยาร่วมเป็นกรรมการในการวางแผนนโยบาย ต้องฟังความเห็นจากผู้ใช้ยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net